วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การพูด หลักการใช้ภาษา พี่มากพระโขนง กับ คำรื่นหู คำชม


4,268 ผู้ชม


คำชื่นชม เปรียบเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ที่ไม่ต้องลงทุน เป็นคำรื่นหู ที่น่าฟัง อยากฟังซ้ำ ฟังแล้วเติมเต็มความรู้สึก   

   ประเด็นข่าว    เรื่อง พี่มาก ...พระโขนง กับคำรื่นหู 
                พี่มาก...พระโขนง ดูตอนแรกคิดว่าไม่ใช่หนังไทยซะอีก 55555 เป็นอะไรที่ฮามากครับ โดยเฉพาะชิน 
กับ เผือก ชินนี่ฮาตลอดครับ เพราะเป็นคนแรกที่รู้ว่าแม่นาคเป็นผี และก็ "ไม่ได้แอ้มกูหรอก" โครมมม #ฮามาก 
เผือกอีกคน ชอบขัดสถานการ์ณตลอดดีครับ โดยเฉพาะฉากแรกที่เต๋อพูดภาษาไทยแบบเก่า 555 เกิดมาไม่เคยเห็นหนังตลกที่ไม่มีนักแสดงตลกเฉพาะมาแสดงเลย #รู้สึกจะมีคนหนึ่งที่แสดงเป็นพระ และไม่เคยเห็นหนังตลกไทย
ตลกได้มากขนาดนี้มาก่อน

                                                ที่มา : fb อาวส์ (เลขที่ 338988) เมื่อ 10 เม.ย. 56 17:01 

           จากบทวิจารณ์ที่ยกมานี้ เชื่อว่าทั้งผู้แสดง ผู้กำกับ และผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องพี่มาก..พระโขนง      คงยิ้มแก้มปริไปตาม ๆ กัน เพราะแต่ละคำล้วนเป็นชื่นชม เปรียบได้กับการได้รับของขวัญชิ้นใหญ่ในชีวิต 
       คำชมทั้งหลายในทุกภาษา เป็นคำรื่นหู ที่น่าฟัง อยากฟังซ้ำ ฟังแล้วเติมเต็มความรู้สึก ผู้พูดมีเสนห์  อย่างน่าอัศจรรย์
                     วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การพูด หลักการใช้ภาษา พี่มากพระโขนง กับ คำรื่นหู คำชม
                                          ที่มา : https://www.google.com


กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 
ประเด็นความรู้ การใช้ภาษาสัมพันธ์กับวัฒนธรรม ตอน การใช้คำรื่นหู 
            เมื่อมนุษย์ต้องติดต่อสื่อสารมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ความสุภาพ (Politeness) กลายมาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่คู่สนทนาควรนำมาใช้ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษาไม่ว่าคู่สนทนาจะอ่อนอาวุโสหรือมากอาวุโสก็ตาม ในภาษาอังกฤษ คำว่า “Please” ถูกกล่าวถึงทุกครั้งเมื่อผู้พูดต้องการขอร้องให้ผู้อื่นกระทำการบางอย่างให้ นอกจากนี้ความสุภาพ
            ในการสื่อสารสามารถแสดงออกด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้คำสบถ คำหยาบ 
             การใช้คำขอบคุณ ทุกครั้ง เมื่อมีผู้กระทำสิ่งใดให้  หรือให้สิ่งของ 
            ใช้คำขอโทษ ทุกครั้ง ที่กระทำผิด   
ในสังคมไทย   เด็กมักจะถูกอบรม ให้กล่าวคำลงท้ายทุกครั้งในการพูด เช่น ค่ะ ครับ 
ซึ่งหากละเลย   อาจถูกตำหนิเ  พราะไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐาน ของสังคม (Social Norm) 
           แต่สำหรับผู้ใหญ่แล้ว การใช้ภาษาเพื่อแสดงความสุภาพมีขอบเขตที่กว้างกว่า อาจรวมถึง การใช้คำรื่นหู    การกล่าวอ้อม หรือการเลือกหัวข้อสนทนาด้วย เป็นการแสดงความสุภาพของ ผู้พูด 
           ๑. ความสุภาพ หมายถึง การควบคุมความประพฤติของตน (Self Restraint Behavior) ให้เป็นไปตามบรรทัดฐาน ทางสังคมหากผู้คนส่วนมากในสังคมถือว่าการแสดงออกด้านกิริยาและวาจาแบบหนึ่งเป็นแบบที่เหมาะสมเราก็ควรยึดถือ แนวปฏิบัตินั้น 
           ๒. ความสุภาพ เป็นการใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น (Consideration for Others’ Feeling) หมายความว่า ก่อนที่จะกล่าวถ้อยคำหรือลงมือกระทำสิ่งใดลงไป ให้ตระหนักว่าคนแต่ละคนมีความต้องการที่ต่างกัน ต้องยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายให้จงได้ 
           ๓. การใช้ความสุภาพอย่างถูกต้องตามกาลเทศะเป็นเสมือนกลวิธีเลี่ยงความขัดแย้ง (Conflict-Avoidance Strategy) เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ร่วมสนทนาและบุคคลรอบข้าง หากเห็นว่าถ้อยคำใดอาจทำลายบรรยากาศควรละเว้นการกล่าวถ้อยคำนั้น 
           ๔. ความสุภาพนอกจากจะช่วยทำให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผลแล้ว ยังทำให้ผู้พูดรู้สึกพึงพอใจว่าได้ประพฤติตนในกรอบที่สังคมกำหนดและสร้างความมั่นใจให้กับตนเองได้ว่าน่าจะได้รับความสุภาพในลักษณะเดียวกันกลับคืนจากผู้ฟังด้วย


               ในสังคมแต่ละสังคม มักมีสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งที่คนในสังคมนั้น เห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ควรกระทำ หรือไม่ควรกล่าวถึง ด้วยเหตุนี้ถ้อยคำที่กล่าวถึงเรื่องต้องห้ามตรง ๆ จึงมัก
เป็นสิ่งต้องห้ามไปด้วย 
                วัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยแต่โบราณ เรามีสิ่งต้องห้าม และคำต้อห้าม คนในวัฒนธรรมไทยไม่กล่าวคำต้องห้าม เหล่านั้นโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หากจำเป็น
ต้องเอ่ยถึงสิ่งต้องห้าม คนไทยจะใช้คำรื่นหูแทน
 เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกรังเกียจ หรือ
สะอิดสะเอียน 
                  ตัวอย่างคำรื่นหู 
                                    ปัสสาวะ ใช้คำรื่นหูว่า   ยิงกระต่าย(ชาย)    ใช้คำว่า  เก็บดอกไม้(หญิง) 
                                    มีเพศสัมพันธ์    ใช้คำรื่นหูว่า มีอะไรกัน

                                    เธอสวมเสื้อคอกว้างทำให้มองเห็นอะไร ๆ หมด  
                                               คำรื่นหูว่า  อะไร ๆ  หมายถึง หน้าอกหน้าใจ 

                                   ใช้คำรื่นหูว่า  ผู้อาวุโส    แทนคำว่า  แก่
                                   และคำสุภาพทั้งหลายก็ถือว่าเป็นคำรื่นหูด้วย

                                                   เป็นต้น
            คำรื่นหูบางคำเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต 
            คำที่มาจากบาลีสันสกฤตนั้น จำเป็นต้องถอดความหมายมาเป็นภาษาไทยอีกชั้นหนึ่ง 
จึงถือกันว่าหยาบคายน้อยกว่าคำต้องห้ามที่เป็นภาษาไทยแท้ 
           ในปัจจุบัน  ผู้ที่ฉลาดใช้คำรื่นหู มักเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ และประสบความสำเร็จ
ในชีวิต    “คำชม” รื่นหู ไร้ศัตรู สร้างมิตร 
 
            ในสังคมที่อยู่ร่วมกัน  เรามีโอกาสที่มักจะชมกันและกันเสมอ และเพียงแค่คำขอบคุณง่ายๆ ก็ให้ผลลัพธ์ดีเกินคาด 
             คำชมเป็นคำรื่นหู เรามีเคล็ดลับที่จะช่วยให้การชม และรับคำชมสร้างผลดีทั้งต่อผู้ให้
และผู้รับ ดังนี้
            ๑. จริงใจที่จะชม   มีความจริงใจ ถ้าไม่ชอบจริงๆ อย่าพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ การชมทุกคนรวมทั้งทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ขวางหน้า จะทำให้คำชมนั้นดูเบาหวิวไร้แก่นสาร 
            ๒. เลือกใช้คำ    หาประโยคเหมาะ ๆ ถ้าเพื่อนถามว่าเธอดูเป็นยังไงสำหรับปาร์ตี้คืนนี้ ขณะที่คุณไม่ชอบชุดของเธอ ให้เปลี่ยนมาแสดงความเห็นในสิ่งที่คุณชอบแทน เช่น “ทรงผมสวยดี” เป็นต้น   
            ๓. รับคำชมแบบเดียวกับการรับของขวัญ มีใครบ้างที่ปฏิเสธของขวัญ ดังนั้นถ้าใครสักคนมีน้ำใจ ให้คำชมเชยแก่คุณ ก็อย่าทำให้ความมีน้ำใจของเขาเป็นสิ่งไร้ค่า ก็แค่บอกเธอไปว่า “ขอบคุณค่ะ” จบ! 
            ๔. คำชมไม่ใช่บูมเมอแรง เมื่อมีใครสักคนชมคุณ ก็เป็นธรรมดาที่คุณอาจจะอยากตอบแทนเขากลับไปบ้าง แต่จริงๆ ไม่จำเป็นหรอก การตอบกลับทำนอง “คุณก็สวยเหมือนกัน” จะฟังดูแสแสร้ง แม้คำพูดนั้นจะเต็มไปด้วย ความจริงใจแค่ไหนก็ตาม 
            ๕. รับคำชมแบบไม่จริงใจด้วยรอยยิ้ม มีใครบ้างไม่เคยได้รับคำชมหวานหู ที่อาบด้วยยาพิษ ทำนองว่า “ต๊าย ไปทำไรมา ดูดีขึ้นเยอะเลย” (ทั้งๆ ที่คุณก็ไม่เคยดูแย่สักนิด) มันชวนให้คุณปรี๊ดแตกอยากตอกกลับไป เจ็บๆ ว่า “แล้วชั้นมีวันที่ดูแย่เหมือนหล่อนด้วยเหรอ” ทางออกที่ดีที่สุดคือ แค่ยิ้มรับและกล่าวขอบคุณ เพราะถ้าทำแบบแรก โอกาส “งานเข้า” มีแน่ๆ 
ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน 
          อภิปราย เราสามารถประยุกต์ใช้ความรู้เกี่ยวกับรื่นหูในวิถีชีวิตได้อย่างไร 
คุณลักษณะที่ปลูกฝัง 
          ๑. รักความเป็นไทย 
          ๒. ใฝ่เรียนรู้ 
กิจกรรมบูรณาการ 
           กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ การเลือกใช้คำสนทนา 
           กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ วิชาเคมี เรื่องปฏิกิริยาเคมีทางกายภาพเมื่อได้ฟังคำรื่นหู
           กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ คุณธรรมในการพูด

           ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ท๓๒๑๐๑ ชั้น ม.๕ 
           ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล คู่มือการสอนวิชาภาษาไทย ท๓๒๑๐๑ ชั้น ม.๕

 ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4860

อัพเดทล่าสุด