รูปวันลอยกระทง ความหมายวันลอยกระทง โน๊ตเพลงวันลอยกระทง ขลุ่ย
ความหมาย ของวันลอยกระทง
ลอยกระทง หมายถึง ชื่อพิธีอย่างหนึ่งทำตรงกับคืนวันเพ็ญ เดือน ๑๒ จุดธูปเทียนปักบนสิ่งที่ไม่จมน้ำประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ เช่น กระทงเรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปปล่อยลงให้ลอยไปตามลำน้ำ
ประวัติความเป็นมา
ประเพณี ลอยกระทง เป็นประเพณีที่สำคัญสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ นิยมทำกันในกลางเดือน ๑๒ โดยมีวัตถุประสงค์หลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเพณีความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งได้แก่ การลอยกระทง เพื่อ
๑. บูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๒. บูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายฝั่งแม่น้ำนัมมทา
๓. บูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน
๔. ขอบคุณน้ำที่อำนวยประโยชน์ต่างๆ แก่มนุษย์
๕. ขอขมาน้ำที่มนุษย์ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในน้ำ
๖. เป็นการลอยส่งของแก่ญาติที่อยู่ห่างไกล
๗. เป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
๘. ลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์
๙. อธิษฐานขอสิ่งที่ตนปราถนา
คุณค่าความสำคัญ
ประเพณี ลอยกระทง นับเป็นประเพณีที่มีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชม สังคม และศาสนา กล่าวคือ
๑. คุณค่าต่อครอบครัว ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การประดิษฐ์กระทง แล้วนำไปลอยน้ำเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อน้ำที่ให้คุณประโยชน์แก่เรา บางท้องถิ่นจะลอยเพื่อเป็นการแสดงความระลึกถึงบรรพบุรุษอีกด้วย
๒. คุณค่าต่อชุมชน ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน เช่น ร่วมกันคิดประดิษฐ์กระทง เป็นการส่งเสริมและสืบทอดศิลปกรรมด้านช่างฝีมืออีกด้วย ทั้งยังเป็นการพบปะสังสรรค์ สนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจร่วมกัน
๓. คุณค่าต่อสังคม ทำให้มีความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการช่วยกันรักษาความสะอาดแม่น้ำ ลำคลอง โดยการขุด ลอก เก็บขยะในแม่น้ำลำคลองให้สะอาด และไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปในแม่น้ำลำคลองอีกด้วย
๔. คุณค่าต่อศาสนา ช่วยกันรักษาทำนุบำรุงศาสนา เช่น ทางภาคเหนือ ลอยกระทงเพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า และยังจัดให้มีการทำบุญให้ทาน การปฏิบัติธรรม และฟังเทศน์ด้วย
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ ๑. การทำความสะอาดแม่น้ำ ลำคลอง เช่น ขุด ลอก คูคลอง
๒. การทำบุญให้ทาน
๓. การปฏิบัติธรรม การฟังเทศน์
๔. การประดิษฐ์กระทงใหญ่ กระทงเล็ก
๕. การจัดกิจกรรมการประกวดต่างๆ เช่น การประกวดกระทง
การประกวดนางนพมาศ ประกวดโคมลอย
๖. การจัดขบวนแห่กระทง
๗. การนำกระทงไปลอยในน้ำ
๘. การปล่อยโคมลอย
๙. การจุดดอกไม้ไฟ ประทัด หรือพลุ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง
๑๐. การละเล่นรื่นเริง ตามท้องถิ่นนั้นๆ
ข้อมูลจาก : หนังสือ "วันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยและแนวทางในการจัดกิจกรรม" โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๓๗