วิชาภาษาไทย ภาษาไทย หลักภาษา ภูมิปัญญาไทยในภาษา ภาษาไทยไม่ธรรมดา


2,139 ผู้ชม


ภาษาไทยไม่ธรรมดาเพราะมีภูมิปัญญาไทยในภาษาอันเป็นเครื่องแสดงความสามารถและใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างกัน ทั้งยังเป็นเอกลักษณ์ที่คนไทยทุกคนควรภาคภูมิใจ   

ภาษาไทยไม่ธรรมดา


๑.บทนำ

         ในช่วงสะสมบุญ ก่อนที่พายุใหญ่ทางการเมืองจะถาโถมเข้ามาบดบัง หากมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนเมืองภูเก็ต
 เกาะสวาทหาดสวรรค์ของประเทศต้องไปตะลุยกินของอร่อยให้ทั่ว ร้านหนึ่งที่เปิดมายาวนาน คือ ร้านแม่พรซีฟู๊ด อาหารขึ้นชื่อคือสุดยอดน้ำพริกกุ้งเสียบเจ้าแรกของภูเก็ต ที่ทั้งตัวเนื้อนำพริกและตัวกุ้งได้ใจ มาพร้อมกับผักสดเข้าท่าที่สุดสมกับคำร่ำลือ ที่มาของข่าว https://www.thairath.co.th/content/life/169874

๒.ประเด็นจากข่าวเพื่อนำเข้าสู่เนื้อหาหลัก

        ภาษาไทยไม่ธรรมดาเพราะมีภูมิปัญญาไทยในภาษาอันเป็นเครื่องแสดงความสามารถและใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร
ระหว่างกัน ทั้งยังเป็นเอกลักษณ์ที่คนไทยทุกคนควรภาคภูมิใจ

๓.เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย ระดับชั้น ม. ๕

        สาระที่ ๔ หลักการใช้ภาษาไทย

         มาตรฐาน ท ๔.๑  
         เข้าใจธรรมชาติของภาษา และหลักภาษาไทย  การเปลี่ยนแปลงของภาษา และพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษาและรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ

        ผลการเรียนรู้
        วิเคราะห์และประเมินการใช้ภาษาจากสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
 
๔.เนื้อเรื่อง

   ภูมิปัญญาไทยในภาษา

                                                                     ศาสตราจารย์  ดร.สุจริต  เพียรชอบ

                                                ภูมิปัญญาไทยในภาษา                             สุดพรรณนาเลิศเหลือหลาย
                                  ควรจะอภิปราย                                                      ให้เห็นจริงทุกสิ่งไป
                                               คำไทยมีวรรณยุกต์                                    แสนสนุกนี่กระไร
                                  ใส่รูปวรรณยุกต์ไป                                                  เปลี่ยนความหมายดั่งใจจินต์
                                               คำนาน่าน้า                                               ปาป่าป้าได้ยลยิน
                                  ไพเราะดั่งเสียงพิณ                                                  คำหลั่งรินเพราะปัญญา
                                               คำไทยเป็นคำโดด                                      ขอจงโปรดทราบปัญหา
                                  ไทยมีวิธีนานา                                                        เสาะสรรมาสร้างคำใช้
                                               คำซ้อนคำประสม                                       น่าชื่นชมคำซ้ำไซร้
                                  คำสมาสมากเหลือใจ                                               นำมาใช้อย่างงดงาม
                                               หลากหลายในถ้อยคำ                                 โปรดจงจำมีล้นหลาม
                                  ภาษาไทยมีแง่งาม                                                  ใครมาถามตอบทันใด
                                               พนมเขาคีรี                                               น้ำก็มีธาราใส
                                  นงรามอรทัย                                                          กัลยาและนารี
                                               อีกทั้งลักษณะนาม                                     แสดงความเป็นเมธี
                                  ฟันนั้นเรียกเป็นซี่                                                    ช้างเป็นเชือกร่มเป็นคัน
                                              ไทยชอบคำคล้องจอง                                  เพลงเด็กร้องเล่นน่าขัน
                                  สำนวนไทยเราใช้กัน                                               ใช้ทุกวันใช้ทั่วไป
                                               ภาษามีระดับ                                             นำมาปรับได้ดังใจ
                                  ราชาศัพท์ของไทยไทย                                           เราใช้ได้แคล่วคล่องดี
                                              คำผวนชวนสนุก                                         ไทยทุกยุคใช้ทุกที่
                                  คนไทยปฏิภาณดี                                                    เล่นสนุกได้ทุกคน
   
        บทประพันธ์ภูมิปัญญาไทยในภาษา ของ ศาสตราจารย์ ดร.สุจริต  เพียรชอบ แสดงให้เห็นถึงความไม่ธรรมดา
ในภาษาไทย ซึ่งเราจะเห็นได้ทั่วไปในงานเขียนต่างๆไม้เว้นแม้ในภาษาหนังสือพิมพ์ ความงดงามทางภาษาไทยแสดงให้เห็นถึง
ความเฉลียวฉลาด ของคนไทยในทุกยุคทุกสมัย ทั้งแสดงถึงปฏิภาณ ไหวพริบ ความรู้ ความสามารถออกมาในรูปของการใช้ภาษาที่ไม่น้อยหน้าภาษาใดในโลก

        ภูมิปัญญาไทยในภาษาจากบทประพันธ์แสดงถึงภูมิปัญญาในด้านต่างๆ ดังนี้

        ๑. ภาษาไทยเป็นภาษามีวรรณยุกต์ 

                                              คำไทยมีวรรณยุกต์                                   แสนสนุกนี่กระไร
                                  ใส่รูปวรรณยุกต์ไป                                                เปลี่ยนความหมายดั่งใจจินต์
                                              คำนาน่าน้า                                              ปาป่าป้าได้ยลยิน
                                  ไพเราะดั่งเสียงพิณ                                               คำหลั่งรินเพราะปัญญา
 
        วรรณยุกต์ในภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของภาษา หากใส่รูปวรรณยุกต์ลงไปในคำจะทำให้ เสียงและความหมาย
เปลี่ยนแปลงไป เช่น นา น่า น้า , ปา ป่า ป้า ทั้งยังทำให้เสียงมีระดับแตกต่างกันเกิดความไพเราะประดุจเสียงของดนตรี
และเป็นการเพิ่มคำขึ้นอีกด้วย

        ๒. ภาษาไทยมีการสร้างคำใหม่ขึ้นใช้

                                              คำไทยเป็นคำโดด                                    ขอจงโปรดทราบปัญหา
                                 ไทยมีวิธีนานา                                                      เสาะสรรมาสร้างคำใช้
                                              คำซ้อนคำประสม                                     น่าชื่นชมคำซ้ำไซร้
                                 คำสมาสมากเหลือใจ                                             นำมาใช้อย่างงดงาม

        ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด ตัวสะกดตรงตามมาตรา ต่อมาเมื่อมีความต้องการใช้ภาษาเพิ่มขึ้น และได้รับอิทธิพล
จากภาษาอื่น ไทยจึงมีการสร้างคำขึ้นใช้ ได้แก่ คำประสม เช่น น้ำพริก  ขนมจีน  แม่น้ำ  ทอดมัน  คำซ้ำ เช่น  ดีๆ ชั่วๆ  เร็วๆ ไวๆ สาวๆ ดำๆ  คำซ้อน เช่น  ไต่เต้า  ถาโถม  ร่ำลือ  นุ่มนวล  หัวแก้วหัวแหวน ชื่นชม คำสมาส เช่น มหาราชา  สุวรรณมาลี  กิจการ

        ๓. ภาษาไทยมีความหลากหลายในถ้อยคำ

                                              หลากหลายในถ้อยคำ                                 โปรดจงจำมีล้นหลาม
                                  ภาษาไทยมีแง่งาม                                                 ใครมาถามตอบทันใด
                                              พนมเขาคีรี                                               น้ำก็มีธาราใส
                                  นงรามอรทัย                                                         กัลยาและนารี

         เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ภาษาไทยไม่ธรรมดา เพราะมีภูมิปัญญาไทยในภาษาก็คือมีความหลากหลายในถ้อยคำ
 แสดงถึงความเป็นอัจฉริยะของคนไทย เช่นเรามีคำที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายกันสามารถใช้แทนกันได้ อาทิ นงราม อรทัย กัลยา นารี เป็นคำที่หมายถึงผู้หญิง  หรือนาง  คำเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในถ้อยคำของไทย  เรามีคำให้เลือกใช้ให้เหมาะกับสิ่งที่ต้องการสื่อโดยเฉพาะในคำประพันธ์

        ๔. ภาษาไทยมีลักษณะนาม  

                                              อีกทั้งลักษณะนาม                                    แสดงความเป็นเมธี
                                  ฟันนั้นเรียกเป็นซี่                                                  ช้างเป็นเชือกร่มเป็นคัน
 
        ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลักษณะนาม เพื่อบอกให้รู้ถึงลักษณะของนามนั้นๆว่ามีลักษณะอย่างไร เช่น ลักษณะนาม
ของฟัน คือ ซี่   ช้าง คือ เชือก   เรือ คือ ลำ  หมวก คือ ใบ  โต๊ะ คือ ตัว อันแสดงให้เห็นถึงความเป็น เมธี หรือปราชญ์ทางภาษาของคนไทย

       ๕. ภาษาไทยนิยมคำคล้องจอง มีสัมผัส

วิชาภาษาไทย ภาษาไทย หลักภาษา ภูมิปัญญาไทยในภาษา ภาษาไทยไม่ธรรมดา

จ้ำจี้มะเขือเปาะ

ที่มาของภาพ  : https://www.nattpornskpbn.ob.tc/S4010075.jpg

                                              ไทยชอบคำคล้องจอง                              เพลงเด็กร้องเล่นน่าขัน

        ไทยเรานิยมคำคล้องจอง และเล่นสัมผัสในถ้อยคำ มาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย โดยจะเห็นได้จากศิลาจารึก หลักที่ ๑
ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เช่น ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว  ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า  เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด และพบในเพลงร้องเล่นของเด็กๆ เช่น จ้ำจี้มะเขือเปาะ  กะเทาะหน้าแว่น  พายเรืออกแอ่น กระแท่นต้นกุ่ม คำคล้องจองและมีสัมผัสยังช่วยในการจดจำได้ง่ายขึ้น

       ๖. ภาษาไทยมีสำนวนไทย สุภาษิต คำพังเพย

                                              สำนวนไทยเราใช้กัน                                 ใช้ทุกวันใช้ทั่วไป

        ภาษาไทยมีการใช้ถ้อยคำที่เรียกว่า สำนวน สุภาษิต คำพังเพย ใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งเพื่อสื่อความหมาย เปรียบเทียบ สั่งสอน เช่น รักดีหามจั่ว  รักชั่วหามเสา    อย่ารักเหากว่าผม  อย่ารักลมกว่าน้ำ   วัวใครเข้าคอกคนนั้น    ปรากฏใน สุภาษิตเก่าของไทยหลายสำนวนเช่นสุภาษิตสอนหญิง  สุภาษิตพระร่วง 

       ๗. ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับ

                                              ภาษามีระดับ                                             นำมาปรับได้ดังใจ
                                 ราชาศัพท์ของไทยไทย                                           เราใช้ได้แคล่วคล่องดี
 
        ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีหลายระดับได้แก่ภาษาปาก ภาษากึ่งทางการ ภาษาทางการ  ภาษาพิธีการ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคำราชาศัพท์ สำหรับใช้กับบุคคลระดับต่างๆตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ลงมาจนถึงสุภาพชนทำให้สามารถเลือกใช้ให้ตรงกับระดับของบุคคลและกาลเทศะ เช่น บรรทม ใชกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์  จำวัด ใช้กับพระสงฆ์ นอน ใช้กับสุภาพชนทั่วไป

        ๘. ภาษาไทยมีการผวนคำ และปริศนาคำทาย

                                              คำผวนชวนสนุก                                         ไทยทุกยุคใช้ทุกที่
                                 คนไทยปฏิภาณดี                                                     เล่นสนุกได้ทุกคน
 
        คนไทยเป็นคนรักสนุก มีอารมณ์ขัน จึงเกิดการนำคำที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันมาผวนเล่นสนุกๆในหมู่คนใกล้ชิด 
พื่อนฝูง แม้ผวนคำแล้วจะส่อไปในทางหยาบคายหรือเกี่ยวกับเรื่องเพศก็ตาม ก็ยังนิยมเล่นกันมาจนถึงปัจจุบันเพราะสร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้พูดและผู้ฟังที่มีปฏิภาณไหวพริบพอๆกันเช่น เกลียมัว  ข้าหมี แอร์กี่  นอกจากนี้คนไทยยังมีการเล่นปริศนาคำทาย อะไรเอ่ย เช่น อะไรเอ่ยต้นเท่าครก ใบปรกดิน  อะไรเอ่ยต้นเท่าขา ใบวาเดียว
        ภูมิปัญญาในภาษาที่ยกมาจากบทประพันธ์ ของท่านศาสตราจารย์ ดร.สุจริต  เพียรชอบ ข้างต้นนั้นเป็นเพียง
แง่มุมหนึ่งเท่านั้นเพราะในภาษาไทยของเรายังมีภูมิปัญญาในภาษาอีกมากเช่นในการประพันธ์ การแปลี่ยนแปลงและการพลิกแพลงคำ การเรียงคำ เป็นต้น
 
๕. ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน

        ให้นักเรียนวิเคราะห์และประเมินการใช้ภาษาจากสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามลักษณะของภูมิปัญญาไทย
ในภาษา

๖. กิจกรรมเสนอแนะ

        ๑.ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนนำเสนอผลงานของตนเอง ต่อผู้อื่น
        ๒.รวบรวมภูมิปัญญาทางภาษาของไทยที่ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเลคทรอนิกส์

๗. การบูรณาการกับสาระวิชาอื่นๆ

        กลุ่มสาระวิชาศิลปะ  การวาดภาพสุภาษิตสำนวนไทย  การละเล่นของเด็กไทย, เพลงพื้นบ้าน  เพลงร้องเล่นของเด็ก
        กลุ่มสาระวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี  การค้นหาข้อมูลจากสื่ออิเลคทรอนิกส์
        กลุ่มสาระวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม  ภูมิปัญญาไทย

๘. อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล

        https://www.thairath.co.th/content/life/169874
        สุจริต  เพียรชอบ.  (๒๕๔๐).  ศิลปะการใช้ภาษา.  กรุงเทพฯ : สถาบันภาษาไทย  กรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ.

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3755

อัพเดทล่าสุด