วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน เรื่องอ่านนอกเวลา ลิลิตตะเลงพ่าย ตอน พระสุบินและพระนิมิตของพระนเรศวร


1,047 ผู้ชม


พระองค์จะรุกไล่บุกฝ่าไปในหมู่ข้าศึกจนข้าศึกแตกพ่ายไปไม่อาจจะทานพระบรมเดชานุภาพได้   

ลิลิตตะเลงพ่าย ตอน พระสุบินและพระนิมิตของพระนเรศวร
ประเด็นการศึกษา เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕

เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย ตอน พระสุบินและพระนิมิตของพระนเรศวร

ผู้นิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ลักษณะคำประพันธ์ ลิลิตสุภาพ (ร่ายสุภาพ + โคลงสุภาพ)

เนื้อเรื่อง พระสุบินและพระนิมิตของพระนเรศวร

                      เทวัญแสดงเหตุให้                สังหร   เห็นแฮ
                เห็นกระแสสาคร                         หลั่งล้น
                ไหลลบวนาดอน                         แดนตก  ทิศนา
                 พระแต่เพ่งฤๅพ้น                        ที่น้ำนองสาย
                        พระกรายกรย่างเยื้อง            จรลี
                 ลุยมหาวารี                                เรี่ยวกว้าง
                 พอพานพะกุมภีล์                        หนึ่งกว้าง  ไสร้นา
                  โถมปะทะเจ้าช้าง                       จักเคี้ยวขบองค์
                           พระทรงแสงดาบแก้ว          กับกร
                  โจมประจัญฟันฟอน                    เฟื่องน้ำ
                 ต่างฤทธิ์ต่างรบรอน                    ราญชีพ  กันแฮ
                 สระท้านทุกถิ่นท่าถ้ำ                   ท่งท้องชลธี
                             นฤบดีโถมถีบสู้                ศึกธาร
                ฟอนฟาดสุงสุมาร                          มอดม้วย
               สายสินธุ์ซึ่งนองพนานต์                  หายเหือด  แห้งแฮ
                 พระเร่งปรีดาด้วย                          เผด็จเสี้ยนเศิกกษัย
                             ทันใดดิลกเจ้า                  จอมถวัลย์
                  สร้างผทมถวิลฝัน                         ห่อนรู้
                  พระหาพระโหรพลัน                     พลางบอก ฝันนา
                  เร็วเร่งทายโดยกระทู้                     ที่ถ้อยตูแถลง
                            พระโหรเห็นแจ้งจบ             ในมูล  ฝันแฮ
                   ถวายพยากรณ์ทูล                      แด่ไท้
                   สุบินบดินทร์สูร                           ฝันใฝ่  นั้นฤๅ
                   หากเทพสังหรให้                        ธิราชรู้เป็นกล
                            นุสนธิ์ซึ่งน่านน้ำ                 นองพนา  สณฑ์เฮย
                  หนปัจฉิมทิศา                               ท่วมไซร้
                  คือทัพอริรา-                                 มัญหมู่  นี้นา 
                  สมดั่งลักษณ์ฝันไท้                        ธเรศนั้นอย่าแหนง
                          เหตุแสดงแห่งราชพ้อง           ภัยชรา
                  ได้แก่อุปราชา                                เชษฐ์ผู้
                  สงครามซึ่งเสด็จครา                       นี้ใหญ่   หลวงแฮ
                  แท้จักถึงยุทธ์สู้                               ศึกช้างสองชน
                            ซึ่งผจญอริราชด้วย                เดชะ
                      เพื่อพระเดโชชนะ                        ศึกน้ำ
                     คือองค์อมิตรพระ                          จักมอด  เมือแฮ
                    เพราะพระหัตถ์หากห้ำ                    หั่นด้วยขอคม
                                   เบื้องบรมขัตติย์ท่องท้อง  แถวธาร
                          พระจักไล่ลุยลาญ                     เศิกไสร้
                      ริปู  บ่ รอราญ                               ฤทธิ์ราช  เลยพ่อ
                      พระจักชาญชเยศได้                      ดั่งท้าวใฝ่ฝัน
   
คำศัพท์สำคัญ
          กุมภีล์                    จระเข้
          เจ้าช้าง                  คำยกย่องพระเจ้าแผ่นดินผู้มีช้างเผือกเป็นคู่บารมี 
                                       ในที่นี้ หมายถึง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
          ตรัสทอดพระเนตร   เห็น   กริยาราชาศัพท์โบราณ มักใช้คำ ตรัส นำหน้าคำกริยา 
         เทพสังหรณ์            ความฝันชนิดที่เทวดาดลใจให้เกิด  คนโบราณเชื่อว่า ความฝันมี 4 ประเภท 
                                      คือบุพนิมิต  (ฝันบอกลาง)  
                                          จินนิวรณื(ฝันเพราะใจกังวล)  
                                          เทพสังหรณ์ (ฝันด้วยเทวดาบันดาล)  
                                          ธาตุโขภ  (ฝันเพราะธาตุในกายวิปริต)
           สุงสุมาร                 จระเข้
           สร่างผทม              ตื่นนอน
           อมิตร                    ศัตรู

ถอดความ 
           ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพออกจากพระนคร ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือนยี่ 
เวลา 8.30 น. เสด็จทางชลมารคไปประทับแรมที่ตำบลปากโมก เมื่อประทับที่ปากโมก สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษาการศึกอยู่กับขุนนางผู้ใหญ่จนยามที่สามจึงเสด็จเข้าที่บรรทม ครั้นเวลา 4 นาฬิกา พระองค์ทรงพระสุบินเป็นศุภนิมิติ    เรื่องราวราวในพระสุบินของสมเด็จพระนเรศวรมีว่า 
           พระองค์ได้ทอดพระเนตรน้ำไหลบ่าท่วมป่าสูง ทางทิศตะวันตก เป็นแนวยาวสุดพระเนตร 
           และพระองค์ทรงลุยกระแสน้ำอันเชี่ยวและกว้างใหญ่นั้น จระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งโถมปะทะและจะกัดพระองค์ 
จึงเกิดต่อสู้กันขึ้น   พระองค์ใช้พระแสงดาบฟันถูกจระเข้ตาย ทันใดนั้นสายน้ำก็เหือดแห้งไป 
           พอตื่นบรรทมสมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้โหรทำนายพระสุบินนิมิตทันที 
           พระโหราธิบดีถวายพยากรณ์ว่า พระสุบินครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเทวดาสังหรให้ทราบเป็นนัย 
           น้ำซึ่งไหลบ่าท่วมป่าทางทิศตะวันตกหมายถึงกองทัพของมอญ จระเข้คือพระมหาอุปราชา 
           การสงครามครั้งนี้จะเป็นการใหญ่ ขนาดถึงได้กระทำยุตธหัตถีกัน 
           การที่พระองค์เอาชนะจระเข้ได้แสดงว่าศัตรูของพระองค์จะต้องสิ้นชีวิตลงด้วยพระแสงของ้าว 
           และที่พระองค์ทรงกระแสน้ำนั้น หมายความว่า พระองค์จะรุกไล่บุกฝ่าไปในหมู่ข้าศึกจนข้าศึกแตกพ่ายไปไม่อาจจะทานพระบรมเดชานุภาพได้

ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
๑. ให้นักเรียนร่วมอภิปรายในประเด็น  ความเชื่อความฝัน กับสังคมไทย”

กิจกรรมเสนอแนะ
๑. ให้นำเนื้อเรื่องแต่งเพลงกลุ่มละ ๑ เพลง
สรรถนะที่ต้องการเน้น
๑. มีความสามารถในการคิด
๒. มีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
กิจกรรมบูรณาการ 
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์


ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล แผนการจัดการเรียนรู้ ภาษาไทย ชั้นม.๕
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4646 

อัพเดทล่าสุด