ธุรกิจ การตลาด กลยุทธ์ พฤติกรรมการบริโภคของ Extraordinary Generation หรือ Generation X หรือ Gen X


977 ผู้ชม


   Generation X, Gen X หรือเรียกเต็มคำในภาษาอังกฤษว่า Extraordinary Generation  เป็นช่วงอายุของประชากรกลุ่มหนึ่งในสังคมปัจจุบันที่เกิดในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2508-2519 (ค.ศ. 1965-1976) อายุระหว่าง 29 – 43 ปี (นิเวศน์  ธรรมะ, 2553 : ออนไลน์)   บางตำราอาจจะกำหนดช่วงอายุของ Gen-X ไว้ต่ำถึงผู้ที่มีอายุ 26 ปี   ในปี พ.ศ. 2553  คาดว่ามีประชากรไทยอยู่ในกลุ่มอายุ Gen X  ประมาณ 16 – 17   ล้านคน  คิดเป็นประมาณ 11 %  ของประชากรทั้งหมด (NationalMaster, 2553 : ออนไลน์)   คนกลุ่ม Gen X เรียกอีกอย่างว่า Baby Bust (ตรงข้ามกับ Baby Boom) หรือ พวกยัปปี้ – Yuppie (Young Urban Professionals) (somporn,  2553 : ออนไลน์)

ธุรกิจ การตลาด กลยุทธ์ พฤติกรรมการบริโภคของ Extraordinary Generation หรือ Generation X หรือ Gen X

ธุรกิจ การตลาด กลยุทธ์ พฤติกรรมการบริโภคของ Extraordinary Generation หรือ Generation X หรือ Gen X

          Gen X  คือประชากรกลุ่มที่เกิดหลัง Baby Boomer Generation หรือ Generation B, Gen B  และนับเป็นผู้บริโภคที่มีขนาดเล็กกว่าหากเทียบกับ Gen B   ทั้งนี้เพราะหลังจากกระแส Baby Boomer หมดลง ทุกๆ  ครอบครัวในช่วงเวลาก่อนหน้าที่ต่างก็มีลูกหลานจำนวนมากได้หันมาควบคุมการเกิดของประชากรแทนการให้กำเนิดประชากรจำนวนมาก

          กลุ่มวัย Gen X  เป็นกลุ่มคนที่เกิดในช่วงที่อัตราการเกิดของเด็กเริ่มลดลง  ประชากรกลุ่มนี้จึงเกิดและเติบโตขึ้นมาในยุคที่ผ่านช่วงความลำบากมาแล้ว   มีการต่อสู้ดิ้นรนที่น้อยกว่า เพราะเป็นคนในรุ่นลูกและหลานของ Gen B   และเนื่องจากสภาพโดยรวมของเศรษฐกิจดีกว่ายุคที่ Gen B เกิด   สภาวะของสังคมเริ่มคงที่และอยู่ในยุคของการแสวงหาอิสรภาพทางความคิดและการดำเนินชีวิตแนวใหม่   กลุ่มคนเหล่านี้จึงมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีอิสระทางความคิด มีการศึกษาที่ดีกว่าคนในยุคก่อน   ดังนั้นในปัจจุบันขณะที่คนกลุ่ม Gen B  ได้กลายเป็นคนรุ่นปู่ยาตายาย  คนในกลุ่ม Gen X  ก็ได้ย่างเข้าสู่วัยทำงานอย่างเต็มตัว (นิเวศน์  ธรรมะ, 2553 : ออนไลน์)  

          การอยู่ในวัยทำงานทำให้ Gen X  สามารถเลือกงานได้มากกว่า  สามารถตั้งเงื่อนไขให้แก่ตนเองได้ว่าต้องการทำงานแบบไหน เมื่อไร และอย่างไร   จึงแตกต่างกันมากกับกลุ่ม Gen B ที่ทำงานด้วยความอดทนดิ้นรน  ใช้แรงงานหนัก  มีรายได้ต่ำ  และมักจะทำงานคนเดียวในทุกกระบวนการ    ในขณะที่ Gen X ทำงานในลักษณะใช้ความคิด    สามีและภรรยาต่างทำงานทั้งสองคน  จึงรายได้ดีทั้งคู่  ใช้ชีวิตแบบคนทันสมัย  และหลายๆ คนเป็นหัวหน้างานของคนกลุ่ม Gen B ที่อายุมากกว่า  มีประสบการณ์มากกว่า  แต่มีระดับการศึกษาต่ำกว่า     สภาพความเป็นอยู่แลการดำเนินชีวิตของ Gen X เมื่อเปรียบกับ Gen B ในขณะที่มีอายุเท่ากันจึงต่างกันมาก (Dherapol, 2550 : ออนไลน์)

          คนในวัย Gen X  มีลักษณะพฤติกรรมชอบความเรียบง่ายและไม่เป็นทางการ   ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว (Work-life Balance)   มีแนวคิดและการทำงานในลักษณะรู้ทุกอย่างทำทุกอย่างและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้เพียงลำพัง   ไม่พึ่งพาใคร  ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ดี  มีความคิดเปิดกว้าง พร้อมรับฟังข้อติติง เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง    จัดเป็นกลุ่มที่มีความตั้งใจและความทะเยอทะยานเพราะเกิดมาในยุคที่การแข่งขันทางความคิดสูง   แต่ด้วยเอกลักษณ์ประจำรุ่นวัยที่คนรุ่นนี้รักอิสระคนวัย Gen X  จึงสามารถจัดสรรเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนให้ได้คล่องตัว และมีแนวคิดเรื่องการยืดชีวิตโสดและเลื่อนเวลาการแต่งงานออกไปมากขึ้น (ทิพวัลย์ สินนิธิถาวร, 2553 : ออนไลน์)  

          จากผลการสำรวจในต่างประเทศ  พบว่า กลุ่ม Gen X  มีพฤติกรรมของการเปลี่ยนงานทำใหม่โดยเฉลี่ย ทุกๆ 11 ปี และเหตุผลหลักของการย้ายงานคือ ต้องการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศการทำงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านสมอง  ได้สื่อสารกับผู้คนกลุ่มใหม่ๆ  รวมทั้งได้ทำงานกับเจ้านายคนใหม่     ค่านิยมในการแสวงหาความแปลกใหม่และความเปลี่ยนแปลงทำให้กลุ่ม Gen X   จำนวนไม่น้อย หันมาประกอบอาชีพอิสระที่เป็นนายของตัวเอง แทนที่จะทำงานในบริษัทใดบริษัทหนึ่งติดต่อกันยาวนาน 20-30 ปี

          สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ว่า คนกลุ่ม Gen X ไม่ต้องการเจริญรอยตามกลุ่ม Gen B  ที่เป็นพ่อแม่ของตน ไม่อยากฟาดฟันหรือทะเยอทะยาน ปากกัดตีนถีบ เพียงเพื่อความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างเดียว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า กลุ่ม Gen X  เกลียดหรือดูถูกคุณค่าของการทำงานหนัก การเสียสละเพื่อครอบครัว และความจงรักภักดีเช่นในกลุ่ม Gen B    หากแต่เป็นเพราะ Gen X  มีความเชื่อว่าตนเองมีความสามารถด้านอื่นที่ทำได้ดีกว่ารุ่นพ่อแม่ของตน (ผู้จัดการรายสัปดาห์, 2549 : ออนไลน์)

          ในด้านของผลตอบแทน คนวัย Gen X จะมีประสบการณ์การทำงานสูง   ดังนั้นเมื่อปรับเปลี่ยนงานจึงพร้อมที่จะเรียกร้องและเจรจาต่อรองด้านผลตอบแทนที่คุ้มค่า   หรือแม้กระทั่งในที่ทำงานเดิม คนวัย Gen X  จะรู้ว่าตนเองมีคุณค่าหรือความสำคัญอย่างไรต่อองค์กร และสามารถดำเนินการต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า    สำหรับคน Gen X นอกเหนือจากผลตอบแทนแล้ว สิ่งอื่นๆ ที่จะจูงใจคน Gen X ได้ก็จะเป็นตำแหน่งงานที่น่าสนใจหรือเวลาในการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น

          ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น Gen X จะเปิดรับต่อทางเลือกหลายๆ ทาง  คนกลุ่ม Gen X  ไม่ชอบการสื่อสารอย่างเป็นทางการมากนัก มักชอบการประชุมในกลุ่มเล็ก และนอกสถานที่  รวมทั้งมักจะสื่อสารทาง E-mail มากกว่าสื่อสารผ่านกระดาษ (บุญชัย พงศ์รุ่งทรัพย์,  2552 : ออนไลน์)  การทำงานหรือการประชุมจะเน้นการประชุมที่เห็นหน้ากัน  โดยคนวัย Gen X นั้นเปิดรับต่อทั้งการประชุมหรือทำงานทางไกลผ่านสื่อต่าง ๆ แต่ถ้าจำเป็นต้องนั่งประชุมด้วยกันนั้นก็จะเน้นการประชุมในกลุ่มขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพ โดยคน Gen X  จะไม่ชอบการประชุมที่ยาวนาว (พสุ  เดชะรินทร์, 2551 : ออนไลน์)  พวกเขาจะชอบการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีการแลกเปลี่ยนความรู้และวิธีการกับบุคคลอื่นๆ ไม่ใช่เรียนรู้ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว โดยจะต้องมีการออกไปดูงานนอกสถานที่ มีการทำสถานการณ์จำลอง และบทบาทสมมติ เพื่อให้สามารถเข้าใจเนื้อหาและฝึกปฏิบัติได้ในเวลาเดียวกัน   
ที่มา https://www.sara-dd.com/index.php?option=com_content&view=article&id=230:extraordinary-generation-generation-x-gen-b&catid=25:the-project&Itemid=72

อัพเดทล่าสุด