วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การเขียน จดหมาย ฝึกเขียนจดหมายส่วนตัว ไม่ต้องกลัวผิดซอง


1,660 ผู้ชม


ทักษะการเขียนจดหมายจึงเป็นทักษะที่สำคัญ ที่ต้องเรียนรู้ ทั้งรูปแบบ สำนวนภาษาและฝึกเขียนจดหมายให้เกิดทักษะ   

                     
                          ฝึกเขียนจดหมายส่วนตัว ไม่ต้องกลัวผิดซอง

เพลงจดหมายผิดซอง
       พี่แสนดีใจ ได้รับจดหมาย จากไปรษณีย์ จ่าหน้าซองถึงพี่ สอดซองสี นี้ไม่ใช่ใคร 
พี่จำแน่นอน ว่าบังอรส่งถึงพี่ชาย เปิดอ่านดูข้างใน ต๊ายตาย จดหมายผิดซอง 
        เนื้อความจดหมาย น้องเขียนบรรยาย ถึงชายคนอื่น บอกว่าทนขมขื่น 
พี่กล้ำพี่กลืน น้ำตาไหลนอง .........
       ซองนั้นเป็นของพี่ ซองนั้นเป็นของพี่ แต่จดหมายนี้ สิเป็นของใคร .......

                    ที่มา : https://www.nangdee.com
    จากเนื้อหาในบทเพลง จะเห็นว่า  แม้จะมีทักษะการเขียนดีอย่างไร  ถ้าผู้เขียน
ไม่ใส่ใจในทุกกระบวนการของจดหมาย  ก็อาจเกิดรอยร้าวได้ในชีวิต   ดังนั้น
ทักษะการเขียนจดหมายจึงเป็นทักษะที่สำคัญ  ที่ต้องเรียนรู้ ทั้งรูปแบบ สำนวนภาษา
ตลอดจนมารยาทในการเขียนจดหาย  และฝึกเขียนจดหมายให้เกิดทักษะ
               วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การเขียน จดหมาย ฝึกเขียนจดหมายส่วนตัว ไม่ต้องกลัวผิดซอง
                                ภาพจาก : https://www.thaicontractors.com

เรื่อง  การเขียนจดหมายส่วนตัว

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒, ๔

การเขียนจดหมาย

       การเขียนจดหมาย เป็นการสื่อสารชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นความเรียงที่มีรูปแบบ
โดยเฉพาะ ฉะนั้นสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการเขียนจดหมายคือ ผู้เขียนจะต้องเลือกใช้ถ้อยคำ
อย่างพิถีพิถันเช่น ใช้ถ้อยคำที่สั้น กระชับ ตรงตามวัตถุประสงค์ 
       นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงมารยาท ความสุภาพอ่อนน้อม ความเหมาะสม 
ตลอดจนกาลเทศะระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร  การเขียนจดหมายจะมีรูปแบบ 
       โดยทั่วไปจดหมายแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้
       ๑. จดหมายส่วนตัว ได้แก่จดหมายระหว่างบุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดต่อกัน 
เช่น พ่อ แม่ ลูก เครือญาติ เพื่อนสนิท 
       ๒. จดหมายกิจธุระ ได้แก่ จดหมายระหว่างเอกชนกับเอกชน อาจเป็นบุคคลใกล้ชิด
หรือบุคคลทั่วไปก็ได้ หรือระหว่างเอกชนกับองค์การเอกชน เช่น สมาคม ห้างร้าน 
หรือเกี่ยวกับธุระการงานที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต โดยที่ไม่เกี่ยวกับผลกำไร ขาดทุน
เช่น การลาหยุดเรียน หรือขอความช่วยเหลือ 
       ๓. จดหมายธุรกิจ ได้แก่ จดหมายระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือระหว่างเอกชนกับ
องค์การเอกชน ที่เกี่ยวกับการค้า การลงทุน มีการได้กำไรหรือขาดทุน เช่น การสั่งซื้อสินค้า
 การกู้ยืม การขายสินค้า 
       ๔. จดหมายราชการ ได้แก่ หนังสือที่ส่วนราชการมีถึงส่วนราชการด้วยกัน หรือ
ถึงเอกชน หรือองค์การเอกชนด้วยเรื่องราชการ

กลวิธีในการเขียนจดหมาย
           ๑. เขียนข้อความให้ชัดเจน ใช้ถ้อยคำสุภาพ กะทัดรัด สละสลวย ไม่อ้อมค้อม
 และต้องใช้ภาษาที่สำรวมมากกว่าภาษาพูด
           ๒. เขียนด้วยลายมือเรียบร้อย อ่านง่าย
           ๓. ใช้ภาษาถูกต้องตามลักษณะการใช้ภาษาและตามความนิยม
           ๔. เขียนถูกต้องตามแบบฟอร์มที่รับรองกัน
มารยาทในการเขียนจดหมาย
           ๑.ใช้กระดาษสีขาว  สีอ่อนหรือสีสุภาพเข้ากันกับซองไม่มีรอยยับหรือ
รอยฉีกขาดให้ได้มาตรฐานไม่ควรใช้กระดาษที่มีตราของทางราชการเขียนจดหมายส่วนตัว
           ๒. เขียนด้วยหมึกสีดำ สีน้ำเงิน ไม่ควรใช้ดินสอหรือหมึกแดง หมึกสีฉูดฉาด
เพราะไม่สุภาพ ต้องเขียนตัวอักษรหรือตัวเลขให้ชัดเจน ไม่ขูด ลบ ขีด ฆ่า หรือเขียนทับลงไป
           ๓. ไม่ใช้ซองที่มีลวดลายหรือสีเข้มมาก
           ๔. ไม่สอดธนบัตรหรือสิ่งของมีค่าลงในซองจดหมาย อาจหายได้
           ๕. ไม่บรรจุสิ่งของอื่นนอกจากจดหมายลงไปในซองจดหมาย เช่นกระดุม
           ๖. เมื่อได้รับจดหมายหรือไปรษณีย์ภัณฑืแล้ว ต้องรีบตอบโดยเร็วที่สุด
          ๗. จดหมายที่ส่งทางไปรษณีย์ ต้องผนึกดวงตราไปรษณียากรที่มุมบนด้านขวามือ 
ควรใช้ดวงตราไปรษณียากรให้น้อยที่สุด
          ๘. ผนึกดวงตราไปรษณียกากรให้ถูกต้องตามอัตราที่การสื่อสารกำหนดไว้
          ๙. ถ้าเขียนไปรษณีย์บัตร ควรใช้ถ้อยคำสั้น ๆ สุภาพเป็นข้อความที่เปิดเผยได้
          ๑๐. ไม่ใช้ภาษาพูดในการเขียนจดหมาย
          ๑๑. ควรเขียนคำนำหน้าชื่อผู้รับบนจ่าหน้าให้ถูกต้อง ตามความนิยมและความเหมาะสม 
เช่น คุณ นายแพทย์ 
อาจารย์ หรือยศทางทหาร
          ๑๒. ไม่ควรใช้ซองที่ประทับตราเมล์อากาศส่งทางไปรษณีย์ธรรมดา
          ๑๓. ไม่ควรเขียนจดหมายถึงผู้อื่นในทำนองกล่าวหาว่าร้ายโดยไม่ลงชื่อผู้เขียน(บัตรสนเท่ห์)
          ๑๔. ถ้าต้องการเขียนข้อความเพิ่มเติมหลังจากจบจดหมายแล้ว ต้องเขียนคำว่า
 ป.ล.(ปัจฉิมลิขิต) ก่อน
          ๑๕. เรียงลำดับเนื้อหาสาระให้เมาะสม ไม่กำกวม ถ้าเป็นจดหมายส่วนตัว
 ควรมีถ้อยคำที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันดี เช่น การถามทุกข์สุข
          ๑๖. ใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหลักภาษาและตามความนิยม คำนึงถึงความสุภาพ 
ถูกกาลเทศะ รวมทั้งใช้คำนำ สรรพนาม และคำลงท้าย ให้เหมาะสมกับฐานะ
 และความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนกับผู้รับ
                            วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การเขียน จดหมาย ฝึกเขียนจดหมายส่วนตัว ไม่ต้องกลัวผิดซอง
                                  ภาพจาก : https://se7endaydvd.tarad.com

การเขียนจดหมายส่วนประกอบของจดหมาย
          ๑. สถานที่เขียน ควรบอกให้ชัดเจนจากหน่วยย่อยไปหาหน่วยใหญ่ เช่น
                  ๑๒ หมู่ ๑ ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ๗๐๐๐๐
          ๒. วัน เดือน ปี ใช้แบบจดหมายราชการ ดังนี้
                  ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๗
          ๓. คำขึ้นต้น ใช้ให้เหมาะสมกับบุคคล
          ๔. ใจความหรือเนื้อความ ถ้ามีเรื่องจะต้องเขียนมากควรแบ่งเป็นตอน ๆ 
ถ้าจะเขียนเรื่องใหม่ก็ขึ้นบันทัดใหม่ ย่อหน้าไม่ควรเขียนติดต่อกันเพียงย่อหน้าเดียว
          ๕. คำลงท้าย ต้องใช้ให้สัมพันธ์กับคำขึ้นต้นและใช้ให้ถูกต้องตามฐานะของบุคคล
          ๖. ชื่อผู้เขียน ถ้าใช้ลายเซ็นต้องวงเล็บชื่อ นามสกุลไว้ใต้ลายเซ็นด้วยลายมือ
ที่อ่านง่ายชัดเจนหากมีตำแหน่ง  หน้าที่การงานหรือติดต่อในฐานะตำแหน่งนั้นก็ให้บอก
ตำแหน่งหน้าที่นั้นการวางรูปแบบของจดหมาย
       การวางรูปแบบของจดหมายควรจัดระยะให้พอเหมาะ เพื่อให้สวยงาม 
จึงควรเว้นริมที่ขอบกระดาษทั้งสองด้านไว้ประมาณ ๑ นิ้ว และวางส่วนอื่น ๆ ตามลำดับดังนี้

      ที่อยู่ หรือสถานที่เขียนจดหมาย    มุมบนขวามือห่างจากกลางหน้ากระดาษ ๑ นิ้ว
      วัน เดือน ปี                              กึ่งกลางหน้ากระดาษ
      คำขึ้นต้น                                 ห่างจากริมกระดาษทางด้านซ้ายมือ ๑ นิ้ว
      เนื้อความของจดหมาย                ย่อหน้าจากคำขึ้นต้น ๑ นิ้ว
      คำลงท้าย                                ตรงกับวันที่
      ชื่อผู้เขียน                                อยู่ใต้คำลงท้าย ถอยหลังไปประมาณ ครึ่งนิ้ว
      คำรับรองของผู้ปกครอง(ถ้ามี)      ตรงกับคำขึ้นต้น
      ชื่อผู้ปกครอง                           ตรงกับเนื้อความ

จดหมายส่วนตัว
       จดหมายส่วนตัว เป็นจดหมายที่ใช้ติดต่อระหว่างบุคคลที่สนิทสนมคุ้นเคยกัน 
หรือ จดหมายที่เขียนติดต่อกันเป็นส่วนตัวระหว่างญาติสนิทมิตรสหาย 
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการเขียน
จดหมายส่วนตัวมีวัตถุประสงค์เพื่อ
       ๑. เล่าเรื่องราวต่าง ๆ หรือสอบถามเรื่องราว
       ๒. ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบ หรือทุกข์สุขส่วนตัว
       ๓. เพื่อส่งข่าวคราว
       ๔. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สนใจ
       ๕. เพื่อแสดงไม่ตรีจิต หรือเพื่อขอบคุณ เป็นต้น

                                             อ่านเพิ่มเติม

ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน

คำชี้แจง   ให้นำเสนอแนวคิดอย่างหลากหลาย
       ๑. ทักษะ,ความรู้เรื่องการเขียนจดหมายมีประโยชน์อย่างไรในชีวิตประจำวัน

       ๒. หากนักเรียนจะเขียนจดหมายควรคำนึงถึงเรื่องใดบ้าง


กิจกรรมเสนอแนะ
       จัดประกวดการเขียนจดหมายโดยกำหนดเงื่อนไข
     ให้นักเรียนเขียนจดหมายถึงใครก็ได้ เพื่ออธิบายว่า "ทำไมเราต้องคุยกันเรื่องโรคเอดส์" 
      (บูรณาการระหว่างการเขียนจดหมายกับเรียงความ)


กิจกรรมบูรณาการ   
        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ  เรื่อง หลักธรรมในการเขียนจดหมาย
        กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เรื่อง การเขียนจดหมายถึงเพื่อน
        กลุ่มสาระการเรียนรู้พลศึกษาฯ เรื่องการดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลจากโรคเอดส์

 

ที่มา : เพลินพิศ  สุพพัตกุล  แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ท๓๑๑๐๑
ที่มา : เพลินพิศ   สุพพัตกุล คู่มือการสอนวิชาภาษาไทย  ท๓๑๑๐๑

ขอบคุณ : https://www.yorwor2.ac.th
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2065

อัพเดทล่าสุด