วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การพูด การใช้ภาษา การแสดงทรรศนะ : คืนความปกติสุขเพื่อส่วนรวม


1,544 ผู้ชม


แสดงทรรศนะอาจมีเนื้อความสนับสนุนหรือขัดแย้งบ้าง ผู้บริโภคข่าว ต้องใช้วิจารณญาณ   

           วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การพูด การใช้ภาษา การแสดงทรรศนะ : คืนความปกติสุขเพื่อส่วนรวม

                                 ภาพจาก : https://www.bangkokbiznews.com

                                          คืนความปกติสุขเพื่อส่วนรวม

       ในที่สุดรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ตัดสินใจใช้ไม้แข็งจัดการกับแกนนำ
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ “คนเสื้อแดง” 
ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร 
จังหวัดนนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.พระสมุทรเจดีย์ 
อ.บางบ่อ และ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก 
อ.ลำลูกกา  และ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม อ.วังน้อย
อ.บางปะอิน อ.บางไทร และ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๗
เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓   หลังจาก “คนเสื้อแดง” ได้ระดมพลบุกยึดพื้นที่ต่าง ๆ 
ก่อความไม่สงบเรียบร้อย  นับตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคมที่ผ่านมา
    
       สำหรับเหตุผลการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงครั้งนี้ 
นายกรัฐมนตรีได้แสดงความคาดหวังที่จะใช้เป็นเครื่องมือ  ให้รัฐบาลได้ทำงาน
อย่างมีประสิทธิภาพและแก้ไขสถานการณ์ เพื่อคืนความปกติสุขในกรุงเทพมหานคร 
พร้อมกันนี้ยังเป็นการระงับยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นการส่งเสริม 
สร้างความแตกแยก และยุยงให้มีการทำผิดกฎหมาย รวมถึงใช้ดำเนินคดีกับแกนนำ
ผู้ชุมนุมตามกระบวนการยุติธรรม และเป็นการระงับการก่อวินาศกรรมหรือเหตุวุ่นวาย
ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรัฐบาลไม่ได้ปราบปรามผู้ชุมนุมหรือทำร้าย
ประชาชนผู้บริสุทธิ์   แต่จะทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์   และใช้ทุกวิถีทาง
ตามกฎหมาย     เพื่อคืนความเป็นปกติสุขให้กับประชาชนส่วนรวม

         จริงอยู่แม้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อมุ่งหวังคืนความปกติสุข
และความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชน ส่วนรวม แต่หากมีการใช้กำลังเข้าสลาย
การชุมนุมก็เชื่อได้ว่า เป้าประสงค์ที่วางไว้ต้องมลายสูญสิ้น และประการสำคัญ
กลับจะทำให้ปัญหาความขัดแย้งบานปลายมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นหนทางยุติปัญหาที่ดีที่สุด
เราขอยืนยันและเรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลและ นปช.ยอมเสียสละ ลดทิฐิ ละอคติ 
หันหน้าเข้าหากัน “ตั้งโต๊ะเจรจา” เพื่อยุติปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว.

                ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์   วันพฤหัสบดี ที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ เวลา ๗:๑๔ น.
   
             
จากสถานการณ์ความไม่สงบ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก ทำให้มีผู้รู้
หลายคนที่จะแสดงความคิดเห็น  หรือแสดงทรรศนะอาจมีเนื้อความสนับสนุน
หรือขัดแย้งบ้าง  ผู้บริโภคข่าว ต้องระมัดระวัง โดยใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ
เชื่อ หรือปฏิเสธ อย่างสันติ


ประเด็นการศึกษา    การแสดงทรรศนะ
ประกอบการสอนเรื่อง   การแสดเขียนแสดงทรรศนะ
สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔,๕,๖

เรื่อง  การเขียนแสดงทรรศนะ

           ทรรศนะ หรือ ทัศนะ  หมายถึง  ความคิดเห็นที่ประกอบด้วยเหตุผล  ซึ่งแม้จะแตกต่าง

หรือขัดแย้งกันก็นับว่ามีประโยชน์  เพราะจะเป็นแนวทางให้ผู้อื่นได้มีโอกาสใช้ดุลพินิจตัดสินใจ

เลือกวิถีทางแก้ปัญหาได้หลายทางด้วยความสุขุมรอบคอบขึ้น


โครงสร้างของการแสดงทรรศนะ

           ๑. ที่มา  หมายถึง  เหตุที่ทำให้เกิดการแสดงทรรศนะ

           ๒. ข้อสนับสนุน  หมายถึงเหตุผล  ซึ่งอาจจะเป็นข้อเท็จจริง  หลักการ  ทรรศนะหรือ

มติของผู้อื่นที่นำมาสนับสนุน

           ๓. ข้อสรุป  อาจจะเป็นข้อเสนอแนะ  ข้อวินิจฉัย  ข้อสันนิษฐาน  การประเมินค่า


ประเภทของทรรศนะ

           ๑. ทรรศนะเกี่ยวกับข้อเท็จจริง  เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง 

การแสดงทรรศนะประเภทนี้มักเป็นเพียงการสันนิษฐาน  จะน่าเชื่อถือเพียงใดขึ้นอยู่กับ
ข้อสนับสนุน

           ๒. ทรรศนะเกี่ยวกับคุณค่าหรือค่านิยม  ประเมินว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอย่างไร

           ๓. ทรรศนะเกี่ยวกับนโยบาย  บ่งชี้ว่าควรจะทำอย่างไร  ทำอะไรต่อไปหรือควรแก้ไข

ปรับปรุงสิ่งใดไปในทางใด  อย่างไร


วิธีใช้ภาษาในการแสดงทรรศนะ

           ต้องใช้ถ้อยคำกะทัดรัด  มีความหมายแจ่มชัด  ไม่วกวน  
ภาษาที่ใช้แสดงทรรศนะที่ควรสังเกตคือ

           ๑. การใช้คำสรรพนามบุรุษที่ ๑  ประกอบคำกริยาหรือกลุ่มคำกริยาที่ชี้ชัดว่า
เป็นการแสดงทรรศนะ   เช่น   “ดิฉันขอสรุปว่า....“    “ข้าพเจ้าขอเสนอแนะว่า....“  เป็นต้น

           ๒. การใช้คำหรือกลุ่มคำที่ชี้ชัดว่าเป็นการแสดงทรรศนะ  เช่น  คง  ควร   พึง  คงจะ 
ควรจะ  น่าจะ   เป็นต้น

           การใช้ภาษานับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการแสดงทรรศนะ 

หากใช้ผิดจะทำให้ผู้รับสารเข้าใจว่าสารที่ส่งนั้นไม่ใช่ทรรศนะ  เป็นการเสนอข้อเท็จจริง  
หรือเป็นการ   บอกกล่าวเท่านั้น  การใช้ภาษาจึงควรมีความแจ่มแจ้งชัดเจน  ตรงตาม
จุดประสงค์ที่ต้องการและเหมาะสมกับระดับการสื่อสาร

     ตัวอย่างการแสดงทรรศนะ

 
         เกริ่นเรื่อง: เผชิญหน้าความรุนแรงในการ์ตูนญี่ปุ่น(หัวข้อการบ้านภาษาไทย)
        
         การแสดงทรรศนะ    เรื่อง เผชิญหน้าความรุนแรงในการ์ตูนญี่ปุ่น

         ข้อมูล

                สืบเนื่องมาจากการที่ในรอบหนึ่งปีหรือสองปีที่ผ่านมานั้น การ์ตูนญี่ปุ่นได้ตกเป็น
ข้อหาในหน้าหนังสือพิมพ์กระทั่งรายการทีวีอยู่หลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่เรื่องโฆษณา
มอมเมาเยาวชน เซ็กส์ ปลูกฝังความรุนแรง ฯลฯ ซึ่งทำให้การ์ตูนญี่ปุ่น ได้ถูกหยิบยก
ให้กลายเป็นเหยื่อรับบาปทางสังคมอีกครั้ง และดูท่าทางสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นเรื่อย 
ในกาลนี้ ทางนิตยสาร Animag จึงมีความต้องการที่จะทำ Animag ฉบับ "เผชิญหน้า
ความรุนแรงในการ์ตูนญี่ปุ่น" ขึ้นมา

เพื่ออยากแลกเปลี่ยนทรรศนะความคิดเห็นกับกลุ่มผู้อ่านในวงกว้าง และสร้างความเข้าใจ
เกี่ยวกับสถานการณ์การ์ตูนในปัจจุบันให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบมากขึ้น 

                        (ที่มา Animag ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๗ อนิเมชั่นแมกกาซีน)

การแสดงทรรศนะของข้าพเจ้า

            ข้าพเจ้าคิดว่า การ์ตูนญี่ปุ่นนั้นไม่ได้สร้างความรุนแรงขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำไปใช้
ในทางไหน การ์ตูนญี่ปุ่นเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่ช่วยปลูกฝังความคิดให้กับเด็ก มีทั้งความคิด
ในแง่ดีและแง่ลบ อย่างเช่นการ์ตูนที่เกี่ยวกับสงครามนั้นไม่ได้สื่อออกมาว่าอยากให้เด็ก
ชอบสงคราม ชอบความรุนแรง ชอบการต่อสู้ แต่สื่อว่าสงครามเป็นสิ่งไม่ดีเป็นสิ่งที่
ไม่ควรเกิดและถ้าเกิดจะส่งผลเสียอย่างไร แต่เหตุผลเหล่านี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน
ว่าคิดอย่างไร ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีทั้งคนที่เห็นว่าการ์ตูนญี่ปุ่นนั้นสร้างความรุนแรงและ
ไม่สร้างความรุนแรง จึงได้เกิดข้อทบเถียงกันเป็นวงกว้างในบรรดานักอ่าน  ข้าพเจ้า
มีข้อคิดที่อยากให้ไว้ คือ อย่าตัดสินทุกอย่างเพียงแค่ตาเห็น แต่ต้องตัดสินทุกอย่าง
ดัวยเหตุผล

                                          ที่มา : https://my.dek-d.com
   

                                                ศึกษาเพิ่มเติมที่นี่


ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน

       ๑.  หากจะแสดงทรรศนะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้แสดงทรรศนะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นในด้านใดบ้าง

       ๒. การอ่าน และการฟัง การดู และการเขียน  มีความสำคัญต่อการแสดงทรรศนะอย่างไรบ้าง

ให้แสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย

 

กิจกรรมเสนอแนะ
       ให้เขียน,พูดแสดงทรรศนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการติดเกมของเยาวชนไทยในปัจจุบัน
        
 


กิจกรรมบูรณาการ   
        กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องการใช้เหตุผล
        กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น

 

ที่มา : เพลินพิศ  สุพพัตกุล  แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ท๓๑๑๐๒
ที่มา : เพลินพิศ   สุพพัตกุล คู่มือการสอนวิชาภาษาไทย  ท๓๑๑๐๒
ขอบคุณ: https://www.jd.in.th

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2088

อัพเดทล่าสุด