อ่าน คิด คือเข็มทิศ ให้ชีวิตแตกต่าง


964 ผู้ชม


สิ่งสำคัญที่ต้องอยู่คู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกยุคทุกสมัย ก็คือการอ่าน และการคิด   

                                                   การอ่าน และคิด  คือเข็มทิศ ให้ชีวิตแตกต่าง

อ่าน คิด คือเข็มทิศ ให้ชีวิตแตกต่าง

                                                     ภาพจาก :  https://www.igetweb.com

 ประเด็นข่าว    "แอร์ฟรานซ์" หายจากจอเรดาร์!! ขณะบินเหนือแอตแลนติก" 
 
       เครื่องแบบเอบัส เอ ๓๓๐-๒๐๐ สายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบินที่ ๔๔๗ บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือ ๒๒๘ คน
 เดินทางออกจากสนามบินในนครริโอเดอจาเนโร ของบราซิล มีกำหนดมุ่งหน้าไปยังกรุงปารีส ของฝรั่งเศส 
แต่เมื่อเวลา ๑๓.๐๐ น.ตามเวลาในประเทศไทย สัญญาณของเครื่องบินหายไปจากจอเรดาร์ ขณะที่เครื่องบิน
บินอยู่เหนือมหาสมุทรแอตแลนติก ตามกำหนด เครื่องบินลำนี้จะต้องลงจอดที่สนามบินชาร์ลส เดอ โกล 
เมื่อเวลา ๑๖.๑๐ น.ที่ผ่านมา พร้อมผู้โดยสาร ๒๑๕ คน

 
            ที่มา :  โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๒   เวลา ๑๘.๐๓  น.

                                "แอร์ฟรานซ์" หายจากจอเรดาร์!!   ขณะบินเหนือแอตแลนติก  
             เหตุการณ์นี้  เผยแพร่เมื่อเวลา ๑๘.๐๓   ของวันที่ ๑ มิถุนายน  ๒๕๕๒   ขณะที่ครูนำเสนอข่าวนี้
เป็นเวลา ๑๙.๐๐ น.  จะเห็นว่าภายในเวลาไม่กี่นาที  ที่เครื่องบินแอร์ฟรานซ์ หายจากจอเรดาร์!! คนทั่วโลก
ก็รับรู้ถึงความผิดปกติ  หลายคน ก็หาทางช่วยเหลือ  หลายคนสวดอ้อนวอนพระเจ้าให้คุ้มครอง 
ในช่วงนาทีวิกฤตเช่นนี้ แม้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลก  แต่ทุกข่าวสาร สามารถเชื่อมต่อกันได้ทั่วโลก  
ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน  
     แม้เทคโนโลยีจะก้าวไกล และรวดเร็วเพียงใด  แต่สิ่งสำคัญที่ต้องอยู่คู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกยุค
ทุกสมัย  ก็คือการอ่าน  และการคิด       แม้จะมีข่าวดังทั่วโลก  เทคโนโลยีจะทันสมัย  ถ้าผู้คน หรือประชากร
ในประเทศ  อ่อนด้อยเรื่องการอ่าน และการคิด  ประเทศนั้นก็ไม่อาจพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เจริญก้าวหน้าได้  
เพราะ  "การอ่าน และการคิด   คือเข็มทิศ ให้ชีวิตแตกต่าง"

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔   เรื่อง การรับสารด้วยการอ่าน

        บทบาทของการอ่านที่มีต่อมนุษย์
        การอ่านหนังสือมีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบันนี้มาก อาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษาเล่าเรียน 
การประกอบอาชีพ  ด้านบุคลิกภาพ   นันทนาการ     และด้านพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ถึงจะมีสื่อมวลชนอื่น 
เช่น วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ที่เสนอข่าวสารต่าง ๆ ได้รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์    คนเราก็ต้องอ่านหนังสือ
อยู่นั้นเอง   เพราะว่าให้รายละเอียดต่าง ๆ ได้มากกว่า บทบาทของการอ่านที่มีต่อมนุษย์ดังนี้
        ๑. บทบาทด้านการศึกษา การเรียนในระดับอุดมศึกษา นิสิตจะต้องศึกษาจากตำรับตำราที่มีอยู่ในห้องสมุด
เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต้องใช้การอ่านเป็นประจำ ผู้ที่อ่านมากย่อมได้เปรียบกว่าผู้ที่อ่านน้อย และผู้ที่อ่านเก่ง
ย่อมอ่านหนังสือได้รวดเร็ว สามารถเข้าใจเรื่องราวที่อ่านจับใจความได้ถูกต้องแม่นยำ รู้จักวิธีอ่านหนังสือว่า
เล่มไหนควรใช้วิธีอ่านอย่างไร สามารถประเมินผลจากสิ่งที่ตนอ่าน รวมทั้งมีวิจารณญาณในการอ่านสามารถ
วิจารณ์ได้ดังนั้น ผู้ที่อ่านเป็นเท่านั้นจึงจะสามารถได้รับความรู้ และประสบผลสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน
        ๒. บทบาทด้านอาชีพ ผู้ประกอบอาชีพที่ดีนั้นจำเป็นต้องขวนขวายหาความรู้ เพื่อเพิ่มพูนปรับปรุงสมรรถภาพ
ในการทำงานของตนอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าการงานทุกชนิดก็ต้องมีการแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา 
บุคคลที่พยายามก้าวไปข้างหน้าเท่านั้นจึงจะมีชัยในการแข่งขัน บุคคลที่ฉลาดและยึดหนังสือเป็นหลัก 
โดยการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ ย่อมทำให้บุคคลเหล่านั้น มีความรู้กว้างขวางและประสบผลสำเร็จ
ในการประกอบอาชีพของตนเองได้อย่างมีความสุข
        ๓. บทบาทด้านการปรับปรุงบุคลิกภาพ สภาพสังคมในสมัยนี้ มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน และมีปัญหาของ
สังคมมากมาย จนทำให้คนบางคนประสบชะตากรรมที่น่าสงสารอย่างยิ่ง เป็นต้นว่า ไม่อยากสมาคมกับใครๆ
 เพราะคิดว่าตนเองมีปมด้อย บางคนไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาไม่กล้าร่วมกิจกรรมทางด้านสังคมกับเพื่อนฝูง 
กลายเป็นคนเหงาหงอย ถ้าหากบุคคลผู้มีปัญหาดังกล่าว ได้กลับมาสนใจในการอ่านหนังสือประเภทสังคมศาสตร์ 
จริยศาสตร์จิตวิทยา การตอบและแก้ไขปัญหาชีวิต ก็จะทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น และยังจะช่วยให้รู้จักวิธีการ
วางตัวได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของสังคมนั้น ๆ อย่างมีความสุขทำให้เป็นคนมองโลก
ในแง่ดีเสมอ
         ๔. บทบาทด้านนันทนาการ ในปัจจุบันนี้ การเสาะแสวงหาความบันเทิงเริงรมย์เป็นไปได้โดยง่ายและมีหลาย
รูปแบบ   เช่น การดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ และการฟังเพลง เป็นต้น แต่มีอีกแบบหนึ่งที่เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด 
นั่นคือ การอ่านหนังสือ อาจจะเป็นหนังสือโบราณคดีกวีนิพนธ์ สารคดี นวนิยาย หนังสือพิมพ์รายวัน นอกจาก
จะทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ความบันเทิงแล้ว ยังจะเป็นทักษะฝึกการอ่านอีกด้วย
         ๕. บทบาทด้านพัฒนาสังคมและพัฒนาประเทศ การพัฒนาประเทศจะประสบผลสำเร็จได้นั้น ประเด็นสำคัญ
อยู่ที่  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเบื้องต้น กล่าวคือ ให้ประชาชนมีการศึกษา เป็นผู้รู้หนังสือในระดับที่พอ
จะเป็นพื้นฐาน  ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและการพัฒนาประเทศต่อไป ทั้งนี้เพราะการที่ประชากร
เป็นผู้รู้หนังสือ   และมีนิสัยรักการอ่านย่อมจะมีส่วนสำคัญ ในการส่งเสริมให้ชีวิตของคนเราประสบความสำเร็จ
อย่างสมบูรณ์   ทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมและความเป็นอยู่ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติ  ในที่สุด

อ่าน คิด คือเข็มทิศ ให้ชีวิตแตกต่าง

                                         เด็กไทยสร้างชื่อ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง 
                   แถมสามารถทำคะแนนพิชิตที่ 2 ของโลกในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกวิชาการ

                                                        ภาพจาก  https://www.lasallechote.ac.th/

        องค์ประกอบที่มีผลต่อการอ่าน
        ความสามารถในการอ่านของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอ่านได้รวดเร็วและเข้าใจในขณะที่
อีกหลายคนอ่านได้ช้าและเกิดอุปสรรคในการอ่าน การที่ผู้อ่านจะประสบความสำเร็จในการอ่านมากน้อยเพียงใด
นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อการอ่าน ดังต่อไปนี้
        ๑. ลักษณะของวัสดุการอ่าน จะต้องไม่ปิดกั้นหรือเป็นกำแพงขวางความเข้าใจในการอ่านของผู้เรียนนั่นคือ
 ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับผู้อ่าน ไม่ใช้คำศัพท์ที่แปลกประหลาด คำศัพท์ที่เด็กไม่เคยรู้จัก หรือเป็นคำศัพท์ที่ยาว
เกินความสามารถของเด็กสำหรับหลักภาษาก็ควรใช้แต่สิ่งที่เด็กคุ้นเคยแล้วประโยคไม่ยาวเกินไปและ
ไม่สลับซับซ้อน
        ๒. ลักษณะของผู้อ่าน ความสามารถในการเข้าใจ และตีความสิ่งที่อ่านจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญคือ
              ๒.๑ ระดับสติปัญญา เด็กแต่ละคนจะมีความสามารถในการอ่านแตกต่างกันไปตามระดับสติปัญญา
ของตน    เช่น เด็กบางคนไม่สามารถจดจำรายละเอียดของเนื้อเรื่องได้ บางคนไม่สามารถสรุปเรื่องที่อ่านได้ 
บางคนไม่เข้าใจ  สิ่งที่เป็นนามธรรม และบางคนไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับ
ความคิดเห็นได้ หรือถ้าทำได้ก็คงต้องใช้เวลามาก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ครูควรจะตรวจสอบเพื่อช่วยเด็กในการ
พัฒนาสมรรถภาพ  ในการอ่านและจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมกับระดับสติปัญญาของเด็ก
              ๒.๒ ความรู้ในด้านคำศัพท์และโครงสร้างของภาษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจ การสร้าง
ความคิดรวบยอด และการสร้างจินตนาการเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน
              ๒.๓ ภูมิหลังในเรื่องความรู้และประสบการณ์ จะช่วยในการผสมผสานความคิดเดิมให้เข้ากับความคิดใหม่
 ตลอดจน การแปลความ ตีความ ขยายความและการประเมินค่าของสิ่งที่อ่านได้
              ๒.๔ ร่างกาย เด็กที่มีสุขภาพทางกายดีจะมีความสามารถในการเรียน อ่านได้กว่าเด็กที่มีสุขภาพไม่ดี
ซึ่งต้องขาดเรียนบ่อย ๆ ทำให้การเรียนอ่านล่าช้าออกไป นอกจากนั้นสิ่งที่ครูจะต้องคำนึงถึงก็คือ สายตาและ
การได้ยิน เด็กที่มีสายตาผิดปกติจะรู้สึกไม่อยากอ่านหนังสือและไม่รู้สึกเพลิดเพลินหรือพอใจกับสิ่งที่อ่าน 
ส่วนเด็กที่มีความ  ผิดปกติทางการได้ยิน จะฟังคำอธิบายของครูไม่ได้ดีเท่าที่ควรเพราะจับใจความไม่ค่อยได้ 
และไม่เข้าใจความหมาย  ของคำที่ครูให้อ่านซึ่งจะให้เกิดปัญหาในการอ่านต่อไป
              ๒.๕ อารมณ์ เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อการอ่านมาก เพราะการอ่านที่ประสบผลสำเร็จนั้น 
ผู้อ่านจำเป็นต้องมีสมาธิในการอ่าน ถ้าเด็กมีความกังวลใจ หรือมีความกลัว เด็กจะมีความรู้สึกต่อต้านอย่างรุนแรง 
ซึ่งจะขัดขวางสมาธิในการอ่านเป็นอย่างมากจนเป็นผลให้ประสบผลสำเร็จในการอ่านน้อยกว่าเด็ก ที่มีอารมณ์ดี
หรือสุขภาพจิตดี
        ๓. สภาพแวดล้อม เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น สมาชิกในครอบครัวให้ความสำคัญกับการอ่าน 
มีการส่งเสริมการอ่านเด็กก็จะรู้คุณค่าของการอ่าน และอ่านได้ดีเพราะได้พบเห็นและมีกิจกรรมการอ่านเป็นประจำ 
นอกจากนี้โรงเรียนยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการอ่านของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ อันจะทำให้พัฒนาการ
ทางด้านการอ่านดีเป็นไปตามลำดับและต่อเนื่อง


 คำถามท้ายบทเรียน
   ให้นักเรียนจับคู่ แล้วทำกิจกรรมต่อไปนี้
      ๑)  การอ่านมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันอย่างไร  (ตอบให้ได้มากที่สุดภายในเวลา  ๓  นาที)
      ๒)  การอ่านทำสร้างมูลค่าให้กับชีวิตได้อย่างไร    อธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ
      ๓)  "แตกต่างตรงความคิด ชีวิตจึงแตกต่าง"  จากข้อความนี้  นักเรียนคิดว่าการอ่านมีส่วนทำให้ชีวิตแตกต่าง
หรือไม่  อย่างไร
 
กิจกรรมเสนอแนะ
      จัดกิจกรรม "นิทานร้อยเรื่อง" โดยกำหนดให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ ๔-๕ คน  แต่ละกลุ่ม อ่านนิทาน หรือ
เรื่องเล่าที่สนุกสนาน มีข้อคิด  แล้วเล่านิทานให้น้องฟัง ในช่วงชั่วโมงว่าง  หรือ ช่วงพักกลางวัน  หรือ ช่วงที่ไม่มี
การเรียนการสอน    แล้วบันทึกกลุ่มผู้ฟัง  วัน เวลา สถานที่  เนื้อหาของนิทาน และข้อคิด  จากนิทาน
โดยกำหนดให้แต่ละกลุ่มเล่าให้ได้  ๑๐๐  เรื่อง  ภายในเวลา  ๑  ปีการศึกษา  สิ้นสุดโครงการแล้ว จัดกิจกรรม
น้องขอบคุณพี่   

การบูรณาการ
       กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม   ชั้น ม.๑  วิชาพระพุทธศาสนา  นิทานชาดก
       กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  ชั้น ม.๑-๓   เรื่อง การอ่านจับใจความ
       กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์           ชั้น ม. ๔  ประวัตินักวิทยาศาสตร์
       กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์            ชั้น ม.๓   คณิตศาสตร์ในภูมิปัญญาไทย

                  ที่มา : เพลินพิศ  สุพพัตกุล แผนการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย ท๓๑๑๐๑
             ที่มา : เพลินพิศ  สุพพัตกุล เอกสารประกอบการเรียนรู้วิชาภาษาไทย
                 ขอบคุณ :  https://www.mwit.ac.th

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=546

อัพเดทล่าสุด