ธุรกิจ การบริหารธุรกิจ แผนธุรกิจ ธนาคาร การเขียนแผนธุรกิจ ให้เข้าตาธนาคาร (ตอนที่ 1)


801 ผู้ชม


การเขียนแผนธุรกิจให้เข้าตาธนาคารฯ  (ตอนที่ 1) ............... โดย  Ravin  Phuket

       สุนทร  จบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น  หลังจากสำเร็จการศึกษา  ก็มาช่วยงานบิดาซึ่งเปิดร้านขายวัสดุก่อสร้างขนาดกลางในตัวจังหวัดแห่ง หนึ่งในภาคอีสาน ดำเนินกิจการมากว่า 30 ปี   บิดาของสุนทรเป็นลูกค้าของธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งมายาวนาน มีวงเงินกู้หรือสินเชื่อหลายล้านบาท  ซึ่งเมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน บิดาของสุนทรเพียงแค่นำโฉนดที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านฯ ไปให้ธนาคาร   และอีกไม่นานเกินสิบกว่าวัน  ก็ได้จำนองที่ดินและรับเงินกู้มา และได้ขอวงเงินกู้เพิ่มหลายครั้งหลายหน  แต่ก็ชำระหนี้ตรงต่อเวลาตลอดมา   จนปัจจุบันเหลือภาระหนี้ไม่มาก     สุนทรได้บริหารร้านแทนบิดามา 5 ปี ได้เริ่มพัฒนากิจการให้เป็นระบบมากขึ้นทั้งด้านบัญชี  งานธุรการขาย  งานพัฒนาธุรกิจอื่น ๆ เห็นช่องทางตลาด   จึงอยากขยายกิจการซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกหลายล้านบาท  จึงปรึกษาบิดาและไปเจรจาขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มจากธนาคารที่ใช้บริการเดิม   ผู้จัดการสาขาธนาคารแห่งนั้น เชิญนั่งคุยด้วยประมาณสิบห้านาที และบอกสุนทรกับบิดาว่า   “ให้ไปทำแผนธุรกิจมาให้ดูก่อน”

 

       วิชุดา   เดิมเป็นพนักงานบริษัทที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการขายอุปกรณ์สำนักงาน  ซึ่งทำงานแห่งเดียวที่นี่มากว่า 3 ปี  อยากไปเปิดร้านเคาน์เตอร์เซอร์วิส เพราะมีพื้นที่ว่างด้านล่างของอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น  ที่ใช้พักอาศัยกับบิดามารดาและน้องชาย โดยติดต่อซื้อแฟรนไชส์จากกิจการเคาน์เตอร์เซอร์วิสแห่งหนึ่ง  ต้องเสียค่าเฟรนไชส์รวมประมาณ 8 แสนบาท  แต่ตนเองมีเงินสะสมและรวมกับที่บิดาช่วยมาประมาณ 4 แสนบาท  จึงได้ไปติดต่อกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs Bank   เพื่อติดต่อขอกู้เงิน  ซึ่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารฯ บอกว่า    “ให้ไปทำแผนธุรกิจมาให้พิจารณา”

       ในรอบสิบกว่าปีมานี้  คำว่าแผนธุรกิจ เป็นคำที่ใช้กันมาก  จนเป็นคำฮิตในหมู่ผู้ประกอบการ  และวงการสถาบันการเงิน  รวมทั้ง มีการจัดอบรมในการจัดทำแผนธุรกิจมากมาย  ทั้งหน่วยงานภาครัฐ  ธนาคาร  และบริษัทเอกชนที่ทำมาหากินในด้านการจัดอบรมสัมมนา    ซึ่งถ้าเป็นคนที่ต้องการจะอวดภูมิภาษาอังกฤษ ก็มักจะใช้คำว่า  บิซิเนสแพลน(Business Plan) ติดปากอยู่เสมอ      แต่ก่อนมานั้น  ในวงการธุรกิจ  มักจะได้ยินคำว่า  ทำฟีส  ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า  คือการทำ  Feasibility Study หรือการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ  ซึ่งในปัจจุบันนี้  ยังมีนักธุรกิจรุ่นเก่า ๆ ยังติดในคำพูดว่า  ทำฟีส  อยู่มากมาย      การทำฟีสกับการทำแผนธุรกิจ  จะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร  จะแตกต่างกันแค่คำนิยามหรือในรายละเอียด  และเป้าหมายของการจัดทำจะตรงกันหรือแตกต่างกันอย่างไร  ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานชี้วัด   เพราะท้ายที่สุดแล้ว  ประสิทธิผลของแผนธุรกิจ หรือรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ  คือ ความสำเร็จ     จะสำเร็จอย่างไร  สำเร็จระดับไหน  ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของวัตถุประสงค์ในเรื่องนั้น ๆ



       หน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดอบรมการจัดทำแผนธุรกิจหรือการเขียนแผนธุรกิจ  หลายต่อหลายแห่ง  หลายองค์กร   ตั้งแต่สิบกว่าปีมาแล้ว  ทั้งแบบอบรมฟรีและเสียสตังค์     รวมทั้ง  ธนาคารเองก็มักจะจัดอบรมให้กับลูกค้าของธนาคารเอง  หรือให้ทายาทธุรกิจของลูกค้า  เพราะธนาคารเองก็อยากจะพัฒนาองค์ความรู้ในเชิงบริหารให้กับลูกค้าของธนาคาร เอง   เพื่อหาทางลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสียด้วยหรือเปล่า  ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดแจ้งในวัตถุประสงค์ของโครงการอบรม     หลักสูตรการอบรมเรื่องแผนธุรกิจที่ผ่านมา  มีทั้งแบบเข้มคือ  7  วัน     แบบกลาง ๆ คือ  3-4  วัน     และขนาดย่อ ซึ่งอาจจะแค่วันเดียว   ทั้งนี้  อาจจะขึ้นอยู่กับงบประมาณขององค์กรที่จัดอบรม    เพราะที่ผ่านมา เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่า  หากมีการลงทะเบียนเสียเงิน  จะมีผู้มาสมัครน้อยรายมาก   หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งได้งบประมาณมาจึงจัดอบรม   จึงไม่ค่อยมีการเก็บค่าลงทะเบียน  เพียงแต่มีเงินค้ำประกันบางส่วน  เพื่อให้ผู้เข้าอบรม  ได้มาอบรมครบตามวันที่กำหนด   จึงจะคืนเงินประกันให้   เพื่อสร้างผลงานของหน่วยงาน  และอาจเพื่อรักษาเก้าอี้ของผู้บริหารอีกด้วย(อิอิ)     แต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ได้รับหลังจากผ่านการอบรม  ถ้าให้วัดผลกันจริง ๆ  โดยไม่ต้องแต่งข้อมูลให้ดูดี  เพื่อรายงานต้นสังกัด    ก็เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่า  ประสบความสำเร็จแค่ไหน



       ผู้เขียนอยู่ในวงการการเงินมานานประมาณ  20  ปีเศษ  เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง การจัดทำแผนธุรกิจ  และการวางแผนทางการเงิน  มามากกว่า  50  ครั้ง  ในมหาวิทยาลัยทั้งระดับปริญญาตรีและโท และหลักสูตรที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐ    พบข้อเท็จจริงว่า  การจัดอบรมส่วนใหญ่นั้น   วิทยากรหลัก จะมีการศึกษาสูง  ซึ่งส่วนใหญ่จะเกินระดับปริญญาโทขึ้นไป   แต่ในชีวิต ไม่เคยทำธุรกิจมาเลย นอกจากสอนหนังสือ    แต่ก็ยังดี  ที่มีหลายหลักสูตร  ได้นำนักธุรกิจที่มีประสบการณ์จริง และมีการศึกษาสูงด้วย  มาเป็นวิทยากรเสริม    ก็ทำให้หลักสูตรนั้น ๆ ดูดีไปด้วย       ผู้เขียนเคยทำแผนธุรกิจในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ให้กับองค์กรธุรกิจมาประมาณครึ่งร้อยกิจการ     นอกจากนี้  ผู้เขียนได้เคยอ่าน แผนธุรกิจ  มามากมายหลายร้อยชิ้น  ซึ่งหมายถึงแผนธุรกิจ ของธุรกิจที่แตกต่างประเภทกันจำนวนมาก     จึงได้เห็นจุดเด่น  จุดด้อย   ข้อจำกัด และแนวทางในการจัดทำแผนธุรกิจให้สมบูรณ์และเข้าใจง่าย  เพื่อให้คนที่พิจารณาแผนธุรกิจนั้น ๆ  คล้อยตามเห็นด้วย   จนนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้    ซึ่งในบทความชิ้นนี้จะเขียนตามประสบการณ์ให้เข้าใจอย่างง่าย   แม้มีบางส่วน  ต้องใช้วิชาการด้านการเงินและบัญชีมาเกี่ยวข้อง  ก็จะอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด เท่าที่จะทำได้  เพื่อให้ผู้ที่สนใจ  สามารถนำไปประยุกต์ใช้  และทำแผนธุรกิจของกิจการตนเอง  ได้อย่างเหมาะสมต่อไป
ที่มาhttps://group.wunjun.com/#!/tiensstar/topic/137771-3393

อัพเดทล่าสุด