“กลุ่มตลาดเกิดใหม่โลก” หรือ “Global Emerging Market : GEM” เป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับการจับตาจากโลกมากที่สุดในปัจจุบัน ไม่เฉพาะจำนวนประชากรที่มีรวมกันประมาณ 3.9 พันล้านคนเท่านั้น แต่เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าตลาดอื่นในโลกอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (Emerging Asia) ตลาดเกิดใหม่ในละตินอเมริกา (Emerging Latin) หรือตลาดเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออก (Emerging Eastern Europe) ล้วนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจที่สูง ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกลุ่มตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ยุโรป หรือ ญี่ปุ่น จึงไม่น่าแปลกใจที่การลงทุนในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่โลกนี้ จัดเป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนที่อยู่ในกระแสการลงทุนหลักของโลกในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้ ทำไมกลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกจึงมีความน่าสนใจ Fundamentals สัปดาห์นี้ได้รวบรวมเอา 5 เหตุผลที่น่าสนใจมานำเสนอ
ดุลบัญชีเดินสะพัดแกร่ง-บริษัทบริหารดี
ด้วยความมีเสน่ห์ของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่โลกนี้เอง จึงทำให้มี บลจ.หลายแห่งได้นำเสนอกองทุนที่ไปลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ก็ตาม วันนี้เราลองมาฟังทรรศนะจากผู้รู้ ถึงเหตุผลที่ทำให้กลุ่มตลาดเกิดใหม่มีความน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก@ ตลาดเกิดใหม่จีดีพีแกร่ง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ "มร.คริสโตเฟอร์ หว่อง" ผู้จัดการฝ่ายการลงทุน อเบอร์ดีน แอสเซท เมเนเจอร์ส เอเชีย ลิมิเต็ด บอกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั้ง 7 (G-7) ปี 2007 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.3% และคาดว่าในปี 2008 จะลดลงเหลือ 1.6% เช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน จากที่เคยขยายตัว 5.2% ในปี 2007 จะลดลงเหลือ 4.8% ในปี 2008 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่คาดว่าจะขยายตัวในระดับที่สูงต่อเนื่องจากปี 2007 อยู่ที่ 8.3% จะลดลงเล็กน้อยเหลือ 7.9% ในปี 2008 แต่ยังถือว่าเป็นการเติบโตในระดับที่สูงและแข็งแกร่งอยู่ ถึงแม้ว่าช่วงนี้เกิดความไม่แน่นอนในโลกขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัว โดยการเติบโตของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและละตินอเมริกาเป็นหลัก ในเอเชียจีนและอินเดียยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตที่สำคัญ ในขณะที่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคในอเมริกาใต้สร้างโอกาสในการลงทุนให้ภูมิภาคนี้ “ในช่วง 3-5 ปี ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงกลุ่มประเทศเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนอาจจะปรับตัวลดลงจากต้นทุนที่แพงขึ้น แต่ตัวเลขการเติบโตของกำไรก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะเป็นตัวเลขเพียงหลักเดียวก็ตาม ในจังหวะนี้การที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมา จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทเหล่านี้จะได้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงการบริหารให้เข้ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถึงจุดนั้นเมื่อการบริหารเริ่มนิ่งเราจะเห็นการเติบโตของกำไรที่ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อราคาหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในอนาคตอย่างแน่นอน”@ ถูกประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง
การเติบโตของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังถูกประเมินไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง ถ้าดูถึงขนาดของเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อมองในมิติของตลาดหุ้นแล้วกลุ่มตลาดเกิดใหม่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 8% ของดัชนี MSCI AC World เท่านั้น ซึ่งในอนาคตมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอีกมาก เพราะสัดส่วนของตลาดหุ้นของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังไม่สะท้อนถึงขนาดเศรษฐกิจที่มีอยู่จริง อีกทั้งระดับราคาหุ้นก็ถูกประเมินไว้ต่ำกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สัดส่วนหุ้นของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในดัชนี MSCI AC World ในปัจจุบันยังเป็นภาพที่สะท้อนถึงอดีตที่ผ่านมาแล้วแต่ไม่ได้แสดงถึงแนวโน้มในอนาคตของหุ้นตลาดเกิดใหม่แต่ประการใด “ถ้ามองจากขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในโลกแล้ว โอกาสที่ตลาดหุ้นของกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะเติบโตขึ้นเพื่อมีสัดส่วนที่เหมาะสมในดัชนี MSCI AC World ยังมีอยู่อีกมากทีเดียว”@ ดุลบัญชีเดินสะพัดแกร่ง
มร.คริสโตเฟอร์ หว่อง ยังบอกอีกว่า เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลุ่มตลาดเกิดใหม่โลกมีความน่าสนใจจากการปฏิรูปมานานนับสิบปีภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลมีการควบคุมงบประมาณ การเงินการคลังของประเทศก่อให้เกิดดุลการค้าและสถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่ง จนส่งผลให้ปัจจุบันกลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกอยู่ในสถานะที่เกินดุลสุทธิในทุกทาง หากเปรียบเทียบดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐเทียบกับกลุ่มตลาดเกิดใหม่ จะพบว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สหรัฐเองมีแนวโน้มที่จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มตลาดเกิดใหม่ในปัจจุบันจึงเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเมื่อสิบปีก่อนมาจากประเทศผู้กู้มาเป็นผู้ให้กู้ มีรัฐบาลที่มั่นคง มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ มีปัจจัยด้านต้นทุนที่ต่ำ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่น่าสนใจต่อการลงทุนและนำไปสู่วงจรแห่งการเติบโต โดยมีความมั่งคั่งและการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวขึ้น ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น พร้อมทั้งมีความยั่งยืนและสมดุลมากขึ้นด้วย ประกอบกับมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง จากปี 2006 ที่มีเม็ดเงินไหลเข้า 22,384.70 ล้านดอลลาร์ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 40,818.80 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะยังคงไหลมาในตลาดเกิดใหม่ต่อเนื่องในปี 2008 นี้ แม้ว่าตัวเลขอาจจะลดลงบ้างเล็กน้อยก็ตาม กระแสเงินไหล (Fund Flow) ที่ไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่นั้น มีแนวคิด 2 ด้าน หนึ่งมองว่ากระแสเงินไหลเข้าเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2003 แล้ว ดังนั้น นักลงทุนกลุ่มหนึ่งก็จะมีกำไรจากการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ไปพอสมควรแล้ว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในสหรัฐหรือยุโรปจากเรื่องซับไพร์ม ซึ่งทำให้เขามีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหา เงินลงทุนบางส่วนก็จะถูกขายทำกำไรออกมา แต่ก็เป็นการขายทำกำไรเพื่อนำเงินลงทุนกลับไปมากกว่า เพราะเขามีต้นทุนการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ นี่อาจจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ไปบ้าง แต่นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งก็ต้องมองหาโอกาสการลงทุนอยู่ เช่น นักลงทุนจากตะวันออกกลางที่มีความมั่งคั่งขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น เมื่อไม่รู้ว่าจะไปลงทุนที่ไหนโอกาสหนึ่งที่เขาจะเข้ามาลงทุนก็คือกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะทำให้แนวโน้มของเงินทุนไหลเข้าในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในระยะยาวยังคงเป็นบวกอยู่ ส่งผลให้เงินทุนสำรองของกลุ่มตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มีอยู่ นอกจากนี้ สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้มีการปรับขึ้นอันดับเครดิตภาครัฐในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่องทำให้เครดิตรัฐบาลกลุ่มตลาดเกิดใหม่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ต้นทุนของเงินทุนต่ำลง ช่วยกระตุ้นการลงทุนได้ดีขึ้นกว่าเดิม ในปัจจุบันกลุ่มตลาดเกิดใหม่เป็นทั้งผู้รับเงินทุนและผู้จัดหาเงินทุนให้โลกผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Severeign Wealth Fund : SWF)@ บริษัทมีการบริหารที่ดี
ไม่เพียงเท่านี้ มร.คริสโตเฟอร์ หว่อง ยังมองว่าบริษัทในกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีระบบบริหารจัดการที่ดีทำให้บริษัทสร้างเงินสดได้เพิ่มขึ้น โดยมีกระแสเงินสด (Free cash flow) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมาและสามารถนำไปชำระหนี้ได้ และยังมีเงินสดเหลือหลังจากที่จ่ายหนี้ไปแล้ว จนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เงินทุนอย่างชาญฉลาดนั่นเอง โดยกลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกมีแนวโน้มของอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิลดลงในทุกภูมิภาค อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียที่ระดับ 15.6% ในปี 2007 จะลดลงเหลือ 11.1% และ 6.0% ในปี 2008 และ 2009 ตามลำดับ เช่นเดียวกับตลาดเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออกที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิในปี 2007 อยู่ที่ 16.9% จะลดลงเหลือ 14.0% และ 9.8% ในปี 2008 และ 2009 ตามลำดับ ด้านตลาดเกิดใหม่ในอเมริกาใต้และอเมริกากลางที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิในปี 2007 อยู่ที่ 40.2% จะลดลงเหลือ 32.7% และ 34.0% ในปี 2008 และ ปี 2009 ตามลำดับ ส่วนตลาดเกิดใหม่ในแอฟริกาที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิในปี 2007 อยู่ที่ 28.9% จะลดลงเหลือ 21.1% และ 12.2% ในปี 2008 และ ปี 2009 ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่ในตะวันออกกลางที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิในปี 2007 อยู่ที่ 214.6% จะลดลงเหลือ 172.5% และ 181.2% ในปี 2008 และ ปี 2009 ตามลำดับ นอกจากนี้ ทรัพย์สินของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังมีความหลากหลายมาก ในขณะที่หลายประเทศส่งออกสินค้าไปยังตลาดเดียวกันและเป็นคู่แข่งกันเอง แต่อีกหลายประเทศที่มีความหลากหลายของประเภทธุรกิจกลับไม่มีผลกระทบต่อกัน เช่น ปัจจัยลบต่อธนาคารแห่งหนึ่งในเม็กซิโก กลับมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อธุรกิจอื่นในประเทศอื่น เช่น แทบไม่มีผลต่อซูเปอร์มาร์เก็ตในแอฟริกาใต้ หรือบริษัทเหมืองแร่ในรัสเซีย “การที่ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะเข้าไปลงทุน ถ้ามองจากพื้นฐานราคาที่ปรับตัวลงมาทำให้ความเสี่ยงลดลง เมื่อเทียบกับโอกาสในการเติบโตในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะเข้าไปลงทุน"@ มูลค่าสมเหตุสมผล
กลุ่มตลาดเกิดใหม่ในแต่ละภูมิภาคเปิดโอกาสให้ลงทุนในหุ้นดีที่มีมากกว่า 800 หุ้น มีสัดส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) เฉลี่ย 14-15 เท่า มีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่สูง 17-25% ด้าน "อลัน แคม" กรรมการผู้จัดการ บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกยังมีความน่าสนใจแล้วแต่ว่าผู้ลงทุนชอบภูมิภาคใด ในส่วนของตลาดเกิดใหม่ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกน่าสนใจไม่แพ้ภูมิภาคอื่น เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของปัญหาซับไพร์ม เห็นได้จากสัดส่วนราคาต่ำกำไรสุทธิ (P/E) ของหุ้นในกลุ่มประเทศดังกล่าวขยับลงมาอยู่ที่ระดับ 6-8 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าไปลงทุนในระยะยาว
ทั้งนี้กลุ่มตลาดเกิดใหม่หลายประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกามากนัก เพราะเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่มีความแข็งแกร่งและขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศมากขึ้น กลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกมีประชากรรวมกันกว่า 3,900 ล้านคน มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกัน 2 ล้านล้านดอลลาร์ มีจีดีพีรวมกันประมาณ 8 ล้านล้านดอลลาร์
“นอกจากนี้ กลุ่มประเทศเหล่านี้ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐลงตามลำดับ เช่น จีนที่มีอัตราการส่งออกไปสหรัฐเพียง 22% อินเดียส่งออกไปสหรัฐ 30% ไทยเองที่เคยมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐสูงถึง 80% ในปี 1998 ปัจจุบันลดลงเหลือ 26% เท่านั้น โดยกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีการส่งออกไปกลุ่มประเทศยุโรป และประเทศเอเชียด้วยกันมากขึ้น นี่จึงทำให้ตลาดเกิดใหม่ในโลกยังมีความน่าสนใจ”
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลหลักทั้ง 5 ประการ ที่ทำให้ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่โลกมีความน่าสนใจในมุมมองของนักลงทุนทั่วโลก
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=331