วิทยาศาสตร์ โลกร้อน ความจริง ผลกระทบ จากภาวะโลกร้อน


775 ผู้ชม


ถึงวันนี้ก็เราทุกคน (หรือเปล่า) รับรู้แล้วว่าโลกของเรากำลังร้อนขึ้นทุกวัน ๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อ (จากหลักฐาน) ตรงกันว่ามลพิษต่าง ๆ ที่มนุษย์เราสร้างขึ้นนั่นเองที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งในอากาศและน้ำทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์ บอนไดออกไซด์ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นสาเหตุของ “ปรากฏการณ์เรือน กระจก”
 
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งเป็นของนักวิจัยจาก UniversityofCaliforniaประเทศสหรัฐอเมริกาโดยนักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับบรรดาสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรในอนาคตประมาณไม่เกิน1ศตวรรษข้างหน้าที่โลกของเรากำลังจะร้อนขึ้นปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะทำให้มหาสมุทรของเรามีความเป็นกรดมากขึ้นในที่สุด(เหมือนน้ำอัดลมเลย)
 
นักวิจัยทำการศึกษากับหอยหลายชนิดรวมไปถึง “เม่นทะเล” โดยการนำพวกมันมาเลี้ยงในระบบปิด ซึ่งจำลองสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับสภาพที่มีการคาดการณ์และทำนายกันเอาไว้ คือระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเพิ่มจาก 375 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ในปัจจุบันไปเป็น 540 ppm ในกรณีที่เรายังมองโลกในแง่ดี และ 970 ppm ในกรณีที่เรายังเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตแบบทุกวันนี้
 
ตามปกติแล้วสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดจะมีโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Heat Shock” โปรตีน โดยที่โปรตีนชนิดนี้จะถูกสร้างและได้รับการกระตุ้นเมื่อสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเปลี่ยนไป อย่างเช่น ร้อนจัด หนาวจัด หรือเกิดความเครียดขึ้นมา ฯลฯ
 
โปรตีนชนิดนี้จะช่วยให้การปรับเปลี่ยน รูปร่างของโปรตีนไปเป็นแบบสามมิติ (Protein Folding) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นปกติตามธรรมชาติ เป็นไปอย่างถูกต้อง ถ้าจะพูดง่าย ๆ ก็เอาเป็นว่ามันจะทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตทำหน้าที่ได้อย่างเป็นปกติในยามที่ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้นั่นเอง
 
นักวิจัยสร้าง    “ชิปยีน”(GeneChip) เพื่อใช้ในการตรวจสอบยีนที่ถูกกระตุ้นโดยสภาพแวดล้อมให้สร้าง Heat Shockโปรตีนขึ้นมา ซึ่งชิปยีนนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์เราด้วยโดยเอายีนจากDNA ของสิ่งมีชีวิต (หอยและเม่นทะเล) มาใส่ไว้บนผิวหน้าของชิปขนาดเล็ก หลังจากนั้นหากเราต้องการตรวจสอบว่าDNAตัวอย่างที่นำมานั้นมียีนที่เราค้นหาอยู่หรือเปล่าเราจะทำได้โดยการนำตัวอย่าง DNA ซึ่งส่วนมากจะเป็นจากเลือดมาหยดลงบนชิปยีน ซึ่งหากว่าพบก็จะปรากฏบริเวณเรืองแสงขึ้นมาทั้งนี้เกิดจากเทคนิคการย้อมสีและการจับตัวกันของ คู่เบสในสาย DNA (รายละเอียดขอเล่าให้ฟังวันหลัง)
  
นักวิจัยพบข้อมูลที่น่าตกใจก็คือว่าบรรดาหอยและ เม่นทะเลที่ถูกเลี้ยงอยู่ในสภาพแวดล้อมจำลองที่มีระดับของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 540 ppm ซึ่งเป็นกรณีที่เรายังมองโลกอีก 100 ปีข้างหน้าในแง่ดีนั้น นักวิจัยพบว่ายีนที่มีความเกี่ยวข้องกับ Heat Shock โปรตีนไม่ถูกกระตุ้นโดยสภาพแวดล้อมดังกล่าว เมื่อไม่มีโปรตีนชนิดนี้ การทำงานของเซลล์ก็จะพบความผิดปกติมากขึ้น เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า ถ้าขาดผู้ควบคุมหรือผู้ดูแลแล้ว อะไร ๆ ก็มักจะออกนอกลู่นอกทางเสมอ
 
ประเด็นที่นักวิจัยพยายามนำเสนอก็คือว่าเราอาจ “สูญเสีย” สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในมหาสมุทรไปได้ในอนาคตข้างหน้าในรุ่นลูกหลานเหลนของเรา เพราะว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้ เนื่องจากระยะเวลาเพียงแค่ 100 ปี นั้นเป็นช่วงที่สั้นมาก ๆ หากเทียบกับเวลาที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดใช้ในกระบวนการวิวัฒนาการเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ดังนั้นสิ่งมีชีวิตหลายชนิดจึงมีโอกาสสูงที่จะ “สูญพันธุ์” ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวเพราะว่ามหาสมุทรถือว่าเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของห่วงโซ่อาหารเลยทีเดียว
 
คงต้องย้ำเตือนว่านี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไปแล้ว ซึ่งความจริงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน นั้นยังเกี่ยวพันไปถึงสิ่งต่าง ๆ อย่างที่เราคาดไม่ถึง แนะนำให้ไปซื้อหนังเรื่อง “An Inconvenient Truth” มาเปิดให้ลูกหลานดูกันนะครับ จะได้รู้ว่า  “ความจริงที่เราไม่อยากรับรู้” นั้นมันเป็นเช่นไร.
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=

อัพเดทล่าสุด