การอ่านเป็นกุญแจเปิดประตูปัญญา เมื่อประตูเปิด โอกาสในชีวิตก็เปิด นักอ่านก็จะค้นหาสิ่งที่ต้องการ นั่นคือคุณภาพชีวิต
อ่านหนังสือให้เก่ง เร่งให้อ่าน
ประเด็นข่าว
ที่มา : https://unigang.com/Article/10597
จากประเด็นข่าว คงมิอาจปฏิเสธได้ว่า โรงเรียนต่าง ๆ ที่ติดอันดับ จะมีนักเรียนที่มีนิสัยรักการอ่าน และใช้การอ่าน
สร้างโอกาสในการเรียนรู้ การอ่านเก่งนอกจากจะสร้างปัญญาแล้ว ยังเกิดเรื่องดี ๆ ในชีวิตอกีมากมาย ทั้งต่อตนเอง
ต่อโรงเรียน ต่อครอบครัว และสุดท้ายที่ทุกคนค้นหาคือ คุณภาพชีวิต ตามทางเลือกที่ทุกคนสามารถเลือกได้
เราต้องทำอะไรบ้างล่ะ จึงจะอ่านเก่ง ใครบ้างล่ะที่ต้องอ่านเก่ง
การอ่านเป็นทักษะ เรียนรู้วิธีการ และฝึกอย่างสม่ำเสมอ
ที่มา : gotoknow.org
การอ่านเก่ง ต้องฝึกเอง เรียนรู้เอง ไม่มีใครทำให้เราอ่านเก่งได้
แต่เราทุกคนสามารถเรียนรู้วิธีการอ่านเก่ง อันเป็นพื้นฐานการอ่านได้
ส่วนทักษะการอ่านนั้น ทุกคนต้องฝึกฝน อย่างสม่ำเสมอ ทุกวัน ทุกครั้งที่มีโอกาส เราเองเท่านั้นที่จะรู้ว่า
จะฝึกอย่างไร ฝึกเมื่อไร ฝึกนานเท่าไร
วันนี้ครูเพลินพิศ ได้รับฟังข่าวดี ๒ ข่าว ข่าวแรกคือนักเรียนในที่ปรึกษา ม . ๖/๑ สอบติดแพทย์พีไอ (วนิดา)
อีกคน สอบได้ทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งด๊อกเตอร์ (สุทธิดา) แน่นอน ว่า เด็กทั้งสองคนเป็นนักอ่านมานานแล้ว
ประเด็นการศึกษา การอ่านให้เก่ง ชั้นมัธยมศึกษาทุกระดับชั้น
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
เรื่อง การพัฒนาการอ่าน
หากคนใดที่มีปัญหาและต้องการแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาสมรรถภาพการอ่านด้วยตนเอง หลักปฏิบัตินี้อาจช่วยให้มีทักษะการอ่านที่แข็งแกร่งได้มากขึ้น
๑. อ่านแล้วคิด คือการอ่านแล้วแสดงความคิด ทั้งในแง่บวกและแง่ลบกับทัศนะของผู้เขียนหรือข้อคิดเห็นของหนังสือนั้นๆ หากอ่านโดยไม่ปรับความเข้าใจ หรือไม่คิดตามก็เท่ากับเป็นการอ่านที่เสียเวลาเปล่า เพราะหากไม่เข้าใจก็ย่อมไม่ได้ความรู้หรือข้อมูลใดที่สามารถเก็บเกี่ยวไปใช้ได้
การแสดงความคิดขั้นพื้นฐานอาจเป็นการคิดโดยการตั้งคำถาม ซึ่งอาจเป็นคำถามที่เราเองรู้คำตอบดีอยู่แล้วก็ได้ หรือไม่ทราบคำตอบจริงๆ ก็ได้ เพื่อที่จะค้นคว้าหาคำตอบเพิ่มเติมความรู้ให้กับตัวเราต่อไป
ที่มา : https://www.taklong.com/pictpost
๒. สภาพจิตใจและร่างกายที่สดใส สภาพจิตใจนับว่าเป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับการอ่านและแน่นอนว่าความคิดที่ดีนั้นย่อมจะเกิดขึ้นหลังจากการมีจิตใจที่ปลอดโปร่งแจ่มใส
เพราะความปลอดโปร่งของสภาพจิตใจนั้นนำมาซึ่งสมาธิ และเมื่อเกิดสมาธิก็ย่อมเกิดปัญญาที่ดีได้เช่นเดียวกัน
นอกจากสภาพจิตใจที่ดีแล้ว สภาพร่างกายก็ควรเอาใจใส่เช่นกัน อวัยวะที่สำคัญของร่างกายที่ใช้ในการอ่านนั้นก็คือดวงตา และหลักการรักษาดวงตามีง่ายๆ ดังนี้
๒.๑ ไม่ควรอ่านหนังสือในสถานที่มืดหรือสว่างเกินไป และสถานที่ที่มีอาการสั่นไหว หากอ่านหนังสือในที่มืดหรือสว่างเกินไป และสถานที่ที่มีอาการสั่นไหว อาจทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานมากขึ้น
จะรู้สึกปวดตาหรือตาพร่ามัวเนื่องจากดวงตาพยายามเพ่งหาตัวอักษร ควรหาแสงสว่างให้พอเหมาะกับการอ่าน และสถานที่เอื้ออำนวยกับการอ่านเพื่อเพิ่มความสุขในการอ่านหนังสือของเรามากยิ่งขึ้น
และปัญหาเรื่องโรคสายตาก็จะไม่เข้ามาใกล้ตัวเราอีกด้วย
๒.๒ รับประทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ บางคนอ่านหนังสือจนลืมรับประทานอาหารหรือไม่รับประทานอาหาร นั้นเป็นการกระทำที่ผิดเพราะร่างกายต้องการพลังงานจากอาหารไปหล่อเลี้ยงสมอง
และส่งผลถึงความคิดให้ท่านสามารถคิดได้ดียิ่งขึ้น หากแต่อ่านหนังสือประเภทตำราหรือเรื่องยากๆ ต้องบังคับใจไม่ให้กินอิ่มเกินไปเพราะอาจทำให้ง่วงนอนจนไม่สามารถอ่านหนังสือได้
ที่มา : campus.sanook.com
หากง่วงนอนหรือเหนื่อยจนไม่สามารถควบคุมได้ จงนอนเพราะการฝืนอ่านหนังสือต่อไปอาจเสียเวลาเปล่า อีกทั้งยังทรมานดวงตาและสมองอีกด้วย
๓. สนใจอ่านหนังสือทุกประเภท หนังสือทุกวันนี้สามารถค้นคว้าหาอ่านได้อย่างมากมายหลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสนใจอ่านหรือไม่ และจะเลือกอ่านอย่างไร หนังสือ วารสาร นิตยสาร และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ
สื่อเหล่านี้นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว อาจให้เนื้อหาสาระเฉพาะด้านอีกด้วย โดยบอกกล่าวให้เราทราบถึงความรู้รอบตัว หรือลักษณะข้อเท็จจริงที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น
หรือนิตยสารท่องเที่ยว เป็นต้น
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ล้วนแล้วแต่แฝงความรู้อยู่ด้วย หากได้อ่านหนังสือมากๆ ก็เหมือนกับเรามีหูตาที่กว้างไกลกว่าคนอื่นๆ และก้าวตามความเป็นจริงของโลกสมัยใหม่ได้อย่างงดงาม
ที่มา : 2bemen.com
๔. ใช้พจนานุกรมเป็นเครื่องมือในการอ่าน พจนานุกรมมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะผู้ที่เรียนภาษาต่างประเทศ และเรียนเนื้อหาที่ยากขึ้น มีคำศัพท์แปลกๆ ใหม่ๆ มากมาย และเมื่อมีพจนานุกรมแล้วก็ต้องรู้จัก
การใช้พจนานุกรมให้ถูกวิธีด้วย ดังนี้
๔.๑ จะต้องรู้จักลำดับ ก-ฮ และ a-z ได้อย่างแม่นยำเพื่อการค้นคว้าได้รวดเร็ว
๔.๒ ควรอ่านข้อความให้จบเสียก่อน เพราะถ้อยคำแวดล้อมอาจช่วยให้เราเดาความหมายของคำหรือประโยคนั้นได้เองโดยอัตโนมัติ และควรเปิดพจนานุกรมตรวจสอบว่าถูกต้องตามที่เราเดาหรือไม่
และดูหน้าที่ของคำนั้นๆ ด้วยว่าคำนั้นทำหน้าที่ใด เช่น คำนาม กริยา หรือสรรพนาม เป็นต้น
๔.๓ หากคำที่ต้องการค้นหาสามารถแปลได้หลายความหมาย ลองใช้สามัญสำนึกของเราแปลความหมายของคำนั้นๆ ว่าสามารถเข้ากับประโยคนั้นๆ ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ลองเปลี่ยนความหมายใหม่จนกว่าจะเหมาะสม
๔.๔ หากพยายามด้วยตนเองแล้วยังไม่ทราบความหมายควรถามผู้รู้ เช่น คุณครู คุณพ่อคุณแม่ เป็นต้น
ที่มา : nep.go.th
๕ อย่าอ่านจี้เป็นคำๆ การอ่านหากอ่านจี้เป็นคำๆ จะรวบรัดจับใจความของข้อความนั้นๆ ได้ช้า แต่อาจจะได้ผลดีกับการอ่านเพื่อเอาความคิดหรือเน้นพินิจพิเคราะห์ของใจความนั้น หากท่านอยากจะอ่านได้อย่างรวดเร็ว
และมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องอ่านแบบกวาดสายตาหรืออ่านเป็นหน่วยข้อความ หากไม่เข้าใจต้องฝืนใจอ่านไปก่อน และหยุดสายตาก็ต่อเมื่อได้ความหมายจากการอ่านข้อความช่วงหนึ่งๆ แล้ว
การจับหนังสือเวลาอ่านก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้การอ่านมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น หากแน่ใจว่าจะอ่านหนังสือเล่มนั้นมากกว่าหนึ่งหน้า ก็ใช้นิ้วชี้ขวาสอดใต้หน้าขวาเตรียมไว้ก่อน เพื่อจะพลิกได้ทันที
และหากอยู่ในท่ายืนจะต้องใช้มือซ้ายประคองใต้หนังสือด้วย
ที่มา : muangthai.com
๖. ฝึกการจำความย่อ ๆ การจำข้อความย่อๆ นี้ เป็นการใช้ความจำที่จะต้องจดจำใจความสำคัญของข้อความ ซึ่งในข้อความที่สั้นที่สุดแต่ครอบคลุมเนื้อหาสาระได้มากที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าจำได้น้อยแต่ได้ความมาก
โดยสามารถใช้วิธีง่ายๆ ได้คือ การทำเครื่องหมายลงบนจุดสำคัญของข้อความเพื่อเตือนความจำ หรือสรุปแนวคิดหลักของแต่ละข้อความเพื่อจะได้กลับมาย้อนอ่านใหม่อีกครั้ง หรือวิธีที่สามเป็นวิธีที่สั้นที่สุดและครอบคลุมเนื้อหา
ได้มากที่สุด คือการสร้างแผนภูมิ หากเราสามารถอ่านแล้วทำความเข้าใจเป็นแผนภูมิได้แสดงว่าระบบความคิดของเราอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว
ที่มา : dek-d.com
๗. รู้จักขอความช่วยเหลือ การที่เราจะอ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งนั้น เราจะต้องรู้ก่อนว่าจะอ่านหนังสือเล่มนั้นเพื่ออะไร เช่น เพื่อเรียน เพื่อแสวงหาความรู้ เพื่อความบันเทิง เพื่อแก้ไขปัญหา เป็นต้น เมื่อทราบวัตถุประสงค์
ของตนเองแล้วก็ควรอ่านหนังสือเล่มนั้นอย่างถูกวิธี โดยการถามและตอบปัญหากับตัวเองเพื่อเป็นการแสดงความเข้าใจกับตัวเองเพิ่มมากขึ้น หากมีปัญหาจนไม่อาจแก้ไขได้ก็ควรหาบุคคลที่เรารู้จักหรือคบหาอยู่ช่วยเหลือ
เช่น คุณพ่อคุณแม่ พี่ เพื่อน ครู อาจารย์ หรือผู้ที่มีวัยวุฒิมากกว่า อย่าอายที่จะพูดว่าไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะการไม่รู้ไม่เข้าใจจะเป็นหนทางสู่ความฉลาด และจะฉลาดขึ้นถ้ารู้จักแสวงหาแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม
ที่มา : learners.in.th
๘. อ่านไม่เบื่อทุกวิชา หากเราสร้างนิสัยให้รักการอ่านได้นั้น เรื่องยากๆ อาจกลับกลายเป็นเรื่อง่าย เพราะทุกวิชา ทุกเรื่องราวล้วนมีความสัมพันธ์กัน หากเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ให้ดีพอ ก็จะช่วยเสริมสร้างความรู้ซึ่งกันและกัน
ไปเองโดยอัตโนมัติ และช่วยให้เห็นหนทางที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในโอกาสต่างๆ ได้อย่างชัดเจนขึ้น
ที่มา : thairath.co.th
๙. ชีวิตมีค่าและประสบความสำเร็จ การอ่านที่ดีนั้นได้กล่าวไปแล้วว่ามิใช่มีเพียงแต่การอ่านเพื่อเรียนเท่านั้น เมื่อเราพัฒนาความสามารถของตนเองขึ้นมาแล้ว ผลที่ตามมาจะมิได้อยู่เฉพาะตัวเอง เพราะเรารู้ว่ายังมีคนอีกมากมายที่ด้อยโอกาส เพราะเขาอ่านไม่เป็น ไม่อ่าน หรือมีปัญหาทางด้านการอ่าน หากเรามีโอกาสจะช่วยผู้อื่นได้ ก็นับได้ว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ทุกคนต้องการคบหา
ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
๑. นักเรียนเขียนวิธีอ่านที่เป็น Best Pactics ของตนเองเป็นข้อ ๆ
๒. การอ่าน มีผลต่อชีวิตอย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
๑. โต้วาทีในญัตติ การฟังกับการอ่าน อะไรประสานความสำเร็จ
สรรถนะที่ต้องการเน้น
๑. มีความสามารถในการคิด
๒. มีความสามารถในกาใช้ทักษะชีวิต
กิจกรรมบูรณาการ
ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล แผนการจัดการเรียนรู้ ภาษาไทย ชั้นม.๕
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕
ขอบคุณ
https://www.aksorn.com/lib/default.php?topicid=357&subject=4&class=1&searchword=
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4635