เศรษฐกิจ การพัฒนา ดูไบ มหานคร แห่งความมั่งคั่ง


968 ผู้ชม


ในขณะที่ระบบการเงินของโลกกำลังถูกเขย่าอย่างแรง โดยมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาซับไพร์มของสหรัฐอเมริกาลุกลามไปสู่ยุโรป ส่งผลให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่หลายแห่งล้มครืน ทว่าศูนย์กลางการเงินแห่งใหม่กำลังก่อกำเนิดขึ้นที่นี่..."ดูไบ" ดูไบเป็นหนึ่งใน 7 รัฐ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates: UAE) ในตะวันออกกลางที่ร่วมกันก่อตั้งเป็นประเทศ เมื่อปี 2514 โดยมีกรุงอาบูดาบีเป็นเมืองหลวง ยูเออีมีทรัพยากรน้ำมันจนทำให้กลายเป็นประเทศร่ำรวยและมั่งคั่ง และเงินจำนวนมหาศาลนำไปลงทุนในธุรกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ในอดีตที่ผ่านมา แต่เมื่อเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 เกิดเหตุก่อการร้าย ณ ตึกเวิลด์เทรด นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทำให้อเมริกา ตั้งเงื่อนไขกฎระเบียบเข้า-ออกประเทศค่อนข้างเข้มงวดโดยเฉพาะกลุ่มคนจากประเทศตะวันออกกลางรวมไปถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จึงทำให้ยูเออีต้องทบทวนแผนการลงทุนใหม่ โดยใช้ประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าเสรีแห่งใหม่ แต่ดูเหมือนว่าเมืองที่กระตือรือร้นเร่งพัฒนาให้ไปสู่เป้าหมายจะมีอยู่ 2 รัฐ คือ อาบูดาบี และดูไบ โดยเฉพาะดูไบ ซึ่งตระหนักดีว่าเป็นรัฐที่มีน้ำมันเพียง 3% เท่านั้นเมื่อเทียบ กับเมืองหลวงอาบูดาบีที่มีน้ำมันกว่า 90% และมีใช้อีกถึง 100 ปี แม้ว่าดูไบจะเป็นหนึ่งในเจ็ดรัฐของสหรัฐอาหรับฯ มีสภาสูงสุดเป็นผู้ดูแลโดยภาพรวมทั้งหมด ทว่าแต่ละรัฐมีระบบการปกครองท้องถิ่นของตนเองทำให้ต้องแข่งขันกันเองอยู่ในที ด้วยข้อจำกัดของดูไบที่มีทรัพยากร น้ำมันไม่มาก ได้หยุดขุดเจาะน้ำมันตั้งแต่ปี 2506 และพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสันทนาการที่สร้างรายได้คิดเป็นร้อยละ 74 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติในปัจจุบัน สถานการณ์ที่บีบบังคับให้ดูไบต้องเปลี่ยนและพลิกผืนทะเลทรายให้เป็นเมืองแห่งอนาคต เมืองแห่งการค้าเสรีจึงเริ่มต้น โดยมีเชค โมฮัมเมด บิน ราชิด อัล มัคทูม (H.H Sheikh Mohammed Bin Rashid Al Maktoum รองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในฐานะเจ้าผู้ครองรัฐดูไบเป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อวิสัยทัศน์ของผู้นำบวกกับเงินทุนมหาศาล ทำให้ดูไบมีเป้าหมายที่จะเนรมิตศูนย์กลางการเงินของโลก เมือง แห่งการท่องเที่ยว เมืองท่าเพื่อส่งออกสินค้า ไปพร้อมๆ กันโดยผ่านแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของดูไบ (Dubai Strategic Plan 2015) มีระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2558 ดูเหมือนว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำจะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานสะพาน ถนน น้ำ ไฟ และสนามบินใหม่ สิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นดาษดื่น ทั่วไปผุดขึ้นแทนที่ท้องทะเลทรายที่เวิ้งว้าง ตึกสูงบางแห่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทุบสถิติโลก อาทิ ตึก The Burj Dubai สูง 818 เมตร มี 160 ชั้น หรือตึกที่ออกแบบเป็นรูปแบบเรือใบ The Burj Al Arab รวมไปถึง The Palm ที่มีรูปร่างเป็นต้นปาล์มสวยงามสร้างโดยการถมทะเล ว่ากันว่าเครื่องจักรเครน 1 ใน 3 ของโลกขณะนี้อยู่ที่ดูไบ และดูไบได้กลายเป็นสวรรค์ของนักออกแบบไปแล้ว ไม่เพียงเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เท่านั้นที่กำลังเจริญเติบโต แต่การพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางทางการเงินของดูไบได้เริ่มต้นภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน หรือหนึ่งปีให้หลังจากนั้น ดูไบเริ่มก่อตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า ศูนย์การเงินนานาชาติดูไบ (Dubai Inter-national Financial Centre: DIFC) เมื่อปี 2545 และก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์นานาชาติดูไบ (Dubai International Financial Exchange: DIFX) เมื่อปี 2548 ดูไบมิได้มุ่งหวังเป็นศูนย์กลางการเงินเฉพาะในพื้นที่ตะวันออกกลางเท่านั้น แต่สิ่งที่ดูไบต้องการจะเป็นคือเป็นศูนย์กลาง การเงินที่เชื่อมโยงระดับภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ ยุโรปตะวันตก แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก เนื่องด้วยที่ตั้งภูมิศาสตร์ของยูเออีที่อยู่ตรงกลางทำให้สามารถครอบคลุมการให้บริการด้านการเงิน 42 ประเทศ และจำนวนประชากร 2.2 พันล้านคน นัยสำคัญการเป็นศูนย์กลางการเงิน ของดูไบนั้นไม่ต้องการโดดเด่นอยู่เพียงผู้เดียว แต่ดูไบต้องการเป็นตัวเชื่อมระหว่าง ภูมิภาคที่ขาดหายไป เพราะศูนย์กลางการเงินทั่วโลกที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ มีให้เห็น 5 แห่งคือ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ลอนดอน อังกฤษ แฟรงคŒเฟิร์ต เยอรมนี ฮ่องกง และสิงคโปร์ ดูไบได้อาศัยช่องว่างศูนย์การเงินโดยอาศัยหลักของภูมิศาสตร์ที่เริ่มต้นจากแฟรงค์เฟิร์ตจนไปถึงสิงคโปร์ยังไม่มีศูนย์กลางการเงินนานาชาติ จึงเป็นโอกาส ของดูไบที่ต้องการปิดช่องว่างดังกล่าว ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งของยูเออีจึงอยู่ตรงกลางของ 4 ภูมิภาค ทำให้การเดินทางย่นย่อเหลือราว 6 ชั่วโมงจากประเทศ ต่างๆ ไปดูไบ ยิ่งทำให้รัฐแห่งนี้ถูกจับตามองมากขึ้น ทั้ง DIFC และ DIFX ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างระบบการเงินสากล กำหนดกฎหมายนานาชาติ มีผู้กำกับดูแลที่โปร่งใส ซึ่งกฎเกณฑ์ส่วนใหญ่จะลอกเลียนแบบมาจากอังกฤษและยุโรป ด้วยการรวมกฎระเบียบที่เป็นจุดแข็งของหลักสากลมากำหนดเป็นมาตรฐาน DIFC ยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแบบครบวงจร ตั้งแต่ให้ข้อมูล แนะนำกฎหมาย ช่วยเหลือจัดตั้งบริษัทจนได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินงานธุรกิจซึ่งให้บริการ 24 ชั่วโมง 7 วัน โดยเฉพาะกฎหมาย ดูไบก่อตั้งศาล DIFC ขึ้นมาเพื่อพิจารณาข้อพิพาทบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นกฎหมายที่กำหนดขึ้นใหม่ภายใต้มาตรฐานสากล นอกจากกฎหมายที่ดูไบอ้างว่าเป็นระดับมาตรฐานสากลแล้ว ดูไบมีนโยบายภาษี กระตุ้นให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในดูไบ อาทิ ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีรายได้นิติบุคคล ภาษีกำไร ของบริษัทซึ่งมีระยะเวลาถึง 50 ปี และดูไบ เป็นรัฐแรกที่ให้นักธุรกิจถือหุ้นได้ 100% สอดรับกับนโยบายของดูไบที่ต้องการให้เป็นเมืองแห่งการค้าเสรี

 ปัจจุบันมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 720 แห่ง ถือเป็นส่วนหนึ่งเพราะบริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจในดูไบมี 6,000 แห่งจาก 110 ประเทศทั่วโลก

 แม้ว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้าน ภาษีมากมาย แต่เป็นสิทธิประโยชน์ที่มีเงื่อนไขเพราะนักลงทุนจะต้องลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น

 หากมองในเชิงรายได้ความเป็นศูนย์กลางการเงิน ดูไบจะได้ประโยชน์จาก การทำธุรกรรม ค่าธรรมเนียมที่เงินไหลเข้าออกตลอดเวลา ซึ่งเหมือนกับสิงคโปร์ที่ให้บริการทางการเงินมากกว่าธุรกิจที่ต้องลงทุนจริง (real sector)

 วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกในตอนนี้กำลังท้าทายความสามารถของดูไบว่า จะยืนหยัดเพื่อเป็นฮับทางด้านการเงินได้หรือไม่ แม้ว่าดูไบและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังมั่นใจถึงสภาพคล่องทางการเงินที่มีอยู่ บอกว่าได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากวิกฤติการเงินในครั้งนี้เพราะธุรกิจน้ำมันยัง ช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจของยูเออีให้โตอย่างต่อเนื่อง ยังสามารถยืนยันถึงความมั่นคง จากสภาพเศรษฐกิจเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 1.926 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้บุคคล 42,934 ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราการเจริญ เติบโตของจีดีพี 7.4% โดยก่อนหน้านี้มีอัตรา การเติบโตของจีดีพีถึง 13% ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี (2543-2548)

 แม้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจของดูไบ เติบโตในเชิงรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะ การเติบโตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุด ในโลกในปัจจุบัน ทำให้เกิดการตั้งคำถาม ว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดูไบจะเกิดฟองสบู่แตกหรือไม่

 สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามไปได้โดยเฉพาะ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโครงการขนาดยักษ์ที่เกิดขึ้น ณ เมืองแห่งนี้ ผู้เป็นเจ้าของ ส่วนใหญ่คือเชคผู้ครองนครดูไบ แสดงให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจยังเป็นในรูปแบบของการผูกขาด ฉะนั้นความหมายของศูนย์กลางการค้าเสรีที่แท้จริงยังไม่มีความเด่นชัดเพียงพอ

 ธุรกิจที่ไม่มีการลงทุนในแบบแผนที่เป็น real sector ภายในประเทศจะทำให้เมืองแห่งอนาคตนี้ยั่งยืนไปนานสักเพียงใด

 คงจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า ดูไบจะเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกแห่งใหม่ แม้จะมีความมั่งคั่งทางด้านการเงินก็ตาม

 ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=297

อัพเดทล่าสุด