วิชาภาษาไทย ภาษาไทย วรรณกรรม มอง โฆษณา อย่างวรรณกรรม


1,411 ผู้ชม



มองโฆษณาอย่างวรรณกรรม   

 

ประเด็นจากข่าว :องค์การอาหารและยา (อย.) เตรียมดำเนินคดีทางกฎหมายเข้มกับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนตรา คาราบาวแดง หลังพบโฆษณาทางสื่อหนังสือพิมพ์ ป้ายโฆษณา และวิทยุกระจายเสียง อ้างสรรพคุณมีวิตามิน บี 12 บำรุงสมอง พร้อมสั่งระงับโฆษณา ขู่มีโทษทั้งจำและปรับ อาจถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาตผลิตอาหาร  ทั้งนี้ ยังพบการโฆษณาให้ประชาชนเขียนข้อความ วิตามินบี 12 บำรุงสมอง ส่งไปจับรางวัล โดยการโฆษณาของคาราบาวแดงในทุกสื่อทั้งทางตรงทางอ้อม ถือว่าเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย   ดังนั้น อย. เคยมีหนังสือสั่งให้ระงับโฆษณาในสื่อทุกสื่อ และมีหนังสือเชิญพบบริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่าย เพื่อให้รับทราบการโฆษณาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ที่มา : https://news.mthai.com/general-news/85865.html

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย ระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๓

            มองโฆษณาอย่างวรรณกรรม  

 
ภาพจาก :  
   https://www.pingbook.com/news/view.php?id=615

  การโฆษณาสินค้าหรือบริการในสื่อต่าง ๆ บางรายการอาจบอกกล่าวตรง ๆ บางรายการเสนอเป็นละครฉากสั้น ๆ   มีตัวละครแสดง บางรายการแสดงในลักษณะทำให้เห็นสิ่งที่เกินจริงหรือตลกขบขัน     บางรายการก็เสนอภาพที่สับสน  วุ่นวาย การโฆษณามีจุดมุ่งหมายสร้างความสนใจให้ผู้คนสะดุดตา สะดุดใจ และจดจำสินค้าหรือบริการที่โฆษณา ผู้สร้างโฆษณาอาจใช้วิธีการต่างๆ ในการส่งสาร เช่น บอกตรง ๆ ว่าช่วยกันรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาให้สะอาด หรือใช้คำที่คล้องจองกัน ใช้คำที่กระตุ้นให้เกิดความประทับใจ เช่น แค่ทิ้งคนละชิ้น  เจ้าพระยาก็สิ้นแล้ว  การใช้คำว่า “สิ้น” สะกิดอารมณ์ผู้ฟัง ให้ตระหนักถึงผลเสีย ใคร ๆ ก็อยากจะ “เริ่ม” มากกว่า “สิ้น” และถ้าเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำเส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทย 
“สิ้น” แล้วคนไทยจะอยู่อย่างสุขสบายต่อไปอย่างไร คนที่ฟังแล้วคิดต่อ ก็จะได้รับ “สาร” จากบทโฆษณานี้ 


                 

        ภาพจาก :  https://th.88db.com/Business-Services/Advertising-PR/ad-159463/

   การโน้มน้าวใจในโฆษณาบางเรื่อง ใช้กลวิธีเร้าความรู้สึกให้เกิดอารมณ์ร่วมกับคนอื่น ๆ  ที่เป็นคนส่วนใหญ่ เช่น การโน้มน้าวใจให้รักชาติ ห่วงใยสิ่งแวดล้อม เห็นใจคนจน ฯลฯ แต่บางเรื่องเกี่ยวกับคนบางกลุ่มเท่านั้น เช่น นักศึกษา นักธุรกิจ พ่อแม่  ฯลฯ ไม่สามารถจะเร้าความรู้สึกของ “คนนอก” ด้วยวิธีของ “รักเจ้าพระยา” ได้ จึงต้องใช้กลวิธีอื่น เช่น การสร้างอารมณ์หรรษา  

                  

             การสร้างอารมณ์หรรษาในบทโฆษณา อาจใช้กลวิธีเดียวกับบทละครหรือนวนิยาย เพียงแต่เจาะลงที่ฉากหนึ่งและให้จบเบ็ดเสร็จในตอนสั้น ๆ องค์ประกอบที่เหมือนกันมีเนื้อเรื่อง ตัวละคร ฉาก บทสนทนา แนวคิด เป็นต้น แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้ คือศิลปะ  ถ้านับว่าวรรณกรรมคืองานประพันธ์ที่สื่อความรู้สึกนึกคิดอย่างมีศิลปะ  ศิลปะในที่นี้หมายถึง การเลือกรูปแบบ การสรรคำ การแสดงออก การทำให้ผู้ชมงานศิลปะเกิดความหยั่งเห็น เป็นต้น โฆษณาบางชิ้นก็เป็นวรรณกรรมได้


         

                  ภาพจาก  https://www.kru-tharinee.ob.tc/c11116.html

         โฆษณาดี ๆ หลายบทดูเพลิน น่าติดตามยิ่งกว่าตัวรายการเสียอีก   ยิ่งถ้าได้   “อ่าน” โฆษณาอย่างวรรณกรรม ก็จะได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง 
           โฆษณาดี ๆ มีสารที่จรรโลงใจให้ผู้ดูได้หยั่งเห็นและฉุกคิดอยู่มากเหมือนกัน เช่นเรื่องความรับผิดชอบ ความผูกพันระหว่างพ่อแม่และลูกกับญาติผู้ใหญ่ เป็นต้น ความเข้าใจของลูกตัวน้อย ๆ เป็นแรงใจให้พ่อแม่ได้เป็นอย่างดี เช่น พ่อลูกขับรถกลับบ้านในยามค่ำ ลูกถามพ่อว่าทำไมต้องทำงานหนักด้วย พ่อบอกว่า จะได้ซื้อบ้านใหญ่ ๆ ให้ลูก  เผอิญรถต้องเบรกกะทันหันเห็นอันตรายจ่ออยู่ตรงหน้าแล้ว 
ลูกจึงตอบว่า เราอยู่บ้านเล็ก ๆ ก็ได้ เท่ากับบอกว่าหนูเป็นห่วงพ่อ อย่าทำงานหนักมมากจนเกินไป เพื่อสิ่งนี้เลย เจ้าของสินค้าได้ประโยชน์ถึง ๒ ทาง  ทางหนึ่งมีผู้รับรู้ว่าสินค้ามีคุณภาพอีกทางหนึ่งช่วยสร้างสำนึกที่ดีในใจผู้เป็นลูก 
                            

            

ภาพจาก : https://www.changsunha.com/index.php/themost/spirit-advertisement-thailand/

      ตัวอย่างของความรู้สึกดี ๆ อีกเรื่องหนึ่งคือ ความภูมิใจในตัวพ่อแม้จะมีอาชีพที่ใครๆ มองว่าสามัญมาก เด็กชายคนหนึ่งบอกเพื่อน ๆ ถึงอาชีพของพ่อและยังยืนยันกับพ่อว่า โตขึ้นเขาจะประกอบอาชีพอย่างพ่อ เพราะทึ่งในฝีมือการทำงานของพ่อซึ่งพ่อบอกว่าเป็นเคล็ดลับ  ยิ่งทึ่งหนักขึ้นไปอีกเมื่อพ่อ 
บอกลูกว่าได้เคล็ดลับมาจากปู่ มรดกที่พ่อได้จากปู่ ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นกลเม็ดที่ทำให้เป็นช่างฝีมือเหนือใคร มรดกนี้เด็กชายก็กำลังจะได้รับจากพ่ออีกต่อหนึ่ง จึงน่าภูมิใจยิ่งนัก  ดูโฆษณาอย่างนี้แล้วสบายใจ อิ่มใจเหมือนได้อ่าน หนังสือดี ๆ เรื่องหนึ่ง     ถ้าผู้สร้างโฆษณาตั้งอกตั้งใจ พิถีพิถัน และมีรสนิยมอย่างนี้มาก ๆ ก็คงจะดี
                                 
                                                                          กุสุมา  รักษมณี

 

จากหนังสือเรียนภาษาไทยวิวิธภาษาชั้น ม.๓  เรื่อง มองโฆษณาอย่างวรรณกรรม
ผู้แต่งคือ       กุสุมา  รักษมณี

สาระสำคัญของเรื่อง

         โฆษณาที่มีการนำเสนออย่างมีศิลปะ ควรนับว่าเป็นวรรณกรรมได้
เพราะโฆษณามีการนำเสนอที่น่าสนใจ มีการสรรคำมาใช้ ทำหน้าที่
สะท้อนภาพสังคมเหมือนวรรณกรรม โฆษณาที่ดีมีสารจรรโลงใจ
มีการแทรกข้อคิดที่เป็นประโยชน์หรืออาจทำให้รู้สึกดีหรือสบายใจขึ้นได้ 

ประเด็นคำถาม
 ๑. นักเรียนคิดว่า "การโฆษณา" จำเป็นหรือไม่เพราะอะไร 

๒. การโฆษณาที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร

๓. ยกตัวอย่างโฆษณาที่นักเรียนชื่นชอบ พร้อมบอกเหตุผล
 

กิจกรรมเสนอแนะ
 ๑.  ยกตัวอย่างโฆษณาที่ชอบหรือสนใจ วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของโฆษณานั้น

บูรณาการ
 
การอาชีพและเทคโนโลยี  การบริโภคสื่อโฆษณา 

ที่มา

https://news.mthai.com/general-news/85865.html

:  https://www.pingbook.com/news/view.php?id=615

:  https://th.88db.com/Business-Services/Advertising-PR/ad-159463/

:  https://www.kru-tharinee.ob.tc/c11116.html

 : https://www.changsunha.com/index.php/themost/spirit-advertisement-thailand/
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4113

อัพเดทล่าสุด