วิทยาศาสตร์ โลกร้อน ความจริง ที่ไม่อยากรับรู้


701 ผู้ชม


คราวที่แล้วพูดถึงเรื่อง“โลกร้อน”ในหัวข้อ“ความจริงที่ไม่อยากรับรู้” ซึ่งเป็นปรากฏ การณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและเริ่มที่จะ   เห็นผลกระทบได้ชัดเจนขึ้นในช่วงศตวรรษต่อจากนี้ไปตอนนี้เราต้องเริ่มตระหนักกันแล้วว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปและคงต้องร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้นเพื่อโลกใบนี้ของเรา
 
อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า “คาร์บอนไดออกไซด์”ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ร้อยปีมานี้ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากฝีมือของมนุษย์เองจากเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เราสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันซึ่งกลายมาเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เราต้องมาตามแก้กันในทุกวันนี้
 
ในแวดวงวิทยาศาสตร์เองนั้นก็ไม่ได้เพิกเฉยกับการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเห็นว่าการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายแล้ว คงไม่เพียงพอ เพราะว่าประชากรบนโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน อีกทั้งป่าไม้ที่จะมาช่วยดูดซับคาร์บอนไดออก    ไซด์จากบรรยากาศก็ลดน้อยลงทุกที
 
ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อที่จะมาช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออก  ไซด์ในบรรยากาศด้วยอีกแรงหนึ่ง ซึ่งหากทำสำเร็จก็น่าจะเป็นหนทางที่จะบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมาก และน่าจะเป็นวิธีที่สามารถรับมือกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นได้
 
ล่าสุดนักเคมีจาก Max Planck Institute for Colloids and Interfaces ประเทศเยอรมนี นำ เสนอเทคนิควิธีการใหม่เพื่อการกำจัดคาร์บอนไดออก   ไซด์ด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งก็คือกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชนั่นเอง
 
หลายคนเคยเรียนมาว่ากระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชจะใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศกับน้ำ และใช้แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานในการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในรูปสารประกอบอย่างเช่นแป้ง น้ำตาล และโปรตีน
 
นั่นเป็นสมการอย่างง่ายของกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง แต่ในรายละเอียด ยังมีกระบวนการที่แยกย่อยลงไปมากกว่านั้น ซึ่งก็คือกระบวนการที่โมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์จับตัวกับอะตอมของ “ไนโตร    เจน” กลายเป็นสารประกอบที่เรียกว่า      “คาร์บาเมต” (Carbamate) ซึ่งมีความเสถียรน้อยกว่าทำให้พืชสามารถนำคาร์บอนในสารประกอบดังกล่าวไปใช้ผลิตเป็นน้ำตาลหรือโปรตีนได้ง่ายกว่า
 
นักเคมีจากสถาบันดังกล่าวได้พัฒนาเทคนิควิธีโดยการเลียนแบบกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ของพืชโดยการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาซึ่งมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบหลักซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยานี้เองที่ถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสารประกอบคาร์บาเมตเช่นเดียวกับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช
 
คาร์บอนไดออกไซด์ เบนซีน (benzene) และตัวเร่งปฏิกิริยาถูกนำมาผสมกันที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส ภายใต้ความดัน3เท่าของความดันบรรยากาศ (ที่ระดับน้ำทะเล) โดยตัวเร่งปฏิกิริยาจะทำหน้าที่ดึงเอาออกซิเจนจากคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)ทำให้ท้ายที่สุดแล้วได้ผลิตภัณฑ์เป็น“ฟีนอล” และคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
 
นักวิจัยสามารถสังเคราะห์เชื้อเพลิงได้อีกครั้งหนึ่งจากการใช้ CO ที่ได้จากกระบวนการดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนจากฟอสซิล (ปิโตรเลียมที่เรารู้จักกันนั่นเอง) ลงได้    พร้อม ๆ กับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้ในเวลาเดียวกัน
 
นอกจากนั้นแล้ว“ฟีนอล”ที่ได้ยังสามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมการผลิตยาและยาปราบศัตรูพืชได้อีกด้วยเข้าทำนอง “ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว”แต่ท้ายที่สุดนี้ก็คงต้องฝากไว้ว่าเทคนิควิธีการดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการ   วิจัยและยังต้องอาศัยระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าที่จะมีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการผลิตในระดับที่ใหญ่ขึ้น อย่างไรเสีย“จิตสำนึก”ที่ดียังคงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องปลูกฝัง เพื่อที่โลกใบนี้จะน่าอยู่ต่อไปอีก อย่างน้อยก็ในชั่วลูกชั่วหลานของเรา.
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=414

อัพเดทล่าสุด