วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน หัวใจชายหนุ่ม ตอน ค่าแห่งรัก


5,583 ผู้ชม


ถ้าไม่สามารถควบคุมจิตใจให้ดี อาจมีบทเรียนราคาแพงเหมือนประพันธ์   

ประเด็นข่าว
                    วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน หัวใจชายหนุ่ม ตอน ค่าแห่งรัก
                                            ภาพจาก : planet.kapook.com

               เจนี่  เทียนโพธิ์สุวรรณ ตามล่าหา "เจ้าของหัวใจ" ใครสักคน ที่ ถูกใจ
 และ ใช่ เลย เพราะหลายปีที่ที่ผ่านมา เจนี่ คงอินกับบทบาทละครเรื่อง
"สวย เริ่ด เชิด โสด" เธอเลยเว้นว่างห่างการมี "แฟน" มาซะนาน คนสวย 
ที่ไม่มีเจ้าของหัวใจ เจนี่ อยู่ใกล้ชายใด  ทำหวั่นไหวจนน่ากลัว!
                         ที่มา : ไทยรัฐออนไล์  ๔ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔

            ช่วงวันแห่งความรัก  อะไรๆ ก็ดูเป็นสีชมพู  หัวใจหลายๆ คนก็พลอยหวั่นไหว
ความรัก ไม่เข้าใครออกใคร  ทั้งนักเรียน นักร้อง และดารา ถ้าไม่สามารถควบคุมจิตใจ
ให้ดี  อาจมีบทเรียนราคาแพงเหมือนประพันธ์ จากเรื่อง หัวใจชายหนุ่ม..

ประเด็นการศึกษา  หัวใจชายหนุ่ม  ตอน ค่าของแห่งรัก

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่๔

๑. เรื่อง  หัวใจชายหนุ่ม
๒. ผู้แต่ง    เรื่องหัวใจชายหนุ่ม เป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
                  เจ้าอยู่หัว      ทรงใช้พระนามแฝง  “รามจิตติ”

 .......ต่อจาก    ตอน เธอกับเขา.....และรักของเรา  ทบทวนความเดิม
           
                           

๗. คุณค่าที่ได้รับ
              ๑. ได้อ่านบันเทิงคดีที่มีคุณค่าสูง  ทั้งด้านเนื้อหา  แนวคิด และศิลปะการประพันธ์
              ๒. ได้เรียนรู้สภาพสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ ๖
              ๓. ให้ข้อคิดในการมองโลก  วิธีดำเนินชีวิต  การแก้ปัญหา  การเข้าใจคนอื่น 
 และยอมรับความคิดเห็นของผู้มีประสบการณ์
              ๔. วัฒนธรรมเป็นสิ่งมีค่า  การนำวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้ต้องรู้จักเลือก
ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย   จึงจะพัฒนาคุณลักษณะของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น
และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง

๘. สำนวนที่น่าสนใจ
 ๑. การรักเมืองไทยเปรียบเหมือนรักพ่อแม่  แต่การรักเมืองอังกฤษเหมือนรักเมีย
 ๒. ฉันต้องไหว้คนมาเสียมากต่อมากจนนับหนไม่ถ้วน  จนฉันแทบจะลงรอย
เป็นท่าประนมอยู่เสมอแล้ว  และหลังก็เกือบโค้งเสียแล้ว  เพราะคำนับคนไม่ได้หยุด
 ๓. คนไว้ผมสั้นเกือบจะมีเหลือแต่คนแก่กับไพร่ๆ เท่านั้นแล้ว   
ข้อนี้เป็นข้อควรยินดีอยู่  เพราะการไว้ผมยาวทำให้ผู้หญิงสวยขึ้นมากเป็นแน่นอน
 ๔. หน้าตาเจ้าหล่อนเหมือนนางซุนฮูหยิน  ตายาว หลังตาชั้นเดียว  แต่ผิวขาวดี 
 และรู้จักแต่งผมดีพอใช้ การแต่งตัวของหล่อนก็ใช้เสื้อผ้าดีๆ ถูกกับแฟแช่น”
 ๕. และที่ดีที่สุดคือหล่อนไม่ทำตัวเป็นหอยจุ๊บแจงอย่างผู้หญิงไทยๆ โดยมาก  
พูดกันสั้นๆ  หล่อนคล้ายผู้หญิงฝรั่งมากกว่าหญิงไทย  และนักว่ามี  “เอดูเคชั่น”  ดีพ่อใช้ 
 เขียนหนังสือไทยเก่ง อ่านและพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง  เต้นรำเป็น  และแต่งตัวดี
 ๖. เขารู้จักทั้งนั้นว่าที่บ้านนั้นเขาใช้คำเรียกกันว่า  “โรงเรียนฝึกหัดเจ้าชู้”
 ๗. การกลับบ้านจึ่งกลายเป็นของที่ฉันรู้สึกเกือบเท่ากับไปโรงเรียนเมื่อเด็ก ๆ
 ๘. บัดนี้ก็กลับเป็นโสดอีกแล้ว  และคงจะไม่รีบร้อนหาคู่โดยด่วนเช่นครั้งก่อนอีกละ
  ขอให้พ่อประเสริฐจำเรื่องของฉันใส่ใจไว้เถิด
 ๙. ความลับออกจากปากผู้หญิงคนเดียวอาจที่จะรู้ถึง ๒๐  คน ภายในอาทิตย์เดียว
 ๑๐. มีผู้พูดกันอยู่หลายคนว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยเราควรจะใช้ธรรมเนียมมีเมียเดียว
 แต่ก็ดูไม่มีใครเต็มใจที่จะเป็นผู้ริเริ่มถือธรรมเนียมนั้นโดยเคร่งครัดเลย
 ๑๑. หล่อนได้ขุดอู่ตามใจตนเองแล้ว  เมื่อนอนในอู่นั้นไม่สบายจะโทษใครได้
 ๑๒. จริงอยู่  หลวงพิเศษนั้นรูปร่างไม่ใช่เทวดาถอดรูป  แต่หวังใจว่าคงจะ
เข้าลักษณะขุนช้าง คือถึงรูปชั่วใจช่วงเหมือนดวงเดือน.

เนื้อเรื่องย่อ
                 นายประพันธ์เขียนจดหมายถึงนายประเสริฐซึ่งเป็นเพื่อนรักของเขา
 นายประพันธ์เป็นนักเรียนนอกจากประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย พ่อของเขา
หวังจะให้แต่งงานกับแม่กิมเน้ย แต่ประพันธ์ไม่ชอบใจการแต่งตัวของหล่อนที่ประดับประดา
มากเกินไปและดูเกินงาม จนทำให้เขาปลีกตัวออกไปจากการคลุมถุงชนจนได้พบกับแม่อุไร
 ซึ่งเป็นหญิงสาวหัวนอกด้านวัฒนธรรมตะวันตกเช่นเดียวกับประพันธ์ ทั้งสองถูกคอกัน 
มักพากันเที่ยวเตร่สม่ำเสมอ จนในที่สุดเกิดได้เสียกันจนแม่อุไรตั้งครรภ์ 
จึงจำเป็นต้องแต่งงานกันบนความไม่พอใจของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อแต่งงานไปนานๆ 
นิสัยของแม่อุไรได้เปลี่ยนไป ชอบข่มสามีต่อหน้าคนอื่น หยาบกระด้าง ไร้ซึ่งมารยาท 
จนหนักเข้าเธอเริ่มเหินห่างประพันธ์ไปคบกับพระยาตระเวนนคร เสือผู้หญิงที่ประสงค์
ได้ผู้หญิงคนไหนย่อมได้ทุกครั้งไป รวมถึงแม่อุไรที่ต้องหย่ากับประพันธ์ด้วยหวังว่า
พระยาตระเวนนครจะให้เกียรติเธอราวภรรยาคนสำคัญ แต่กลับตาลปัตรทางรักของแม่อุไร
พังลงเมื่อพระยาตระเวนนครมีหญิงคนใหม่ เธอจึงกลับมาขอคืนดีกับประพันธ์ แต่ถูกปฏิเสธ
 จนเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านชีวิตของนายประพันธ์ไป ทำให้เขาเริ่มคิดได้ว่าบางทีการดำเนินชีวิต
แบบชาวตะวันตกนั้นมิสามารถใช้ได้กับวิถีแห่งความเป็นไทย ในที่สุดเขาได้พบกับ
นางสาวศรีสมาน หญิงสาวผู้ที่เขาคิดว่าจะเยียวยา และบำรุงชีวิตของเขาให้ฟื้นคืนมาได้ 
ส่วนแม่อุไรก็ได้พบรักกับหลวงพิเศษผลพานิช พ่อค้าผู้มั่งมี แม้หน้าตาของเขาจะมิได้
หล่อเหลา แต่มีเงินมากพอที่จะซื้อความสุขให้กับแม่อุไรได้เช่นกัน เรื่องราวต่างๆ 
ได้จบลงด้วยจดหมายฉบับสุดท้ายแต่เพียงเท่านี้...


ชื่อและลักษณะนิสัยของตัวละคร

             ๑. นายประพันธ์ เป็นผู้นิยมวัฒนธรรมตะวันตกอย่างผิดๆ ซึ่งบางสิ่งไม่ถูกต้อง
ตามธรรมเนียมของไทย อันเปรียบเหมือนการดูถูกบ้านเกิดเมืองนอน เช่น คำกล่าวที่ว่า
 “ อีกอย่างหนึ่งในเมืองไทยยังมีคนครึอยู่มาก ที่ชอบเก็บลูกสาวไม่ให้เห็นผู้ชาย ” 
ซึ่งที่จริงแล้วเป็นธรรมเนียมที่ดีของไทย ที่กุลสตรีที่ดีงามมักจะเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน 
เพื่อฝึกการบ้านการเรือน อีกประการก็มีจิตใจที่อ่อนไหวครั้งเมื่อเห็นจดหมายที่ส่ง
ให้แก่แม่อุไรนั้น ถูกฉีกเป็นเศษเล็กเศษน้อยร่วงออกมา “ ฉันเทออกแล้วจึงจำได้ว่า
เป็นจดหมายที่ฉันมีไปถึงแม่อุไรนั่นเอง ขอให้นึกเถิดว่าฉันสะดุ้งปานใด” ตั้งแต่ครั้งนั้นเอง
ทำให้ประพันธ์เปลี่ยนทัศนคติใหม่ๆที่มีต่อสตรีไทย ทั้งยังเป็นห่วงเป็นใยเสียด้วยซ้ำ 
ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ดังที่กล่าวว่า “ ถ้าเมื่อไรผู้หญิงไทยที่ดีๆ พร้อมใจกันตั้งกติกา
ไม่ยอมเป็นเมียคนที่เลี้ยงผู้หญิงไว้อย่างเลี้ยงไก่เป็นฝูงๆเท่านั้นแหละ ผู้ชายที่มักมาก
จักต้องเปลี่ยนความคิด และความประพฤติ”

             ๒. แม่อุไร จากคำกล่าวของนายประพันธ์ที่ว่า “ขอบอกโดยย่อว่าหล่อน
เป็นผู้หญิงที่งามที่สุดที่ฉันเคยได้พบในกรุงสยาม หล่อนคล้ายผู้หญิงฝรั่งมากกว่า
ผู้หญิงไทย” เห็นได้ว่าบุคลิกดูเป็นคนมั่นใจในตัวเอง กล้าคิดกล้าพูดแบบคนตะวันตก
 แต่หากกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไปทำให้เห็นว่าคนเราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมกัน
ได้ตลอดเวลาตราบใดที่ยังไม่หมดลมหายใจ กิริยาดูหยาบกระด้าง ดูแคลน 
เห็นผิดเป็นชอบ ดังที่ว่า “เห็นว่าถ้าโกรธผัวได้ต่อหน้าคนเป็นเกียรติยศดี 
พูดจาต้องขู่ฟ่อๆ ราวกับแมวที่ดุเสมอ” และแสดงให้เห็นถึงกิริยามารยาทที่ไม่ใช่แบบแผน
ที่สุภาพเรียบร้อยของคนไทย “แม่อุไรเดินกระทืบตีนปังๆ ขึ้นไปถึงห้องรับแขก 
นั่งลงทำหน้ามู่ทู่ไม่พูดไม่จาอะไรเป็นครู่ใหญ่ๆ” อีกสิ่งหนึ่งคือ การที่ไม่รู้จักรักนวลสงวนตัว
 ยอมทอดกายให้ชายถึงสองคน คือ นายประพันธ์ ทำให้ท้องก่อนแต่ง และพระยาตระเวนนคร
 ที่มีนางบำเรออยู่แล้วถึง ๗ คน ทำให้ผิดหวังในความรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า

             ๓. พระยาตระเวนนคร เป็นคนเจ้าชู้ประเภท เสือผู้หญิง ดังที่นายประพันธ์กล่าวไว้ว่า
 “ถ้าเห็นผู้หญิงสวยๆ และมีคนตอมจะต้องพยายามให้ได้หญิงคนนั้นจนได้ แต่ได้แล้วมักจะเบื่อ”
 ทั้งยังมีปัญญาที่เฉลียวฉลาด จากการที่ ยังไม่ยอมตกลงเป็นผัวเมียโดยราชการกับแม่อุไร
 ทำให้ไม่ต้องคอยพาแม่อุไรไปออกงานสังคมมากนัก จึงมีโอกาสที่จะพบปะกับหญิงใหม่ๆ
 ได้ตลอดเวลา

             ๔. หลวงพิเศษผลพานิช เป็นพ่อค้าที่มั่งมี แต่มีความจริงใจ ดังคำที่ว่า
 “จริงอยู่หลวงพิเศษนั้นรูปร่างไม่ใช่เทวดาถอดรูป แต่หวังใจว่าคงจะเข้าลักษณะขุนช้าง 
คือ ถึงรูปชั่วใจช่วงเหมือนดวงเดือน” จึงนับว่าเป็นบุญของแม่อุไรที่ได้พบคนที่ดี


ข้อคิดคติธรรมที่ได้จากเรื่อง
         ๑. พฤติกรรมของนายประพันธ์เป็นพฤติกรรมที่เลียนแบบพฤติกรรมของปุถุชน
ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งความถูกต้องและผิดพลาด เปรียบเสมือนกับมนุษย์ที่สามารถ
ผิดพลาดได้ตลอดเวลา แต่อย่าลืมนำความผิดพลาดนั้นมาใช้ในการแก้ไขตนเอง 
และปรับทัศนคติที่ผิดอยู่ให้ดีขึ้น จนสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป
         ๒. อย่าหลงวัฒนธรรมตะวันตกจนลืมจิตสำนึกแห่งความเป็นไทย ควรเก็บสิ่งที่ดี
มาปฏิบัติ แล้วเก็บสิ่งที่ไม่ดีไว้เป็นอุทาหรณ์ ขณะเดียวกันก็อย่าดูถูกบ้านเกิดเมืองนอก
ว่าหัวโบราณ เก่าคร่ำครึ เพราะวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยนี้แลจึงสามารถจรรโลง
ประเทศให้อยู่ได้มาสืบทุกวันนี้
           ๓. การแต่งงานของหนุ่มสาวที่มาจากการชอบพอกันแค่เพียงเปลือกนอก 
ขาดการรู้จักและเข้าใจกันอย่างแท้จริงย่อมไม่ยั่งยืนและอับปางลงอย่างง่ายดาย
 เช่นกรณีของประพันธ์ และแม่อุไรที่รักเร็วใจเร็ว ทำให้ความรักนั้นจบลงในเวลาอันสั้น
           ๔. การใช้เสรีภาพในทางที่ผิดโดยปล่อยเนื้อปล่อยตัวจนกระทั่งพลาดพลั้ง
ชิงสุกก่อนห่ามจะต้องประสบชะตากรรมอันเลวร้าย ดังแม่อุไรที่ปล่อยตัวได้เสีย
กับประพันธ์ทำให้ไม่เป็นที่พอใจของผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย นำไปสู่การหย่าร้างกัน
วันข้างหน้า
          ๕. คนเราควรดำเนินชีวิตในทางยุติธรรม ดังเช่นประพันธ์ 
                      เขาไม่ชอบการใช้เส้นสาย แต่ไม่สามารถหางานได้ด้วยตนเอง 
จึงต้องยอมรับงานที่ผู้ใหญ่ฝากฝังให้ แต่ก็ได้ใช้ความสามารถของตนเองทำให้
มีความก้าวหน้าในราชการ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงบริบาลบรมศักดิ์
ในที่สุด

ประโยชน์และคุณค่าที่ได้รับจากเรื่อง

๑. คุณค่าด้านวรรณศิลป์
                มีการเริ่มต้นเรื่องได้อย่างหลงใหลและน่าติดตาม อีกทั้งการดำเนินเรื่อง
ก็ชวนให้ติดตามไปจนจบเรื่อง สำนวนภาษาในการเขียนจดหมายและการเลือกใช้คำทับศัพท์
ภาษาอังกฤษ รวมทั้งคำแสลงมากมายสอดคล้องกับลักษณะของประพันธ์ผู้ยังอยู่ในวัยหนุ่ม
และเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศใหม่ๆ นอกจากนั้นดดเนื้อความของจดหมายก็เป็นมุมมอง
หรือทัศนะที่ตรงไปตรงมาเหมือนจดหมายส่วนตัวทั่วๆ ไป กลวิธีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้
หัวใจชายหนุ่มมีความสมจริงเป็นอย่างยิ่ง และสามารถสื่อแนวคิดที่ต้องการนำเสนอได้
แจ่มแจ้งชัดเจน

๒. คุณค่าด้านเนื้อหา
              มีการสร้างตัวละครได้อย่างสมจริง แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของปุถุชนที่มี
ทั้งสิ่งที่ถูกต้องและผิดพลาด และมีทั้งความสมควรและไม่สมควร โดยมีลักษณะที่สมจริง
 สมเหตุสมผล โดยประพันธ์ถือเป็นคนที่มีแนวคิดสมัยใหม่ซึ่งบางครั้งตรงกันข้ามกับ
ความเป็นไทยที่เหมาะสม แต่ยังสามารถกลับตัวกลับใจมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
 จึงมีความสมบูรณ์ทั้งตัวละคร และเนื้อหาของตัวละครด้วย
คุณค่าด้านสังคม
               บทกวีย่อมสะท้อนสภาพสังคมของกวีตามมุมมองของกวี ซึ่งสามารถเข้าถึง
สังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งแตกต่างกับสังคมยุคปัจจุบันอย่างมาก ทั้งในด้านของ
การปกครองที่กล่าวไว้ในเรื่องว่า “ท่านว่าขายของได้ดีอย่างไรๆ ก็จะเป็นอะไรไม่ได้ 
นอกจากขุนนางกรมท่าซ้าย ทั้งกว่าจะได้เป็นหลวงก็อีกหลาย แล้วอาจจะเป็นหลวง
ตั้งแต่อายุ ๓๐ เมื่ออายุ ๔๕ จึงได้เป็นพระ แล้วก็ยังเป็นพระจนทุกวันนี้ 
และไม่แลเห็นทางที่จะเป็นพระยาด้วย” แสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองในอดีตกับปัจจุบัน
มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งสภาพจิตใจคนในสมัยต่างๆ ก็แตกต่างกันไปด้วย 
ทางที่ดีหากเราสามารถกระทำความดีได้ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใดก็ตาม ก็ควรหมั่น
ทำความดีไว้ เพราะแม้ตัวได้วายลง แต่ความดีมิได้วายตามไปด้วยอย่างแน่นอน
                                                    อ่านเพิ่มเติม


ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
        ๑. ประพันธ์ มีรสนิยมการใช้ชีวิตแบบคนไทย หรือแบบฝรั่ง ให้เขียนแสดง
แนวคิด  พร้อมเหตุผลสนับสนุน   
        ๒. ประพันธ์มีข้อบกพร่องใดบ้างที่ทำให้ชีวิตหักเห

กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑.  แต่งเพลงเล่าเรื่อง หัวใจชายหนุ่ม

สรรถนะที่ต้องการเน้น
       ๑. มีความสามารถในการคิด
       ๒. มีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต

กิจกรรมบูรณาการ   
        กลุ่มสาระการเรียนรู้พลศึกษา  เรื่อง การเลือกคู่ครอง

          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   แผนการจัดการเรียนรู้  ภาษาไทย  ชั้นม.๔
          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3497

อัพเดทล่าสุด