ธุรกิจ การบริหารธุรกิจ กลยุทธ์ การเปลี่ยนผ่าน In The Making รุ่นสาม 'ซีคอน กรุ๊ป' คิดใหม่ทำใหม่


871 ผู้ชม


ดำเนินธุรกิจโลว์โฟร์ไฟส์มากว่า 50 ปี “ซีคอนกรุ๊ป” ได้เวลาถ่ายเลือดส่งต่อธุรกิจ จากผู้บริหาร "รุ่นสอง" ที่เตรียมปลดระวางสู่ทายาท “รุ่นที่สาม”

ไม่มีธรรมเนียมเปิดตัวกับสื่อหรือสาธารณชนทั่วไปอย่างครึกโครม “ซีคอนกรุ๊ป” ของตระกูล “ซอโสตถิกุล” ที่มีธุรกิจในเครือหลากหลายรอบตัวเป็นที่คุ้นเคย ตั้งแต่ซีคอนสแควร์ ห้างดังย่านศรีนครินทร์ รองเท้านักเรียนนันยางที่มีเอกลักษณ์ที่พื้นรองเท้าสีเขียว ผงชูรสตราชฎา หรือธุรกิจรับสร้างบ้าน "ซีคอนโฮม" ฯลฯ แม้คนภายนอกมองว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่องค์กรที่มีอายุ 50 ปีแห่งนี้ไม่ได้หยุดเดินเพียงแต่เดินช้าลงเพื่อรอการ "ผลัดใบ" ของผู้บริหารรุ่นที่สามเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจ

เมื่อธุรกิจกงสีต้องการเดินหน้าไปให้ไกลขึ้น จึงเป็นเวลาเดียวกับที่ “ปิยะ ซอโสตถิกุล อดีตผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ สายงานลูกค้าเอสเอ็มอีต่างจังหวัดต้องสลัดเนกไทนายแบงก์ที่ทำงานมาร่วม 13 ปี กลับบ้านเพื่อสานต่อสิ่งที่ผู้บริหารรุ่นสองปูทางไว้ ในตำแหน่งกรรมการบริหาร ซีคอนกรุ๊ป

ประวัติโดยย่อของ “ต่อ” ปิยะ นายแบงก์บุคลิกแอ็คทีฟคนนี้ จบการศึกษาวิศวกรรมเคมีและเศรษฐศาสตร์จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) สถาบันเดียวกับชาติศิริ โสภณพนิช และยังได้ทุนธนาคารกรุงเทพศึกษาต่อในระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด

ด้านประวัติการทำงานเริ่มต้นที่สายงานวาณิชธนกิจ โกลด์แมนแซคส์ ตามมาด้วยการนั่งเก้าอี้กรรมการผู้อำนวยการบริษัทเงินทุนบัวหลวง

ความสำเร็จส่วนตัวเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัล 'The Promising Young Banker Awards  for Asia Pacific' หรือนายธนาคารอายุต่ำกว่า 40 ปีที่มีผลงานโดดเด่นประจำภูมิภาคเอเชียโดยนิตยสาร The Asian Banker ในปี 50

ปิยะ ซอโสตถิกุล กรรมการบริหาร ซีคอนกรุ๊ป เล่าถึงแนวทางธุรกิจของกลุ่มฯหลังจากนี้ให้ฟังว่ากลุ่มผู้บริหาร “เจเนอเรชั่นสาม” จะเข้ามา “สานต่อ” และ “เดินหน้า” แผนธุรกิจที่ผู้บริหารรุ่นสองเบิกทางไว้ ซึ่งอาจจะมี "ธุรกิจใหม่ๆ" นอกเหนือจากธุรกิจที่มีอยู่เดิม

“ผู้บริหารรุ่นที่สองคิดจะทำอะไรเยอะแยะแต่ไม่มีคนทำ ตอนนี้เริ่มปลดระวางมาให้รุ่นที่สามทำมากขึ้น ส่วนตัวมารับช่วงกิจการที่บ้านช้ากว่าคนอื่นเพราะทำงานแบงก์มา 13 ปี แต่คนอื่นจะไปทำงานที่อื่นเพียงสองสามปี ถ้าไม่ติดว่า "ขาดคน" ผมก็คงยังทำงานข้างนอกอยู่ แต่นี่มันจำเป็น”

อดีตนายแบงก์ค่ายบัวหลวง ฉายภาพโครงสร้างองค์กรในปัจจุบันให้ฟังว่า ถ้านับทายาทรุ่นที่สามของตระกูลซอโสตถิกุลจริงๆ จะมีอยู่ 20 คน แต่มานั่งดูแลธุรกิจในกลุ่มรวม 8 คน และเพียง 3-4 คนเป็นผู้บริหารระดับสูงซึ่งจะแยกกันดูแลคนละบริษัทฯ ส่วนตนจะไม่ลงไปดูเชิงลึกแต่จะช่วยดูด้านนโยบายในภาพกว้างและกลยุทธ์มากกว่า

“ตัวผมจะมาช่วยดูการลงทุนหรือขยายธุรกิจใหม่ การปรับ Position ของธุรกิจเดิมรวมถึงดูว่าจุดไหนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพได้บ้าง จุดไหนต้องลดต้นทุน เรียกว่าดูหมดทั้งการตลาด โปรดักท์ การผลิต และการเงิน ตอนนี้เพิ่งเข้ามาได้ไม่นานกำลังอยู่ระหว่างเรียนรู้คาดว่าต้องใช้เวลา 6 เดือนจึงจะเริ่มมีการปรับปรุงในบางจุด”

ปิยะ ยังบอกอีกว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาไม่คิดที่จะรีบเปลี่ยนแปลงองค์กรเพราะการเรียนรู้ระบบงานไม่สำคัญเท่ากับเรียนรู้  “วัฒนธรรมองค์กร” แม้จะมีไอเดียต่างๆ มากมายแต่ก็จะต้องศึกษาถึงความเหมาะสม เพราะองค์กรที่ก่อตั้งมานานขนาดนี้ย่อมมีอะไรที่ฝังรากลึก ซึ่งหลายๆ อย่างเป็นสิ่งที่ดีมากอยู่แล้ว

ถ้าถามว่า วัฒนธรรมองค์กรของซีคอนกรุ๊ปเป็นอย่างไร เขาตอบว่าเรายังทำธุรกิจแบบคนจีน (กงสี) บริหารงานแบบครอบครัว คนที่ทำงานตรงนี้ส่วนใหญ่จะอยู่กันมานาน บางคนอยู่มานานถึง 30-50 ปีทำงานจนถึงอายุ 80 ก็มี

ข้อดีก็คือมีความผูกพัน ทำอะไรทุ่มเทเพื่อองค์กร แต่บางธุรกิจที่ต้องการขยายเร็วหรือเป็นของใหม่เราจำเป็นต้องใช้ความเป็น "มืออาชีพ" เข้ามา ซึ่งมีข้อดีคือทำอะไรตามเหตุผล ไม่ต้องเกรงใจกันและได้ความรู้ใหม่ๆ จากมืออาชีพเหล่านี้

ปิยะ บอกด้วยว่า อนาคตคงมีการดึงผู้บริหารมืออาชีพมาร่วมงานกันมากขึ้น

“ถามว่าผมมานั่งที่นี้แล้วจะคิดใหม่ทำใหม่ไหม ? ทำแน่ ! แต่ต้องศึกษาก่อน เวลากลุ่มฯจะทำอะไรเราต้องดูความพร้อมเรื่อง คน เงิน ความเข้าใจตลาด” ปิยะ เผย ก่อนจะเล่าถึงแต่ละธุรกิจในกลุ่มฯว่า

ส่วนใหญ่ที่คนรู้จักกันดีคือห้างซีคอนสแควร์ที่ล่าสุดเพิ่งไปเทคโอเวอร์ห้างฟิวเจอร์ ปาร์คบางแค ธุรกิจนี้ส่วนตัวไม่ค่อยลงไปดูมากนักเพราะมีผลประกอบการดีอยู่แล้ว ส่วนธุรกิจผงชูรสตราชฎาปัจจุบันมีมาร์เกตแชร์ 20% ที่หนึ่งคืออายิโนะโมโต๊ะ แต่ธุรกิจก็ยังดีอยู่

ส่วนรองเท้านักเรียนนันยาง มีมาร์เก็ตแชร์ในตลาด 30% ส่วนรองเท้าแตะหูคีบยางแท้ต้องถือว่าเรายังเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ นอกจากตลาดในประเทศแล้วเรายังส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า บังกลาเทศ ปีละหลายล้านคู่ รวมถึงตลาดใหม่อย่างจีนที่ออเดอร์มาจนผลิตกันให้แทบไม่ทัน

“ธุรกิจผงชูรสและรองเท้า แม้จะเก่าแต่มีอนาคตอยู่ โดยเฉพาะการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนในปี 2015 เราจะได้ประโยชน์จากการส่งออกโดยไม่เสียภาษี อย่างผงชูรสตอนนี้เราก็เริ่มส่งออกไปขายกัมพูชาแล้ว ในขณะเดียวกันเราก็สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าเช่นกัน”

อีกธุรกิจที่สร้างชื่อเสียงให้กลุ่ม นั่นคือ "ธุรกิจรับสร้างบ้าน" ที่ทำมานานกว่า 50 ปี ปัจจุบันมีอยู่ 4 บริษัทลูกแบ่งตามเซ็กเมนท์ลูกค้า เช่น ซีคอน โฮม บิวด์ทูบิวด์ คอมแพคโฮม บีคอมพลีท ถือได้ว่ามีมาร์เกตแชร์ "อันดับหนึ่ง" ในตลาด

ที่สำคัญธุรกิจนี้ยังนำมาต่อยอดกับธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นนั่นคือธุรกิจ “อสังหาริมทรัพย์”

“จริงๆ แล้ว จะพูดว่าใหม่ซะทีเดียวคงไม่ได้ เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปี ซีคอนฯ เราเป็นผู้พัฒนาหมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกของไทยด้วยซ้ำในชื่อหมู่บ้านมิตรภาพ แต่เราหยุดไปนานเพิ่งกลับมาทำใหม่”

เขาบอกว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มเริ่มต้นทำมาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้วในชื่อบริษัทเอราวัณนา โดยเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยให้ชาวต่างชาติที่จังหวัดภูเก็ต เปิดตัวมาแล้ว 8 โครงการ และกำลังจะเปิดโครงการที่ 9 และ 10 ในเร็วๆ นี้ ถือได้ว่าโครงการนี้สร้างชื่อเสียงในตลาดได้พอสมควร

ล่าสุดกลุ่มซีคอนฯ ยังเพิ่งเปิดตัวโรงแรม 5 ดาว มูลค่า 1,600 ล้านบาท ในนาม Renessance Resort and Spa ที่หาดไม้ขาว ในจังหวัดภูเก็ต

ปิยะ ยังประเมินสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สำหรับชาวต่างชาติในภูเก็ตว่า ถือว่าไม่ง่ายนัก เพราะมีผู้ประกอบการกว่า 20% ไม่สามารถสร้างบ้านให้ลูกค้าได้ทัน เพราะช่วงที่ผ่านมาเผชิญศึกหนักทั้งการแข็งค่าของเงินบาทและวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ด้วยความที่บริษัทในกลุ่มฯประกอบธุรกิจมานาน มีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆ ของตลาดจึงไม่ได้รับผลกระทบที่ว่ามากนัก ยังสามารถตั้งราคาขายบ้านที่ 15-20 ล้านบาท มียอดขายปีละกว่า 1,000 ล้านบาท

ถ้าเป็นธุรกิจใหม่เลยคงเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทสร้างเพื่อขาย อย่างโครงการทาวน์เฮ้าส์ย่านศรีนครินทร์ จำนวน 50 ยูนิต มูลค่าโครงการ 300 ล้านบาท ตอนนี้เปิดขายแล้วถือเป็น Pilot Project โดยอาศัยจุดแข็งของแบรนด์ซีคอนฯ

“จริงๆ โครงการนี้ในกลุ่มฯเราคุยกันมานานเป็น 10 ปีแล้วแต่ไม่มีใครทำ พอผมเข้ามาเราก็คุยกับผู้บริหารรุ่นสองเขาก็เห็นด้วยอนุมัติภายในวันเดียวเพียง 3 เดือนแบบก็เสร็จและกำลังเริ่มก่อสร้าง ถ้าสำเร็จก็จะมีโครงการที่สองที่สามจ่อคิวไว้แล้ว แต่ต้องรอโครงการแรกให้ขายเกือบหมดก่อน”

ปิยะบอกอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มซีคอนฯมีแลนด์แบงก์ในมือพอสมควรโดยเฉพาะย่านศรีนครินทร์ โดยเขายอมรับว่ากำลังคุยกันในกลุ่มฯว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าแลนด์แบงก์ที่ว่านี้จะถูกนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์เป็นอะไรได้บ้าง เนื่องจากพื้นที่เริ่มมีศักยภาพเพราะถนนในบริเวณนั้นกำลังจะขยายเป็น 6 เลน และน่าจะมีรถไฟฟ้ามาถึง แต่ถึงอย่างไรก็ตามปิยะบอกว่าจะขยายงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปแม้จะไม่ขัดสนเรื่องเงินลงทุน แต่ก็ยังต้องสั่งสมประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาฯให้มากกว่านี้

ถามว่าธุรกิจใดจะเป็น “ดาวรุ่ง” ของกลุ่มฯ ปิยะบอกว่า จริงแล้วทุกธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้ทั้งหมด ถ้าดูรายได้หลักของกลุ่มฯตอนนี้อาจจะเป็นศูนย์การค้าหรือรองเท้านักเรียน ส่วนอสังหาริมทรัพย์หรือโรงแรมยังเล็กมาก สัดส่วนกำไรคงยังไม่ถึง 5%ของกลุ่มแต่มีแนวโน้มว่าทั้งธุรกิจอสังหาฯ และโรงแรมจะเป็นธุรกิจหลักในอนาคต

ปิยะ ยังอธิบายแนวทางธุรกิจของกลุ่มซีคอนฯว่า ต้องอยู่บนหลักการแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าย้อนไปดูประวัติ 30 ปีแรกของเราแทบไม่มีการขยายธุรกิจเลยเพิ่งมาขยายธุรกิจเมื่อ 20 ปีให้หลัง ที่สำคัญจะทำเมื่อพร้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเพราะในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เราไม่เจ็บตัว มีไปกู้เงินต่างประเทศBIBFมาบ้าง แต่ก็สามารถออกหุ้นกู้ชำระคืนได้ทันที

“นโยบายเราไม่พร้อม ไม่ขยาย ไม่แตกไลน์ บางครั้งเสียโอกาสบ้างแต่ก็เป็นแนวทางของเรา เรื่องเงินสำคัญมากไม่มี-ไม่ทำต้องอยู่ได้โดยไม่ต้องกู้แบงก์”

ส่วนเรื่องการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เขาบอกว่าห้างซีคอนสแควร์เป็นบริษัทมหาชนและ "เคยคิด" ที่จะเข้าตลาดฯ แต่คิดไปคิดมาถ้าเหตุผลของการเข้าตลาดหุ้นคือต้องการเงินขยายธุรกิจเร็ว แต่เราไม่ต้องการเพราะใช้เงินตัวเองตลอด หรือจะเข้าเพื่อให้คนในตระกูลขายหุ้นออกมาก็ไม่มีใครจะขาย และไม่คิดจะขายด้วย 

ถามถึงเป้าหมายของกลุ่มซีคอนฯในอนาคต เขายอมรับว่าตอนนี้ยังอยู่ในช่วง In The Making (กำลังเปลี่ยนผ่าน) ถ้าเป็นรุ่นที่สองเขาทำสำเร็จไปแล้วคือทำให้ลูกหลานอยู่ดีกินดี มีธุรกิจที่มีรากฐานมั่นคง พวกเรารุ่นสามกำลังคิดเป้าหมายกันอยู่ว่าจะไปทางไหน คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อสรุป

“สูตรธุรกิจแบบซอโสตถิกุลคือก้าวอย่างมั่นคง” ปิยะสรุปสั้นๆ แต่ได้ใจความ

ที่มา;https://www.bizexcenter.com/กรณีศึกษาทางธุรกิจ/รุ่นสาม-ซีคอน-กรุ๊ป-คิดใหม่ทำใหม่.html

อัพเดทล่าสุด