วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การพูด การเขียน การใช้ภาษา เรียบเรียงถ้อยคำ...งามล้ำภาษาไทย


850 ผู้ชม


การเขียนเรียงความเป็นการเขียนที่ผู้เขียนสะท้อนความรู้ความคิด และมุมมอง ผู้ที่เขียนได้ดี มักประสบความสำเร็จ   

                                       เรียบเรียงถ้อยคำ...งามล้ำภาษาไทย

                   วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การพูด การเขียน การใช้ภาษา เรียบเรียงถ้อยคำ...งามล้ำภาษาไทย

                          ภาพจาก :  https://web.chiangrai.net/chiangrai1
       
          บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร(มหาชน) ร่วมกับ  สพฐ.  บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย    บริษัท อินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด(มหาชน)   บริษัท โพสต์พับ
ลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน)   กลุ่มบริษัท มหพันธ์ผลิตภัณฑ์เชอร่าและห้าห่วง   บริษัทประ-กันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด(มหาชน) และมูลนิธิ ดร.เทียม  โชควัฒนา  ได้จัดประกวดเขียนเรียงความโครงการล้านความรู้ในตู้หนังสือ  เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนไทยมีนิสัยรักการอ่านและส่งเสริมให้อนุรักษ์ภาษาไทย  รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และนำประโยชน์ที่ได้จากการอ่านหนังสือมาช่วยพัฒนาชุมชน  ซึ่งทำให้เยาวชนได้มีการพัฒนาทักษะในการอ่านและการเขียน  รวมถึงการใช้ไวยกรณ์ให้ถูกต้องตามหลักภาษาศาสตร์


                                 ที่มา : https://school.obec.go.th/sarit

             จากข่าว ข้างต้นจะเห็นว่าทักษะการเขียนเป็นทักษะสำคัญในการสื่อสาร  การเขียนเรียงความเป็นการเขียนที่ผู้เขียนสะท้อนความรู้ความคิด และมุมมอง  ผู้ที่จะเขียนได้ดีนั้น ต้องเป็นนักอ่าน  มีนิสัยรักการอ่าน อย่างอยู่เสมอเมื่อมีความรู้ความคิด  งานเขียนจึงเกิดขึ้น  ผู้ที่เขียนได้ดี  จะต้องเกิดจากการฝึกอยู่เป็นประจำ  การอ่าน การเขียนจึงเป็นเรื่องที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ  การเรียบเรียงถ้อยคำเป็นเรื่องราว นอกจากจะนำความสำเร็จมาสู่ตนแล้ว 
ยังถือว่าผู้เขียนได้อนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของคนไทยอีกด้วย

 ประเด็นการเรียนรู้ การเขียนเรียงความ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ระดับชั้นมัธยมศึกษา

          การเขียนเรียงความ เป็นการเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นข้อความเพื่อแสดงความคิด 
ความรู้สึก และความเข้าใจของเราให้ผู้อื่นทราบ

รูปแบบของการเขียนเรียงความ

๑. การเขียนคำนำ เป็นการเริ่มเรื่องให้ผู้อ่านรู้ว่า เนื้อหาที่จะอ่านต่อไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร 
การเริ่มเรื่องเป็นตอนสำคัญที่จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าอ่านหรือไม่ 
ดังนั้นจึงมีวิธีการที่จะเร้าความสนใจของผู้อ่านได้หลายทาง และทั้งนี้ต้องให้สอดคล้อง
กับเนื้อเรื่องและไม่ควรให้ยาวเกินไป

๒. เนื้อเรื่อง หมายถึง เนื้อความซึ่งเป็นสาระสำคัญของเรียงความ การจะเขียนเนื้อเรื่องได้ดี
ต้องมีการวางโครงเรื่องเสียก่อน เพื่อช่วยให้เนื้อเรื่องเป็นไปตามลำดับ ไม่สับสนและ
มีความเกี่ยวเนื่องกันไปจนจบ

๓. การสรุปเรื่องหรือการลงท้าย การสรุปเรื่องหรือการลงท้ายช่วยให้ผู้อ่านทราบว่าเรื่องนี้จบแล้ว 
ไม่ใช่ทิ้งค้างไว้เฉยๆ ทำให้เกิดความสงสัยไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จบแล้วหรือยัง 
การสรุปไม่ใช่การย่อเรื่องทั้งหมด แต่การสรุปเรื่องหรือการปิดเรื่องที่ดี 
ต้องสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน อาจปิดเรื่องด้วยข้อคิดที่คมคายหรือคำประพันธ์สั้นๆก็ได้

ลักษณะสำคัญของเรียงความ

เรียงความที่ดีต้องประกับด้วยลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ

๑. เอกภาพ ได้แก่ ความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน เรียงความเรื่องหนึ่งๆ 
จะต้องมีใจความและความมุ่งหมายสำคัญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
 เรื่องที่นำมาเขียนจะต้องเกี่ยวข้องสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกันหรือช่วยเสริมให้เรื่องเด่นชัดขึ้น
 เรียงความที่ขาดเอกภาพ คือ เรียงความที่มีเรื่องต่างๆปนกันบางเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเดิมก็มี

๒. สัมพันธภาพ คือ การเชื่อมโยงข้อความต่างๆ ให้เป็นไปตามลำดับ
 มีเหตุมีผลรับกัน เรียงความที่มีสัมพันธภาพจะต้องมีเนื้อเรื่องเกี่ยวเนี่องกันไปเหมือนลูกโซ่
 เนื้อความต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ

๓. สารัตถภาพ คือ การเน้นใจความที่สำคัญให้เด่นชัดขึ้นมา 
ส่วนที่เป็นพลความจะต้องเป็นพลความที่ช่วยสนับสนุนใจความสำคัญนั้น
 ถ้าเรียงความมีพลความมากเกินไปเรียกว่าขาดสารรัตถภาพ

ลักษณะเรียงความที่ดี

๑. รูปแบบหรือสัดส่วนของเรียงความ จัดได้เหมาะสม วางคำนำ เนื้อเรื่อง สรุปได้ถูกต้องน่าอ่าน

๒. เนื้อเรื่องมีแนวคิดตรงประเด็น ให้ความคิดแปลกใหม่ อ้างเหตุผลถูกต้อง ขยายความได้แจ่มแจ้งชัดเจน

๓. ความสะอาดและความเป็นระเบียบ ลายมือต้องอ่านง่าย เว้นวรรคถูกต้อง

๔. การใช้ภาษา คำนึงถึงข้อต่อไปนี้ - ใช้คำกะทัดรัด เข้าใจง่าย มีความหมายชัดเจน -
 ใช้คำถูกต้องตรงความหมาย และเหมาะสมกับเรื่อง - ไม่ใช้ภาษาพูด ภาษาถิ่น 
หรือคำสแลง 
- ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย - ไม่ใช้ศัพท์บัญญัติหรือศัพท์ทางวิชาการที่ไม่รู้จักกันดี - 
ไม่ใช้สำนวนภาษาต่างประเทศ - ไม่ใช้คำย่อ - ไม่ใช้คำแบบภาษาโฆษณา 
รือภาษาหนังสือพิมพ์

การใช้โวหารในการเขียนเรียงความ

๑. เทศนาโวหาร ใช้ในการเขียนแนวเชิงแนะนำสั่งสอน อธิบายแนวคิดเหตุผลชี้ให้เห็นคุณ
และโทษ เป็นโวหารเชิงอภิปรายชักจูงให้ผู้อ่านเชื่อหรือคล้อยตามได้

๒. บรรยายโวหาร เป็นโวหารที่ใช้การเล่าเรื่องตามที่ได้รู้ได้เห็นมา 
โวหารแบบนี้มักใช้ในการเขียนบทความ นิทาน นิยาย ประวัติ ตำนาน เป็นต้น

๓. พรรณนาโวหาร เป็นโวหารที่ใช้ในการบรรยายเรื่องราวอย่างละเอียดและประณีต 
นอกจากจะได้ความรู้ยังทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์และความรู้สึก เกิดจินตนาการและ
ความซาบซึ้งใจ โวหารแบบนี้มักใช้พรรณนาสภาพของสถานที่ บุคคล เกียรติคุณความดี
เป็นต้น

๔. อุปมาโวหาร คือ โวหารเปรียบเทียบเพื่อให้ผู้อ่านเกิดภาพพจน์ มักใช้แทรกอยู่ในโวหารอื่นๆ

๕. สาธกโวหาร คือ โวหารหรือกระบวนความที่ยกตัวอย่างประกอบ อาจจะเริ่มต้น
ด้วยบรรยายโวหาร 
    หรือเทศนาโวหาร แล้วยกตัวอย่างขึ้นประกอบ เช่น เขียนเรื่องสามัคคี 
    ผู้เขียนอาจยกนิทานมาประกอบเรื่องก็ได้ เป็นต้น การเขียนเรียงความจากจินตนาการ จินตนาการ 
    คือ ความคิดคำนึงถึงที่เกิดขึ้นในจิตใจ อาจจะเป็นการวาดภาพขึ้นมาตามความคิดฝันหรือ
    ความคิดคำนึงนั้นอาจจะมาจากประสบการณ์ แล้วสร้างภาพใหม่ให้กว้างและวิจิตรบรรจงกว่า
    ประสบการณ์เดิม การเขียนเรียงความจากจินตนาการ จะต้องอาศัยศิลปะเฉพาะตัวของผู้เขียน
    และได้รับการฝึกฝนอยู่เสมอ

แนวทางการฝึกเขียน

๑. ฝึกสืบค้นข้อมูล  เรื่องที่จะเขียนเรียงความ
๒. เริ่มฝึกเขียนเรียงความจากเรื่องใกล้ตัว  หรือ เรื่องที่เรามีความรู้ก่อน
๓. ก่อนลงมือเขียนควรทำใจให้สบายไม่กังวล เริ่มหาภาพที่มโนภาพของเราจะชักจูงให้คิด
๔. คิดสร้างภาพและพยายามถ่ายทอดเป็นการเขียน
๕. เลือกเฟ้นถ้อยคำที่จะเขียน สามารถสื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจได้ตามความต้องการ

ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
คำชี้แจง   ให้นำเสนอแนวคิดอย่างหลากหลาย
       ๑.  การจะเขียนเรียงความได้นั้นผู้เขียนต้องมีทักษะใดบ้าง  เพื่ออะไร
       ๒. หากนักเรียนจะต้องเขียนเรียงความเรื่องเกี่ยวกับดอกบัว  โดยให้นักเรียนตั้งชื่อเรื่องเอง
นักเรียนจะตั้งชื่อว่าอะไร  และจะสืบค้นความรู้จากที่ใดได้บ้าง


กิจกรรมเสนอแนะ
       จัดประกวดการเขียนเรียงความ
 


กิจกรรมบูรณาการ   
        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ  เรื่อง หลักธรรมในการเขียนหนังสือ
        กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เรื่อง การเขียน

 

ที่มา : เพลินพิศ  สุพพัตกุล  แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ท๓๑๑๐๒
ที่มา : เพลินพิศ   สุพพัตกุล คู่มือการสอนวิชาภาษาไทย  ท๓๑๑๐๒
ขอบคุณ : https://kokai.awardspace.com

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2068

อัพเดทล่าสุด