กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy : BOS) มาจากนักวิชาการสองคือ W. Chan Kim และ Renee Mauborgne ซึ่งเป็นอาจารย์จาก INSEAD สถาบันทางด้านบริหารธุรกิจชื่อดังในฝรั่งเศส ทั้งสองท่านได้ร่วมกันเขียนบทความที่นำไปสู่เรื่องของ Blue Ocean ในวารสาร Harvard Business Review และออกเป็นหนังสือชื่อ Blue Ocean Strategy
Blue Ocean Strategy เป็นกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันแบบดั้งเดิมโดยผู้ประกอบการต้องพยายามพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่าง หรือต้องสร้างความต้องการใหม่ๆ (New Demand) ขึ้นมาเสมอโดยใช้นวัตกรรม (Innovation) ใหม่ๆ หรือน่านน้ำใหม่ซึ่งเปรียบเทียบได้กับทะเลสีครามสวยงาม ซึ่งตรงกันข้ามทะเลเลือดหรือการแข่งขันอย่างดุเดือดของธุรกิจที่เราพบเห็นอยู่ทั่ว ๆ ไปในปัจจุบัน กล่าวคือ มุ่งเน้นในการเอาชนะคู่แข่งอื่น ๆ เพื่อที่จะแย่งชิงลูกค้ามาให้ได้มากที่สุด และทำให้ได้กำไรมากที่สุด ในธุรกิจที่สินค้าและบริการในอุตสาหกรรมก็จะมีลักษณะที่เหมือนๆ กัน จึงทำให้กลยุทธ์น่านน้ำสีครามได้รับการตอบรับที่ดีในปัจจุบัน (พสุ เดชะรินทร์, 2550 : ออนไลน์)
Blue Ocean Strategy เป็นกลยุทธ์ที่เน้นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการแข่งขันทางธุรกิจ โดยองค์กรที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวจะไม่สนใจต่อการแข่งขันหรือตัวคู่แข่งขัน กล่าวคือ จะไม่เข้าไปแข่งขันในตลาดหรืออุตสาหกรรมเดิมๆ แต่จะพยายามสร้างตลาดหรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ และแตกต่างที่ยังไม่มีใครสร้างหรือเข้าไปพัฒนา และแทนที่จะเป็นการเอาชนะคู่แข่งกลับเป็นการทำให้คู่แข่งล้าสมัยไป ดังนั้น หากผู้ประกอบการจะสร้างกลยุทธ์ขององค์กรให้เป็นกลยุทธ์แบบ “น่านน้ำสีคราม” เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาก่อนว่าลูกค้าในอุตสาหกรรมของตนเอง ณ เวลานั้นซื้อสินค้าหรือบริการด้วย “เหตุผล” ด้วย “ราคาที่ต่ำ” หรือซื้อที่ “ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์”
หัวใจสำคัญของ Blue Ocean Strategy คือ ลูกค้า (Customers) เพราะหน้าที่ของธุรกิจทั้งหลายก็คือการทำให้ลูกค้ามี หลายๆ ครั้งที่ผู้บริหารหรือนักการตลาดมักจะมองแต่เรื่องของการสร้างตราสินค้า (Branding) และคุณสมบัติ (Features) ของสินค้าและบริการ จากมุมมองของตนเอง มากกว่าการมองจากมุมมองของลูกค้าหรือผู้ใช้งานจริง การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ จึงไม่อาจเรียกว่านวัตกรรมได้ หากไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีจากลูกค้า ดังนั้นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์น่านน้ำสีครามก็คือการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ยังไม่เคยมีใครเข้าถึงมาก่อน ซึ่งสามารถค้นหาได้โดยการตั้งคำถามที่แตกต่าง และการสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าอย่างใกล้ชิดจนสามารถเข่าถึงความต้องการที่ซ่อนอยู่ของลูกค้าได้ (พสุ เดชะรินทร์, 2550 : ออนไลน์)
กรณี ตัวอย่าง เกมวี (Wii) ซึ่งเป็นเครื่องเล่นวิดีโอเกมของ บริษัท นินเทนโด ที่มีแนวคิดพัฒนาสินค้าให้กลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่ลูกค้า ด้วยการพัฒนาเกมที่ทุกคนในบ้าน สามารถเล่นด้วยกันครั้งละหลายๆ คน และไม่ต้องอาศัยการเล่นด้วยการนั่งกดปุ่มจอยสติกส์ เท่านั้น แต่สามารถออกท่าทางในการเล่น อาทิ ตีกอล์ฟ เล่นเทนนิส โยคะ หรือแม้แต่เล่นฮูลาฮูบ สรุปคือเป็นเครื่องเล่นที่สามารถให้ทั้งความสนุกและเป็นเครื่องออกกำลังกายไปพร้อมๆ กันได้ Wii ออกจำหน่ายเมื่อปี 2549 และกลายเป็นบริษัทเกมอันดับ 1 ในโลก เพราะสามารถขยายฐานลูกค้า ในส่วนที่ไม่ใช่ลูกค้าหลักได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมหาศาล "เท่ากับเป็นการสร้างน่านน้ำใหม่ ให้คนที่ยังไม่เคยคิดถึงสินค้าของคุณ" (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 2552 : ออนไลน์)
อาจสรุปได้ว่า กลยุทธ์น่านน้ำสีครามคือ การสร้างตลาดใหม่โดยไม่ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดและมีคู่แข่งจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการล้มเหลวจากการแข่งขันกับคู่แข่งที่มีธุรกิจเหมือนๆ กันตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตามน่านน้ำสีครามที่สวยงามก็อาจกลับกลายเป็นน่านน้ำสีแดงได้เช่นกันเมื่อเวลาผ่านไป และมีธุรกิจอื่นๆ เห็นช่องทางการทำธุรกิจเช่นเดียวกับเรา จึงต้องมีการสร้างน่านน้ำสีครามอย่างต่อเนื่องอาจโดยการค้นหาแนวนวัตกรรมใหม่ สินค้าชนิดใหม่ หรือบริการใหม่ๆ เพื่อหลีกเหลี่ยงการต้องเข่งขันอย่างร้อนแรงกับธุรกิจอื่นๆ ในอนาคต
ที่มา https://www.sara-dd.com/index.php?option=com_content&view=article&id=357:blue-ocean-strategy-&catid=25:the-project&Itemid=72