ในอดีตผู้บริหารการตลาดได้พยายามใช้ “Brand building” เพื่อสร้าง “Brand image” ให้แข็ง เพื่อรักษา “Brand loyalty” การสร้างกำไรเพิ่ม มักเน้นที่ปริมาณและมูลค่าการขายจากส่วนแบ่งตลาดที่ขยายตัว อันสืบเนื่องจากการได้มาซึ่งผู้ซื้อรายใหม่ แต่สภาพตลาดที่แข่งขันอย่างรุนแรง โดยผู้ซื้อมี “ทางเลือก” (Choices) มากขึ้น ประกอบกับความพร้อมที่จะ “เปลี่ยนใจ” ประกอบกับลูกค้ารายใหม่หายากขึ้น ลูกค้ารายเก่าก็พร้อมจะจากไป หากมิได้มีการบริหารจัดการที่ดี ที่ถูกต้อง CRM จึงเกิดขึ้นเพื่อดูแลรักษา “ลูกค้าเก่า” ให้อยู่กับผู้ขายได้ยาวนาน โดยใช้ความพยายามและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการสร้างและหาลูกค้าลูกค้ารายใหม่
การก้าวเข้าสู่ยุคสื่อสารระบบดิจิตอลทำให้ผู้บริหารการตลาดสามารถจัดเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าอย่างละเอียดได้มากเท่าที่ต้องการ และนำมาวิเคราะห์เพื่อปฏิบัติการทางการตลาด ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อคงไว้ซึ่งลูกค้าเก่า
ดังนั้น CRM คือ ปัจจัยที่อยู่ที่นอกเหนือจากตัวสินค้าหรือบริการที่ได้รับ การสร้างความพึงพอใจ (Satisfaction) ให้เกิดกับลูกค้า คือการที่ลูกค้าจะได้รับสิ่งที่ตนเองพึงพอใจที่นอกเหนือจากการคาดหวังไว้ ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควรในการสร้างสมประสบการณ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาลูกค้าเก่าให้คงอยู่ตลอดไป ซึ่งกลุ่มลูกค้าเหล่านี้เมื่อเป็นลูกค้ามาเป็นระยะเวลานานก็จะเป็นกลจักรสำคัญในการบอกต่อ (Word of mouth) เพื่อการสร้างลูกค้าใหม่ (New Customer) ในอนาคต โดยที่ธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนและสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ขององค์กรขึ้นมาเอง
หลักการสำคัญของ CRM
1.1 ปลูกจิตสำนึก
กระบวนการ CRM ควรเริ่มจากบุคคลภายในองค์กร โดยบุคลากรทุกคนต้องมีใจร่วมกัน และพร้อมที่จะสร้าง CRM ให้เกิดขึ้น นับตั้งแต่พนักงานระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานรับโทรศัพท์ พนักงานต้อนรับ พนักงานในฝ่ายต่างๆ จนกระทั่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกค้าเข้ามาภายในบริษัท พนักงานรักษาความปลอดภัยจะเป็นด่านแรกที่จะถูกสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากลูกค้า ดังนั้นการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส การแต่งกายสุภาพเรียบร้อย และสามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่ลูกค้าได้ โดยไม่ต้องมีการสอบถามจากฝ่ายอื่นๆ ให้วุ่นวาย หรือสามารถใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่ช่วยในการสืบค้นได้รวดเร็ว หรือพนักงานรับโทรศัพท์จะต้องเป็นผู้ที่สามารถตอบคำถามได้ทุกๆ เรื่อง ไม่ใช่มีการโอนสายถามกันไปมาจนกระทั่งสายหลุดอย่างที่ผู้บริโภคในปัจจุบันกำลังประสบอยู่จากหลายๆ องค์กร เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่พนักงานจะต้องรับผิดชอบในงานหน้าที่ของตนเอง เพื่อเป็นการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าในเบื้องต้น หรือแม้กระทั่งการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตที่มีปฏิสัมพันธ์ผ่านตัวอักษร ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิต่างๆ ของผู้บริโภคและการเก็บรักษาความลับของลูกค้าในเรื่องข้อมูลต่างๆ
1.2 วิเคราะห์ความต้องการเบื้องต้นของลูกค้า
องค์กรต้องมองย้อนกลับไปในฐานะที่ตนเองเป็นลูกค้า ว่าถ้าเราเป็นผู้บริโภคที่มาซื้อสินค้า เราต้องการอะไร เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่เราจ่ายไป ซึ่งสื่อดิจิตอลสามารถทำได้อย่างสะดวกทั้งผ่านระบบโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ต โดยการสอบถามหรือการสร้างแบบสอบถามออนไลน์
1.3 เก็บรวบรวมข้อมูล
การสำรวจข้อมูลต่างๆ ของลูกค้าว่าลูกค้าแต่ละรายมีความต้องการ (Needs & Wants) อะไร โดยต้องมองให้เห็นความแตกต่างของลูกค้าแต่ละราย เช่น วันเกิดของลูกค้า หรือข้อมูลความชอบ ทัศนคติ หรืออื่นๆ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้สะดวกยิ่งขึ้นและสามารถเก็บไว้ในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้อย่ายาวนานและพร้อมจะดึงกลับมาใช้ใหม่ได้ทุกครั้งเมื่อผู้บริโภคคนเดิมกลับมาใช้บริการ
1.4 จัดทำฐานข้อมูล
เมื่อสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ต้องมีการจัดเก็บให้เป็นระบบที่เอื้อต่อการดึงข้อมูลไปใช้งาน ซึ่งผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญในการลงทุนด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อนำมาช่วยการจัดเก็บระบบข้อมูล รวมทั้งการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับบุคลากรที่รับผิดชอบในส่วนงานดังกล่าว
การเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงผู้บริโภคนั้นก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างแฟนพันธุ์แท้ให้กับธุรกิจ ปัจจุบันมีสื่อให้เลือกมากมายหลายประเภทแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นต้องใช้สื่อทุกประเภทที่มีอยู่ หากแต่ต้องวิเคราะห์ว่าสื่อใดนั้นลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายและบ่อย นอกจากนี้สื่อเหล่านั้นยังต้องมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของลูกค้าทีมีความภักดีตามมาด้วย (จาริณี แซ่ว่อง, 2552 : ออนไลน์)
การนำเอาเทคโนโลยีของระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของการจดจำรายชื่อลูกค้า และนำเอารายชื่อการติดต่อกับลูกค้าของ แต่ละแผนก ไม่ว่าจะเป็นแผนกขาย แผนกบัญชี แผนกส่งของทุกแผนกเข้ามารวมไว้ด้วยกันทั้งหมดในระบบคอมพิวเตอร์ จากนั้นก็นำข้อมูลทั้งหมดมาประมวล ประเมิน และวิเคราะห์ว่าลูกค้าคนนี้มีบุคลิกอย่างไร จากการซื้อสินค้าตัวนี้ อันจะทำให้เราสามารถเชื่อมโยงไปสู่การขายในครั้งต่อไปได้ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงความชอบที่เป็นเฉพาะตัวของลูกค้ารายนั้นได้อีกด้วย โดยต้องมั่นใจว่าสินค้าที่ส่งไปถึงลูกค้ารายนั้นต้องไม่มีความบุบสลาย หรือในรายที่ให้ความสำคัญในเรื่องราคาก็ต้องนำเสนอราคาที่ดีที่สุดให้กับเขาเสมอ และเป็นราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพของสินค้าและบริการ อีกทั้งในรายที่เป็นลูกค้าที่มีความต้องการให้เราบริการหลังการขายให้ ทันทีที่ปิดการขายเสร็จก็ต้องติดตามสอบถามความพึ่งพอใจลูกค้าในทันที (ชลิต ลิมปนะเวช, 2548 : ออนไลน์)
นักการตลาดในยุคปัจจุบันนี้จะอาศัยวิธีการทำตลาดแบบเดิม เช่น การทำวิจัยตลาด การโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการบริหารงานขายไม่ได้อีกต่อไป แต่จะมีความรู้ความชำนาญในเรื่องอื่น ๆ ด้วย อาทิ การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management หรือ CRM ) โดยบริษัทต้องจัดกลุ่มลูกค้าออกตามความต้องการ ความสนใจ รสนิยม มูลค่าในการซื้อสินค้า รวมถึงประวัติส่วนตัว เพื่อที่บริษัทจะได้นำเสนอสินค้าและบริการ รวมทั้งแจ้งข่าวสารข้อมูลถึงลูกค้าแต่ละรายได้อย่างถูกต้องและตรงความต้องการในลักษณะที่เป็น One-to-One Marketing หรือการทำตลาดแบบตัวต่อตัว โดยบริษัทจะต้องมีการอัพเดทข้อมูลของลูกค้าตลอดเวลา รวมถึงต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย
นอกจากการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้บริโภคแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าด้วย (Partner Relationship Managementหรือ PRM) นอกจากนี้การทำ Database marketing and data-mining เพื่อนำเอาข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่มาหา Trend ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาสินค้าออกมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า นับเป็นอีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจสำหรับนักการตลาดยุคใหม่ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อทำตลาดผ่านสื่อดิจิตอลที่สามารถสื่อสารระหว่างผู้ขายและผู้บริโภคได้โดยตรง
ที่มา https://www.sara-dd.com/index.php?option=com_content&view=article&id=9:crm-customer-computer-digital-market&catid=25:the-project&Itemid=72