ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดย นายสุวัชชัย มนัสการวิทยา
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยมีรัฐบาลถือหุ้นทั้งหมด เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้นที่ได้เล็งเห็นความเดือดร้อนของประชาชนที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยจำนวนมาก และช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
การดำเนินงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือทางการเงินให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ธนาคารจึงจำเป็นต้องดำเนินงานให้มีรายได้จากการให้กู้ยืมอย่างเพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและมีกำไรเพื่อใช้ในการขยายการให้ความช่วยเหลือต่อไปด้วย
พระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๔๙๖ กำหนดให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ประกอบธุรกิจเพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดให้มีอาคารและที่ดินดังต่อไปนี้
๑. ให้ทำการกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ดังต่อไปนี้
๑.๑ เพื่อผู้กู้จักได้ใช้ซื้อที่ดินหรืออาคารเป็นของตนเอง
๑.๒ เพื่อผู้กู้จักได้ใช้สำหรับสร้างขยาย หรือซ่อมแซมอาคารของตนเอง
๑.๓ เพื่อผู้กู้จักได้ใช้ไถ่ถอนจำนองอันผูกพันที่ดินหรืออาคารของตนเอง
๑.๔ เพื่อผู้กู้จักได้ใช้ไถ่ถอนซึ่งการขายฝากที่ดินหรืออาคารของตนเอง
๑.๕ เพื่อผู้กู้จักได้ใช้ในการลงทุนจัดกิจการเคหะ
๒. รับจำนำหรือจำนองทรัพย์สินเพื่อเป็นประกันเงินกู้ยืม
๓. รับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้
๔. ประกอบกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารตามที่จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้
นอกจากเงินรับฝากที่เป็นเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามและเงินฝากเมื่อสิ้นระยะเวลาตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๔๙๖ แล้ว แหล่งเงินทุนในการดำเนินงานของธนาคารจากทางอื่น คือ
๑. ได้รับจากรัฐบาลมาเป็นทุนของธนาคาร
๒. ออกพันธบัตร หุ้นกู้ กู้ยืมเงิน
๓. รับฝากเงินประเภทเงินฝากออมทรัพย์
การดำเนินงานธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยและขาดแคลนที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นบริการที่ทางรัฐบาลได้จัดให้แก่ประชาชนของประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวม
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=2247