วิชาภาษาไทย ภาษาไทย หลักการใช้ภาษา มงคลสูตรคำฉันท์ ตอน อำนาจของคำถาม


1,511 ผู้ชม


มงคล คือเหตุที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ ใครอยากมีมงคล ต้องปฏิบัติเอง   

มงคลสูตรคำฉันท์  ตอน อำนาจของคำถาม


     ประเด็นสนทนา    ง่าย...แต่ยาก

ง่ายที่จะ...ตัดสินความผิดพลาดของคนอื่น  
                                      ยากที่จะ...สำนึกถึงความผิดของตนเอง 
ง่ายที่จะ...พูดโดยไม่คิด       ยากที่จะ...ไม่พูด 
ง่ายที่จะ...ทำร้ายคนที่รักเรา  ยากที่จะ...เยียวยาบาดแผลที่เราทำไว้กับเขา 
ง่ายที่จะ...อภัยให้คนอื่น       ยากที่จะ...ขอให้คนอื่นอภัยให้ 
ง่ายที่จะ...ตั้งกฎเกณฑ์         ยากที่จะ...ทำตามกฎนั้น 
ง่ายที่จะ...ฝันทุกค่ำคืน          ยากที่จะ...สู้เพื่อฝันนั้น 
ง่ายที่จะ...อวดความสำเร็จ     ยากที่จะ...ยอมรับความพ่ายแพ้อย่างมีศักดิ์ศรี

                 ที่มา : เพลินพิศ  สุพพัตกุล  บทความน่ารู้ประกอบการสอนภาษาไทย

        จากบทความข้างต้น  จะเห็นความยาก...บนความง่าย  แต่ไม่ง่ายดั่งที่คิด
เพราะก็ยังยึดมั่นถือมั่น  แต่การได้อ่านสิ่งที่กระทบใจ  ทำให้เราได้เปิดโอกาสให้
ได้ถามตัวเอง ได้ไตร่ตรอง ได้ทบทวน คำถามนี้มีอำนาจ เปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งชีวิต
        บางเรื่องเมื่ออ่านจบ  บอกทันทีว่ายากที่จะทำ
        ครั้นเวลาผ่านไป  เรากลับเห็นว่าเรื่องยากที่ว่ายากนั้น กลับง่ายขึ้น  นั่นคือคำถาม
ที่ท้าทายเรา...  นั่นเป็นอำนาจของคำถาม

ประเด็นการศึกษา  มงคลสูตรคำฉันท์  ตอนอำนาจของคำถาม
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔


มงคลสูตรคำฉันท์  ตอนอำนาจของคำถาม

ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ 
                                 เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๖
ลักษณะคำประพันธ์   คำฉันท์  ประกอบด้วย   กาพย์ฉบังและอินทรวิเชียรฉันท์ 
                      แทรกคาถาบาลี

เนื้อเรื่องย่อ 
           พระอานนท์ เป็นผู้เล่าว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวันวิหาร 
ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย
           ตอนประถมยาม มีเทวดารัศมีเจิดจ้ามาเข้าเผ้าพระพุทธองค์ 
ทูลถามถึงเรื่องมงคลพระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาถึงมงคล   ๓๘ ประการ
เทวดาและมนุษย์ผู้ปฎิบัติตาม จะเป็นผู้ประเสริฐ ไม่แพ้ในที่ใดๆ 
ได้รับความเจริญสวัสดีทุกประการ

           เรื่องมงคล เกิดจากอำนาจของคำถาม  
           ผู้ถามคือ  เหล่าเทวดา
           ผู้ตอบคือ  องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
           ผู้เผยแพร่คือ พระอานนท์
                 วิชาภาษาไทย ภาษาไทย หลักการใช้ภาษา มงคลสูตรคำฉันท์ ตอน อำนาจของคำถาม
                             ภาพจาก : https://2.bp.blogspot.com

ประวัติผู้ทรงนิพนธ์
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๖ แห่งจักรีวงศ์
                                   วิชาภาษาไทย ภาษาไทย หลักการใช้ภาษา มงคลสูตรคำฉันท์ ตอน อำนาจของคำถาม
                               ภาพจาก : https://www.nma6.obec.go.th

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถในด้าน
อักษรศาสตร์เป็นเลิศ พระองค์ได้รับถวาย พระสมัญญาว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า 
         พระราชนิพนธ์ของพระองค์มีอยู่เป็นจำนวนมาก และทรงใช้นามปากกาหลายชื่อ 
แต่ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชนิพนธ์กวีต่าง ๆ
นับว่าเป็นอาภรณ์ประดับชาติ พระองค์ได้ปลูกฝังคุณธรรมความดีงามในแนวทาง
ของพระพุทธศาสนา รวมทั้งจิตสำนึก  ในความรักชาติ ความเสียสละเพื่อส่วนรวม 
โดยผ่านทางบทพระราชนิพนธ์ได้อย่างลึกซึ้งกินใจ 
                              
   นอกจากนั้นบรรดาบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ ยังมีความสมบูรณ์ 
งดงามทั้งด้านคำศัพท์  เสียง และเนื้อหาอรรถรส ทำให้สามารถจดจำถ้อยคำ
และเนื้อหาสาระในบทพระราชนิพนธ์  เหล่านั้นได้โดยธรรมชาติ ไม่ต้องใช้
ความพยายามแต่อย่างใดและจำได้ไม่รู้ลืม
                 วิชาภาษาไทย ภาษาไทย หลักการใช้ภาษา มงคลสูตรคำฉันท์ ตอน อำนาจของคำถาม

                            ภาพจาก : https://2.bp.blogspot.com
ในที่นี้จะได้นำเสนอเนื้อเรื่องบางตอน ในบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ 
ที่ได้ยินได้ฟังกันมา อย่างแพร่หลาย ดังนี้

  ต้นมงคลสูตร

@ สิบสองฉนำเหล่า          นรอีกสุเทวา
รวมกันและตริหา             สิริมังคลาใด     
       ถอดความ  สิบสองปีแล้วที่บรรดามนุษย์ผู้มีลัทธิและเทวดา 
                      ต่างถกเถียงกันว่า  สิ่งที่เป็นมงคล  คืออะไร  
                      หรือ  อะไรที่เป็นมงคล

@ เทวามนุษทวี                พหุภพประเทศใน
หมื่นจักระวาฬได้               ดำริห์สิ้นจิรังกาล
       ถอดความ  เพราะมงคล จะเป็นสิ่่งที่จะทำให้ ทุกชีวิตในจักรวาฬ
                       มีความสุขตลอดไป


@ แล้วยังบ่รู้มง -               คะละสมมโนมาลย์
ด้วยกาละล่วงนาน              บ่มิได้ประสงค์สม
        ถอดความ  แต่ก็ยังไม่รู้ ว่ามงคลคืออะไร  จนเวลาล่วงเลยมาหลายปี

@ ได้เกิดซึ่งโกลา -           หะละยิ่งมโหดม
ก้องถึง ณ ชั้นพรหม           ธ สถิตสะเทือนไป
        ถอดความ  จึงเกิดความโกลาหน ถกเถียงกัน 
                       สนั่นไปถึงสวรรค์ชั้นพรหม

@  องค์โลกนาถเทศน์         วรมังคะลาใด
ยังปาปะปวงให้                   ทุษะเสื่อมวินาศมล
         ถอดความ  องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนา สิ่งใดที่เป็นมงคล 
                        ที่จะทำให้ บาป ทั้งหลาย โทษะทั้งหลาย เสื่อมวินาศไป

  @ ชนหลาย บ่ พึงนับ           ผิสดับสุมงคล
ใดแล้วและรอดพ้น                พหุทุกขะยายี
         ถอดความ  สาธุชนทั้งหลายจะได้ฟังสิ่งที่ดีที่สุดนั้น 
                        จะได้รอดพ้นจากความทุกข์

  @ เราควรจะกล่าวมง -         คะละอันประเสริฐที่
กอบด้วยคุณามี                    วรอัตถะเฉิดเฉลา
         ถอดความ จึงควรจะกล่าวถึงมงคล อันเป็นสิ่งประเสริฐ 
                       ประกอบด้วยเรื่องราวดีงาม

ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
        ๑. แบ่งกลุ่ม กลุ่มละ ๓-๔  คน  แต่ละกลุ่มอภิปราย ถึงสิ่งที่จะทำให้
ชีวิตเจริญรุ่งเรือง  หรือเสื่อมทราม  ให้ได้ข้อมูลมากที่สุดภายในเวลา  ๕-๗ นาที
       ๒. จัดกิจกรรมยอวาที หัวข้อ "ชีวิตต้องมีมงคล"
  
กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑.  วิเคราะห์คุณค่าด้านวรรณศิลป์จากบทร้อยกรองในตอนที่เรียน

สรรถนะที่ต้องการเน้น
       ๑. มีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
       ๒. มีความสามารถในการคิด

กิจกรรมบูรณาการ  

        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ เรื่อง มงคล ๓๘


        ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   แผนการจัดการเรียนรู้  ภาษาไทย  ชั้นม.๔
          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4820

อัพเดทล่าสุด