ธุรกิจ การพัฒนาธุรกิจ การบริหารธุรกิจ ความดี(CSR) และการบริหารทรัพยากรมนุษย์(HR) ของ ไทยเบฟ


877 ผู้ชม


ในเมื่อ "ความดี" และ "คน" กลายเป็นหัวใจความสำเร็จของธุรกิจในโลกยุคนี้ จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไม CSR และ HR จึงกลายเป็นคำฮิตติดลมบนไปด้วย

สำหรับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟ เจ้าของแบรนด์ 'ช้าง' แล้วก็คงไม่มีข้อยกเว้นใดๆ 
 เพราะนอกจากวิสัยทัศน์ ไทยเบฟ  ที่จะก้าวสู่องค์กรระดับนานาชาติ  จำหน่ายสินค้าและบริการไปทั่วโลก (internationalization) จะเป็นองค์กรมืออาชีพ( professionalization ) และจะยกระดับสินค้าและบริการสู่พรีเมี่ยม ( Premiumization) แล้ว


 องค์กรแห่งนี้ยังมีเป้าหมายจะเป็นองค์กรที่ "คืน" ประโยชน์สู่สังคมด้วย


 ส่วนงานด้าน HR หรือการบริหารทรัพยากรมนุษย์  ไทยเบฟตั้งเป้าให้ปีพ.ศ.2554  เป็นปีที่จะเอาจริงเอาจังกับการสร้างคุณค่า มูลค่าให้เกิดในตัวพนักงานทุกระดับจากล่างสุดถึงบนสุด โดยการอบรมเพิ่มขีดความสามารถที่มีอยู่เดิม  ทั้งยังเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทุ่มเทแสดงผลงาน  พร้อมกับมีการสร้างระบบประเมินผลที่มีความถูกต้องยุติธรรม


 มารุต บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไทยเบฟ  ผู้บริหารที่เคยรับผิดชอบงาน CSR แต่ปัจจุบันได้รับมอบหมายให้ดูแลงาน HR เล่าให้ฟัง


 โลกยุคใหม่นั้นว่าด้วยเรื่องของ "ภาพลักษณ์องค์กร" ซึ่งหมายถึงความรู้สึก ความเชื่อ และความประทับใจ ของลูกค้า และผู้บริโภคที่มีต่อองค์กร จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ   และ  CSR มีส่วนสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์ให้ประสบความสำเร็จ


CSR หรือ ความดี ขององค์กรที่ชื่อ ไทยเบฟ นั้น มีธีมหลัก "คนไทยให้กันได้"


 และมารุต ก็คือผู้บริหารที่บุกเบิกโครงการ "มหัศจรรย์ น้ำดื่มช้าง ล้านขวด ล้านน้ำใจ"  เมื่อปีพ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา   โดยนำรายได้ 2 บาท จากการจำหน่ายน้ำดื่มช้างขวดเพ็ทขนาด 600 มิลลิเมตรทุกๆ หนึ่งขวด สมทบทุนให้ในโครงการ "แว่นสายตาสภากาชาดไทย เพื่อเด็กนักเรียนในชนบท"  เป็นการหยิบยกเอาเรื่องความสนับสนุนสังคมมาช่วยสร้าง แบรนด์น้ำดื่มช้าง


 "สุดท้ายถ้าเราขายสินค้าไม่ได้ก็คงไม่มีเงินทำเพื่อสังคม " เขายอมรับว่าผลลัพท์ที่คาดหวังของโครงการนี้นอกจากได้ส่งมอบประโยชน์สู่สังคมแล้ว ยังต้องทำให้ลูกค้ารู้จักน้ำดื่มช้างมากขึ้น  และมียอดขายที่เพิ่มมากขึ้น


 แต่การให้และการบริจาคเปรียบก็เหมือนกับการให้ปลาแต่ไม่ได้ให้เบ็ดตกปลา ชีวิตของผู้รับคงต้องเป็นผู้รับอยู่ร่ำไป ?


 เขาตอบข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่า คนที่ยากไร้ อาศัยในบ้านโทรมๆ เก่า อยู่บนยอดเขายอดดอย ลำพังแค่เรื่องการอยู่การกินยังสิ้นหวังนับประสาอะไรกับการมองไกลไปจนถึงเรื่องการทำมาหากิน


 "เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องการกินอยู่ ต้องช่วยตรงนี้ก่อน แต่การสนับสนุนในระยะยาวเราก็ช่วยอยู่แล้ว  อย่างเช่น การแจกผ้าห่มก็ถือเป็นการสนับสนุนส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน เพราะเราจ้างให้พวกเขาทำให้เราเอาไปแจก "


 อย่างไรก็ดี ทุกๆ โครงการ CSR ของไทยเบฟจะมีการวางแผนทำอย่างต่อเนื่อง


 "ทุกโครงการเกิดจากจิตวิญญานขององค์กร เราจะไม่ทำแบบไฟไหม้ฟาง ทำแล้วจบ แต่จะทำต่อเนื่อง อย่างน้ำดื่มช้างนั้นเป็นสินค้าแบรนด์หนึ่ง เราก็พยายามสร้างให้เป็นที่รู้จักคุ้นเคย  และทำให้ผู้บริโภคไว้วางใจในทุกมุมมองไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพื่อสังคม คุณภาพสินค้า ที่มาระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน"


 มิติการทำ CSR ของไทยเบฟมีอยู่ 5 หมวด ได้แก่ 1.การสนับสนุนด้านสังคม 2.การสนับสนุนด้านกีฬา 3.การสนับสนุนด้านการศึกษา 4.ศิลปวัฒนธรรม  ดนตรี 5. การสนับสนุนด้านสาธารณสุข  รวมถึงโครงการพิเศษภายใต้ชื่อ "โครงการคนไทยรักในหลวง" ที่ได้จัดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2550


 สำหรับ HR ที่เป็นงานต้องดูแลในปัจจุบันนั้น  มารุตบอกว่าโจทย์ที่ได้รับและที่ต้องโฟกัสเป็นพิเศษก็คือ  การพัฒนาคน


 การแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น  พนักงานที่มีคุณค่า มากความสามารถถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรธุรกิจต่างก็ขนขวายไขว่คว้า  และเมื่อได้มาแล้วนั้น การรักษาดูแลกลายเป็นเรื่องที่สำคัญเสียยิ่งกว่า


 "ยุคสมัยมันเปลี่ยนแปลงไป  ทุกวันนี้เราจะต้องคำนึงถึงเรื่องจะทำอย่างไรถึงทำให้องค์กรของเราน่าอยู่ ทำอย่างไรพนักงานทำงานอย่างมีความสุข มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อองค์กร  สามารถสร้างผลงานดีๆ มุ่งมั่นเดินไปข้างหน้าขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าด้วยกัน"


แม้ที่ผ่านมาจะคุ้นกับงานการตลาดมาโดยตลอด แต่มารุตคอนเฟิร์มว่า คอนเซ็ปต์ในเรื่องของงาน HR ซึ่งยุ่งกับ'คน' กับ 'การตลาด' นั้นไม่ได้แตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย


 เพราะในเชิงการตลาดก็ต้องโฟกัสกับคน ซึ่งหมายถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ขณะที่งาน HR ก็ต้องโฟกัสกับคน ซึ่งหมายถึง พนักงานทุกคนในองค์กรนั่นเอง


 "การตลาดเป็นการทำให้ลูกค้าจงรักภักดีต่อแบรนด์สินค้า ขณะที่ HR ก็ต้องทำให้พนักงานจงรักภักดีต่อองค์กร"


นอกจากนั้นเขายังมีแผนปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อติดอาวุธเสริมศักยภาพให้พนักงานอีกด้วย ซึ่งโลกยุคนี้คงหนีไม่พ้นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและไอที


"ในระบบการทำงาน ถ้าในวันนี้เรายังลงมือเขียนเองไม่มีเรื่องไอที ซอฟต์แวร์เข้ามาเกี่ยวข้อง งานคงไม่ทันสมัยไม่ทันต่อความต้องการ  เพราะงานมันมีกระบวนการเยอะแยะมากมาย ทำอย่างไรให้เกิดความกระชับ เกิดความถูกต้อง  สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น"


 เป้าหมายของเขา  คือการผลักดันให้ ไทยเบฟ เดินไปบนเส้นทางแห่งองค์กร 'ไดนามิค'  องค์กรแห่งนี้ต้องมีเชิงชั้นไม่แพ้องค์กรชั้นนำอื่นๆ  "แต่การ transform องค์กรที่มีอายุเก่าแก่ คงไม่สามารถใช้เวลาแค่เพียงปีหรือสองปี มันไม่ใช่เรื่องที่ทำง่ายๆ " คือเรื่องที่เขายังหนักใจ


 ความดีและคนจะบรรจบพบกันตรงแกนหลัก คือ ไทยเบฟเวย์ 


 "เรากำลังดำเนินการกำหนดแนวปฏิบัติ หรือ  ไทยเบฟเวย์ ให้พนักงานทุกๆ ยึดถือ ซึ่งบางเรื่องมันก็มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีใครนำมาจัดไล่ลำดับให้เป็นเรื่องเป็นราว  ทำให้เกิดความน่าสนใจ ซึ่งสิ่งใดที่ดีแล้วก็ดำเนินการต่อไป ขณะสิ่งที่ไม่สอดคล้องต่อปัจจุบันก็นำมาลดทอนและเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ที่ดีๆ เข้าไปแทน"


 และ คีย์ซัคเซส  อยู่ที่การเริ่มต้นที่วงเล็กแล้วค่อยขยายจนกลายเป็นวงกว้าง  ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้บริหารระดับสูงต้องเป็นแบบอย่างที่ดี  


  "ท่านประธาน คุณเจริญ สิริวัฒนภักดีเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ  ในเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน รับฟังคนอื่น อุทิศตัว ขยัน อดทน ทุ่มเท เสียสละ ขยัน ซื่อสัตย์ ทำหน้าที่เป็นพลเมืองดีของสังคม ดูแลครอบครัว ทำธุรกิจที่เน้นการให้กับพนักงานในองค์กร ให้ผู้ถือหุ้น คู่ค้า ลูกค้า สังคม ประเทศชาติ และประชาชน"


 อย่างไรก็ดี คน ก็คือ คน  ถ้าจะทำให้คนทุกๆ คนคิดเหมือนกัน เก่งเหมือนกัน และดีเหมือนกันหมด  คงเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อในเมื่อมีความแตกต่างกันมากมายทั้ง พื้นเพ ชาติกำเนิด ประสบการณ์ อุปนิสัย วัฒนธรรม


 "เราต้องทำให้คนส่วนใหญ่ขององค์กรเดินไปในทิศทางที่คาดหวัง  ขณะคนส่วนน้อยที่เป็นอุปสรรคเราก็ชี้แจงทำความเข้าใจ วันนี้เขาทำไม่ได้พรุ่งนี้เขาก็อาจทำได้  และผมเชื่อว่าไม่ยากเพราะพวกเราทุกคนร่วมผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาและมีจิตวิญญานความเป็นไทยเบฟ"
ที่มา; https://www.bizexcenter.com/กรณีศึกษาทางธุรกิจ/CSR--HR-หน้าร้านถึงก้นครัว-ไทยเบฟ.html

อัพเดทล่าสุด