ทศวรรษแห่งการอ่าน


868 ผู้ชม


ปี 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศ ให้วันที่ 2 เม.ย.ของทุกปีเป็นวันรักการอ่าน ก่อนอื่นต้องมีหลักการอ่านออกเสียงและการอ่านในใจให้ถูกต้อง   

ทศวรรษแห่งการอ่าน

ครม.เห็นชอบการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ 2 เม.ย.วันรักการอ่าน


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอประกาศให้ปี 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศ พร้อมประกาศให้วันที่ 2 เม.ย.ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันรักการอ่าน อีกทั้งกำหนดให้เรื่องการส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้คณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมี รมว.ศธ.เป็นประธาน  เป็นหลัก

(ที่มาข่าว https://news.mcot.net/social/inside.php?value=bmlkPTEwNzg1NyZudHlwZT10ZXh0)

ประเด็นที่โยงเข้าสู่การเรียน     สาระการอ่าน

เหมาะสำหรับนำไปใช้สอน   ทุกช่วงชั้น

ทศวรรษแห่งการอ่าน

(ที่มาภาพ school.obec.go.th)

เนื้อหาสาระ

         การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว  หมายถึงอ่านคำที่เรียงร้อยเป็นข้อความตามภาษาพูดและใช้เสียงธรรมดาให้ถูกต้องชัดเจน  โดยการลั่นเสียง  และจังหวะเสียงให้เป็นไปตามความนิยม

หลักเกณฑ์ทั่วไปในการอ่านออกเสียงร้อยแก้ว

        ๑. ความถูกต้อง
            ๑.๑   อ่านได้ถูกต้องตามอักขระวิธี
            ๑.๒   อ่านได้ถูกต้องตามวรรคตอน
            ๑.๓   อ่านได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์
       ๒. ลักษณะท่าทาง
           ๒.๑ ลักษณะการวางท่าทาง
           ๒.๒ ลักษณะการจับหนังสือ
       ๓. ความคล่องแคล่ว
           ๓.๑ อ่านไม่สะดุดหรือไม่ติดขัด
           ๓.๒ อ่านได้อย่างมั่นใจ  ชัดถ้อยชัดคำ
       ๔. ความไพเราะ
           ๔.๑ ไม่อ่านเร็วหรือช้าเกินไป
           ๔.๒ ไม่อ่านเบาหรือดังเกินไป
           ๔.๓ เน้นเสียงหนักเบาได้อย่างเหมาะสม
          ๔.๔ ใส่อารมณ์ได้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง
          ๔.๕ ตีสีหน้าให้เข้ากับเนื้อเรื่องที่อ่าน

ตัวอย่างการอ่านออกเสียงร้อยแก้ว
        ในที่สุด / เสียงทุกอย่างก็หมดไป / คงเหลือแต่เสียงลม / เสียงฝน / และเสียงกระแสน้ำกระทบผ่านต้นอ้อ / ต้นแขม / และรากลำพูที่ริมตลิ่ง / ธรรมชาติยังคงสำแดงอำนาจอันมหึมา / โดยปราศจากการรบกวนจากมนุษย์
 เช้าวันต่อมา / พระอาทิตย์ / ทอแสงอันแจ่มใสเมื่อรุ่งอรุณ / น้ำฝนติดอยู่ตามใบไม้ / กอหญ้า / ต้องแสงอาทิตย์เป็นประกาย / เมฆฝนที่ทะมึนอยู่เมื่อกลางคืน / คงเหลือในสภาพเหมือนปุยนุ่นเล็กๆ / ที่ถูกลมพัดปลิวไปติดขอบฟ้า / นกยางฝูงหนึ่ง / บินผ่านท้องน้ำ / ตรงคุ้งสำเภาไปอย่างเชื่องช้า / มุ่งหน้าไปหากันกลางทุ่ง / ธรรมชาติลืมโทสะ / ที่บังเกิดเมื่อตอนกลางคืนนั้นแล้วสิ้น / และเรื่มวันใหม่ด้วยอาการอันแจ่มใส  / เหมือนกับเด็ก / ที่ยิ้มเบิกบานทั้งน้ำตา
(หลายชีวิต  โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  ฉบับพิมพ์  พ.ศ. ๒๕๑๓ หน้า ๓)

การอ่านในใจ

       การอ่านใจในถือว่าเป็นการอ่านเพื่อพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ อันได้แก่
           -   พัฒนาด้านความรู้ คือ ได้ทั้งความรู้รอบตัวและความรู้เฉพาะด้าน
           -   พัฒนาด้านอารมณ์ ช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน บันเทิงใจคลายความขุ่นมัวต่าง ๆ 
           -   พัฒนาคุณธรรม การมีคุณธรรมย่อมเกิดมาจากความจรรโลงใจซึ่งได้จากการอ่าน หนังสือประเภทธรรมะ ชีวประวัติ สารคดี ฯลฯ
       การอ่านในใจจึงเป็นวิธีการศึกษาอย่างหนึ่ง เพื่อเรียนรู้และเข้าใจประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งช่วยให้มนุษย์เกิดการปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข

หลักการอ่านในใจ

        ๑. ตั้งสมาธิให้แน่วแน่ 
        ๒. กะระยะช่วงสายตาแต่ละคราวให้กว้างที่สุด จะทำให้อ่านได้รวดเร็ว ไม่ควรมองเป็นคำ ๆ เพราะทำให้อ่านช้าและจับใจความไม่ได้
       ๓. การเคลื่อนไหวสายตาจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งไม่ควรบ่อยครั้ง แต่ควรเป็นไปอย่างมีจังหวะและแน่นอน ไม่ควรส่ายตาไปตามเส้นบรรทัด
      ๔. ไม่ควรอ่านย้อนกลับเพื่อทบทวนใหม่บ่อย ๆ ทำให้อ่านช้า
      ๕. การเปลี่ยนบรรทัดต้องให้แม่นยำ พยายามอย่ากลับไปอ่านซ้ำบรรทัดเดิมอีก
      ๖. ไม่ทำปากขมุบขมิบหรือออกเสียงในเวลาอ่าน
      ๗. ไม่ใช้นิ้ว ปากกา หรือดินสอ ชี้ที่ตัวหนังสือทีละตัว
      ๘. จับใจความสำคัญและใจความประกอบให้ได้ พิจารณาให้เข้าใจ
      ๙. บันทึกความรู้ ความเข้าใจ และความคิดไว้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ทศวรรษแห่งการอ่าน

(ที่มาภาพ hilight.kapook.com)

คุณสมบัติของนักอ่านที่ดี

      ๑.   มีความสนใจในการอ่าน
      ๒.  อ่านเป็นกิจวัตรประจำวัน
      ๓.  อ่านอย่างมีความสุข
      ๔.  อ่านเป็นเวลานาน
      ๕.  อ่านหนังสือทุกประเภท
      ๖.  ติดตามวงการหนังสืออยู่เสมอ
      ๗.   รู้ลักษณะและประเภทของหนังสือ
      ๘.  มีวิจารณญาณในการอ่าน
      ๙.   มีความเข้าใจเรื่องที่อ่าน
      ๑๐.  ใจกว้างในการรับฟัง
      ๑๑.  เชื่ออย่างมีเหตุผล
      ๑๒.  รู้จักวิธีอ่าน
  
การจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  ควรมีลักษณะ ดังนี้

      ๑.  เร้าใจให้เกิดความอยากอ่านหนังสือ
      ๒.  ให้เกิดความพยายามที่จะอ่านเพื่อจะได้รู้เรื่องที่น่ารู้ที่มีอยู่ในหนังสือและน่าสนุกตามกิจกรรมที่จัดขึ้น
      ๓.  แนะนำ  กระตุ้นให้อยากรู้อยากเห็นเรื่องน่ารู้ต่าง ๆ  เกิดความรอบรู้ คิดกว้าง  มีการอ่านต่อเนื่องจนเป็นนิสัย
      ๔.  สร้างบรรยากาศที่น่าอ่าน  รวมทั้งให้มีวัสดุการอ่าน  มีแหล่งการอ่านที่เหมาะสมและเพียงพอ

ประเด็นคำถามสู่การอภิปราย

      ๑.  มีความคิดเห็นอย่างไรกับการส่งเสริมการอ่าน

      ๒.   สำรวจตนเองว่ามีนิสัยรักการอ่านหรือไม่ เพราะเหตุใด

      ๓.   ถ้ายังไม่มีนิสัยรักการอ่าน ควรปฏิบัติตนอย่างไรให้เกิดนิสัยรักการอ่าน

      ๔.   สำรวจตนเองว่าอ่านออกเสียงและอ่านในใจถูกต้องหรือยัง ถ้ายังควรแก้ไขอย่างไร

      ๕.   คิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านมาอย่างน้อย  ๑  กิจกรรม

กิจกรรมเสนอแนะ

        จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

         คลิกแบบฝึกการอ่านในใจ

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้กับกลุ่มสาระอื่น

         ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ควรจะสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับนักเรียน

อ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูล

       https://elibrary.eduzones.com/index.php?title

       แนวทางการดำเนินงานการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ของ กลุ่มนิเทศ  ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพท.เพชรบูรณ์ เขต ๓

อ้างอิงที่มาภาพ

       school.obec.go.th

       hilight.kapook.com
ที่มา  : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1451

อัพเดทล่าสุด