วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน ตำนาน นิทานพื้นบ้าน "ดอกลั่นทม"...ไฉนไม่นิยมปลูกในบ้าน


1,291 ผู้ชม


มีเรื่องราวเล่าต่อ ๆ กันมาว่า แต่ก่อนนี้ดอกลั่นทมมีเพียงสีขาวบริสุทธิ์   

  นิทานดอกลั่นทม

                                             ภาพจาก  dujmelody.multiply.com

      มีเรื่องราวเล่าต่อ ๆ กันมาว่า แต่ก่อนนี้ดอกลั่นทมมีเพียงสีขาวบริสุทธิ์ และเป็นที่รักยิ่งของเทพแห่งแสงจันทร์ ทุกคืนที่แสงจันทร์สาดส่อง ดอกลั่นทมจะอวลกลิ่นหอมขจรไกล มีเทพแห่งแสงจันทร์เคียงใกล้อยู่ไม่ห่าง แต่เมื่อถึงคืนแรมอันไร้จันทร์ ดอกลั่นทม และเทพแห่งแสงจันทร์ก็โศกเศร้า ทุกคราวที่ต้องพรากจากกัน จนในคืนหนึ่ง เทพแห่งแสงจันทร์จึงเอ่ยชวนให้ดอกลั่นทมไปอยู่ด้วยกันบนดวงจันทร์ แต่ ณ ที่นั้น ไม่มีหลากสีสันเช่นบนพื้นโลก ทุกสิ่งล้วนอาบน้ำค้างแสงจันทร์จนเป็นสีเหลืองเรืองรอง "ก่อนอื่นต้องใช้น้ำค้างแสงจันทร์ระบายให้ทั่วกลีบดอก พุ่มใบ และลำต้นของเธอเสียก่อน " เทพแห่งแสงจันทร์กล่าว แต่ทำอย่างไรจึงจะนำน้ำค้างแสงจันทร์ลงมายังพื้นดินได้ ทันใดนั้นเทพแสงจันทร์พลันเหลือบไปเห็นดอกไม้สีขาวอีกชนิดหนึ่งซึ่งแย้มบานอยู่ใกล้ต้นลั่นทม "กรวยของดอกไม้นี้ลึกพอที่จะใช้ใส่น้ำค้างได้ เทพแห่งแสงจันทร์กล่าวอย่างยินดี"

                      วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน ตำนาน นิทานพื้นบ้าน "ดอกลั่นทม"...ไฉนไม่นิยมปลูกในบ้าน

                                                     ภาพจาก tjorchid.com

           ดังนั้นเทพแห่งแสงจันทร์จึงนำดอกไม้สีขาวกลับไปยังดวงจันทร์เพื่อใช้บรรจุหยาดน้ำค้าง เมื่อกลับมาที่ต้นลั่นทมอีกครั้ง เทพแห่งแสงจันทร์ใช้พู่ดอกหญ้าจุ่มน้ำค้างแสงจันทร์จากกรวยดอกไม้ และเริ่มระบายลงที่กึ่งกลางดอกลั่นทมอย่างแผ่วเบา ยังผลให้ส่วนกลางของดอกไม้กลายเป็นสีเหลืองสดใส แต่ทว่าเมื่อเทพแห่งแสงจันทร์จุ่มพู่กันลงในกรวยดอกไม้เป็นครั้งที่สาม 
เขาพบว่าในนั้นไม่มีน้ำค้างแสงจันทร์หลงเหลืออยู่เลย และดอกไม้แต่เดิมที่เคยเป็นสีขาวบริสุทธิ์
ก็กลับกลายเป็นสีเหลืองสดใสไปทั้งดอก

                    

                                       

        " ดอกไม้ที่ร้ายกาจขโมยน้ำค้างแสงจันทร์ไปเสียหมด " เทพแห่งแสงจันทร์ร้องอย่างโกรธแค้น " ฉันไม่ได้ตั้งใจ และไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรด้วย " ดอกไม้สีเหลืองปฏิเสธ แต่เทพแห่งดวงจันทร์ไม่รับฟัง ผลุนผลันกลับไปยังดวงจันทร์อย่างรีบร้อน มีเวลาเพียงแค่คืนนี้เท่านั้น ที่น้ำค้างจะเปลี่ยนสีของดอกลั่นทมได้ เมื่อใดที่แสงอาทิตย์สาดมาต้อง ต่อให้ใช้น้ำค้างแสงจันทร์มากเท่าไรก็ไม่อาจเปลี่ยนสีของดอกไม้ได้อีก เทพแห่งแสงจันทร์กลับมาหาดอกลั่นทมอีกครั้ง ด้วยความโศกเศร้า ดวงดาวที่เหนื่อยล้าดื่มกินน้ำค้างแสงจันทร์หมดสิ้น ไม่เหลือน้ำค้างแม้เพียงสักหยดเดียวสำหรับดอกลั่นทม ก่อนรุ่งอรุณ ทั้งสองลาจากกันด้วยความเศร้าระทม แต่ต่างให้สัญญาว่าจะมั่นคงกันตลอดไป

                     วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน ตำนาน นิทานพื้นบ้าน "ดอกลั่นทม"...ไฉนไม่นิยมปลูกในบ้าน

                                           ภาพจาก  kan-ang1.exteen.com

          ดอกไม้สีขาวรู้สึกละอายใจ ที่เป็นเหตุแห่งความเศร้านี้ จนไม่กล้าบานรับแสงจันทร์ได้เหมือนอย่างเคย มันแย้มกลีบบานเวลาเช้าตรู่ และนอนหลับตลอดคืนอันยาวนาน จนกลายเป็นดอกไม้บานของเวลาเช้าในที่สุด แต่สำหรับดอกลั่นทม ยังคงเศร้าใจอยู่ไม่คลาย สีเหลืองของน้ำค้างแสงจันทร์ที่ระบายไว้ คอยย้ำเตือนให้มันระลึกถึงเรื่องราวอันแสนเศร้านี้อยู่เสมอ ๆ ลั่นทมจึงกลายเป็นดอกไม้แห่งความเศร้าระทมตั้งแต่นั้นมา

         ต้นลั่นทมจึงไม่นิยมปลูกไว้ในบ้าน เพราะคนไทยโบราณท่านถือว่าชีวิตคนในครอบครัวจะไม่ราบรื่นพบแต่ปัญหา ซึ่งอาจจะเป็นความเชื่อแต่ละบุคคล...

ขอบคุณ
ultrasiam
https://variety.teenee.com/foodforbrain/30114.html

ประเด็นการศึกษา  :   ตำนานนิทานพื้นบ้าน
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖

มาตรฐานการเรียนรู้
สาระที่ ๔ หลักการใช้ภาษา
มาตรฐาน ท ๔.๑ เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษาและรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ 
 มาตรฐาน ท ๔.๑.๖ สามารถเล่านิทานพื้นบ้าน และตำนานพื้นบ้านในท้องถิ่น
อย่างเห็นคุณค่า
  สาระสำคัญ
 การเรียนรู้ด้วยการอ่านนิทานนั้นจะได้รับความรู้เกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรม ศาสนา ได้รับความบันเทิงและแนวทางในการปฏิบัติตน
 ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
     ๑.  สามารถเล่านิทานพื้นบ้านในท้องถิ่นได้
     ๒.  เห็นคุณค่าของตำนานนิทานในท้องถิ่น 
จุดประสงค์การเรียนรู้
     ๑.  นักเรียนอ่านนิทานพื้นบ้านและบอกคุณค่าของนิทานพื้นบ้านได้
    ๒.  นักเรียนเขียนสรุปเรื่องและวาดภาพประกอบได้
    ๓.  นักเรียนมีความสนุกสนานเพลิดเพลินในการเรียน
  เนื้อหาสาระ
- การเลือกเล่านิทานพื้นบ้านในท้องถิ่น
- การเขียนสรุปเรื่อง

 

   กิจกรรมเสนอแนะ
      การศึกษาค้นคว้าตำนานนิทานนอกจากจะค้นคว้าจากห้องสมุดแล้ว ควรฝึกให้นักเรียนค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ต เพื่อจะได้นิทานพื้นบ้านที่หลากหลายทุก ๆ ภาค ที่สำคัญควรฝึกแนะนำให้นักเรียนไปสัมภาษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือปู่ย่า ตายายเกี่ยวกับความเป็นมาของนิทาน แต่ต้องขึ้นอยู่กับเวลาที่ใช้ในการสอนด้วย
ที่มา :  นัทธมน  คำครุฑ  แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
           เรื่อง  นิทานพื้นบ้าน

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3236

อัพเดทล่าสุด