การออกเสียงภาษาไทยให้ถูกต้องเป็น เรื่องใกล้ตัวในการใช้ภาษาไทยคนไทยทุกคน ควรมีส่วนร่วมอนุรักษ์ภาษาไทย
ภาพผู้ใช้ภาษาไทยสง่างามจาก : https://ithai.jp/img
ออกเสียงคำให้ถูกต้อง
ใช้ภาษาสง่างาม ได้อ่านคอลัมน์ ภาษาไทยกับพิธิกร จาก https://www.dailynews.co.th
เห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวในการใช้ภาษาไทย ซึ่งหลายคนอาจมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญ
ทำให้เกิดการผิดเพี้ยน จึงนำเนื้อความจากภาษไทยกับพิธีกรมา ของคุณวิภาวดี
บอกเล่ากัน เนื้อความมีว่า
ภาษาไทยกับพิธิกร
"ช่วงนี้เรียกว่าวงการบันเทิงบ้านเรามีข่าวให้ตื่นเต้น จนน่าติดตามกันมากมาย
เหลือเกินครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวคราวความคืบหน้าของพระเอกชื่อดัง ฟิล์ม รัฐภูมิ
โตคงทรัพย์ และ แอนนี่ บรู๊ค ที่ยังต้องรอลุ้นกันต่อไปในเรื่องของการตรวจ ดีเอ็นเอ
แต่วันนี้ผมอยากจะพักเรื่องของคนดังไว้ก่อนครับ เพราะว่าวันนี้ผมอยากจะหยิบเอาจดหมายจากทางบ้านที่เขียนเข้ามาบอกกล่าว พูดคุย และแลกเปลี่ยนทัศนคติกัน ซึ่งผมเอง
ก็ต้องขอขอบคุณมากนะครับ ที่ติดตามและเป็นกำลังใจให้กันมาตลอด
วันนี้ผมหยิบจดหมายมาหนึ่งฉบับครับ เป็น จดหมายที่เขียนมาจากคุณสมคิด
ที่เขียนมาพูดคุยกันในประเด็นของเรื่อง การใช้ภาษาไทยผิด ๆ ซึ่งเนื้อ หาในจดหมายนั้น
มีดังนี้ครับ
ผมขอรบกวนให้คุณวิภาวดี เป็นคนกลางในการสื่อสาร ให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง
ทราบหน่อยว่า พิธีกรบางท่านยังอ่านคำไทยบางคำผิดอยู่ อาจจะทำให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ
นำไปใช้กันอย่างผิด ๆ ได้
ภาพจาก : https://www.lerchor.com
โดยเฉพาะคำว่า “อุณหภูมิ” จะได้ยินจากทุกช่อง แม้กระทั่งช่อง ๑๑ ของ
กรมประชาสัมพันธ์ ยังอ่านกันผิดเลย โดยส่วนมากจะออกเสียงเป็น อุน-นะ-พูม ทั้งนั้น
โดยถูกต้องต้องออกเสียงเป็น อุณ-หะ-พูม และคำว่า กำลัง มักจะออกเสียงเป็น กะ-ลัง
ไม่ออกเสียงสระอำ แต่กลับออกเสียงเป็นสระอะ
แต่ก็จะมีบ้างครับที่ออกเสียงถูกต้อง อย่างเช่น คุณสายสวรรค์ และ คุณศศิวรรณ
ที่ออกเสียงได้ถูกต้องและชัดเจน ตรงนี้ผมจึงขอรบกวนให้คุณวิภาวดี เป็นสื่อในการท้วงติง
ด้วยครับ และขอขอบคุณโดยหวังว่า การใช้ภาษาไทย อักษรไทยจะได้รับการแก้ไข และพิจารณาในการออกอากาศ
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
สมคิด
ตรงนี้ผมเองก็ต้องขอขอบคุณ คุณสมคิดนะครับ ที่ให้ความสำคัญกับภาษาไทย
และท้วงติงมาเพื่อที่จะให้พัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งผมเองก็เห็นความสำคัญตรงนี้นะครับ
เพราะว่าเราเป็นคนไทย พูดไทย เขียนไทย อ่านภาษาไทย ก็อยากจะให้ทางสถานีให้ความสำคัญ
ในเรื่องนี้เช่นกันครับ.
จาก : https://www.dailynews.co.th
ภาพจาก : https://www.eebah.com
การออกเสียงภาษาไทยให้ถูกต้องเป็น เรื่องใกล้ตัวในการใช้ภาษาไทย ซึ่งหลายคน
อาจมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญ ทำให้เกิดการผิดพลาด จนผิดเพี้ยน
การออกเสียงคำ ข้อความ ในการพูด หรือการอ่าน ร่วมถึงการสื่อสารใดๆ
เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่เป็นพิธีกรเท่านั้น คนไทยทุกคน ควรมีส่วนร่วมอนุรักษ์
ภาษาไทย อันเป็นวัฒนธรรมของชาติ โดยเรียนรู้เพื่อนำไป ใช้ในการสื่อสารให้ถูกต้อง
เพื่อเสริมบุคลิก ให้สง่างาม ดูดี มีความน่าเชื่อเถือ
ประเด็นการศึกษา การออกเสียงคำ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔
การออกเสียงคำ
๑.พยัญชนะ ๔๔ รูป
- พยัญชนะต้นเดี่ยว ๒๑ เสียง
- พยัญชนะต้นควบ ๑๑ เสียง ๑๕ รูป ได้แก่
พยัญชนะต้นเดี่ยวควบกับพยัญชนะตัวควบ ร ล ว ดังนี้
ก ร ล ว
ข ร ล ว
ค ร ล ว
ป ร ล -
พ ร ล -
ผ - ล -
ต ร - -
กร ขร คร ตร ปร พร
กล ขล คล ปล ผล พล
กว ขว คว
ทั้งหมดเป็นพยัญชนะควบของไทย
ภาพจาก : https://xchange.teenee.com
๒. สระ ๒๑ เสียง ได้แก่
- สระเดี่ยว ๑๘ เสียง ไม่มี “อำ ไอ ใอ เอา”
- สระประสม ๓ เสียง มี “ย” กับ ” ว” ผสม เอีย, เอือ, อัว
(นักภาษาศาสตร์ ตัดเสียง เอียะ, เอือะ, อัวะ)
*บางคำออกเสียงไม่ตรงกับรูป เช่น “น้ำ” ออกเสียงยาว เป็น น้าม
“อีก” ออกเสียงสั้น เป็น อิก ในบางประโยค
ภาพครูภาษาไทยประกายเพชรปี ๒๕๔๓ มูลนิธิเพชรภาษา
๓.วรรณยุกต์ ๕ เสียง แบ่งเป็น
- วรรณยุกต์ระดับ คือ เอก สามัญ ตรี มีเสียงคงที่ ดังนี้
เอก เสียงต่ำคงที่
สามัญ เสียงปานกลางคงที่
ตรี เสียงสูงคงที่
- วรรณยุกต์เปลี่ยนระดับ คือ โท จัตวา มีเสียงเปลียนระดับจากต้นพยางค์
ไปท้ายพยางค์ หรือ จากท้ายพยางค์ ไปต้นพยางค์ ดังนี้
โท เปลี่ยนจาก สูงต้นพยางค์ ไปต่ำท้ายพยางค์
จัตวา เปลี่ยนจาก ต่ำต้นพยางค์ ไปสูงท้ายพยางค์
ภาพจูนกับมุก งานสัปดาห์แวดวงกวีไทย ร.ร.ประโคนชัยพิทยาคม
๔. การลงเสียงหนักเบา แบ่งเป็น
- ๒ พยางค์ ออกเสียงหนักพยางค์ที่มีเสียงสั้น
- ๓ พยางค์ พยายาม ธนบัตร ตถาคต อสุรา โทรสาร อัสดง
- ๔ พยางค์ พยุหบาท พิพิธภัณฑ์ อันตรธาน อุปนิสัย
*ในประโยค คำสรรพนามจะเสียงสูง คำนามจะเสียงต่ำ เช่น เขา (เสียงสูง)
ขึ้นเขา (เสียงต่ำ) ไปเป่าเขา (เสียงต่ำ)
ภาพ "โจ" งานสัปดาห์แวดวงกวีไทย ร.ร.ประโคนชัยพิทยาคม
๕. การออกเสียงคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต
- พยัญชนะต้นตัวสุดท้ายเป็นตัวสะกด เช่น มล (มน) ถ้าเป็นตัว " ร "
ให้เพิ่มเสียงออ เช่น ทรพี (ทอ-ระ-พี)
- คำที่มีตัวสะกด + พยัญชนะวรรคหรือ ศ ษ ส ไม่ออกเสียง อะ เชื่อม
เช่น บุปผา (บุบ-ผา)
แต่ถ้าพยัญชนะวรรค + พยัญชนะวรรค ออกเสียง อะ เชื่อม เช่น อัธยาศัย
(อัด-ทะ-ยา-ไส) , อัตโน (อัด-ตะ-โน)
และถ้าพยัญชนะวรรค + พยัญชนะนาสิก (ง ญ ณ น ม) ไม่ออกเสียง อะ
เช่น กันยายน (กัน-ยา-ยน)
- ย ร ล ว ศ ส ษ สะกด ออกเสียง อะ เสมอ เช่น กัลบก (กัน-ละ-บก)
ยกเว้น ถ้าตามด้วย ฐ เช่น ขนิษฐา
- คำที่เดิมมี ๒ พยางค์ พยางค์ท้ายมีสระ อิ อุ ให้พยัญชนะต้นพยางค์หลัง
เป็นตัวสะกด ไม่ออกเสียงสระ เช่น เหตุ (เหด)
ส่วน “วุฒิ” อ่านว่า วุด ตามที่นิยม เดิมมาจาก วุฑฒิ (วุด-ทิ)
ภาพณัฐนิชา ศรีชา งานสัปดาห์แวดวงกวีไทย ร.ร.ประโคนชัยพิทยาคม
๖. การออกเสียงคำสมาส
- ออกเสียงเชื่อมตัวท้ายของคำหน้า เช่น สมุทรศาสตร์ (สะ-หมุด-ทระ-สาด) ,
กิจกรรม (กิด-จะ-กำ) ยกเว้น กลอุปกรณ์ (กน-อุบ-ปะ-กอน , กน-อุ-
ปะ-กอน) , บุรุษเพศ , สมุทรสาคร
- บางคำออกเสียงเชื่อมหรือไม่ก็ได้ เช่น พืชมงคล , เกียรติประวัติ, คุณสมบัติ,
ชลประทาน, ดุลยพินิจ
*บางคำไม่ใช่คำสมาส แต่ออกเสียงเชื่อม เช่น กรมหมื่น , คริสตัง, จักแหล่น ,
จุนสี , ซอมซ่อ , ตุ๊กตา , พลขับ
ภาพ จูน งานสัปดาห์แวดวงกวีไทย ร.ร.ประโคนชัยพิทยาคม
๗. การออกเสียงแบบอักษรนำ
- มาจากบาลีสันสกฤต เช่น จัตุรัส (จัด-ตุ-หรัด) , ฉวี (ฉะ-หวี)
ยกเว้น สดมภ์ (สะ-ดม) , สมรรถ (สะ-มัด)
- คำแผลงจากเขมร ถ้าเดิมเป็นอักษรควบ พยางค์หลังเสียงเดิม
เช่น ตรัส เป็น ดำรัส (ดำ-หรัด)
ไม่เป็นอักษรควบ พยางค์หลังเปลี่ยน เช่น อาจ เป็น อำนาจ (อำ-นาด)
- บางคำแม้มีรูปสระ ก็อ่านแบบอักษรนำ เช่น กะรัต (กะ-หรัด) , บัญญัติ (บัน-หยัด)
ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
๑. ให้แบ่งกลุ่ม กลุ่มละ ๓-๔ ให้ช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ หรือเหตุการณ์
ที่เกิดขึ้น จากสื่อที่หลากหลาย การกระทำใดบ้างที่เข้าข่าย "โคลนติดล้อ"
หรือเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศชาติพัฒนาช้าลง ใช้ภาษาอธิบายเชื่อมโยง
๒. แต่ละกล่มนำเสนอผลงาน
กิจกรรมเสนอแนะ
๑. แต่ละกลุ่มวิเคราะห์การใช้ภาษาไทยของสื่อต่าง ๆ ใช้เวลา ๒ สัปดาห์
แล้วนำเสนอข้อสังเกตที่พบ พร้อมทั้งเสนอแนะการออกเสียงให้ถูกต้อง
คุณลักษณะที่ปลูกฝัง
๑. รักความเป็นไทย
๒. ใฝ่เรียนรู้
กิจกรรมบูรณาการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เรื่อง การออกเสียง
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ เรื่อง คุณธรรมของการสื่อสาร
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล แผนการจัดการเรียนรู้ ภาษาไทย ชั้นม.๕
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3234