วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน การใช้ภาษาไทย ออกเสียงให้ถูก ปลูกฝังวัฒนธรรม


1,116 ผู้ชม


สิ่งสำคัญที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนชื่อ คือการออกเสียงให้ถูกต้อง   


 ออกเสียงให้ถูก....ปลูกฝังวัฒนธรรม


                         ฮือฮา-ดันเปลี่ยน ชื่อตัวเหี้ย เพราะพริ้ง"วรนุช"
                       แก้ปัญหาคำด่า ชี้อิงชื่อ"ละติน" "นุ่น"เผยไม่แคร์
 
                     วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน การใช้ภาษาไทย ออกเสียงให้ถูก ปลูกฝังวัฒนธรรม
                                ภาพจาก : https://new.goosiam.com

            วรนุช- กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีแนวคิดจะเปลี่ยนชื่อ "ตัวเงินตัวทอง"
หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "Varanus salvator" เป็น "วรนุส" ออกเสียงแบบไทยๆ 
ว่า "วรนุช" เพื่อให้ไพเราะขึ้น ขณะที่นางเอกสาว "นุ่น วรนุช" แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ด้วย
         บิ๊กกรมอุทยานฯผลัก ดันเอง ควรเปลี่ยนชื่อ "ตัวเหี้ย"ให้กลายเป็นชื่อหรูหราไพเราะ "วรนุช" 
หรือ "วรนุส" แทน เพี้ยนมาจากชื่อวิทยาศาสตร์ "วรานุส ซัลวาเตอร์" ชี้คนจะเลิกเอาชื่อตัวเหี้ย  
ไปเป็นคำด่ากันอีก 
         ทางด้านนางเอกสาว"นุ่น-วรนุช"เผยไม่รู้สึกเกี่ยวข้องอะไรกับชื่อนี้ ชี้รากศัพท์เดิมจริงๆ 
เป็น"วารานัส"   ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่ "วรนุช" อยู่แล้ว

                  ที่มา :  หนังสือพิมพ์ข่าวสด  วันที่  ๒ กรกฎาคม พ.ศ.  ๒๕๕๒

       การเปลี่ยนชื่อ เป็นวิธีแก้ปัญหาความรู้สึกได้วิธีหนึ่ง   บางครั้งก็เพื่อความสบายใจ  
เพื่อให้เจ้าของชื่อ  เกิดความมั่นใจ  สุขใจ เมื่อใจเป็นสุข ทำอะไรก็ราบรื่น   ก็พูดได้ว่า 
ชื่อนั้นเป็นสิริมงคล
      แต่ก็มีหลายครั้งที่เปลี่ยนชื่อเรียก    เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ดีกว่า  เช่น 
           จากแห้ว       ก็เรียก     สมหวัง   
           จาก "เหี้ย"    ก็เปลี่ยนใหม่เป็น    "วารานัส" หรือ วรนุส   
     หากจะดูที่เจตนาแล้ว     ก็จะเห็นว่า จุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนจาก"เหี้ย" ก็มาเป็นวารานัส" หรือ วรนุส  เพื่อต้องการสร้างวัฒนธรรมที่ดี นั่นเอง

       ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อเป็นอะไร  สิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง
คือการออกเสียง  ทั้งการออกเสียงพยัญชนะ  สระ  วรรณยุกต์  มีอิทธิพลต่อการใช้คำ
ในภาษาไทยทั้งสิ้น

ประเด็นการศึกษา  การออกเสียงคำ  ตอน  การออกเสียงพยัญชนะ

เนื้อหาสำหรับ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔


การออกเสียงพยัญชนะ
        การออกเสียงพยัญชนะมักจะออกเสียงไม่ค่อยถูกทั้งเสียงพยัญชนะต้นที่เป็น
พยัญชนะเดี่ยวและพยัญชนะควบกล้ำ นอกจากนี้การออกเสียงสระวรรณยุกต์และเสียงหนัก
เบาก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะมักจะออกเสียงไม่ถูกต้อง   ทำให้การสื่อความหมายมีปัญหาได้ 
การออกเสียงพยัญชนะ   สระ  วรรณยุกต์ และเสียงหนักเบาขอให้พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
        ๑. การออกเสียงพยัญชนะต้น ซึ่งเป็นพยัญชนะเดี่ยว  พยัญชนะที่มักจะออกเสียง
ไม่ค่อยจะถูกต้องมีอยู่หลายเสียงที่สำคัญคือ  ช/ซ/ร/ล/
               /ช/ เสียงชอ เป็นเสียงพยัญชนะกักเสียดแทรก คือจะมีการกักลมก่อนที่ลมจะ
เสียดแทรกออกมา การออกเสียง /ช/ นี้ลิ้นส่วนปลายจะยกขึ้นจดเพดานแข็งส่วนหน้า 
เมื่อลดลิ้นส่วนปลายลงเล็กน้อย กระแสลมจะระเบิดออกมาในลักษณะที่มีการเสียดแทรก 
ขณะออก  เสียงจะมีกลุ่มลมออกมาด้วย เกิดเป็นเสียง /ช/ เช่นคำว่า ช่วง  เช้า  ช้าง ชวน 
ชื่นชม  แต่มีบางคนออก เสียง/ช/ เป็นเสียงเสียดแทรก ฟังคล้ายเสียง /sh/ในภาษาอังกฤษ 
ซึ่งในภาษาไทยไม่มีเสียงนี้
              /ซ/ เสียงซอ เป็นเสียงเสียดแทรกผ่านลิ้นส่วนปลายที่ยกใกล้ปุ่มเหงือก ขณะที
ออกเสียงเส้นเสียงจะอยู่ห่างกัน เช่นคำว่า ส่อง  แสง  เสริม  สอง สาม ซาบซึ้ง เสริมสร้าง 
ซูซ่า แต่บางคนออก   เสียง /ซ/ เสียดแทรกคล้ายกับเสียง /s/ ในภาษาอังกฤษ

วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน การใช้ภาษาไทย ออกเสียงให้ถูก ปลูกฝังวัฒนธรรม

                                    ภาพจาก : https://topicstock.pantip.com

              /ร/ เสียงรอ เสียงในภาษาไทยเสียงนี้เมื่อออกเสียงลิ้นส่วนปลายจะสะบัดผ่านปุ่ม
เหงือกอย่างรวดเร็วเพียงครั้งเดียว ขณะที่ออกเสียงเส้นเสียงจะสั่นสะเทือน ลมจะพุ่งออกมา
ทางช่องปากเหนือลิ้น เชน คำว่า เรา รวดเร็ว ร่าเริง รื่นรมย์ แต่มีบางคนสะบัดปลายลิ้น
กระทบปุ่มเหงือกเร็ว ๆ หลายครั้งจนกลายเป็นเสียงรัว ซึ่งไม่ใช่เสียง /ร/ ในภาษาไทย ปัจจุบัน
มีคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่ระวังการออกเสียง /ร/ ให้ถูกต้อง ออกเสียงเป็นเสียง /ล/ 
ซึ่งนอกจาก  จะไม่น่าฟังและอาจทำให้ความหมายของคำผิดไปได้
             /ล/ การออกเสียง ลอ นั้นลิ้นส่วนปลายแตะปุ่มเหงือกและกักลมไว้กระแสลมผ่าน
ออกทางข้างลิ้น ขณะออกเสียงเส้นเสียงสั่นสะเทือน เช่นคำว่า ลอยลม เลิกรา ลวดลาย 
ปกติจะออกเสียง /ล/ ได้ถูกต้อง แต่ที่มักจะผิดพลาด คือการออกเสียง /ล/ แทนเสียง /ร/

     
 ๒. การออกเสียงพยัญชนะต้นที่เป็นพยัญชนะควบกล้ำ
             การออกเสียงคำควบกล้ำนั้นเรามักจะออกเสียงไม่ถูกต้อง คือ ไม่ออกเสียงตัว
ควบกล้ำ เช่น คำว่า ไกล มีตัว ล ลิง ควบกล้ำแต่เราอ่านหรือพูดมักจะออกเสียงเป็น ไก ทั้งนี้
เพราะผู้อ่านไม่ได้เอาใจใส่ไม่ให้ความสำคัญ อาจคิดว่าโดยทั่วไปบริบทหรือถ้อยคำอื่นๆ ที่
แวดล้อมจะช่วยให้เข้าใจความหมายได้ถูกต้อง แต่บางครั้งผู้ฟังก็อาจจะไม่เข้าใจความหมาย
และเมื่อออกเสียงพยัญชนะควบกล้ำไม่ชัดเจนจะทำให้ถ้อยคำที่อ่านหรือพูดไม่น่าฟัง ทำให้เสีย
บุคลิกภาพของผู้อ่านหรือผู้พูดได้   คำควบกล้ำของไทย มี ๑๕ รูป   ๑๑  เสียง  
คำควบกล้ำที่เรามักจะออกเสียงผิดมีอยู่มาก เช่น
                กลัว                                          ออกเสียงเป็น                    กัว
                ตรี                                             ออกเสียงเป็น                   ตี
                เปลี่ยนแปลง                                  ออกเสียงเป็น                 เปี่ยนแปง

                นอกจากนี้ยังมีบางคนออกเสียงพยัญชนะที่มีตัว ร และ ล สับสนกันเช่น
                เกร็ดความรู้                               ออกเสียงผิดเป็น                 เกล็ดความรู้
                บิดพลิ้ว                                    ออกเสียงผิดเป็น                  บิดพริ้ว

     ยัง มีคำซ้อนหลายคำ ซึ่งคำหนึ่งมีพยัญชนะต้นควบ ร อีกคำหนึ่งมีพยัญชนะต้น
     ควบ ล มักมีผู้ออกเสียงเหมือนกันทั้ง ๒ คำ
                 ครอบคลุม             ออกเสียงผิดเป็น                  คลอบคลุม หรือ ครอบครุม
                 พลัดพราก             ออกเสียงผิดเป็น                  พลัดพลาก หรือ พรัดพราก
                 คลุมเครือกับครุมเครือ           ออกเสียงผิดเป็น                  คลุมเคลือ
                 คำว่าคลุมเครือกับ ครุมเครือ เป็นคำซ้อนที่มีความหมายเหมือนกัน 
แต่ออกเสียงต่างกัน   จึงต้องออกเสียงให้ถูกตามรูปคำที่ปรากฏ ไม่อ่านผิดเป็นคลุมเคลือ

                 การฝึกออกเสียงคำควบกล้ำอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถออกเสียงได้ถูกตัองชัดเจน
จึงจำเป็นต้องฝึกให้มาก 

                 ตัวอย่างคำที่พยัญชนะควบกล้ำ
                 กร                     เช่น       กราก                  กราบ                 เกรียงไกร
                 กว                     เช่น       กว้าง                  กวาง                  แกว่ง
                 ขร                     เช่น       ขริบ                    ขรึม                   ขรุขระ
                 พร                     เช่น       พระ                    พรั่งพร้อม           แพรวพราว
                 ปล                     เช่น       ปลา                   ปลอบ                 ปลอม 

 ประเด็นการอภิปราย
        ๑. การออกเสียงพยัญชนะให้ถูกต้องมีผลดีต่อการสื่อสารอย่างไร
        ๒. นักเรียนเห็นด้วยหรือไม่ว่า หากออกเสียงพยัญชนะผิด ผู้พูดอาจเสียโอกาสในชีวิต
        ๓. ให้นักเรียนช่วยยกตัวอย่าง อาชีพที่ต้องออกเสียงคำให้ถูกต้อง

กิจกรรมเสนอแนะ
        ๑. ให้นักเรียนรวบรวมคำควบกล้ำของไทยทั้ง ๑๕ รูป  ๑๑  เสียง  ให้ได้มากที่สุด
        ๒. ให้นักเรียนรวบรวมคำควบกล้ำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ที่มีเสียงพ้องกับ
คำควบกล้ำของไทย
        ๓.  ทำโครงงานเรื่อง พยัญชนะต้นที่มักออกเสียงผิด

การบูรณาการ
        ๑. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  ชั้น ม.๔  การออกเสียงคำ
        ๒. กลุ่มสาระการเรียนรู้สังศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม  ชั้น ม.๔  เรื่อง ความพยายาม
        ๓. กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นม.๔  เรื่อง การนับจำนวน (คำควบกล้ำของไทย)
                                                                       
 
                        ที่มา: เพลินพิศ  สุพพัตกุล แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ท๓๑๑๐๑  ม.๔
                        ที่มา : เพลินพิศ  สุพพัตกุล คู่มื่อการสอนวิชาภาษาไทย


                         ขอบคุณ : https://ebook.nfe.go.th 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1074

อัพเดทล่าสุด