การจัดการท่องเที่ยวแบบชุมชนมีส่วนร่วม สามารถดำเนินการได้ในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวทางวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรม โดยในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ จะพบว่ามีการจัดการในพื้นที่ที่ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น บ้านอุ้งฝาง จังหวัดตาก เกาะยาว จังหวัดพังงา เป็นต้น ในขณะที่การจัดบ้านพักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท ทางประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวทางวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรม มักจะดำเนินการด้านการท่องเที่ยวที่นำเสนอเอกลักษณ์ของชุมชน เช่น บ้านปลายโพงพาง จังหวัดสมุทรสงคราม บ้านเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี บ้านโคกโก่ง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น
กิจกรรมท่องเที่ยวแบบชุมชนมีส่วนร่วมนั้น สิ่งหนึ่ง ชุมชนต้องจัดบริการด้านการมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบสังคมชนบท เป็นจุดขายที่สำคัญการจัดกิจกรรมที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมในชนบท จึงเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในแหล่งชุมชน แต่ต้องอยู่ภายใต้ศักยภาพและความพร้อมของชุมชนเป็นหลัก
บริการที่เสนอให้ ได้แก่ วิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายแบบสังคมชนบท วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ความปลอดภัย ความสะอาดห้องพักพร้อมอาหาร และกิจกรรมการท่องเที่ยว
ในการจัดการเป็นการร่วมกิจกรรมที่พักโฮมสเตย์ ที่มีการรวมกลุ่มการจัดตั้งในรูปกลุ่ม ชมรม สหกรณ์ ซึ่งสมาชิกและคนในชุมชนจะต้องมีความเข้าใจและมีส่วนร่วมในด้านการจัดการในแต่ละด้าน ดังนี้
1. บ้านพัก
ควรมีโครงสร้างที่ดี ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ไกลจากเมือง หรือพื้นที่เทศกาล ความเต็มใจของสมาชิกในครอบครัวต่อการรับผู้มาเยือน และควรมีสิ่งต่าง ๆ เช่นที่นอน หมอน น้ำประปา ห้องน้ำสะอาด ฯลฯ รวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
2. การกำหนดระเบียบและข้อปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว
วัฒนธรรม จารีต ประเพณีและความเชื่อของแต่ละชุมชนอาจแตกต่างกัน ดังนั้นการกำหนดระเบียบและข้อปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว เช่นการแต่งกาย การนอน การกำหนดเวลาเข้าออกบ้านพัก อาจจะแตกต่างไปในแต่ละชุมชน
3. การต้อนรับ
คนไทยเป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การต้อนรับนักท่องเที่ยวดุจดังญาติมิตรจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความอบอุ่น ควรมีการจัดพื้นที่ต้อนรับในลักษณะจุดศูนย์กลางของชุมชน เพื่อการดำเนินการต้อนรับ ลงทะเบียน การเข้าพัก หรือการให้ข้อมูลการท่องเที่ยว อาจต้อนรับด้วยวัฒนธรรมประจำถิ่น เช่น ภาคอีสาน / เหนือ ต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ
4. การสำรองที่พัก
จองทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ การจองที่พักควรได้รับการตอบสนองทันที ควรมีผู้ประสานงานส่งรายละเอียดให้กับนักท่องเที่ยว และแจ้งข้อมูลรายละเอียดให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
5. การลงทะเบียน
ผู้เข้าพักต้องลงทะเบียนเพื่อเป็นหลักฐานและอ้างอิงในอนาคต ส่วนนี้อาจไม่ต้องเป็นรูปแบบเหมือนธุรกิจโรงแรม แต่ควรเป็นข้อมูลแบบง่าย
6. การบริการอาหาร
เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องพักกับเจ้าของบ้าน อาหารมื้อใดอาหารมื้อหนึ่งจึงมีความจำเป็น การนำเสนอรายการอาหารท้องถิ่นจึงเป็นเสน่ห์และจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ ทั้งนี้ต้องพิจารณาข้อมูลนักท่องเที่ยว เช่น เชื้อชาติ ศาสนา งบประมาณในการจัดทำอาหาร ปัจจัยฤดูกาล อาหารประจำท้องถิ่นและจำนวนนักท่องเที่ยว
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่า การท่องเที่ยวแบบสัมผัสวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชุมชนในชนบทนั้น เป็นการท่องเที่ยวแบบชุมชนมีส่วนร่วมโดยการรวมกันเป็นกลุ่ม ชมรม หรือสหกรณ์ ในการจัดการบริหารแก่นักท่องเที่ยวที่จะมาสัมผัสวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งชุมชนอาจมีการจัดที่พักหรือเรียกว่า “โฮมสเตย์” ไว้บริการ ทั้งนี้การมีส่วนร่วมในการจัดการ การบริการแก่นักท่องเที่ยวเพื่อแสดงเอกลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต โดยชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการในด้าน ร่วมคิดวางแผน ร่วมทำกิจกรรม ร่วมดำเนินการและร่วมรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ชุมชน