วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน มหาเวสสันดรชาดก


1,063 ผู้ชม


การมีชีวิตอยู่และสร้างสิ่งอันเป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้าง ย่อมได้รับความสุขในชีวิต   

   วิธีสร้างบารมี
        " เพราะคนเราที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มิได้อยู่โดยลำพังเพียงคนเดียว ย่อมมี พ่อแม่ พี่น้อง  
ญาติสนิทมิตรสหาย ข้าทาสบริวาร  และบุตร ภรรยา สามีด้วยกันทั้งนั้น  
ซึ่งการที่เราจะอยู่ร่วมกับบุคคลเหล่านี้ได้อย่างมีความสุข และเป็นที่รักของพวกเขาเหล่านั้น  
นอกจากจะต้องเป็นคนดี มีเมตตากรุณา มีสัมมาคารวะต่อผู้ที่ควรคารวะ พูดวาจาอ่อนหวานแล้ว
ยังต้องอาศัยความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อุดหนุน เจือจานกันเป็นเครื่องผูกใจคนเหล่านั้นด้วย
           ผู้ขอบ่อยๆย่อมเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นฉันใดผู้ให้ก็ย่อมเป็นที่รักของผู้อื่นฉันนั้น
ด้วยเหตุนี้ การให้จึงเป็นการผูกน้ำใจผู้อื่นไว้ได้ประการหนึ่ง ปกตินั้นคนเรามักจะมีความตระหนี่
หวงแหนอยู่เป็นประจำใจ ยากนักที่จะหยิบยื่นสิ่งใดให้แก่ใครๆ ได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นคนที่
สามารถหยิบยื่นของๆตนให้แก่ผู้อื่นได้นั้นนับว่าน่าสรรเสริญอย่างยิ่ง  
ถ้ารู้จักให้เสียครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่ยากเลยที่จะให้ในครั้งต่อๆไป "

                         ที่มา :  https://www.arunsawat.com

           จากบทความข้างต้น จะเห็นการสร้างบารมีไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย  อยู่ในวิถีชีวิต
ของเราทุกคน  อย่าลืมว่าชีวิตนี้สั้นนัก...การมีชีวิตอยู่และสร้างสิ่งอันเป็นประโยชน์ต่อ
คนรอบข้าง  ย่อมได้รับความสุขในชีวิต  ดังเช่น พระเวสสันดรชาดก  ที่สร้างบารมีโดย
เป็นผู้ให้เรื่อยมา.... บริจาคทรัพย์ที่มี และบริจาคบุตรทารทาน  
ประเด็นการศึกษา  วรรณคดีพระพุทธศาสนา เรื่องมหาเวสสันดรชาดก
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔

๑. เรื่อง   มหาชาติ หรือพระเวสสันดรชาดก
๒.  “มหาชาติ”   แปลว่า  ชาติที่ยิ่งใหญ่  เป็นชาติที่พระโพธิสัตว์ 
      เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร
๓. องค์ประกอบของชาดก
                ๑)  ปรารภเรื่อง  คือ ปฐมมูลเหตุในการเกิดชาดก
                ๒)  อดีตนิทาน  หรือ  ตัวชาดก
                ๓)  ประชุมชาดก  คือส่วนท้ายของชาดกจะบอกว่าใครกลับชาติมาเกิดเป็นใคร
๔.  ชาดก มี ๒ ประเภท คือ  นิบาตชาดก มี  ๕๕๐  เรื่อง    และปัญญาสชาดก มี ๕๐  เรื่อง


๕.   ปฐมเหตุในเทศน์มหาชาติ
               พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธบิดา และพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ 
 บรรดาพระประยูรญาติไม่แสดงความเคารพ เพราะยังไม่เชื่อถือ  พระพุทธองค์จึงทรงแสดง 
 ยมกปาฏหาริย์ โดยเสด็จขึ้นสู่นภากาศพระประยูรญาติจึงได้ละทิฐิแล้วถวายบังคม
พระพุทธเจ้า  ขณะนั้นได้เกิดฝนโบกขรพรรษ  เป็นฝนสีแดงผู้ใดอยากให้เปียกก็จะเปียก 
ผู้ใดไม่อยากให้เปียกก็จะไม่เปียก  ลักษณะเช่นนี้เหมือน้ำที่ตกลงบนใบบัว  ซึ่งจะไม่มี
หยดน้ำเกาะติดใบบัวอยู่  พระภิกษุทูลถามพระพุทธเจ้า  พระองค์จึงทรงแสดงธรรมเรื่อง 
มหาเวสสันดรชาดก

๖ ความเป็นมาของคำว่า “มหาชาติ” และเทศน์มหาชาติ 
       เวสสันดรชาดกนี้ เป็นเรื่องใหญ่  ยืดยาว ท่านจึงจัดรวมไว้ ในมหานิบาตชาดก
รวมเรื่องใหญ่  ๑๐  เรื่อง   ที่เรียกกันว่า ทศชาติ     แต่อีก ๙ เรื่อง เหตุใดจึงไม่เรียกว่า   มหาชาติ   คงเรียกแต่เวสสันดรชาดกเรื่องเดียวว่า มหาชาติ  ข้อนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดประทานอธิบายว่า  พุทธศาสนิกชนชาวไทย    ตลอดจน
ประเทศใกล้เคียง   นับถือกันมาแต่โบราณว่า    เรื่องมหาเวสสันดรชาดก สำคัญกว่าชาดก
อื่นๆ   ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง๑๐อย่างคือ
          ๑) ทานบารมี        ทรงบริจาคทรัพย์สิน ช้าง ม้า ราชรถ พระกุมารทั้งสองและพระมเหสี
          ๒) ศีลทาบารมี     ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ระหว่างทรงผนวชอยู่ ณ เขาวงกต
         ๓) เนกขัมมบารมี ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลาที่ประทับ ณ เขาวงกต
         ๔) ปัญญาบารมี   ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ทรงผนวช
         ๕) วิริยบารมี       ทรงปฏิบัติธรรมมิได้ย่อหย่อน
         ๖) สัจจบารมี       ทรงลั่นพระวาจายกกุมารให้ชูชก เมื่อพระกุมารหลบหนีก็ทรงติดตามมาให้
         ๗) ขันติบารมี     ทรงอดทนต่อความยากลำบากต่างๆ ขณะที่เดินทางมายังเขาวงกต 
                                และตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั่น แม้เมื่อทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตี
                                พระกุมารอย่างทารุณ พระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้
          ๘) เมตตาบารมี    เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ มาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์
                             เพราะเมืองกลิงคราษฏ์ฝนแล้ง ก็ทรงพระเมตตาประทานให้
                             และเมื่อชูชกมาทูลขอสองกุมาร 
                            โดยอ้างว่าตนได้รับความลำบากต่างๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย
         ๙) อุเบกขาบารมี  เมื่อทรงเห็นสองกุมารถูกชูชกเฆี่ยนตี วิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือ
                             พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญอุเบกขา คือทรงวางเฉย เพราะทรงเห็นว่าได้ประทาน
                            เป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว
           ๑๐) อธิษฐานบารมี คือทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จโพธิญาณเบื้องหน้า 
                   แม้จะมีอุปสรรคก็มิได้ทรงย่อท้อ จนพระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่างๆ 
                    เพราะตระหนักในน้ำพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์

                 การที่เรียก มหาเวสสันดรชาดกว่า “มหาชาติ” นี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยของเรา
นิยมเรียก และเป็นที่หมายกันมาแต่สมัยกรุงสุโขทัยราชธานี   เพราะปรากฏตามศิลาจารึก
สมัยสุโขทัยหลักที่ ๓ ที่เรียกว่าจารึก “นครชุม” ซึ่งจารึกไว้เมื่อพ.ศ.๑๙๐๐ ในสมัยพญาลิไท 
(พระมหาธรรมราชาที่๑) มีกล่าวไว้ว่า “ธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่า พระมหาชาติหาคนสวด
แลมิได้เลย”       เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า การมีเทศน์มหาชาตินี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยม
มีเทศน์กันมานานแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี

๗    ทศบารมี คือ บารมีที่พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญ  ๑๐ ประการในชาติต่างๆ คือ
            ๑. พระเตมีย์   บำเพ็ญ เมตตาบารมี
            ๒. พระมหาชนก                บำเพ็ญ วิริยะบารมี
            ๓. พระสุวรรณสาม                บำเพ็ญ เมตตาบารมี
            ๔. พระเนมีราช   บำเพ็ญ อธิษฐานบารมี
            ๕. พระมโหสถ   บำเพ็ญ ปัญญาบารมี
            ๖. พระภูริทัต   บำเพ็ญ ศีลบารมี
            ๗. พระจันทกุมาร                บำเพ็ญ ขันติบารมี
            ๘. พระนารทะ   บำเพ็ญ อุเบกขาบารมี
            ๙. พระวิทูร                 บำเพ็ญ สัจจะบารมี
            ๑๐.พระเวสสันดร                บำเพ็ญ ทานบารมี
          หัวใจพระเจ้าสิบชาติ คือ   เต  ช  สุ   เน   ม   ภู  จ  นา  วิ  เว ( อักษรตัวแรก 
                 ของแต่ละชาติ )

๘.  ประเพณีการเทศน์มหาชาติ
                   การมีเทศน์มหาชาติ นิยมทำกันหลังฤดูทำนาเสร็จคือราวเดือนอ้าย
 ( ตั้งแต่วันสารทไทยเป็นต้นไปบางแห่งก็ทำช่วงสงกรานต์ )ส่วนจำนวนวันที่จัดนั้น 
จัดเสร็จภายใน ๑ วันกับ ๑ คืนตามคตินิยม ( ถือกันเป็นประเพณีว่า ถ้าใครฟังจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์
ในวันเดียวย่อมได้บุญแรงถ้าไม่บรรลุโลกุตรธรรม ก็จะได้พบพระศรีอริยเมตไตรย ) 
จัดเฉพาะกลางวันรวม ๓ วันบ้าง ทั้งนี้แล้วแต่ความสะดวกเป็นสำคัญ เมื่อมีการเทศน์มหาชาติ นิยมประดับประดาสถานที่เทศน์ให้เป็นเสมือนป่า เพื่อให้คล้ายป่าเมืองกบิลพัสดุ์ โดยจัดให้
มีต้นกล้วย ต้นไม้ประดับตามประตูวัด และที่ธรรมมาสน์เทศน์

๙.  หนังสือคำหลวง   หนังสือคำหลวงมีลักษณะดังนี้
          ๑. เป็นพระราชนิพนธ์ ของพระเจ้าแผ่นดิน หรือเจ้านายชั้นสูงทรงนิพนธ์
          ๒. เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและศีลธรรมจรรยา
          ๓. ใช้คำประพันธ์หลายประเภท คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และ ร่าย
          ๔. ใช้สวดทำนองหลวง ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้ประดิษฐ์ขึ้นได้ 
(สวดครั้งแรกที่ วัดพระศรีสรรเพ็ชฌ์     ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี )

๑๐.  คาถาพัน
          คาถาพัน หมายถึง คาถาภาษาบาลี ที่ยกขึ้นมานำความทั้งมีจำนวน ๑๐๐๐ คาถา
 เช่นในกัณฑ์ทานกัณฑ์ก็บอกไว้ตอนจบว่า “ทานกัณฑ์นิฏฐิตํ ประดับด้วยพระคาถา ๒๐๙ 
คาถา”  คำว่า คาถา หมายถึง ฉันท์บทหนึ่ง มีถ้อยคำ ๔ วรรค วรรคหนึ่งมี ๘ คำ คาถาหนึ่ง
จึงมีคำ ๓๒ คำเป็นพื้น 

๑๑.  มหาชาติ : วรรณคดีพระพุทธศาสนา : ร่ายยาว
 เรื่องมหาเวสสันดรชาดก  เป็นเรื่องชาดกที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา  เพราะเป็น
พระชาติสุดท้ายก่อนจะได้มาเป็นพระพุทธเจ้า  เป็นชาติที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญปรมัตถบารมียิ่งยวด เรื่องนี้ได้ถูกถ่ายทอดกันในหมู่คนไทยด้วยวิธีการเทศน์เป็นพิธีใหญ่ 
เรียกว่า เทศน์มหาชาติ  ได้ถูกนำมารจนาเป็นวรรณคดีตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น  
ลำดับเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันดังนี้
 ๑)  มหาชาติคำหลวง  แต่งในสมัยพระบรมไตรโลกนาถด้วยกวีหลายท่าน 
 และด้วยคำประพันธ์หลายชนิด เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย
 ๒) กาพย์มหาชาติ  แต่งในสมัยพระเจ้าทรงธรรม  แต่งด้วยร่ายยาว  เป็นภาษาไทยเทียบคู่
ไปกับพระคาถาในภาษาบาลี    พรรณนาความพิจิตพิสดาร
 ๓)  มหาชาติกลอนเทศน์  แต่งด้วยกวีและพระภิกษุหลายสำนัก เพื่อใช้เทศน์มหาชาติประจำปี 
พระนักเทศน์จะพยายามเสาะแสวงหาสำนวนที่ดีๆ พอใจผู้ฟัง รวบรวมตัดต่อเป็นสำนวนเทศน์
เป็นกัณฑ์
 ๔)  มหาเวสสันดรชาดก  แต่งด้วยร่ายยาว มีแบบแผนการแต่งคือ  ขึ้นต้นกัณฑ์ด้วยจุณณียบท
เป็นคาถาบาลีสั้น ๆ สรุปใจความของเนื้อเรื่องของกัณฑ์นั้น ๆ ดำเนินความด้วยร่ายยาว 
บางตอนที่สำคัญก็จะแทรกพระคาถาบาลีไว้ด้วย

๑๒. ข้อมูลเกี่ยวกับมหาชาติทั้ง  ๑๓  กัณฑ์
        ชื่อกัณฑ์ ผู้แต่ง                                      เพลงประจำกันฑ์   จำนวนระคาถา
       ๑. ทศพร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า 
                      กรมพระปรมานุชิตชิโนรส            สาธการ                    ๑๙
       ๒. หิมพานต์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  
                      กรมพระปรมานุชิตชิโนรส             ตวงพระธาตุ              ๑๓๔
       ๓. ทานกัณฑ์ สำนักวัดถนน                         พญาโศก                   ๒๐๙
       ๔. วนปเวศน์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
                         เจ้าอยู่หัว                                     พญาเดิน         ๕๗
       ๕. ชูชก สำนักวัดสังข์กระจาย                           เซ่นเหล้า         ๗๙
       ๖. จุลพน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     คุกพาทย์         ๓๕
       ๗. มหาพน พระเทพโมลี(กลิ่น)                           เชิดกลอง         ๘๐
       ๘. กุมาร เจ้าพระยาพระคลัง(หน)             โอด, เชิดฉิ่ง        ๑๐๑
       ๙. มัทรี เจ้าพระยาพระคลัง(หน)             ทยอยโอด         ๙๐
     ๑๐. สักกบรรพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว      กลม         ๔๓
     ๑๑. มหาราช สมเด็จพระมหาสมณเจ้า 
                            กรมพระปรมานุชิตชิโนรส              กราวนอก         ๖๙
      ๑๒. ฉกษัตริย์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  
                            กรมพระปรมานุชิตชิโนรส               ตระมอญ          ๓๖
       ๑๓. นครกัณฑ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า 
                            กรมพระปรมานุชิตชิโนรส         กลองโยน     ๔๘
                                    อ่านเพิ่มเติม ทั้ง ๑๓ กัณฑ์

                                     กัณฑ์ทศพรที่นี่
                                                               กัณฑ์หิมพานต์
                                        ทานกัณฑ์
                                      กัณฑ์วนประเวศ
                                      กัณฑ์ชูชก
                                      กัณฑ์จุลพน
                                      กัณฑ์มหาพน
                                      กัณฑ์กุมาร
                                      กัณฑ์มัทรี
                                      กัณฑ์สักรบรรพ
                                      กัณฑ์มหาราช
                                      กัณฑ์ฉกษัตริย์
                                      นครกัณฑ์


ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
        ๑. จากมหาเวสสันดรชาดก ให้อธิบายองค์ประกอบของชาดก
        ๒. เหตุผลที่แท้จริงในการเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ในจบภายใน ๑ วันคืออะไร
ตามประเพณีไทยชาวพุทธ  มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑.  แบ่งนักเรียนเป็น ๑๓  กลุ่ม แต่ละกลุ่มแต่งเพลงบรรยายความแต่ละกัณฑ์

สรรถนะที่ต้องการเน้น
       ๑. มีความสามารถในการคิด
       ๒. มีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต

กิจกรรมบูรณาการ   
        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ  เรื่อง เทศน์มหาชาติ

          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   แผนการจัดการเรียนรู้  ภาษาไทย  ชั้นม.๔
          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3501

อัพเดทล่าสุด