ธุรกิจ บริหารธุรกิจ บริหารงานแบบพุทธ บนธุรกิจ เอสเอ็มอี


810 ผู้ชม


วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์ วัย 39 ปี ประธานกรรมการ บริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด เป็นนักบริหารหนุ่มที่นำหลักการบริหารแบบพุทธมาปรับใช้กับงานบริหารในยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว 
"ผู้จัดการฯ" ใช้เวลาสัมภาษณ์วัชรมงคลกว่าหนึ่งชั่วโมงเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท บาธรูม เขาจะสอดแทรกหลักการบริหารงานที่ควบคู่ไปกับหลักของศาสนาพุทธได้อย่างกลมกลืนทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการบวชเรียนกับหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ แห่งวัดชลประทานฯ จังหวัดนนทบุรี 
และเขายังเคยได้ไปปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ณ สวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ธานี 
เขาบอกว่าท่านพุทธทาสภิกขุใช้หลักศาสนาพระไตรปิฎกแนะให้ใช้ 3 หลักในการบริหาร 1. ผลิตให้มาก 2. ใช้แต่พอดี 3. เหลือช่วยผู้อื่น 3 หลักถ้าใครทำได้จะได้เป็นเศรษฐี ซึ่งไม่ได้หมายถึงความรวย แต่หมายถึงผู้ประเสริฐ 
นอกจากนั้นยังได้นำหลักอิทธิบาทสี่มาปรับใช้ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา 
ฉันทะคือการทำงานด้วยความรัก วัชรมงคลบอกว่างานออกแบบเป็นสิ่งที่เขารัก วิริยะคือความพากเพียร จิตตะหมายถึงการเอาใจเข้าไปใส่จะทำให้สินค้ามีชีวิตขึ้นมาทันที สุดท้ายวิมังสา การหมั่นทบทวน 
หลักการบริหารแบบพุทธของเขาไม่ได้นำมาใช้เพียงด้านเดียวแต่เขาได้นำหลักการบริหารรูปแบบสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานเพื่อสร้างความสมดุล อาทิ การบริหารการเงิน ความพึงใจของลูกค้า 
เป้าหมายของการบริหารงานสมัยใหม่ต้องการประสิทธิภาพ ในขณะที่การบริหารแนวพุทธจะบริหารแบบพอดี พอใจในสิ่งที่มี ทำธุรกิจในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่สร้างหนี้เกินความจำเป็น และนำเงินหมุนเวียนที่ได้จากกำไรมาขยายธุรกิจ 
ข้อดีของการบริหารแบบพุทธมาปรับใช้กับธุรกิจทำให้ไม่มีหนี้สูญ เพราะบริษัทใช้หลักการบริหารการเงินหนี้สินต่อทุนต้องไม่เกินหนึ่ง 
ยามเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน วัชรมงคลไม่ได้เพิ่มรายได้ให้กับพนักงานมากนัก แต่เขาช่วยบริหารให้พนักงานมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง มีข้าวและน้ำพริกให้รับประทานฟรีทุกวัน น้ำดื่มสมุนไพรจำหน่ายแก้วละ 2 บาท เปรียบเทียบจากร้านค้าภายนอกที่จำหน่ายแก้วละ 10-15 บาท มีอาหารถุงขายถุงละ 10 บาท 
ด้านสวัสดิการบริษัทสนับสนุนให้พนักงานเรียนเพิ่มเติม โดยบริษัทจะออกค่าใช้จ่ายให้ ส่วนพนักงานที่มีบุตร บริษัทจะส่งให้เรียนจนจบปริญญาตรี กรณีที่ไม่มีบุตรและพนักงานเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินเดือนให้กับพ่อและแม่ เดือนละ 2 พันบาท 
วัชรมงคลบอกว่าแม้บริษัทจะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีแต่เขาจะร่วมทำงานกับพนักงานเหมือนดั่งพี่กับน้อง 
หลักการบริหารธุรกิจที่ผสมผสานระหว่างแบบพุทธและการจัดการที่ทันสมัยรวมไปถึงการปกครองลูกน้องของเขา ทำให้บริษัทที่ก่อตั้งด้วยคูหาเล็กๆ เพียง 1 ห้อง ได้ขยายเช่าคูหาเพิ่มเป็น 6 ห้อง 
ปรัชญาในการใช้ชีวิตและการดำเนินงานของวัชรมงคลเขาจะมองคล้ายกัน การบริหารธุรกิจเป้าหมายเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น 
นอกจากการทำงานให้กับบริษัทของตัวเองแล้ว วัชรมงคลยังได้แบ่งปันเวลาของเขาส่วนหนึ่งไปร่วมเป็นคณะกรรมการให้กับมูลนิธิหลายแห่ง อาทิ มูลนิธิของสมเด็จย่า โครงการครูเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาของพระพี่นาง เพื่อเชิดชูครูที่เสียสละอยู่ชายแดนตามรอยตะเข็บและภาคใต้ 
รวมถึงช่วยงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อช่วยจัดหาทุนเข้ามูลนิธิ และรับเป็นอาจารย์สอนพิเศษเอ็มบีเอให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้หลักสูตรการประยุกต์ธุรกิจบริหารในรูปแบบพอเพียง 
วัชรมงคลบอกว่าเขาทำงานทุกวันและมีความสุข 
การทำงานและการพักผ่อนเป็นเรื่องเดียวกันและเขาเชื่อว่าความสุขสามารถสร้างได้ทุกวัน 
ทุกวันพุธของสัปดาห์ วัชรมงคลจะอนุญาตให้พนักงานจำนวนหนึ่งไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคม อาทิไปสอนหนังสือเด็ก ตัดผม เลี้ยงอาหาร ติดตั้งห้องน้ำให้กับบ้านพักคนชรา ที่สำนักงานจะมีกล่องบริจาคเงิน พนักงานให้เท่าไหร่บริษัทจะจ่ายเพิ่มให้อีก 1 เท่า เช่น กล่องบริจาคมีเงิน 50 บาท บริษัทจะเพิ่มให้อีก 50 บาท หรือถ้าหากมีเงินบริจาค 2 หมื่นบาท บริษัทก็จะเพิ่มให้อีก 2 หมื่นบาท 
"ผมกำลังมองว่ามุมมองความสุข ถ้าคนมองความสุก เป็น ก.ไก่ มองความสุขจากสิ่งของ วัตถุ เงินทอง หาเงินมากที่สุด ความสุขจะไปคนละทาง ยิ่งวิ่งหาความสุขๆ ก็ยิ่งวิ่งหนีเรา แต่จริงๆ แล้วความสุขอยู่ในใจเกิดจากความพอเพียง"
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=675

อัพเดทล่าสุด