เทคโนโลยี สารสนเทศ การสื่อสาร ความเชื่อ ความเชื่อเรื่องโชคชะตาและการทำนายดวงชะตาของคนไทย


713 ผู้ชม


  จากผลการสำรวจของเอแบคโพลล์ (2550  อ้างถึงใน ข่าวสด, 2550) ในเรื่องหมอดูกับอนาคตประเทศไทยในสายตาประชาชน ศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวนทั้งสิ้น 1,456 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน 2550 พบว่า ร้อยละ 53.8 เคยหาหมอดู อ่านคำทำนาย หรือตรวจดวงชะตาของตนเองในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 46.2 ไม่เคย

           ผลสำรวจพบด้วยว่า เรื่องที่ประชาชนได้ตรวจดวงชะตาใน 5 อันดับแรกคือ ร้อยละ 73.3 ดูเรื่องการเงิน ร้อยละ 68.3 ดูเรื่องการงาน ร้อยละ 58.0 ดูเรื่องความรัก ร้อยละ 48.3 ดูเรื่องครอบครัว และร้อยละ 43.9 ดูเรื่องสุขภาพ ซึ่งผลของการตรวจดวงชะตาโดยภาพรวมพบว่า ส่วนใหญ่ได้รับผลการทำนายในทิศทางที่ดีเหมือนเดิม แต่มีเพียงร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ได้รับผลการทำนายดวงชะตาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะผลการทำนายเรื่องการเงินและฤกษ์ยามที่เป็นมงคล พบว่ากว่า 1 ใน 3 ได้รับผลการทำนายในลักษณะที่แย่ลง ประชาชนที่ถูกสอบถามส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.1 ระบุว่าเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งต่อผลการทำนาย ในขณะที่ร้อยละ 15.7 ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 7.0 เชื่อ และร้อยละ 10.1 ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 2.1 ไม่เชื่อเลย

          ในกลุ่มประชาชนที่เอแบคโพลล์ศึกษาเหล่านี้ส่วนใหญ่จึงไม่ปฏิเสธผลการทำนายของหมอดูเสียทั้งหมด อาจเป็นเพราะคำกล่าวที่ว่าถ้าไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ยังคงมีอิทธิพลในความรู้สึกนึกคิดของคนเหล่านี้อยู่มาก ที่น่าสนใจคือ ประชาชนที่ถูกศึกษาครั้งนี้ยังได้ติดตามคำทำนายของหมอดูเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาด้วย ซึ่งพบว่า ร้อยละ 29.8 เคยติดตาม ขณะที่ร้อยละ 70.2 ไม่เคยติดตาม ซึ่งในกลุ่มที่เคยติดตามส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 80 รับทราบทิศทางผลการทำนายของหมอดูเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไปในทิศทางที่แย่เหมือนเดิมถึงแย่ลง

           ผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลล์ (2546) ระบุว่ามีคนถึงร้อยละ 86.66 ที่เห็นว่าหมอดูมีอิทธิพลต่อสังคมไทย โดยเห็นว่าสังคมไทยผูกพันกับเรื่องของโหราศาสตร์ หมอดูเป็นที่พึ่งทางใจได้ทางหนึ่ง และคนไทยเชื่อในเรื่องของบาปบุญคุณโทษ

           ผลวิจัยข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การทำนายทายทักของบรรดาหมอดูยังคงมีอิทธิพลและบทบาทสำคัญต่อความรู้สึกนึกคิดและการประพฤติปฏิบัติของประชาชนค่อนข้างมาก ซึ่งคนไทยที่เชื่อถืออาจใช้ข้อมูลที่ได้รับจากการทำนายเป็นเพียงข้อมูลประกอบส่วนหนึ่งใช้ในการตัดสินใจร่วมกับแหล่งข้อมูลอื่น ๆ และดำเนินชีวิตบนความไม่ประมาท

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (2549) ดำเนิน การสำรวจ “คนกรุงเทพฯกับการใช้บริการหมอดู”  จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการหมอดูพบว่า ลักษณะการพึ่งพาธุรกิจหมอดู แยกออกเป็นกลุ่มที่ดูหมอเป็นประจำร้อยละ 23.0 กลุ่มที่ดูหมอทุกครั้งที่มีโอกาสร้อยละ 33.1 และกลุ่มที่ดูหมอเฉพาะเวลาที่มีปัญหาร้อยละ 38.4 และที่เหลืออีกร้อยละ 5.6 นั้นจะพึ่งบริการหมอดูตามความสะดวก อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับพฤติกรรมการดูหมอของคนกรุงเทพฯ ที่ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยทำการสำรวจในปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันมาสนใจพึ่งพาธุรกิจหมอดูเป็นประจำมากขึ้น

           ปัญหายอดนิยม 3 อันดับแรกที่นำไปปรึกษาหมอดู คือ ปัญหาในเรื่องการงาน ปัญหาเรื่องการเงิน และปัญหาความรัก ซึ่งแตกต่างจากผลการสำรวจในครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือคนกรุงเทพฯเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาในเรื่องการงานมากขึ้นอย่างชัดเจน

           ผลการสืบค้นผลกระทบของความเชื่อและพฤตติกรรมของการดูดวงผ่านโทรศัพท์ต่อสังคมไทย   พบว่าผลกระทบของความเชื่อและพฤตติกรรมของการดูดวงผ่านโทรศัพท์มีดังต่อไปนี้

           1.  ความสะดวกของการให้บริการดูดวงผ่านทางโทรศัพท์ลดปัญหาการด้านระยะทางและระยะเวลาในการเดินทางลง  และค่าใช้จ่ายต่อครั้งมีรายคาถูกกว่าการปรึกษากับหมอดูแบบตัวต่อตัว   ส่งผลให้มีความถี่ของการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น   ซึ่งถึงแม้ราคาของการใช้บริการต่อครั้งจะมีราคาไม่แพงนักแต่เมื่อรวมการใช้บริการหลายๆ ครั้งอาจมีราคาสูงกว่าการพบหมูดูแบบนานๆ ครั้งในอดีต    นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีระบบ SMS  ในการให้บริการแบบรายวันเพิ่มเข้ามาในการให้บริการรายงานผลแบบวันต่อวันเพิ่มขึ้นอีกด้วย

           2. การตลาดของกลุ่มผู้ให้บริการดูดวงได้มุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา  วัยรุ่นเริ่มใช้บริการผ่านระบุ 1900 ในหลายบริการเพิ่มขึ้น  ทั้งการตอบคำถามชิงรางวัล    การหาเพื่อนทางโทรศัพท์  และการทำนายดวงชะตา เป็นต้น   ซึ่งนับเป็นอีกมุมมองที่น่าสนใจเพราะกลุ่มเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเลียนแบบกันและมีแนวโน้มเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อ  หากใช้บริการโดยขาดวิจารณญาณอาจเป็นการสิ้นเปลืองทรัพย์สินและถูกหลอกลวงให้ใช้จ่ายมากเกินจำเป็น

           3.  ความสะดวกในการใช้บริการดูดวงทางโทรศัพท์หากผู้ใช้บริการเป็นผู้ขาดความรู้และความชั่งใจในการใช้บริการอาจส่งผลกลายเป็นการมอมเมา  ผู้ใช้บริการอาจขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตและไม่สามารถกระทำการเรื่องต่างด้วยตัวเองได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการดูดวงตลอดเวลา  กลายเป็นการบั่นทอนรายได้ สูญเสียเงินตราโดยใช่เหตุ  
ที่มา https://www.sara-dd.com/index.php?option=com_content&view=article&id=214:fait-fortune-and-predict-the-future&catid=25:the-project&Itemid=72

อัพเดทล่าสุด