วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน การใช้ภาษา สำนวนภาษา ทำไม ... ต้องชักแม่น้ำทั้งห้า


921 ผู้ชม


ชักแม่น้ำทั้งห้าไม่ลดราคาก๊าซ

วิชาภาษาไทย ภาษาไทย การอ่าน การใช้ภาษา สำนวนภาษา ทำไม ... ต้องชักแม่น้ำทั้งห้า

https://www.oknation.net


        นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเฉลี่ยลดลง 20-30% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยเฉพาะ ส่วนของภาคอุตสาหกรรมลดลงค่อนข้างมาก และยังพบว่าการจำหน่ายแอลพีจีถังขนาดเล็ก 4 กก. สำหรับใช้ใน บ้านพักอาศัยของคนส่วนใหญ่ทั่วประเทศกลับมียอดขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคลดภาระการใช้จ่ายเนื่องจากมีราคาไม่แพงเพียงถังละ 100-118 บาทเท่านั้น? ขณะที่ถัง 15 กก. ราคาจะอยู่ที่ถังละ 300-320 บาท  สำหรับการปรับลดค่าขนส่งแอลพีจีลง 5 บาทต่อถังขนาด 15 กก. จากร้านผู้แทนจำหน่ายไปยังบ้านพักของประชาชน หลังจากที่ราคาดีเซลลดต่ำกว่า 25 บาทต่อลิตรนั้น ขณะนี้กรมการค้าภายในได้ทำหนังสือมายังสมาคมฯเพื่อให้พิจารณาปรับลดตามราคา น้ำมันดีเซลที่ลดลงมาเป็นฉบับที่ 2 แล้ว อย่างไรก็ตามสมาคมฯจะมีหนังสือยืนยันกลับไปว่าไม่สามารถลดราคาค่าขนส่งแอลพี จีให้กับลูกค้าได้จากปัจจุบันที่คิดอยู่ระดับ 15 บาทต่อเที่ยวต่อถัง 15 กก. เนื่องจากที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลขึ้นราคาไปสูงระดับ 40 บาทต่อลิตร แต่ผู้ค้าก็ไม่ได้ปรับค่าขนส่งแต่อย่างใด และแม้ว่าล่าสุดราคาน้ำมันดีเซลจะปรับลดมาอยู่ระดับต่ำกว่า 25 บาทต่อลิตร แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของผู้ค้าไม่ได้ลดลงทั้งค่าแรงงานของลูกจ้างที่ขนส่งและภาระการลงทุนในอนาคตที่จะต้องเพิ่มขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย ของกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ในการย้ายที่เก็บถังแอลพีจีจากห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ของผู้ค้าไปยังโกดัง ที่ปลอดภัยและห่างไกลชุมนุมชน                                                                    ข่าวจากไทยรัฐออนไลท์  วันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2552

        การพาดหัวข้อข่าวหนังสือพิมพ์ที่น่าสนใจโดยใช้สำนวนไทยทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาของข่าวโดยรวม  จากหัวข้อข่าวดังกล่าวมีสำนวนไทยที่น่าสนใจคือคำว่า ชักแม่น้ำทั้งห้า แล้วแม่น้ำทั้งห้ามีแม่น้ำอะไรบ้าง  ทำไมต้องชักแม่น้ำทั้งห้า

กลุ่มสาระการเรียนรู้   ภาษาไทย  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4

        สำนวน หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานมีความหมายไม่ตรงตามตัว หรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่ เช่น กิ่งทองใบหยก ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด
                ลักษณะของสำนวน จำแนกได้ดังนี้
                 1) มีลักษณะเป็นโวหารและมีเสียงสัมผัสกัน เช่น ก่อร่าง สร้างตัว ขับไล่ไสส่งมีสัมผัสสระ
                 2) มีลักษณะเป็นความเปรียบหรืออุปมาอุปไมยถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้ อุปมา คือสิ่งหรือข้อความที่ยกมาเปรียบสิ่งหนึ่งว่าเหมือนอีกสิ่งหนึ่ง มักจะมีคำว่า เหมือน เปรียบเหมือนดุจดัง  ส่วนอุปไมย คือ สิ่งหรือข้อความที่เปรียบเทียบกับสิ่งอื่นเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้งใช้คู่กับอุปมา เช่น ขาวเหมือนสำลี เป็นการกล่าวเปรียบเทียบลักษณะของความขาวของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  เงียบเหมือนเป่าสาก เป็นการกล่าวเปรียบเทียบถึงลักษณะความเงียบ
                 3) มีลักษณะเป็นคำคม คือ ถ้อยคำที่เป็นคารม หรือโวหารอันคมคายเป็นคำพูดที่ให้แง่คิด มีความหมายลึกซึ้งกินใจ เช่น มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน (สุนทรภู่) 
                 4) มีลักษณะเป็นบุคลาธิษฐาน คือ สำนวนที่นำคำกริยาที่ใช้สำหรับมนุษย์ไปใช้กับสัตว์หรือสิ่งไม่มีชีวิต ทำให้สิ่งเหล่านั้นมีอารมณ์กิริยา ความรู้สึกนึกคิดเหมือนคน เช่น น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า กระต่ายตื่นตูม วัวลืมตีน
        ประโยชน์ในการศึกษาสำนวนโวหาร
                 1.ทำให้ใช้ภาษาในการเขียน   ความเรียงต่างๆ ได้ดีขึ้น  เป็นการช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับความเรียงที่เขียนขึ้น
                 2. ทำให้ได้คติสอนใจ  ในด้านต่างๆ  เช่น
                          -  ด้านการเรียน  “รู้ไว้ใช่ว่า  ใส่บ่าแบกหาม”  “ฝนทั่งให้เป็นเข็ม”  “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด”
                          -  ด้านการคบค้าสมาคม  “คบคนให้ดูหน้า  ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ”  “คบเด็กสร้างบ้าน  คบหัวล้านสร้างเมือง”
                          -  ด้านการครองเรือน  “ความในอย่านำออก  ความนอกอย่านำเข้า”  “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่    ปลูกอู่ตามใจผู้นอน”
                           -  ด้านความรัก “ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน”  “รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ”  “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”
                  3. ทำให้ทราบความเป็นอยู่ของคนในสังคมในสมัยที่เกิดสำนวนโวหารนั้นว่ามีความเป็นอยู่   อย่างไร  เช่น   “อัฐยายซื้อขนมยาย”   “แบ่งสันปันส่วน”  “หมูไปไก่มา”
                  4.เป็นการรักษาวัฒนธรรมทางภาษาอันเป็นมรดกที่ล้ำค่าของไทยไว้ให้ลูกหลานภาคภูมิใจ
         ชักแม่น้ำทั้งห้า  มีความหมายถึงการพูดจาหว่านล้อมให้เชื่อ โดยการอ้างอิงสิ่งต่างๆมากมาย เช่น สมมุติว่า    พ่อค้าจะขายสินค้าสักอย่างก็อวดอ้างสรรพคุณของสินค้านั้นมากมาย เช่นใช้ดี ใช้ทน มีประกัน  ไม่พอใจยินดีคืนเงิน เพื่อชักจูงให้ลูกค้าซื้อสินค้านั้นๆแม้จะไม่ใช่ความจริงก็ตาม เป็นต้นความจริงแล้วสำนวนนี้มีที่มาจากวรรณคดีเรื่อง    พระเวสสันดรชาดกในตอนที่ชูชกเดินทางมาหาพระเวสสันดรเพื่อขอรับบริจาคพระกัณหา พระชาลีโอรสธิดาของพระเวสสันดร ด้วยรู้ว่าพระเวสสันดรกำลังบำเพ็ญทานบารมีอยู่โดยการยกยอพระเวสสันดร ด้วยอ้างถึงแม่น้ำทั้ง ๕ สาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา  อจีรวดี  สรภูนที และมหิมหาสาคเรศ ว่าแม่น้ำเหล่านี้ยิ่งใหญ่มากเป็นที่พึ่งพิงอาศัยประโยชน์แก่ฝูงปลานานาสรรพสัตว์ทั้งหลายเปรียบเหมือนน้ำพระทัยของพระเวสสันดร อันเป็นที่พึ่งพิงได้แก่คนทั่วไปว่าแล้วก็เอ่ยปากขอสองกุมารเสียเลย สำนวนชักแม่น้ำทั้งห้านี้ใช้สำหรับสถานการณ์การพูดชักชวนเพื่อผลประโยชน์แก่ตนฝ่ายเดียวเท่านั้นไม่ควรใช้ในสถานการณ์การพูดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ประเด็นคำถาม
       1.จากข่าวให้นักเรียนหาประโยคที่เปรียบเหมือนชักแม่น้ำทั้งห้า
       2.ให้นักเรียนหาข่าวที่มีสำนวนไทยแล้วอธิบายความหมายของสำนวนไทยให้สอดคล้องกับข่าว

กิจกรรมเสนอแนะ
-

การบูรณาการกับกลุ่มสาระอื่น

      1. กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
      2.กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
      3.กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม

แหล่งที่มา
       
https://www.norsorpor.com/
       https://www.zonesiam.com/
       https://www.sema.go.th/

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=236

อัพเดทล่าสุด