ไม่มีใครได้ทุกอย่างที่ตนอยากได้ ไม่มีใครที่ได้อยู่ในที่ที่ตนอยากอยู่เสมอไป แต่เมื่อเราจำเป็นต้องอยู่ ก็ต้องอยู่ให้ได้ คิดเสียว่าสมหวัง-ผิดหวัง-มิตร-ศัตรู เป็นเรื่องธรรมดาโลก
ต้น/ดอก/ผลสาละ ถ่ายที่วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จ.อุบลฯ
จุดที่ฉันต้องยืน
ฉันนั่งอยู่ในห้องที่ว่างเปล่า
คิดเรื่องราวคับใจต้องทนฝืน
ทั้งทุกข์ระกำใจมันเต็มกลืน
แต่แกล้งยืนยิ้มแฉ่งแข่งทุกคน
พบแต่ความว่างเปล่าเคล้าชีวิต
จุดแรงจิตดับวูบไปทุกหน
มีแต่ความผิดหวังไว้ให้ยล
แพ้พาลชนแทบล้มประดาตาย
ยากจะหาความจริงใจในที่นี้
ไม่มีพี่มีน้องมิตรสหาย
มีแต่ความเลวระยำจ้องทำลาย
เราจึงพ่ายจึงแพ้แก่พวกมัน
คิดถึงบ้านจากมาน้ำตาตก
ไฟนรกเผาไหม้ในใจฉัน
คิดถึงญาติพี่น้องต้องจาบัลย์
ใครทำฉันก็ตัวฉันทำฉันเอง
นั่งขีดเขียนกลอนเพลงบรรเลงป่า
แทนวาจาแทนคำพูดแทนทุกข์เข็ญ
กลั่นออกจากหัวใจทุกประเด็น
ผสมเป็นม่านฝันและควันไฟ
ประพันธ์โดย....ครูตังเม
๓๐ กันยายน ๒๕๒๙
เนื้อหาสาระสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑
สาระที่ ๔ หลักภาษาและการใช้ภาษา
มาตรฐานการเรียนรู้ ท ๔.๑ ตัวชี้วัดที่ ๑.๕
เรื่อง กลอนสุภาพ
ลักษณะข้อบังคับของกลอนสุภาพ
กลอนสุภาพเป็นคำประพันธ์ที่มีการกำหนดคณะ บังคับสัมผัสและมีการกำหนดเสียงของพยางค์ท้ายวรรคด้วย คนไทยรู้จักกลอนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ก. คณะ กลอนสุภาพ ๑ บทมี ๒ คำกลอน ๔ วรรค วรรคที่ ๑ เรียกว่าวรรคสดับ,สลับ วรรคที่ ๒ เรียกว่า วรรครับ วรรคที่ ๓ เรียกว่า วรรครอง วรรคที่ ๔ เรียกว่า วรรคส่ง กลอนแต่ละวรรค
ข. พยางค์ ในกลอนวรรคหนึ่งๆจะมีจำนวนคำได้ตั้งแต่ ๗-๙ คำ โดยมากนิยม ๘ คำ
ค. สัมผัส สัมผัสตามแผนภูมิข้างล่างนี้
แผนภูมิกลอนสุภาพ
(แผนผังจาก: oknation.net/blog/home/)
สัมผัส ในกลอนสุภาพ มี ๒ ชนิด คือ สัมผัสใน และสัมผัสนอก
สัมผัสใน หมายถึงสัมผัสภายในวรรค มี ๒ ชนิด ได้แก่
๑) สัมผัสสระ คือคำที่มีเสียงสระเดียวกัน
๒) สัมผัสอักษร คือคำที่มีเสียงอักษรเสียงเดียวกัน
สัมผัสนอก หมายถึง สัมผัสระหว่างวรรคและสัมผัสระหว่างบท จะเป็นสัมผัสสระ
ง. เสียงวรรณยุกต์ มีข้อบังคับการใช้เสียงวรรณยุกต์ดังนี้
๑) คำสุดท้ายวรรคสลับใช้ได้ทุกเสียงแต่ไม่นิยมเสียงสามัญ
๒) คำสุดท้ายวรรครับ ห้ามใช้เสียงสามัญ ไม่นิยมเสียงตรี นิยมใช้เสียงจัตวามากที่สุด
๓) คำสุดท้ายวรรครอง ห้ามใช้เสียงวรรณยุกต์ที่เป็นเสียงเดียวกันกับวรรครับ ห้ามใช้เสียงจัตวา นิยมเสียงสามัญ
๔) คำสุดท้ายวรรค ห้ามใช้เสียงจัตวา แต่นิยมเสียงสามัญมากที่สุด
ตัวอย่าง
ถึงบางบอนย้อนคิดถึงเรื่องเก่า โบราณเล่าว่าบอนซ่อนไม่ได้
มันคันยิบคันยับจับหัวใจ ถ้าพูดออกบอกได้ก็หายคัน
รู้อะไรนิ่งอั้นมันคันปาก ให้นึกอยากพูดยิ่งทุกสิ่งสรรพ์
ขยายออกบอกใครได้ทุกวัน หายอัดอั้นคันปากเพราะอยากบอน
(จากนิราศภูเขาทอง..ของสุนทรภู่)
กิจกรรมการเรียนการสอน
๑. นักเรียนอ่านลักษณะข้อบังคับของกลอนสุภาพ
๒. นักเรียนจับคู่สรุปลักษณะข้อบังคับของกลอนสุภาพ
๓. นักเรียนทำแบบทดสอบ
๔. ครูและนักเรียนช่วยกันเฉลยแบบทดสอบ
๕. นักเรียนอ่านบทกลอน เรื่อง จุดที่ฉันต้องยืน
แบบทดสอบ
๑. กลอนสุภาพ ๑ บท มี กี่วรรค
ก. ๑ วรรค ข. ๒ วรรค ค. ๓ วรรค ง. ๔ วรรค
๒. กลอนสุภาพ ๔ คำกลอนมีกี่วรรค
ก. ๒ วรรค ข. ๔ วรรค ค. ๖ วรรค ง. ๘ วรรค
๓. กลอนสุภาพ ๑ บท มีกี่คำ
ก. ๗-๘ ตำ ข. ๗-๙ คำ ค. ๗-๑๐ คำ ง. ๘-๑๐ คำ
๔. ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้องเกี่ยวกับกลอนสุภาพ
ก. กลอนสุภาพบังคับสัมผัส
ข. กลอนสุภาพ ๑ บท มี ๔ คำกลอน
ค. สัมผัสในประกอบด้วยสัมผัสสระและสัมผัสอักษร
ง. กลอนสุภาพ ๑ บท มี ๔ วรรค ได้แก่ วรรคสลับ วรรครับ วรรครอง วรรคส่ง
๕. คำสุดท้ายของวรรคส่งของกลอนสุภาพจะส่งสัมผัสไปยังวรรคใด
ก. วรรคสลับของบทต่อไป ข. วรรครับของบทต่อไป
ค. วรรครองของบทต่อไป ข. วรรคส่งของบทต่อไป
กิจกรรมเสนอแนะ
ให้นักเรียนไปฝึกแต่งกลอนสุภาพ สะท้อนสภาพสังคมปัจจุบันความความคิดเห็นของนักเรียน โดยตั้งชื่อเรื่องเอง ความยาว ๓ บท
การบูรณาการ
บูรณาการได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยใช้กลอนสุภาพเป็นสื่อในการนำเข้าสู่บทเรียน สรุปเนื้อหา สอดแทรกเนื้อหา
แหล่งอ้างอิง
กำชัย ทองหล่อ. หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๗ . กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น ,
๒๕๓๐.
พรทิพย์ แฟงสุด. คู่มือภาษาไทย ม. ๔-๕-๖ (ฉบับรวมเล่ม). กรุงเทพฯ : ฟิสิกส์เซ็นเตอร์ ,
๒๕๔๓.
ศิริวรรณ ฉายะเกษตริน และคณะ. หนังสือเรียนชุดพัฒนาทักษะกระบวนการ ท ๓๐๖ ภาษาไทย .
กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช , ๒๕๓๖.
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2066