การแต่งคำประพันธ์ได้ ถือเป็นเสน่ห์ในการใช้ภาษา
แต่งโคลงสี่สุภาพ อวยพรปีใหม่
...สุขขีปีใหม่ด้วย......ดวงจิต
หวังที่หมายสัมฤทธิ์... รื่นล้วน
มากมายร่ำรวยติด..... ตัวอยู่ เสมอนา
ความชั่วควรละห้วน.... ห่างให้จิตสวย....
เข้าสู่เทศกาลอวยพร ที่เป็นสากลทั่วโลก วัฒนธรรมอวยพรของไทย
ที่รักษาเอกลักษณ์ทางภาษาไว้ได้ คือการเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็น
บทร้อยกรอง วันนี้ของนำเสนอวิธีการแต่งโคลงสี่สุภาพ
เรื่อง การแต่งโคลงสี่สุภาพ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕
ศึกษาโคลงแม่บทต่อไปนี้
จากมามาลิ่วล้ำ ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง พี่่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง คล่าวน้ำตาคลอ
จากนิราศนรินทร์คำโคลง
ฝึกสมรรถนะการสังเกต
โคลงแม่บทนี้ มีกี่บรรทัด บรรทัดแต่ละบรรทัดมีกี่วรรค
วรรคแรกมีกี่คำ วรรคหลังมีกี่คำ
บรรทัดใดที่ไม่เหมือนบรรทัดอื่น ต่างจากบรรทัดอื่นอย่างไร
จากโคลงแม่บท มีตำแหน่งคำเอก ที่บรรทัดใดบ้าง และคำเอกมีจำนวนเท่าใด
และตำแหน่งคำโท ปรากฏอยู่ที่บรรทัดใดบ้าง และมีจำนวนเท่าใด
๑. ข้อบังคับโคลงสี่สุภาพ สิ่งที่ต้องรู้ในการแต่งโคลง
๑.๑ บทหนึ่งมีกี่บาท
๑.๒ บาทหนั่งมีกี่วรรค
๑.๓ วรรคหนึ่งๆ มีกี่พยางค์
๑.๔ บังคับสัมผัสตรงไหน
๑.๕ บังคับรูปวรรณยุกต์ที่พยางค์ใด
และสิ่งสำคัญคือ เราต้องสามารถเขียนแผนผังโคลงสี่สุภาพได้ แล้วจะสามารถ
อธิบายข้อบังคับของโคลงสี่สุภาพได้ทั้ง ๕ ข้อ
เคล็ดไม่ลับในการเขียนแผนผังโคลงสี่สุภาพ ให้เขียนจากโคลงแม่บท
โดยจำนวนคำ ตำแหน่งคำเอก คำโท ให้ตรงกับโคลงแม่บท อย่าลืมคำสร้อยในบาทที่
๑ และบาทที่ ๓ อ้อโยงสัมผัสด้วยนะคะ แต่ถ้าใครยังไม่คล่อง ก็ดูให้จำนะคะ
แผนผังโคลงสี่สุภาพ
ขอบคุณ : https://topicstock.pantip.com
มีผู้รู้แนะนำว่าวิธีการจำแผนผัง และตำแหน่งวรรณยุกต์ได้ง่ายให้ จำโคลงบทนี้
หลักการจำตำแหน่งวรรณยุกต์ และคำสุภาพ (คำที่ไม่บังคับเอกโท ในตำแหน่งบังคับ)
ขอบคุณ : https://www.winbookclub.com
เมื่อเขียนแผนผังโคลงสี่สุภาพแล้ว ก็ลองมาตอบคำถาม เกี่ยวกับข้อบังคังของ
โคลงสี่สุภาพดู เรียนด้วยการฝึกปฏิบัติค่ะ
ข้อบังคับโคลงสี่สุภาพ
๑. บทหนึ่งมี..... บาท เขียนบาทละหนึ่งบรรทัด บาทหนึ่งๆ มี ......วรรค
เรียกว่า วรรคหน้า กับ วรรคหลัง
๒. วรรคหน้ามี ...... พยางค์ทุกบาท วรรคหลังของบาทที่ ๑,๒ และ ๓ มี ....... พยางค์
วรรคหลังของบาทที่ ๔ มี .......... พยางค์
นอกจากนี้วรรคหลังของทุกบาท ยกเว้นบาทที่ ๒ อาจมีคำสร้อย ซึ่งมี ..... พยางค์
๓. สัมผัสบังคับ ให้ดูตามแผนภูมิ ที่เขียนได้ หรือจะคลิกดูก็อนุญาตค่ะ
๔. วรรคยุกต์บังคับ "รูป" ไม่คำนึงถึงเสียง พยางค์ที่มี ไม้เอก เรียก คำเอก
พยางค์ที่มี ไม้โท เรียก คำโท (บังคับ คำเอก และคำ โท)
๕. คำเอก ผ่อนผันให้ใช้คำตายแทนได้
*คำตายคือคำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในมาตราแม่ กก, กด, กบ (จำง่ายๆ ครับว่า กบด)
ซึ่งไม่มีรูปวรรณยุกต์ เช่นคำว่า โหด, แหลก, ตระ
๒. คำสร้อย
คำสร้อยคือ คำที่แต่งเติมขึ้นมาเพื่อให้ครบกระแสความ ซึ่งถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องค่ะ
คำสร้อยจะต้องมีอย่างละ ๒ คำเสมอ
โดยคำแรกจะเป็นคำที่เพิ่มความสมบูรณ์ของโคลง
ส่วนคำหลังจะลงท้ายด้วยคำที่ไม่มีความหมาย เช่น นา นอ เนอ พ่อ แม่ พี่ แล
เลย เอย ฤา ฮา
ตัวอย่าง
ตราบขุนคิริขัน ขาดสลาย แลแม่
รักบ่หายตราบหาย หกฟ้า
สรุยจันทร์ขจาย จากโลก ไปฤา
ไฟแล่นล้างสี่หล้า ห่อนล้างอาลัย
จากนิราศนรินทร์คำโคลง
๓. คำ หรือ พยางค์
หนึ่งพยางค์ ในทางฉันทลักษณ์ ถือว่าเป็น หนึ่งคำ
คำเอก คือคำที่มีวรรณยุกต์เอกกำกับ
คำโท คือคำทีทมีวรรณยุกต์โทกำกับ
ที่เราเรียกกันว่า เอกโทษ โทโทษ คือคำตามปกติใช้ไม้เอก แต่เมื่อคิดหาคำมาใช้ไม่ได้
ก็ใช้คำตามปกติเพียงแต่เปลี่ยนเป็นไม้โทแทน
เช่นคำว่า ท่วม เปลี่ยนเป็น ถ้วม
ช่วย เปลี่ยนเป็น ฉ้วย เพื่อให้ลงสัมผัสนั่นเอง
ตัวอย่าง
เรียนร่ำน้ำเนตรถ้วม ถึงพรหม
พาหมู่สัตรว์จ่อมจม ชีพม้วย
พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม ทบท่าว ลงนา
หากอกนิษฐ์พรหมฉ้วย พี่ไว้จึ่งคง
**ลองหาดูว่ามีคำโทโทษตรงไหนบ้างในโคลงบทนี้
๔. ข้อห้าม
๔.๑ ห้ามใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์สำหรับพยางค์สุดท้ายในวรรคของบาทที่ ๑
และพยางค์ที่ ๕ ของวรรคหน้าบาทที่ ๒ และ บาทที่ ๓
๔.๒ ห้ามใช้คำตายแทนตำแหน่งโท
๔.๓ ห้ามใช้คำตายและคำที่มีรุปวรรณยุกต์สำหรับพยางค์สุดท้ายของบาทที่ ๔
(นิยมใช้เสียงจัตวากันมาก)
๕. หากแต่งมากกว่า ๑ บท ให้มีร้อยโคลง หรือ คล้องโคลง
• การคล้องโคลง หรือ การร้อยโคลง คือการส่งสัมผัสระหว่างบท
คือให้พยางค์สุดท้ายของบทแรกส่งสัมผัสไปยัง ...
พยางค์ที่ ๑,๒ หรือ ๓ ของบาทแรก-วรรคแรกในบทถัดไป
ตัวอย่าง แผนผังที่มีร้อยโคลง
ขอบคุณ : https://www.oknation.net/blog/home
เพิ่มเติม
การเขียนโคลงแต่ละบท ให้ย่อหน้าทุกครั้ง
คำสร้อยในบาทที่ ๑ และ ๓ ให้เขียนห่างจากเนื้อความเล็กน้อย
เวลาแต่งถ้าต้องการให้โคลงมีเสียงไพเราะเวลาแต่งให้อ่านเอื้อนเสียงตามทำนองไปด้วย
คำตายที่ใช้แทนในตำแหน่งเอก
หลายคนอาจยังไม่เข้าใจถึงคำตายที่ชัดเจน
ในโคลงสี่สุภาพคำตายที่เราสามารถนำมาใช้แทนตำแหน่งเอกได้ เช่น
คำว่า ระ เพริศ เสพ ปราชญ์ สุข ดุจ
ส่วนสัมผัสอักษรหรือสัมผัสพยัญชนะได้แก่
เสียง พ พ้อ พัน หา พา เพริศ
เสียง ส เสพ เสน่หา สุข ซาบ
เสียง ม ม้วย ไม้
เสียง ร ระ รวย รส
เสียง ค คน ความ
ข้อบังคับของโคลงสี่สุภาพ บังคับคำเอกเอก ๗ แห่ง และคำ โท ๔ แห่ง
ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
๑. จับคู่ แต่ละคนเขียนแผนผังโคลงสี่สุภาพ แล้วผลัดกันอธิบายคณะ และข้อบังคับ
ของโคลงสี่สุภาพ ให้กันฟัง (ฝึกความแม่นยำในหลักเกณฑ์ และข้อบังคับ
ได้สมรรถนะการสื่อสาร)
๒. ช่วยกันแต่งโคลงสี่สุภาพ อวรพรปีใหม่ อย่างน้อยคู่ละ ๒ บท (ฝึกทักษะแบบ
เพื่อนช่วยเพื่อนเงื่อนไขความสำเร็จ ได้สมรรถนะการนำเสนอ)
กิจกรรมเสนอแนะ
๑. ประกวดเขียนโคลงเล่าประสบการณ์
๒. จัดโต้วาที ยัตติ เขียนโคลงสี่ ดีกว่าเขียนกลอน
กิจกรรมบูรณาการ
บูรณาการได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยบรรยายองค์ความรู้ในแต่ละวิชา
เป็นโคลงสี่สุภาพ หรือใช้โคลงสี่สุภาพ สรุปองค์ความรู้หลังนำเสนองาน
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล แผนการจัดการเรียนรู้วิชา ท๓๑๑๐๒ ภาษาไทย ขั้น ม.๔
เพลินพิศ สุพพัตกุล หนังสืออ่านเพิ่มเติม วิชาภาษาไทย ขั้น ม.๔
อ้างอิง
ขอบคุณ https://topicstock.pantip.com
ขอบคุณ https://www.trytodream.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1892