วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน การอ่านสร้างชีวิต


766 ผู้ชม


การอ่านหนังสือมีประโยชน์มากมาย ผู้ที่อ่านหนังสือจะได้รับประโยชน์ เปลี่ยนแปลงความคิด ทันสมัย และพัฒนา   

ประเด็นการศึกษา  การอ่านสร้างชีวิต
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ (ใช้ได้ทั้ง ม.๔-๖)

สอนอย่างไรให้มีนิสัยรักการอ่าน
การปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน

          การอ่านฝังนิสัยตนเองให้รักการอ่าน ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหนังสือมีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย
และยังเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายตามความชอบและความสนใจของแต่ละคน โลกของหนังสือเป็นโลกแห่งอิสรเสรี
ทางความคิด เราสามารถอ่านความคิดของผู้อื่นแล้วนำมาพัฒนาความคิดของตนเอง เราสามารถปลูกฝังตนเองให้รักการอ่านได้ด้วยหลักง่ายๆ ๓ ประการ ดังนี้
        ๑. อ่านตามความสนใจ
             การเริ่มอ่านจากเรื่องที่ชอบและสนใจจำ  ทำให้อ่านหนังสือได้โดยไม่เบื่อ เราอาจเริ่มต้นอ่านจากเรื่องสั้น ๆ ไม่ยาวมาก มีภาพประกอบ โดยอาจเริ่มจากการอ่านนิทาน เรื่องสั้น หรือ เรื่องที่จบภายในตอนเดียว ถ้าเรามีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านก็จะอ่านได้ต่อเนื่อง  เมื่ออ่านเจอข้อความที่ประทับใจอาจทำเครื่องหมาย
หรือใช้สีเน้นข้อความไว้ เพื่อให้สะดุดตา ไว้เป็นคลังความรู้แหล่งข้อมูลไว้อ้างอิงได้
        ๒. อ่านให้สม่ำเสมอ
             การอ่านอย่างสม่ำเสมอเป็นบันไดขั้นแรกของผู้ที่รักการอ่าน ผู้ที่รักการอ่านมักจะไม่ยอมให้ตนเองว่างเว้นจากการอ่านเพราะจะต้องอ่านจนเป็นนิสัย ทันทีที่ว่างจากหน้าที่ที่ควรทำในชีวิตประจำวัน เราก็สามารถหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านได้ การฝึกอ่านให้สม่ำเสมอ อาจเริ่มจากการวางแผนตารางเวลาในการอ่านแล้วบันทึกไว้ เพื่อเราจะได้รู้ว่า เราสามารถอ่านได้อย่างสม่ำเสมอเพียงใด ถ้าเราสามารถอ่านได้สม่ำเสมอ เราก็จะเป็นผู้ที่มีนิสัยรักการอ่านได้ 
          ๓. อ่านให้เจอขุมทรัพย์
              ขุมทรัพย์ ที่กล่าวถึงนี้คือ ขุมทรัพย์แห่งปัญญา ซึ่งมีค่ามหาศาล เป็นขุมทรัพย์แห่งความรู้ที่ใครก็มาแย่งชิงไปไม่ได้ ดังคำกล่าวในโคลงโลกนิติว่า
                                   ความรู้ดูยิ่งล้ำ            สินทรัพย์               
                           คิดค่าควรเมืองนับ               ยิ่งไซร้
                           เพราะเหตุจักอยู่กับ             กายอาต- นานา         
                           โจรจักเบียนบ่ได้                 เร่งรู้เรียนเอา
(โคลงโลกนิติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร)
            ๔. การอ่านคู่กับการเขียน  
                 เมื่ออ่านแล้ว พบขุมทรัพย์มากน้อยตามประสบการณ์การอ่าน หากมีการบันทึกข้อความไว้ก็จะเพิ่มความซาบซึ้ง
ในการอ่าน  แรก ๆ อาจเป็นการบันทึกข้อความที่พบและประทับใจ เมื่อบันทึกบ่อยเข้า  ก็จะเกิดแนวคิดที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ  
ก็เพิ่มการบันทึกแนวคิดอีก นี่เป็นการอ่านที่เพิ่มพูนปัญญาอย่างยิ่ง   
             ๕. การอ่านสร้างชีวิต  
                  การอ่านเรื่องราว เนื้อหา มีส่วนช่วยขัดเกล่าความคิด ถ้อยคำที่พบยามอ่านเป็นสัจธรรมเป็นอมตะ นักอ่านทุกคนตระหนักในข้อนี้ดี  และเราสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมกับโอกาส อย่างอัตโนมัติ  ดังนั้นจะเห็นว่านักอ่านจะมีแนวคิด ที่สะท้อนออกทั้งคำพูด และงานเขียน ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับหรือการโต้แย้ง ล้วนมากจากแนวคิดและมุมมองที่เหมาะสม สมดุล ระหว่างชีวิตและธรรมชาติของความเป็นไปนี่เป็นการอ่านเพื่อชีวิต
              นอกจากผู้อ่านจะได้รับความเพลิดเพลินแล้วก็ควรจะได้รับความรู้และข้อคิดจากเรื่องที่อ่านด้วย ดังนั้น หนังสือที่เลือกอ่านนอกจากเราจะชอบ สิ่งที่เราควรคำนึงด้วยทุกครั้งคือ หนังสือนั้นก่อให้เกิดความรู้พัฒนาผู้อ่านในทางที่ดีหรือไม่ ถ้าหนังสือที่ดีก็เปรียบเสมือนว่าเราได้พบขมทรัพย์แล้ว
              การอ่านหนังสือมีประโยชน์มากมาย ผู้ที่อ่านหนังสือจะได้รับประโยชน์ เช่น ได้รับความรู้ตามใจปรารถนาของตน ได้รับความเพลิดเพลินและพัฒนาอารมณ์ของตน และได้รับข้อคิด คุณธรรมที่แฝงอยู่ เป็นต้น 
            เราจึงควรหันมาปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่วันนี้ เพื่อประโยชน์มากมายในวันข้างหน้า 
            ดังสุภาษิตจีนที่กล่าวว่า   “การเปิดหนังสือก็เป็นกำไรแล้ว”


 มารยาทในการอ่าน
            มารยาทในการอ่านเป็นสิ่งจำเป็นในการอ่านเพราะช่วยให้เราเป็นผู้อ่านที่น่าชื่นชมและแสดงอุปนิสัยการอ่านที่ดีที่ควรประพฤติปฏิบัติ มารยาทในการอ่านที่ดี มีดังนี้
          ๑. รู้จักเลือกอ่านสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่อ่านหนังสือที่ผิดศีลธรรม หรือปลูกฝังความคิดที่นำเราไปในทางที่เสื่อมเสีย
          ๒. ไม่อ่านสิ่งที่เป็นงานเขียนส่วนตัวของผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาต เช่น จดหมาย บันทึกส่วนตัว เอกสารข้อมูลความลับต่างๆ 
          ๓. เลือกอ่านให้ถูกต้องตามกาลเทศะ ไม่อ่านในเวลาที่ไม่ควรอ่าน เช่น ขณะเรียนหนังสือ ฟังครูสอน ฟังการบรรยาย 
          ๔. ไม่รับประทานอาหารระหว่างอ่านหนังสือ เพราะ จะทำให้หนังสือเปรอะเปื้อนสกปรกได้
          ๕. การอ่านออกเสียงโดยไม่ได้เป็นการอ่านให้ผู้อื่นฟัง ไม่ควรอ่านเสียงดังเพราะจะรบกวนสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น
          ๖. ใช้หนังสือด้วยความระมัดระวัง ไม่พับ ฉีก ให้ชำรุดเสียหาย ถ้าเป็นหนังสือของผู้อื่นไม่ควรขีดเขียน วาดรูปลงในหนังสือ เพราะหนังสือเป็นแหล่งความรู้ที่สามารถแบ่งปันให้ผู้อื่นใช้อ่านต่อไปได้ ดังคำกล่าวที่ว่า
                                        ยืมยลพึงโปรดได้        เอ็นดู
                               หยิบจับประคองชู               ช่วยป้อง
                               อย่าลากกระชากถู               ฉีกขาด
                               ยับป่นดังพจน์พร้อง             ขัดแค้นเคืองใจ
                                                      (หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล)

ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
        ๑. ร่วมอภิปรายการอ่านทำให้เกิดปัญญาได้อย่างไร

กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑.  โต้วาที  ญัตติ “ท่องอินเตอร์เน็ต ดีกว่าอ่านหนังสือ” 
       ๒.  ยอวาที   “การอ่านทำให้ทันสมัย”

สรรถนะที่ต้องการเน้น
      ๑. มีความสามารถในการสื่อสาร
       ๑. มีความสามารถในการคิด
       ๒. มีความสามารถในกาใช้ทักษะชีวิต

กิจกรรมบูรณาการ   
        ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้

          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   แผนการจัดการเรียนรู้  ภาษาไทย  ชั้นม.๔
          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔

 ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4643

อัพเดทล่าสุด