ธุรกิจ การตลาด กลยุทธ์ การวิจัยธุรกิจ เพื่อการขยายฐานตลาด


631 ผู้ชม


ท่ามกลางภาวะการแข่งขันสูงในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลา           การดำเนินธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์  แผนงาน กิจกรรมที่ชัดเจน  สอดคล้องกับแนวโน้มสภาพความเป็นจริงของตลาด และสามารถแข่งขันได้ในวงการธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นองค์ประกอบสำคัญย่อมเป็นการสร้างโอกาสให้สามารถดำเนินธุรกิจในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล    การดำเนินการทางธุรกิจที่ทำให้สินค้าและบริการผ่านจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค หรือผู้ใช้โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ทางด้านการตลาด  การวิจัยด้านการตลาดจะสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นและความต้องการของกิจการที่จะต้องมีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีหลักเกณฑ์ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีการแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้น    นอกจากนั้นการวิจัยการตลาดยังช่วยให้ได้ข้อมูลและข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจ เช่น การวิจัยตลาดเพื่อประเมินการยอมรับของผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด  การประเมินทำเลที่ตั้งใหม่ของร้านค้า  การประเมินประสิทธิผลของการโฆษณาทางโทรทัศน์หรือสื่อประชาสัมพันธ์ที่มีต่อผลิตภัณฑ์

          การวิจัยธุรกิจเป็นกระบวนการที่นำแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์  มาใช้รวมกับแนวคิดทางการตลาดและการบริหาร   โดยดำเนินการอย่างมีระเบียบและกฎเกณฑ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล      การดำเนินงานกับข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ   ซึ่งการวิจัยทางธุรกิจจะมีประโยชน์อย่างมากในการใช้แก้ปัญหา และเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและสามารถลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจได้    ปัจจุบันองค์กรธุรกิจต่างๆ    ทั้งขนาดใหญ่  ขนาดกลาง  รวมไปจนถึงขนาดเล็ก  ต่างก็พยายามดำเนินการวิจัยเชิงธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการขององค์กรให้ดีขึ้นและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุดตามผลการวิจัยที่ค้นพบ 

          การวิจัยธุรกิจในปัจจุบันที่องค์กรต่างๆ  พยายามจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาข้อมูลของกลุ่มผู้บริโภคสามารถจัดประเภทโดยถือเกณฑ์เทคนิคหรือหน้าที่ การศึกษาโดยการทดลอง การสำรวจ หรือการสังเกต  การจัดประเภทการวิจัยตามจุดมุ่งหมาย หรือหน้าที่แสดงลักษณะของปัญหาของธุรกิจซึ่งมีอิทธิพลต่อทางเลือกของวิธีการต่างๆ (มหาวิทยาลัยเกริก, 2550)   

          การวิจัยด้วยการทดลองให้กลุ่มตัวอย่างรับสื่อประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาเป็นการวิจัยรูปแบบหนึ่งที่นักวิจัยการตลาดนิยมนำมาใช้ในการกระบวนการวิจัยบ่อยครั้ง    แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นแต่พบว่าการรับสื่อประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาสามารถสร้างความจดจำได้  แต่มักจะเป็นการจดจำได้ในคุณลักษณะภายนอกของตัวผลิตภัณฑ์มากกว่าคุณสมบัติภายหรือคุณค่าของผลิตภัณฑ์นั้นอย่างแท้จริง   และถึงแม้ว่าจะแสดงถึงการจดจำได้แล้วนั้นก็ยังไม่อาจบ่งชี้ว่าผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ในอนาคต     นอกจากนี้การดำเนินการวิจัยเชิงทดลองนั้นหากตัวแปรที่นำมาใช้ศึกษามีความคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกันย่อมให้ผลการศึกษาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก   โดยเฉพาะหากนำมาเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพในการสื่อสารด้วยแล้วนั้นจำเป็นต้องมีการควบคุมปัจจัยภายนอกต่างๆ ให้ครอบคลุมเพื่อให้การศึกษาและผลที่ได้รับสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของงานวิจัยที่วางไว้แต่ต้น    โดยอาจจำเป็นต้องควบคุมตัวแปรอื่นๆ ที่จะมีผลต่อต่องานวิจัยครั้งนี้  อาทิ  กลุ่มอายุ  เพศ  อาชีพ  ระดับการศึกษา  เป็นต้นเพื่อพิจารณาว่าตัวแปรอื่นเข้ามามีอิทธิพลต่อตัวแปรตามหรือไม่อย่างไร  อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อแนวทางการวางแผนการตลาดของผลิตภัณฑ์ต่อไปในอนาคตได้ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,  2551)

          ผลจากการค้นคว้าและวิจัยในอดีตสะท้อนว่าผู้ที่ได้รับข้อมูลการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาอย่างระเอียดจะได้มีความรู้  ความรู้สึก  และสามารถสังเคราะห์ รวมไปถึงรู้สึกใกล้ชิดกับผลิตภัณฑ์มากกว่าการได้มองเห็นหรือ  ได้รับข่าวสารเพียงสั้นๆ     ดังนั้นการทำการสื่อสารการตลาดหรือประชาสัมพันธ์จึงควรมีข้อความกล่าวถึงคุณสมบัติของสินค้าที่บ่งบอกเอกลักษณ์และความเป็นตัวตนของผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำและเข้าใจ   รวมไปถึงการเกิดความต้องการที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาทดลองใช้     หรืออาจสรุปได้ว่าเพียงรูปลักษณ์ของสินค้าที่มองเห็นในหนังสือ หรือกระดาษโฆษณาอาจยังไม่สื่อถึงความเป็นตัวตนของตัวสินค้า   หากแต่ตัวหนังสือประกอบหรือคำอธิบายคุณลักษณะของสินค้าจะช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น   อันจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในการพิจารณาเปรียบเทียบความรู้สึกและความต้องการของตนต่อตัวผลิตภัณฑ์นั้นว่ามีความใกล้ชิดหรือน่าสนใจในการจะทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด     การมีเพียงข้อความอธิบายหรือบทบรรณาธิการเพียงอย่างเดียว  หรือมีเพียงรูปภาพของสินค้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถสื่อสารถึงผู้บริโภคได้ครบถ้วน    หากแต่เมื่อนำวิธีการทั้ง 2 แบบมาใช้ร่วมกันน่าจะส่งผลดีต่อเจ้าของผลิตภัณฑ์มากที่สุด  อีกทั้งในส่วนของผู้บริโภคก็สามารถรับรู้คุณสมบัติและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ไปพร้อมๆ กันซึ่งจะง่ายต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ง่ายขึ้นเมื่อพิจารณาจากการสื่อสารทั้ง 2 รูปแบบ

  ที่มา https://www.sara-dd.com/index.php?option=com_content&view=article&id=88:business-research-marketing&catid=25:the-project&Itemid=72

อัพเดทล่าสุด