อะไรที่คุณรู้ อะไรที่คุณได้ยิน อาจจะไม่เป็นจริงเสมอ ถ้าคุณกระเดียด คุณจะพบกับ...???
ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด ?
ภาพจาก : ข่าวการเมือง
จากข่าวกล่าวตอบโต้กรณี นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย วิพากษ์วิจารณ์การลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยว่าเป็นการท้าทายอำนาจของคมช. ว่า การให้สัมภาษณ์ของนายบรรหาร เป็นสิ่งไม่ถูกต้องเพราะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หากดูข้อมูลที่นายจาตุรนต์แถลงรายละเอียด จะเห็นว่าไม่ใช่การท้าทายอำนาจ คมช.ทำทุกอย่างถูกต้องเปิดเผยและยังช่วยพูดสร้างความสมานฉันท์ด้วยซ้ำแม้แต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในฐานะประธานคมช.ยังยอมรับคำชี้แจงของนายจาตุรนต์ว่าไม่ใช่การท้าทาย นายบรรหารกลับ ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด แล้วมาปรักปรำนายจาตุรนต์ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ( ที่มา : ข่าวการเมือง )
จากประเด็นข่าวดังกล่าว ผู้อ่านอาจจะเกิดความสงสัยจึงอธิบายความหมายของ สำนวน คำพังเพย และสุภาษิต และอธิบายสำนวนที่ว่า "ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด"มีความหมายว่าอย่างไร ผู้เขียนจึงขออธิบายความหมายให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่มีความหมายไม่ตรงตามตัวอักษร เช่น จูงจมูก
คำพังเพย หมายถึง คำที่กล่าวไว้กลาง ๆเพื่อให้ตีความไปในทางใดทางหนึ่ง อาจไปในทางดีหรือทางร้าย เช่น น้ำขึ้นให้รีบตัก หมายถึง มีโอกาสดีให้รีบทำ อาจตีความทั้งทางดีและทางร้าย
สุภาษิต หมายถึง ถ้อยคำที่เป็นคติ ซึ่งรับรองว่าเป็นเรื่องที่ดีงาม มีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอน เตือนใจ ให้ปฏิบัติตาม เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน“ คนไทยมักจะใช้ทั้งสามคำนี้รวม ๆ กันไป”
ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด ความหมาย (สํา) ก.ฟังไม่ได้ความแจ่มชัด แล้วเอาไปพูดต่อหรือทําผิด ๆ พลาด ๆ
ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด หมายถึง ฟังเรื่องราวไม่ชัดเจน แล้วนำไปพูดหรือทำอย่างผิดพลาด คำว่า กระเดียด คือ เป็นกิริยาใช้สะโพกข้างหนึ่งแบกน้ำหนักของไป ด้วยการเอาของที่จะแบกวางบนสะโพกข้างหนึ่ง แล้วใช้มือข้างนั้นประคองของไว้ แต่ในในสำนวนนี้ หมายถึง นำไปพูดต่อ ตัวอย่าง “ข้อเสียของคนไทยสิ่งใดที่เป็นของเก่าจะทิ้งเสียให้หมด แต่ของใหม่ก็ไม่มีมาแทน ได้ยินฝรั่งเขาพูดอะไร ได้ยินแว่วๆ ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอามากระเดียด เขาพูดก็พูดไปบ้างอย่างนั้นเอง"
สรุปได้ว่า สำนวน "ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด" หมายถึง ฟังเรื่องราวที่ไม่ได้สาระสำคัญแจ่มชัด เก็บเรื่องราวที่ไม่ชัดเจน แล้วเก็บเอาสาระไปพูดต่อหรือนำไปขยายผลที่ผิดพลาด
จะเห็นได้ว่า การฟังมีความสำคัญในชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายและเทคนิคการฟังจับใจความสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ
ภาพจาก https://www.tpa.or.th
การฟังอย่างมีวิจารณญาณ หมายถึง กระบวนการรับสารที่เป็นคำพูดโดยใช้ประสาทสัมผัสทางหู แล้วนำสารมาคิดวิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผล
เทคนิคการฟังจับใจความสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ
๑. ผู้ฟังต้องฟังความตั้งใจ มีสมาธิ และตระหนักเสมอว่าเรื่องที่ฟังมีประโยชน์
๒. ผู้ฟังต้องตัดสิ่งรบกวนทางจิตใจออกไป ปล่อยจิตใจให้ว่าง และยินดีที่จะรับฟังสิ่งใหม่ ๆ
๓. ผู้ฟังต้องไม่มีอคติต่อเรื่องที่ฟัง หรือไม่มีอคติต่อผู้พูด
๔. ผู้ฟังต้องมีความรู้เกี่ยวกับคำและการใช้ภาษา เพราะคำบางคำต้องอาศัยการตีความตามบริบทของเรื่อง
๕. ผู้ฟังเก็บสาระสำคัญให้ครบถ้วน ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และจุดมุ่งหมายสำคัญของเรื่องเป็นอย่างไร
๖. ผู้ฟังนำสาระสำคัญจากการฟังมาวิเคราะห์ ไตร่ตรอง และเปรียบเทียบสาระสำคัญอย่างสมเหตุสมผล
(ไร้อคติ)
ความสอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ ช่วงชั้นที่ ๓ - ๔
มาตรฐาน ท ๒.๑ ใช้กระบวนการเขียน เขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่าง ๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรฐาน ท ๓.๑ สามารถเลือกฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ และพูดแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึกในโอกาสต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์
มาตรฐาน ท ๔.๑ เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ
ประเด็นคำถามสู่การอภิปรายในชั้นเรียน
๑. ความหมายของสำนวนฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด
๒. ความหมายของการฟังอย่างมีวิจารณญาณ
๓. เทคนิคการฟังจับใจความสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ
๔. ฟังอย่างไรให้ได้ใจความสำคัญครบถ้วน
๕. ปัญหาการสื่อสารและจรรยาบรรณของนักการเมืองไทย
กิจกรรมพัฒนาทักษะ
๑. การระดมพลังสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตีความความหมายของสำนวน ความหมายของการฟัง และเทคนิคการฟังจับใจความสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ
๒. การระดมพลังสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นวิเคราะห์ประเด็น"ปัญหาการสื่อสารและจรรยาบรรณของนักการเมืองไทย"
๓. การระดมความคิด "ฟังอย่างไรให้ได้ใจความสำคัญครบถ้วน"
๔. สรุปประเด็นเป็นแผนผังความคิด
๕. นำเสนอกิจกรรมในลักษณะการอภิปรายกลุ่ม หรือการพูดแสดงความคิดเห็น
การบูรณาการกับมาตรฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้
มาตรฐาน ส ๒.๒ เข้าใจระบบการเมืองการปกครองในสังคมปัจจุบัน ยึดมั่น ศรัทธาและธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แหล่งที่มาข้อมูลอ้างอิง
๑.https://tnews.teenee.com
๒..https://www.thaigoodview.com
๓.https://www.tpa.or.th
๔.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=227