วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การเขียน การเว้นวรรค


898 ผู้ชม


การเว้นวรรค หมายถึง การเว้นช่องว่างระหว่างวรรค   

วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การเขียน การเว้นวรรค

ประเด็นข่าว                                                             
              'โตโน่'เว้นวรรครักชั่วคราว 'โตโน่'ภาคิน เตรียมตัวบวชที่วัดใน จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ยังไม่ได้วันที่แน่นอน เปรยช่วงนี้ขอหันหลังให้กับเรื่องความรัก พระเอกหนุ่มยังกล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องที่ทุกคนถามกันมาตลอด ว่าใครจะเป็นคนถือหมอนให้ในงานนี้ โตโน่เลยเฉลยเลยว่าเป็นผู้หญิงที่เขารักมากที่สุด นั่นก็คือแม่ และน้องสาวนั่นเอง ส่วนสาวอื่นๆ ขอเชิญมาร่วมงานบุญทั้งหมด แต่ส่วนตัวตอนนี้โตโน่บอกว่าขอเว้นวรรคเรื่องความรักไปสักพักก่อน ตอนนี้ยังไม่อยากคิดอะไรมากมาย

ที่มา : https://www.komchadluek.net/detail/20130123/149996/

เกริ่นนำ
               การเว้นวรรคเป็นคำที่ใช้ในความหมายตรงและความหมายโดยนัย  คำว่าเว้นวรรคที่มีการนำไปใช้ในความหมายโดยนัยเช่น  เว้นวรรคทางการเมือง  เว่นวรรคเรื่องความรัก  เว้นวรรคด้านพฤติกรรมต่าง ๆนั่นคือการงดเว้นจากการกระทำในสิ่งที่เคยทำมาก่อน ส่วนในความหมายโดยตรงที่ใช้กันคือการเว้นวรรคในการพูดและการเขียน

วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การเขียน การเว้นวรรค

 ที่มาของภาพ : https://www.eng.ubu.ac.th/charoenc/2011/01/07

เนื้อหา
กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ 

หลักเกณฑ์การเว้นวรรค         
              ในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือไทย การเว้นช่องว่างระหว่างคำ ข้อความหรือประโยคให้ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะทำให้ข้อเขียนนั้นมีความถูกต้อง แจ่มแจ้ง ชัดเจน และอ่านได้ตรงตามความต้องการของผู้เขียน วรรค คือ คำ ข้อความ หรือประโยคช่วงหนึ่ง ๆ 
              การเว้นวรรค หมายถึง การเว้นช่องว่างระหว่างวรรค 
การเว้นวรรคแบ่งออกเป็น 
– การเว้นวรรคเล็ก มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณเท่ากับความกว้างของพยัญชนะ ก 
– การเว้นวรรคใหญ่ มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณ ๒ เท่าของการเว้นวรรคเล็ก หรือ กก

              ในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือไทย มีหลักเกณฑ์ในการเว้นวรรค ดังนี้ 
๑. กรณีที่ต้องเว้นวรรค 
     ๑.๑ การเว้นวรรคใหญ่ เว้นวรรคใหญ่เมื่อจบข้อความแต่ละประโยค 
       ตัวอย่าง (๑) นั่งให้เรียบร้อย อย่าไขว่ห้าง                  
                    (๒) วิทยาการเป็นต้นธารให้บังเกิดความรู้ และความสามารถในอันที่จะประกอบกิจตามหน้าที่ได้ดี ความเจริญงอกงามทั้งทางจิตใจและทางวัตถุย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิทยาการ บ้านเมืองจะเจริญหรือเสื่อมก็เนื่องด้วยวิทยาการ 
     ๑.๒ การเว้นวรรคเล็ก เว้นวรรคเล็ก ในกรณีต่อไปนี้ 
            ๑.๒.๑ ในประโยครวมให้เว้นวรรคเล็กระหว่างประโยคย่อยที่มีใจความสมบูรณ์และเชื่อมกับประโยคอื่น ๆ ที่ขึ้นต้นด้วยคำสันธาน “และ” “หรือ” “แต่” ฯลฯ แต่ถ้าเป็นประโยคสั้นให้เขียนติดกัน 
            ๑.๒.๒ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อกับนามสกุล 
            ๑.๒.๓ เว้นวรรคเล็กหลังคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ พระนาม และฐานันดรศักดิ์                  
            ๑.๒.๔ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อบริษัท ธนาคาร ฯลฯ กับคำ “จำกัด” ที่อยู่ท้ายชื่อ 
            ๑.๒.๕ เว้นวรรคเล็กระหว่างคำ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” และ “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” กับชื่อ 
            ๑.๒.๖ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อสถานที่ต่าง ๆ เช่น ถนน ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต จังหวัด 
            ๑.๒.๗ เว้นวรรคเล็กระหว่างคำนำหน้านามแต่ละชนิด 
            ๑.๒.๘ เว้นวรรคเล็กระหว่างยศกับชื่อ 
            ๑.๒.๙ เว้นวรรคเล็กระหว่างกลุ่มอักษรย่อ 
            ๑.๒.๑๐ เว้นวรรคเล็กระหว่างตัวหนังสือกับตัวเลข 
            ๑.๒.๑๑ เว้นวรรคเล็กระหว่างวันกับเวลา 
            ๑.๒.๑๒ เว้นวรรคเล็กหลังข้อความที่เป็นหน่วยมาตราต่าง ๆ กับข้อความที่ตามมา 
            ๑.๒.๑๓ เว้นวรรคเล็กระหว่างตัวหนังสือไทยกับตัวหนังสือภาษาอื่น 
            ๑.๒.๑๔ เว้นวรรคเล็กระหว่างรายการต่าง ๆ เพื่อแยกรายการแต่ละรายการ ทั้งที่เป็นข้อความและกลุ่มตัวเลข 
            ๑.๒.๑๕ เว้นวรรคระหว่างเครื่องหมายต่าง ๆ 
                        ๑.๒.๑๕.๑ เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ไม้ยมก เสมอภาคหรือเท่ากับ ทวิภาค วิภัชภาค และเครื่องหมาย + ที่ใช้ในทางภาษา (มิใช่เครื่องหมาย + ที่ใช้ในทางคณิตศาสตร์) 
                        ๑.๒.๑๕.๒ เว้นวรรคเล็กหน้าเครื่องหมายอัญประกาศเปิดและวงเล็บเปิด 
                        ๑.๒.๑๕.๓ เว้นวรรคเล็กหลังเครื่องหมาย จุลภาค อัฒภาค ไปยาลน้อย อัญประกาศปิด และวงเล็บปิด 
            ๑.๒.๑๖ เว้นวรรคเล็กหลังข้อความที่เป็นหัวข้อ ๑.๒.๑๗ เว้นวรรคเล็กทั้งข้างหน้าและข้างหลังคำ ณ ธ 
            ๑.๒.๑๘ เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังคำว่า “ได้แก่” ที่ตามด้วยรายการ มากกว่า ๑ รายการ 
            ๑.๒.๑๙ เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังคำ “เช่น” (ในความหมายว่า ยกตัวอย่าง) ยกเว้น “เช่น” ที่มีความหมายว่า “อย่าง, เหมือน” ไม่ต้องเว้นวรรคทั้งหน้าและหลังคำ 
            ๑.๒.๒๐ เว้นวรรคเล็กหน้าคำสันธาน “และ”, “หรือ” ในรายการ ยกเว้น ถ้ามีเพียง ๒ รายการ ไม่ต้องเว้นวรรค 
            ๑.๒.๒๑ เว้นวรรคเล็กหน้าคำ “เป็นต้น” ที่อยู่หลังรายการ 
            ๑.๒.๒๒ เว้นวรรคเล็กหลังคำว่า “ว่า” ในกรณีที่ข้อความต่อมาเป็นประโยค

วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การเขียน การเว้นวรรค

                                     ที่มาของภาพ : https://www.siamrath.co.th/web/?q=node/58280
ประเด็นคำถาม
๑. การเว้นวรรคมีความจำเป็นในการเขียนอย่างไรอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง
๒. หากเขียนหนังสือโดยไม่มีการเว้นวรรคหรือเว้นวรรคผิดนักเรียนคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร

กิจกรรมเสนอแนะ
๑. ฝึกสังเกตงานเขียนต่างๆ ว่ามีการเว้นวรรคถูกต้องตามหลักเกณฑ์การเว้นวรรคที่ได้ศึกษามาหรือไม่
๒. นักเรียนสร้างประโยคหรือข้อความที่เมื่ออ่านเว้นวรรคผิดความหมายผิด เช่น
        "ยาขนานนี้  กินแล้วแข็ง  แรงไม่มี  โรคภับเบียดเบียน"
 
ที่มา 
https://www.komchadluek.net/detail/20130123/149996/ 
  https://www.royin.go.th/th/profile/index.php?SystemModuleKey=279&SystemMenuID=1&SystemMenuIDS=
  https://www.eng.ubu.ac.th/charoenc/2011/01/07/
  https://www.siamrath.co.th/web/?q=node/58280
ที่มา  : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4853

อัพเดทล่าสุด