ธุรกิจ การบริหารธุรกิจ การพัฒนาองค์กร แบรนด์ กลยุทธ์ การปรับภาพลักษณ์ องค์กรของธุรกิจ


797 ผู้ชม


    ในปัจจุบันการปรับภาพลักษณ์ของตราสินค้าสามารถสร้างความรุ่งโรจน์ให้เกิดขึ้นกับสินค้าทุกชนิดและทำให้สินค้าดูมีคุณค่าคุ้มราคามากกว่าเดิม     แม้การปรับภาพลักษณ์ตราสินค้าจะเป็นส่วนสำคัญต่อการตลาดอย่างแท้จริง แต่จำเป็นต้องใช้ทักษะและกลยุทธ์เพื่อสร้างความสำเร็จ    ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคมีการรับรู้มากกว่าในอดีต   องค์กรทางธุรกิจจะดำเนินการเพิ่มราคาสินค้าโดยไม่มีการปรับปรุงคุณภาพอย่างไม่มีเหตุผลไม่ได้อีกต่อไป  (บิสิเนสไทย,  2550 : ออนไลน์)

          ความคาดหวังที่ลูกค้ามีต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กรนั้นกว้างไกลกว่าคำว่า ตราสินค้า หรือโลโก้  แต่ยังเป็นเรื่องราวทั้งหมดที่ผู้บริโภคเกิดการรับรู้เกี่ยวกับองค์กรเป็นเวลายาวนานจนก่อให้เกิดความเชื่อถือและไว้ใจ    ซึ่งการสร้างหรือปรับภาพลักษณ์ตราสินค้านั้นจะทำให้ลูกค้าเข้าใจตราสินค้าเหมือนกับที่บริษัทผู้ผลิตต้องการให้เป็นให้มากที่สุด   ซึ่งมีวิธีการบอกโดยการสร้างหรือปรับตราสัญลักษณ์และสี (Corporate Identity) ที่ใช้ขององค์กรให้เข้าใจได้ง่าย ไม่สับสนกับองค์กรอื่น ได้แก่ สัญลักษณ์องค์กร รูปแบบสีที่ใช้    สำหรับองค์กรที่ก่อตั้งมานานยิ่งมีความจำเป็นจะต้องปรับภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัย    ซึ่งการสร้างหรือปรับภาพลักษณ์นั้น จำเป็นจะต้องทำในวาระเดียวทั้งระบบ แทนการออกแบบแบบต่างกรรมต่างวาระ ทำให้ไปกันคนละทิศละทาง ยากในการสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจ แต่อาจจะทยอยเปลี่ยนก็ได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการต้องแก้ไขจากที่มีอยู่เดิมทั้งหมดในวาระเดียว (ชาติชาย สุภัควนิช,  2551 : ออนไลน์) 

          จากผลการค้นคว้าข้อมูล  สามารถกล่าวได้ว่ากลยุทธ์การปรับภาพลักษณ์องค์กรของธุรกิจการสื่อสารอย่างมีประสิทธิผลกับองค์กรอย่างยิ่งในการครองใจผู้ใช้บริการ    เมื่อองค์กรธุรกิจมีสินค้าและบริการที่แตกต่าง   สามารถสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นกับสินค้าและบริการของตนได้    ผลตอบรับที่ตามมาก็คือ ตราสินค้าหรือสินค้าจะมีการเติบโตที่ยั่งยืน เพราะลูกค้าให้การยอมรับ และยอมที่จะจ่ายแพงหากสินค้าและบริการนั้นเป็น สิ่งที่เขาพึงพอใจ   ทั้งนี้กลยุทธ์การปรับภาพลักษณ์องค์กรของธุรกิจการสื่อสารอย่างมีประสิทธิผลสามารถดำเนินได้พิจารณาจากกระบวนการบริหารการตลาดโดยสามารถแบ่งการวางกลยุทธ์เป็นขั้นๆ โดย

          ขั้นที่ 1 Market & Self Analysis : ต้องทำการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันของตัวเองว่า สินค้า หรือตราสินค้าอยู่จุดใด ในใจผู้บริโภคเป้าหมาย

          ขั้นที่ 2 Positioning : ตัวตนของตราสินค้า เพราะเป็นจุดที่องค์กรจะใช้ในการ สื่อสารกับลูกค้าตลอดไปอย่างไม่หลงทาง และเป็นจุดที่ยากที่สุด ต้องอาศัยประสบการณ์ และความเข้าใจในการพัฒนาตราสินค้าอย่างต่อเนื่อง

          ขั้นที่ 3 Communication : การสื่อสาร เมื่อกำหนดตัวตนของตราสินค้าแล้วดำเนินการสื่อสารด้านการตลาดต่อกลุ่มลูกค้าตามเป้าหมายที่วางไว้ในตอนแรก

          ขั้นที่ 4 Evaluation : ดำเนินการประเมินผลองค์กรหรือตราสินค้าอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อจะรู้ว่าต้องปรับต้องแก้ตรงไหน มีอะไรต้องปรับปรุงบ้าง   เพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงต่อไป

          นอกจากนี้ในด้านการสื่อการการตลาดองค์กรที่ดำเนินการปรับภาพลักษณ์องค์กรจำเป็นต้องนำแนวคิดด้านการตลาดมาปรับใช้ร่วมในการปรับภาพลักษณ์องค์กรโดยพิจารณาจาก

          1. ใช้จุดแข็งของตราสินค้าให้เป็นประโยชน์

              เสนอสิ่งพิเศษที่แตกต่างแต่ดีกว่า และเหมาะสมกับสิ่งที่ผู้บริโภคใช้เพื่อเชื่อมโยงกับแบรนด์เดิมเมื่อก่อนหน้านี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อกล่าวถึง Crest ผู้บริโภคจะนึกถึงรอยยิ้มที่สมบูรณ์สวยงาม Crest Vivid White ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการยกระดับขึ้นมานี้สร้างปัจจัยเชื่อมโยงกับตราสินค้าด้วยการเพิ่มความขาวให้เท่าเทียมกับความงามและความสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี กุญแจสู่ความสำเร็จคือ การทำให้ผู้คนเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้สินค้าของคุณมีค่าเมื่ออยู่ในสถานะตราสินค้าที่ได้รับการยกระดับและเมื่อราคายกระดับขึ้นมาเช่นกัน

          2. เน้นใช้การดีไซน์

              ดีไซน์รูปแบบที่ยาก สลับซับซ้อนและสวยงามเป็นหนึ่งในหนทางอันรวดเร็วในการสื่อสารว่าสินค้ามีคุณภาพดีกว่าเดิม ผู้บริโภคได้รับการฝึกฝนให้คำนึงถึงความสวยงามเมื่อต้องประเมินคุณค่า ยิ่งสินค้าดูน่าดึงดูดมากเท่าใด ผู้บริโภคยิ่งมองว่าสินค่ามีคุณค่ามากขึ้นเท่านั้น

              หนึ่งในวิธีการที่ง่ายที่สุดเพื่อบ่งบอกว่าสินค้าได้รับการยกระดับแล้วคือ การสร้างให้เป็นหนึ่ง ไม่ใช่แค่ทำให้เหมือนหนึ่ง ตัวอย่างเครื่องซักผ้า Whirlpool Duet รุ่นใหม่ที่มีระบบดูแลรักษาใยผ้าช่วยปรับปรุงระบบการซักผ้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นพร้อมกับรูปลักษณ์ที่ทันสมัยในตัว เครื่องซักผ้ารุ่นใหม่ของตราสินค้านี้ส่งสัญญาณบอกให้ผู้บริโภครู้ว่าจริงๆ แล้ว ช่วงเวลาแห่งการซักผ้าสามารถเป็นประสบการณ์ที่รื่นรมย์ได้

          3. จำกัดช่องทางการจำหน่าย

              การจำกัดช่องทางการจำหน่ายเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพในการบ่งชี้ถึงสินค้าและบริการที่ได้รับการยกระดับแล้ว ถ้าสินค้าจัดจำหน่ายอยู่ทุกที่ ต้องสามารถแยกให้เห็นความโดดเด่น พร้อมทั้งกำหนดสภาพแวดล้อมที่บริษัทตัดสินใจจะวางขายสินค้า ซึ่งจะบ่งบอกถึงทิศทางของบริษัทในการกำหนดตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างชัดเจน

          4.  สร้างตราสินค้าด้วยฉลากเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม

              จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ซื้อสินค้าที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมจะได้ชื่อว่ามีการศึกษาและตระหนักต่อปัญหาสังคมมากกว่าผู้ซื้อทั่วๆ ไป และบุคคลเหล่านี้มักจะอยู่ในตลาดสินค้าระดับสูง ปัจจุบัน สินค้าสีเขียวเข้าสู่ตลาดกระแสหลักแล้ว และผู้บริโภคทุกกลุ่มตลาดต่างเต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มสำหรับสินค้าที่พวกเขาเชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้

              การยกระดับตราสินค้าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นตลอดกาล แต่ทั้งนี้ ลองย้อนกลับมาคิดก่อนที่จะมุ่งเดินไปข้างหน้าว่าในที่สุดแล้ว สินค้ายกระดับจากตราสินค้าคุณจะแตกต่างและมีความสำคัญกว่าเดิมอย่างไร และทำไมผู้บริโภคสมควรจ่ายเพื่อสิ่งพิเศษที่คุณเสนอให้นี้ (บิสิเนสไทย,  2550 : ออนไลน์)    ทั้งนี้เมื่อดำเนินการปรับภาพลักษณ์องค์กรแล้วนั้นประโยชน์ของการสร้างตราสินค้าผลที่ตามมาก็คือตราสินค้าหรือสินค้าของเราจะมีการเติบโตที่ยั่งยืน เพราะลูกค้าให้การยอมรับ และยอมที่จะจ่ายแพงหากสินค้าและบริการนั้นเป็นสิ่งที่เขาพึงพอใจ 

              การสร้างตราสินค้าและปรับภาพลักษณ์ตราสินค้าเป็นเรื่องของความเชื่อถือ การการันตี คุณภาพ การออกแบบ ตลอดจนส่วนผสมของสินค้าที่มาจากผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของ ตราสินค้านั้นๆ ดังนั้นการที่จะสร้างให้ ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในตราสินค้าของสินค้านั้นๆ   เจ้าของตราสินค้าดังกล่าวต้องสามารถทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ในมาตรฐานของตราสินค้านั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพ นวัตกรรม การออกแบบ ในทุกช่องทาง เช่น แผ่นพับ แค็ตตาล็อกสินค้า เว็บไซต์ การพรีเซนต์ ทุกอย่างจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงมาตรฐานที่ผู้ให้บริการต้องการไปถึงผู้บริโภค
ที่มา https://www.sara-dd.com/index.php?option=com_content&view=article&id=225:corporate-re-branding-strategies&catid=25:the-project&Itemid=72

อัพเดทล่าสุด