ธุรกิจ บริหารธุรกิจ Work@Home


926 ผู้ชม


การทํางานที่บ้านอาจไม่ใช่เรื่องใหม่สําหรับบางคน แต่ใช่ว่าทุกคนสามารถทํางานที่บ้านได้หากไม่มีการเตรียมความพร้อมก่อน

เรื่อง : ภาณิณ สงฆ์ประชา 
ภาพ : ฝ่ายภาพ Home Decor
 
การทํางานที่บ้านอาจไม่ใช่เรื่องใหม่สําหรับบางคน อย่างน้อยก็หนุ่มสาวสมัยใหม่บางอาชีพคงจะคุ้นเคยกับวิถีชีวิตที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ตก็สามารถทํางานได้ทุกที่ แต่ใช่ว่าทุกคนสามารถทํางานที่บ้านได้หากไม่มีการเตรียมความพร้อมก่อน 
ลองเช็กดูว่าคุณเป็นคนที่มีลักษณะการทํางานแบบไหน จากนั้นจึงไปดูว่าควรปรับเปลี่ยนบ้านอย่างไรได้เลย

Workaholic 
ถ้าคุณเป็นคนประเภทที่งานเลิกแล้วไม่ยอมเลิกงาน ยังหอบเอางานกลับมาทําที่บ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นงานเอกสารเสียด้วย สมควรที่จะจัดการมุมใดมุมหนึ่งของบ้านให้กลายเป็นพื้นที่สําหรับทํางานไปเลย (ดูวิธี A) 
Solution A
สําหรับคนที่มักจะหอบงานกลับมาทําที่บ้านหรือทํางานที่บ้านเป็นจริงจังแม้กระทั่งในวันหยุด ควรแยกพื้นที่ห้องทํางานออกจากส่วนพักอาศัยให้ชัดเจน เพราะต้องการความสงบและใช้สมาธิสูง หากเป็นงานประเภทเอกสารหรือบัญชีควรออกแบบให้มีพื้นที่เก็บของหรือเอกสารเพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศของบ้านที่น่าอยู่ อาจทําเป็นโต๊ะทํางาน บิลท์อิน ด้านบนมีตู้เก็บของ แล้วใช้ฉากกั้นหรือบานเฟี้ยมเพื่อความเป็นส่วนตัว

Freelance 
สําหรับหนุ่มสาวที่รักความอิสระ การเป็นฟรีแลนซ์นั้นช่วยแก้ปัญหาการทํางานที่ต้องเข้าออกเป็นเวลา มักเป็นอาชีพขีดๆ เขียนๆ เช่น นักเขียน นักแปล สถาปนิกหรือนักวาดภาพประกอบที่จําเป็นต้องใช้ความคิด อาจจะต้องย้ายมุมทํางานบ่อยเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศในการคิดงาน (ดูวิธี B) 
Solution B 
ส่วนคนที่รับงานมาทําที่บ้าน อาจจะมีที่ทางในการทํางานที่ไม่แน่นอนหรือชอบเปลี่ยนที่เปลี่ยนบรรยากาศเพื่อคิดงาน ควรจะทําให้ทุกมุมของบ้านปรับเปลี่ยนเป็นที่นั่งทํางานได้ จึงควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวที่สามารถโยกย้ายไปตามมุมต่างๆ ได้อย่างสะดวก หากต้องใช้งานอินเตอร์เน็ตก็ควรเลือกใช้แบบไร้สายและเตรียมปลั๊กไฟไว้ตามจุดต่างๆ ให้เพียงพอ
Home Office 
ใครที่ไม่อยากเสียเวลาในการเดินทางหรือทําธุรกิจประเภท SME อาจใช้บ้านเป็นสถานที่ทํางาน แต่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้านบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับการทํางาน รวมทั้งผู้ร่วมงานและผู้ที่มาติดต่องาน (ดูวิธี C) 
Solution C 
สําหรับโฮมออฟฟิศที่ต้องมีพนักงานและผู้มาติดต่อ จําเป็นต้องแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความเป็นส่วนตัวของคนอื่นๆ ที่อยู่ในบ้าน อาจใช้การกั้นผนังเบาหรือประตูบานเลื่อน เพื่อความเป็นสัดส่วน รวมทั้งควรแยกทางเข้า-ออกสําหรับคนในบ้าน และพนักงานไม่ให้ปะปนกันอีกด้วย นอกจากนี้ควรจัดเตรียมพื้นที่สําหรับรับรองแขกหรือห้องประชุมเอาไว้ด้วย ซึ่งสามารถจัดเตรียมพื้นที่อเนกประสงค์เอาไว้ แล้วใช้ประตูบานเลื่อนแบ่งพื้นที่ ทั้งนี้หากมีพื้นที่ไม่เพียงพอจริงๆ อาจจําเป็นต้องต่อเติมบ้านโดยแยกโครงสร้างจากบ้านเดิมออกไป

Are You Ready to Work (@ Home) ? 
ก่อนที่จะลงมือทํางานที่บ้าน มี 8 จุดที่ H D อยากให้เช็กเพื่อให้คุณได้มีความสุขกับงานที่กําลังจะลงมือทํา 
1. แสงสว่าง
ในพื้นที่ทํางานควรมีแสงสว่างอย่างเพียงพอ ทั้งแสงธรรมชาติและแสงจากหลอดไฟ แสงจากธรรมชาติควรใช้แสงทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเพราะเป็นแสงที่ไม่ร้อน ส่วนแสงจากหลอดไฟควรใช้แสงสีขาว (Day Light) ซึ่งจะเหมาะสมกับการทํางานมากกว่า 
2. อุปกรณ์สื่อสาร
ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตซึ่งทําให้ทํางานได้ทุกที่ภายในบ้าน หากต้องการย้ายที่ทํางานอยู่บ่อยๆ ก็ควรเลือกใช้ Wireless Modem ที่มีสัญญาณครอบคลุมทั้งบ้าน นอกจากนี้ควรเลือกใช้อุปกรณ์แบบ All in 1 ที่รวมเอาเครื่องถ่ายเอกสาร พริ้นเตอร์ สแกนเนอร์ และแฟกซ์ไว้ด้วยกัน เพื่อประหยัดพื้นที่ทํางาน 
3. ตู้เก็บของ
แน่นอนว่าที่ทํางานก็ต้องมีตู้เก็บของให้ทําหน้าบานตู้แบบทึบหรือกรุด้วยกระจกฝ้าก็จะช่วยให้บ้านดูเรียบร้อยขึ้นได้ แต่ถ้าไม่อยากให้ที่เก็บของดูรกเกินก็ควรออกแบบบานเฟี้ยมหรือบานเลื่อนปิดไปทั้งแถบเลยก็ได้ 
4. เฟอร์นิเจอร์
สําหรับชาว Freelance ถ้าใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ควรเลือกแบบมีล้อเลื่อน อาทิ โต๊ะอเนกประสงค์ หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย สําหรับ Home Office ที่ต้องการ ทําบิลท์อิน ควรเลือกวัสดุที่ทนทานและดูแลรักษาง่าย เช่น เหล็ก กระจก อะลูมิเนียม 
5. พื้น
Home Office ที่มีคนเยอะๆ ควรใช้พื้นที่มีความแข็งแรง เช่น พื้นทาสีอีพ็อกซี่หรือปูกระเบื้อง หากต้องการออฟฟิศที่มีอารมณ์ธรรมชาติ ควรใช้พื้นไม้ลามิเนตที่ทนรอยขูดขีดได้ดีกว่าไม้จริง 
6. ปลั๊กไฟ
สําหรับงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์จําเป็นต้องมีปลั๊กไฟอยู่ใกล้ๆ ควรติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงกว่าระดับโต๊ะทํางาน เล็กน้อย หรือให้สูงจากพื้นประมาณ 15 - 20 ซม. และถ้ากําลังสร้างบ้านอยู่ควรเลือกใช้ปลั๊กชนิดฝังพื้นไว้บริเวณที่ทํางาน 
7. อุปกรณ์ทํางาน
สําหรับคนทํางานขีดๆ เขียนๆ ที่ต้องมีอุปกรณ์และข้าวของเยอะๆ ควรเก็บรวบรวมไว้ในตะกร้าหรือกล่องใส่ของเพื่อความสะดวกในการย้ายมุมทํางาน ไม่ต้องเสียเวลาเดินไปหยิบ 
8. โต๊ะทํางาน 
โดยปกติมีขนาดมาตรฐานประมาณ 0.8 x 1.5 เมตร แต่หากใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คอาจจะมีขนาดเล็กลงกว่านั้นได้ ส่วนคนที่ชอบเปลี่ยนมุมทํางานบ่อยๆ ลองเลือกชุดโต๊ะ-เก้าอี้ที่ดูไม่เหมือนในสํานักงานหรือใช้โต๊ะเก่ามาเพ้นต์สีให้มีบรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น 

 ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=764

อัพเดทล่าสุด