ขณะนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง น้ำมัน ดิบมีราคาต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยปรับตัวลดลงตามไปด้วย
ย้อนไปในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเฉียด 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นรัฐบาลได้ใช้มาตรการในด้านภาษี ส่วนระยะยาวก็คือ การหาพลังงานทดแทน และที่มีความเป็นไปได้สูงก็คือ พลังงานทดแทนจากพืช ดังนั้นรัฐบาลจึงคลอดยุทธศาสตร์พืชพลังงานทดแทนออกมา
เมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง
อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์พืชพลังงานทดแทนหรือไม่อย่างไร
นายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการตามแผนส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน ตามยุทธศาสตร์พืชพลังงานทดแทนต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติชัดเจน ให้กระทรวงการคลังสนับสนุนงบประมาณเพื่อผลักดันพืชพลังงาน ในส่วนของอ้อยประมาณ 13,000 ล้านบาท มันสำปะหลังประมาณ 9,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงบประมาณเพื่อการสนับสนุนงานวิจัย ซึ่งพืชพลังงานถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
สำหรับพืชพลังงานทดแทนที่เหมาะกับประเทศไทยมากที่สุดนั้น จากการศึกษาวิจัยมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีพบว่า มันสำปะหลังและอ้อยจัดเป็นพืชที่มีแนวโน้มในการนำมาผลิตเอทานอลได้มากที่สุด เนื่องจากเป็นพืชที่มีการปลูกภายในประเทศ เกษตรกรมีความชำนาญในการปลูก หากมีการนำเทคโนโลยีเข้าไปส่งเสริมแล้วการเพิ่มผลผลิตจะทำได้ไม่ยาก
การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์พืชพลังงานของรัฐบาลนั้น กรมวิชาการเกษตรถือเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งที่ได้ดำเนินงานในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดี กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ปรับกระบวนการวิจัยด้านการเกษตรของประเทศใหม่ เพื่อรองรับอนาคต โดยหวังผลงานวิจัยว่า จะต้องมีผู้นำไปใช้ให้ได้มากที่สุด โดยได้ตั้งเป้างานวิจัยทางการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของชาติ โดยเน้นเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต หากเป็นพืชเศรษฐกิจจะต้องเน้นการปรับปรุงคุณภาพ เพื่อการส่งออก ทั้งนี้กลุ่มที่เน้นหนักคือ พืชพลังงาน
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังนำผลงานวิจัยต่าง ๆ เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตพืชพลังงาน โดยไม่ต้องเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก เพื่อไม่ให้กระทบต่อ สัดส่วนที่จะนำมาใช้ในการผลิตอาหาร
เมื่อนำนโยบายของรัฐบาล และหน่วยงานภาคปฏิบัติที่ยังให้ความสำคัญของพืชพลังงาน ประกอบกับสถานการณ์ ราคาน้ำมันที่มีช่องห่าง ของราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ซึ่งเป็นน้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอลที่พืชพลังงานแล้ว พืชพลังงานทดแทนไม่น่าจะได้รับผลกระทบ
ราคาน้ำมันเบนซินในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 ณ สถานีบริการน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ ยังคงมีราคาสูงกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 91 มีราคาเฉลี่ย 22.99 บาทต่อลิตร และน้ำมันเบนซินออกเทน 95 มีราคาเฉลี่ยระหว่าง 26.99-27.99 บาทต่อลิตร
ถึงกระนั้นก็ตามน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ก็ยังมีราคาถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับน้ำมันที่มีค่าออกเทนเท่ากัน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ราคา 17.49 บาทต่อลิตร ถูกกว่าน้ำมันเบนซินออกเทน 91 กว่า 5.50 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 18.25 บาทต่อลิตร ถูกกว่าน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เกือบ 10.00 บาทต่อลิตร และยิ่งนำไปเปรียบเทียบกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E-20 ซึ่งราคาลิตรละ 16.99 แล้ว น้ำมัน E-20 จะมีราคาถูกกว่าถึง 11 บาทต่อลิตร
จากราคาน้ำมันดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้ราคาน้ำมันเบนซินจะมีราคาลดลงกว่าเดิมมาก ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ก็ลดลงมากเช่นเดียวกัน และยังถูกกว่าราคาน้ำมันเบนซินประมาณ 5-10 บาทต่อลิตร หากช่วงห่างราคาน้ำมันทั้ง 2 ประเภท เป็นเช่นนี้ เชื่อว่า ประชาชนก็ยังใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์เช่นเดิม และในทางตรงข้ามยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ล้วนจะผลิตออกมาเพื่อรองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทั้งสิ้น
ดังนั้นจากเหตุผลข้างต้นดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่า ยุทธศาสตร์พืชพลังงานทดแทนของประเทศ จะไม่สะดุดแน่นอน แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงก็ตาม เพราะพืชพลังงานไม่ใช่แค่จะสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ช่วยพี่น้องเกษตรกรขายผลผลิตอ้อยและมันสำปะหลังได้ในราคาที่ยุติธรรม สามารถลดมลพิษในอากาศ ลดดุลการค้าระหว่างประเทศ และมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินทั่วไปอีกด้วย
ราคาน้ำมันที่ลงลดอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเรื่องพลังงานทดแทนมีความมั่นใจกันว่าน่าจะไม่กระทบต่อยุทธศาสตร์พืชพลังงานของไทย และความฝันที่จะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นโอเปกด้านพืชพลังงานแห่งที่ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิลนั้นก็ยังคงเป็นความหวังที่สามารถมองเห็นรูปธรรมอยู่.
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=285