วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน รจนากาพย์ยานี ๑๑ พินิจวาจา ก่อนพาที


855 ผู้ชม


วาจาพาทีเพราะ.........แสนไพเราะเสนาะหู พริ้งเพริศช่วยเชิดชู....ชุ่มชื่นจินต์ยิ่งยินดี   

 

กลฺยาณิเมว มุญฺเจยฺย
น หิ มุญฺเจยฺย ปาปิกัง
โมกฺโข กลฺยาณิยา สาธุ
มุตฺวา ตปฺปติ ปาปิกังฯ
(ขุ.ชา. ๒๗/๘๘)

ควรเปล่งเฉพาะถ้อยวาจาที่งดงาม
ไม่ควรเปล่งถ้อยวาจาหยาบช้าชั่ว
พูดจาไพเราะย่อมสำเร็จประโยชน์
พูดจาหยาบช้าย่อมเดือดเนื้อร้อนใจ

วาจาพาทีเพราะ.........แสนไพเราะเสนาะหู
พริ้งเพริศช่วยเชิดชู....ชุ่มชื่นจินต์ยิ่งยินดี
วาจาหยาบช้าชั่ว........จะเจ็บตัวปากเป็นสี
พูดจาหรือพาที..........ทบทวนดูให้รู้จริง
พูดดีไม่มีโทษ............เกิดประโยชน์อย่างยวดยิ่ง
พูดชั่วคนชังชิง..........ใช่แน่นอนเดือดร้อนตน          

เยน เกนจิ วณฺเณน
ปโร ลภติ รุปฺปนัง
มหตฺถิยมฺปิ เจ วาจัง
น ตัง ภาเสยฺย ปณฺฑิโตฯ
(ขุ.ชา.๒๗/๑๐๔๖)

คนอื่นเกิดความโกรธเคืองแค้น
เพราะถ้อยคำอย่างใดอย่างหนึ่ง
แม้มันจะมีประโยชน์มิใช่น้อย
บัณฑิตก็ไม่ปราศรัยถ้อยคำนั้น

ถ้อยคำไม่พินิจ............ไปสะกิดต่อมโทสา
คนฟังเกิดโกรธา..........ปะทุเดือดขึ้นทันที
แม้มีประโยชน์มาก......คนเดินจากส่ายหน้าหนี
หยุดพูดเป็นการดี.........ดื้อดึงกล่าวร้าวใจกัน
บัณฑิตรู้อย่างนี้.............หยุดวจีที่หุนหัน
ราบเรียบอยู่เงียบงัน......งดพูดจาไม่พาที

          

อญฺญัง ภณติ วาจาย
อญฺญัง กาเยน กุพฺพติ
วาจาย โน จ กาเยน
น ตัง ธมฺมัง อธิฏฺฐิโตฯ
(ขุ.ชา.๒๗/๘๙๖)

พูดทางวาจาอย่างหนึ่ง
ทำทางกายอีกอย่างหนึ่ง
ประพฤติธรรมทางวาจา
ไม่ประพฤติธรรมทางกาย
มันไม่ตั้งอยู่ในธรรมเลย

พูดจาว่าอย่างหนึ่ง...........ไม่ซาบซึ้งตราตรึงหนอ
เพียงพร่ำเพรื่อสอพลอ.....พูดแต่ปากไม่อยากทำ
เวลาทำอย่างหนึ่ง.............หาพรั่นพรึงพลันล่วงล้ำ
ชั่วเฉยไม่เคยจำ................วาจาพร่ำพูดร่ำไป
ประพฤติธรรมด้วยปาก....มันจะยากเย็นที่ไหน
กายเมินเหินห่างไกล........รับรองไม่ตั้งในธรรม

 ขอบคุณ
บทพระคาถา จากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ ขุททกนิกาย ชาดก พร้อมกับกาพย์ยานี ๑๑ ของ
พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ จากหนังสือขุมทรัพย์จากพระไตรปิฎก 
ที่มา dhammajak https://variety.teenee.com/saladharm/31533.html

ประเด็นศึกษา  ;  รจนากาพย์ยานี ๑๑
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย    ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖  
เรื่อง  พินิจวาจา ก่อนพาที 
๑. มาตรฐาน
สาระที่ ๔ หลักการใช้ภาษา
มาตรฐาน ท ๔.๑ เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษา
และพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษาและรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ
 มาตรฐาน ท ๔.๑.๕ สามารถแต่งบทร้อยกรองประเภทกาพย์และกลอน โดยแสดงความคิด
เชิงสร้างสรรค์
๒.  สาระสำคัญ
 กาพย์ยานี ๑๑ เป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่งที่มีฉันทลักษณ์คือการบังคับคำให้มีจำนวน ๕ คำ 
ในวรรคหน้า และ ๖ คำในวรรคหลัง รวมเป็น ๑๑ คำ จึงเรียกกาพย์ยานี ๑๑ นักเรียนควรรู้และ
ฝึกแต่งกาพย์ยานี ๑๑ เพื่อรักษาและสืบค้นลักษณะคำประพันธ์ของไทยเอาไว้ 
๓.  ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
     ๑.  สามารถเขียนได้ถูกต้อง
     ๒.  สามารถแต่งบทกลอนประเภทกาพย์ กลอนได้
     ๓.  สามารถแสดงความคิดเห็นบทร้อยกรองในเชิงสร้างสรรค์ได้
     ๔.  ใช้ภาษาเพื่อพัฒนาความรู้ได้
๔.  จุดประสงค์การเรียนรู้
     ๑.  นักเรียนบอกลักษณะฉันทลักษณ์กาพย์ยานี ๑๑ ได้
     ๒.  นักเรียนแต่งกาพย์ยานี ๑๑ ได้
     ๓.  นักเรียนมีความเพลิดเพลินในการเรียน
๕.   เนื้อหาสาระ
 - บอกฉันทลักษณ์กาพย์ยานี ๑๑
 - การแต่งกาพย์ยานี ๑๑

๖. บูรณาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษาฯ

กิจกรรมเสนอแนะ
          การฝึกแต่งกาพย์ยานี ๑๑ ควรให้นักเรียนรู้เรื่องลักษณะฉันทลักษณ์ของกาพย์ยานี ๑๑ 
ให้ชัดเจน นักเรียนจึงจะสามารถแต่งกาพย์ยานี ๑๑ ได้ไพเราะและถูกต้อง
  ที่มา :  นัทธมน  คำครุฑ  แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย  ระดับประถมศึกษาปีที่ ๔-๖

 ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3360

อัพเดทล่าสุด