ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดย นายวิวัฒน์ พฤกษะวัน และ นายชาย ชีวะเกตุ
วัตถุประสงค์
การกำหนดมาตรการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลความปลอดภัย ดังนี้
๑) ความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นโดยรอบ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้า
๒) ความปลอดภัยต่อระบบนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อม
๓) ความปลอดภัยต่อระบบการทำงาน ของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆในโรงไฟฟ้า
มาตรฐานความปลอดภัย
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงมาก ทั้งนี้เพราะมีมาตรการ และกระบวนการตรวจสอบต่างๆ ที่เข้มงวดและรัดกุมหลายขั้นตอน ทั้งด้านนามธรรมและรูปธรรม
๑. ด้านนามธรรม ได้แก่ แนวคิดในการออกแบบให้ปฏิกรณ์มีความปลอดภัยในตัวเอง คือ
ก. ใช้เม็ดเชื้อเพลิงทนความร้อนได้สูงมาก โดยมีจุดหลอมเหลวที่ประมาณ ๒,๘๐๐ องศาเซลเซียส
ข. ใช้ยูเรเนียม-๒๓๕ ในเชื้อเพลิงมีสัดส่วนต่ำประมาณร้อยละ ๐.๗-๓ เท่านั้น
ค. เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามารถ หยุดยั้งปฏิกิริยาแตกตัวได้ด้วยตัวเอง เมื่อเกิดเหตุผิดปกติขึ้นในระบบ
ง. ระบบถ่ายเทความร้อนในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นระบบปิด ไม่มีส่วนใด สัมผัสกับเครื่องมืออุปกรณ์ภายนอก
จ. เครื่องมืออุปกรณ์ที่สัมผัสและปนเปื้อนรังสี จะติดตั้งรวมไว้ภายในอาคารคลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อความสะดวกในการควบคุม ตลอดจนปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม
๒. ด้านรูปธรรม ได้แก่ กฎระเบียบ อุปกรณ์ และระบบความปลอดภัยต่างๆหลากหลายชนิด และซ้อนกันหลายระบบประกอบด้วย
ก. รายงานการวิเคราะห์ความปลอดภัย รายงานนี้ต้องจัดทำขึ้นก่อนการลงมือก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประกอบด้วยการศึกษาวิเคราะห์ในด้านต่างๆคือ
๑) สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า ได้แก่ การวิเคราะห์ทางภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ธรณีวิทยา นิเวศวิทยา แผ่นดินไหว รังสีในสิ่งแวดล้อม และความหนาแน่นของประชากร
๒) ผังอาคารและอุปกรณ์โรงไฟฟ้า ได้แก่ การวิเคราะห์รายละเอียดในส่วนต่างๆ ของผังและอาคาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และระบบต่างๆ เช่น ระบบระบายความร้อน ระบบเครื่องมือวัด ระบบควบคุมและป้องกัน ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบสับเปลี่ยนและขนย้ายเชื้อเพลิง ระบบตรวจสอบและป้องกันรังสีรั่วไหล
๓) ความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ได้แก่ การวิเคราะห์ผลกระทบจากการรั่วไหลของกากเชื้อเพลิง และการควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์แปรปรวน อันเนื่องจากสาเหตุของความผิดปกติต่างๆ เช่น ท่อหุ้มเชื้อเพลิงแตก การเกิดปฏิกิริยารุนแรง และการสูญหายของสารระบายความร้อน
๔) การจัดองค์กรและแผนงานโรงไฟฟ้า ได้แก่ การวิเคราะห์โครงสร้างบุคลากร สายงานการบังคับบัญชาและหน้าที่ความรับผิดชอบ แผนปฏิบัติการเดินเครื่องฯ และบำรุงรักษา แผนการฝึกอบรม ตรวจสอบ ทดสอบ การประกันคุณภาพ แผนการป้องกันอันตรายจากรังสี แผนฉุกเฉินทางรังสี และการให้บริการทางการแพทย์
ข. การประกันคุณภาพ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของมาตรฐานความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ มาตรการประกันคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ ๕ ขั้นตอน ได้แก่
๑) การเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า
- ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ด้าน ความปลอดภัยที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศกำหนดไว้
- หากไม่สามารถที่จะปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ของทบวงการพลังงานปรมาณู ระหว่างประเทศได้ทั้งหมด จะต้องออกแบบค่าความปลอดภัยให้สูงกว่ามาตรฐานทั่วไป เช่น ในกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในบริเวณที่อาจเกิดแผ่นดินไหว
๒) การออกแบบโรงไฟฟ้า
- ให้สามารถป้องกันการเกิดเหตุผิดปกติ หรืออุบัติเหตุร้ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกระดับ
- สามารถควบคุมเหตุการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้นให้อยู่ในขอบเขตจำกัด ด้วยการควบคุมตัวเองของปฏิกรณ์ ไม่ให้ขยายความรุนแรง หรือส่งผลกระทบไปในพื้นที่ส่วนอื่น พร้อมด้วยเกราะป้องกันรังสีหลายชั้น และอาคารคลุมปฏิกรณ์
- สามารถลดความรุนแรงหรือผลกระทบจากเหตุการณ์ลงอย่างรวดเร็ว ด้วยอุปกรณ์ระบบฉุกเฉินต่างๆ
๓) การผลิตเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้า
- ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐาน และได้ผ่านการทดสอบและตรวจสอบมาเป็นอย่างดี
- ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพ อย่างเข้มงวดทุกขั้นตอนการผลิตและการก่อสร้าง
- ได้สำรองค่าความปลอดภัยไว้สูงมาก เพียงพอต่อการใช้งานและรองรับเหตุการณ์ผิดปกติได้อย่างดียิ่ง
๔) การเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า
- เจ้าหน้าที่เดินเครื่องและบำรุงรักษาจะต้องผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จนมีความเชี่ยวชาญ และสามารถสอบผ่านจนได้รับใบอนุญาตให้ เดินเครื่องปฏิกรณ์
- ระหว่างและหลังการเดินเครื่องปฏิกรณ์ จะต้องตรวจสอบและทดสอบเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ตามระยะเวลาที่คู่มือกำหนด
- เจ้าหน้าที่เดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างเคร่งครัด
๕) การกำกับดูแลความปลอดภัยโรงไฟฟ้า
- ออกกฎหมายควบคุมความปลอดภัยทางนิวเคลียร์
- กำกับดูแลโรงไฟฟ้าและโรงงาน นิวเคลียร์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
- อนุมัติและออกใบอนุญาตเกี่ยวกับสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า แบบแปลนการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ การใส่เชื้อเพลิง การเดินเครื่อง และทดสอบเจ้าหน้าที่ เดินเครื่องเป็นระยะๆ
ค. เกราะป้องกันรังสีหลายชั้น คือ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หลายชั้นที่ใช้กักกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหล หรือแพร่กระจายจาก เนื้อเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ออกไปสู่สิ่งแวดล้อม ภายนอกโรงไฟฟ้า เกราะป้องกันรังสีหลายชั้น เป็น ๑ ในหัวข้อสำคัญของมาตรการความ ปลอดภัยที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย
เกราะชั้นที่ ๑ เม็ดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (fuel pellet)
เกราะชั้นที่ ๒ ท่อหุ้มเม็ดเชื้อเพลิง นิวเคลียร์ (fuel clad)
เกราะชั้นที่ ๓ น้ำระบายความร้อน (coolant)
เกราะชั้นที่ ๔ ถังปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (reactor vessel)
เกราะชั้นที่ ๕ กำแพงคอนกรีตกำบังรังสี (biological concrete shield)
เกราะชั้นที่ ๖ แผ่นเหล็กกรุผนังด้านในอาคารคลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (steel liner)
เกราะชั้นที่ ๗ อาคารคลุมปฏิกรณ์ นิวเคลียร์ (reactor containment)
๑) เม็ดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ วัสดุนิวเคลียร์ที่เป็นต้นกำเนิดความร้อนจะออกแบบให้มีขนาดเล็ก เพื่อการระบายความร้อนอย่างรวดเร็ว สามารถทนต่อความร้อนได้สูงประมาณ ๒,๘๐๐ องศาเซลเซียส ต้านทานการกัดกร่อนได้ดี สามารถกักกันผลิต ผลจากการแตกตัวไม่ให้หลุดลอดออกมาภายนอกเม็ดเชื้อเพลิง และยังสามารถกักกันกัมมันตรังสีที่มีพลังงานต่ำได้บางส่วน
๒) ท่อหุ้มเม็ดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ เป็นท่อทำด้วยโลหะเซอร์คัลลอย (zircalloy) หรือโลหะผสมเซอร์โคเนียม มีคุณสมบัติในการทนความร้อนได้สูง ต้านทานต่อการกัดกร่อนได้ดี มีผลต่อปฏิกิริยาแตกตัวน้อยมาก ใช้สำหรับป้องกันเม็ดเชื้อเพลิงสัมผัสกับน้ำระบายความร้อนโดยตรง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งผ่านความร้อนจากเนื้อเชื้อเพลิงให้แก่น้ำระบายความร้อน และช่วยป้องกันกากเชื้อเพลิงรั่วไหลออกจากเนื้อเชื้อเพลิง มาปนเปื้อนกับน้ำในระบบระบายความร้อน
๓) สารระบายความร้อน คือ สารที่เป็นตัวรับและพาความร้อนจากเนื้อเชื้อเพลิง ไปถ่ายเทให้แก่กระบวนการผลิตไอน้ำ ส่วนมากนิยมใช้น้ำบริสุทธิ์ (เครื่องปฏิกรณ์บางประเภทจะใช้ก๊าซ) ซึ่งถ้ามีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลผ่านท่อหุ้มเชื้อเพลิงออกมา สารรังสีเหล่านั้นก็จะยังคงอยู่ในระบบน้ำระบายความร้อน และจะถูกกำจัดออกด้วยระบบกรองสารรังสีต่อไป นอกจากนี้ น้ำในระบบ ระบายความร้อนยังสามารถช่วยกำบังรังสีได้ระดับหนึ่ง
๔) ถังปฏิกรณ์นิวเคลียร์ คือ ถังโลหะ ทรงกระบอกที่ใช้บรรจุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ชุดแท่งควบคุม และเครื่องมือ/อุปกรณ์วัดทางนิวเคลียร์ต่างๆ มีช่องทางสำหรับน้ำบริสุทธิ์ไหลเข้าออก เพื่อการระบายความร้อน ถังปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทำด้วยเหล็กกล้าหนาไม่ต่ำกว่า ๒๐ เซนติเมตร ภายในกรุด้วยแผ่นเหล็กไร้สนิม ๑-๒ ชั้น เพื่อป้องกันถังปฏิกรณ์ถูกกัดกร่อน ทำให้สามารถกักกันกัมมันตรังสี และรองรับแรงดันสูงๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๕) กำแพงคอนกรีตกำบังรังสี คือ คอนกรีตชนิดพิเศษที่ผสมด้วยแร่โลหะและวัสดุหลายชนิด ซึ่งมีความหนาแน่นสูงกว่าคอนกรีตธรรมดาประมาณ ๒-๓ เท่า ก่อสร้างล้อมรอบถังปฏิกรณ์ไว้ มีความหนาประมาณ ๒-๓ เมตร ใช้กำบังรังสีแกมมา และนิวตรอนพลังงานสูงที่สามารถวิ่งทะลุผ่านออกมาจากถังปฏิกรณ์ได้ และยังช่วยรองรับแรงดันสูงๆ ที่อาจเกิดขึ้นจนถังปฏิกรณ์ไม่สามารถกักกัน หรือหยุดยั้งไว้ได้
๖) แผ่นเหล็กกรุผนังด้านในอาคาร คลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์ คือ แผ่นเหล็กกล้ามีความหนาประมาณ ๖ มิลลิเมตร ที่กรุผนังภายในอาคารคลุมปฏิกรณ์ ในภาวะปกติจะช่วยกักอากาศและลดการรั่วไหลของอากาศจากภายในอาคารคลุมปฏิกรณ์ และยังช่วยเสริมความแข็งแรงให้แก่อาคารคลุมปฏิกรณ์ ในภาวะไม่ปกติจะช่วยลดความรุนแรงของเหตุการณ์หลังจากเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้เพราะอาคารคลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะมีระบบหล่อเย็น ทำหน้าที่ให้ความเย็นแก่แผ่นเหล็กกรุผนังตลอดเวลา ซึ่งถ้าเกิดแรงดันสูงๆ พุ่งออกจากถังปฏิกรณ์ และสามารถทะลุผ่านกำแพงคอนกรีตออกมาได้ จะทำให้เศษชิ้นส่วนวัสดุ และก๊าซร้อนผสมไอน้ำที่พุ่งออกมากระทบแผ่นเหล็กกรุผนังนั้น กระทบกับความเย็นที่แผ่นเหล็ก ทำให้ก๊าซร้อนและไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ และคายความร้อนอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อความร้อนลดลง ย่อมส่งผลให้แรงดันลดลงด้วย ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว เป็นการลดความรุนแรงของเหตุการณ์ และช่วยให้เหตุการณ์ไม่ลุกลามแพร่ขยายออกไปในวงกว้าง
๗) อาคารคลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์ คือ อาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างคลุมเครื่องปฏิกรณ์ ลักษณะเป็นทรงกระบอกหลังคาโค้งรูปโดมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ เมตร สูงประมาณ ๗๐ เมตร ตัวอาคารแบ่งเป็นคอนกรีต ๒ ชั้น ชั้นในเป็นคอนกรีตอัดแรง ชั้นนอกเป็นคอนกรีต เสริมเหล็ก มีความหนาทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า ๑.๓๐ เมตร พื้นอาคารมีความหนาไม่ต่ำกว่า ๓ เมตร ภายในเนื้อคอนกรีตเสริมเหล็กบรรจุด้วยโครงเหล็กข้ออ้อย ขนาดของเหล็ก ประมาณ ๒ นิ้ว สานไขว้กันเป็นตาข่าย นอกจากนี้ ยังต้องเสริมความแข็งแรง และความยืดหยุ่นให้แก่โครงสร้างของอาคารด้วย เส้นลวดแรงดึงสูงซึ่งรวมกันเป็นมัด ใหญ่ประมาณ ๖ นิ้ว (ลักษณะคล้ายลวดสลิงที่ใช้ขึงสะพานแขวน) โอบรอบตัวอาคารสานไขว้กันไปมา ทั้งแนวตั้งและแนวนอน มีลักษณะเหมือนกรงนกขนาดใหญ่ อาคารคลุมปฏิกรณ์ถือเป็นเกราะป้องกันรังสีชั้นสุดท้าย ที่จะต้องรองรับแรงดันสูงๆจากอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นในอาคารได้ทั้งหมดอย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังต้องรับแรงกระทำต่างๆจากภายนอก เช่น แผ่นดินไหว ลมพายุ ฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมสูง เครื่องบินชนหรือตกใส่ หรือการโจมตีทางอากาศ ได้เป็นอย่างดี
ง. ระบบความปลอดภัยทางวิศวกรรม คือ ชุดเครื่องมืออุปกรณ์หลายระบบ ระบบละหลายชุด ที่ติดตั้งเพื่อตรวจวัดและตรวจสอบการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์โดยอัตโนมัติ ซึ่งแยกต่างหากจากระบบควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ชุดปกติ แต่จะทำงานควบคู่กันไป ในกรณีที่มีเหตุผิดปกติเกิดขึ้น ระบบความปลอดภัยทางวิศวกรรมจะเข้ามาแก้ไขเหตุการณ์ทันท่วงทีก่อนที่เหตุการณ์รุนแรงจะเกิดขึ้น ประกอบด้วยชุดเครื่องมือ/อุปกรณ์หลายระบบ ได้แก่
๑) ระบบหยุดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ คือ ชุดเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ใช้หยุดการทำงาน หรือยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาแตกตัวของเครื่องปฏิกรณ์โดยอัตโนมัติ อันเนื่องมาจากเหตุผิดปกติที่อาจส่งผลเสียหายต่อเครื่องปฏิกรณ์ได้ ระบบหยุดเครื่องปฏิกรณ์จะทำงานโดยชุดแท่งควบคุมปฏิกิริยาแตกตัวชุดปกติและชุดสำรอง ซึ่งจะเลื่อนเข้าไปในแกนเครื่องปฏิกรณ์พร้อมกันอย่างรวดเร็ว เพื่อดูดจับนิวตรอนไม่ให้เกิดปฏิกิริยาแตกตัวได้อีก ถ้ามีเหตุการณ์ผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้น ได้แก่ ระดับกำลังของเครื่องปฏิกรณ์ อุณหภูมิเชื้อเพลิง อุณหภูมิน้ำ ระดับน้ำ อัตราการไหลและความดันของน้ำระบายความร้อน ระดับรังสีในระบบน้ำและอากาศ ความดันไอน้ำ ฯลฯ โดยอาจผิดปกติไปจากเกณฑ์ที่กำหนด หรืออาจเกิดจากเหตุการณ์ผิดปกติภายนอก เช่น การเกิดแผ่นดินไหว
๒) ระบบระบายความร้อนฉุกเฉิน คือ ชุดปั๊มน้ำอัตโนมัติของระบบความปลอดภัย ที่เตรียมไว้สำหรับฉีดน้ำเย็นหล่อเลี้ยงเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ เพื่อลดความร้อนที่สะสมในเชื้อเพลิง และดูดซับสารกัมมันตรังสีที่อาจรั่วไหลออกจากเชื้อเพลิงไม่ให้แพร่กระจายไปในอากาศได้ โดยระบบระบายความร้อนฉุกเฉินนี้จะทำงานเมื่อระบบระบายความร้อน ชุดปกติเกิดการขัดข้อง ชำรุด หรือทำงานผิดปกติ แต่ในทางปฏิบัติโอกาสที่ระบบระบายความร้อนฉุกเฉินจะทำงานมีน้อยมาก เนื่องจากระบบระบายความร้อนปกติจะมีชุดปั๊มสำรองไว้อีก ๑-๒ ชุด เมื่อปั๊มชุดใด ชุดหนึ่งไม่ทำงาน ชุดปั๊มที่เหลือจะทำหน้าที่แทนโดยอัตโนมัติ
๓) ระบบขจัดสารกัมมันตรังสี คือ เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับทำหน้าที่ขจัดสารกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้น ระบบขจัดสารกัมมันตรังสีจากเหตุผิดปกติของเครื่องปฏิกรณ์ โดยการฉีดพ่นละอองน้ำจากส่วนบนของอาคารคลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อดูดซับสารกัมมันตรังสีบางส่วนที่ละลายน้ำได้ แล้วปล่อยไหลลงสู่บ่อขจัดกากกัมมันตรังสีด้านล่าง ส่วนก๊าซกัมมันตรังสีและสารที่ไม่ละลายน้ำจะถูกดูดซับผ่านระบบกรองอากาศ ที่มีประสิทธิภาพสูงหลายชั้น ก่อนที่จะระบายอากาศออกสู่บรรยากาศภายนอกต่อไป
๔) ระบบปรับอากาศภายในอาคารคลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์ คือ ระบบควบคุมและปรับสภาพอากาศภายในอาคารให้มีอุณหภูมิ และความดันที่เหมาะสมตลอดเวลา โดยปกติขณะที่เดินเครื่องปฏิกรณ์ อุณหภูมิและความดันอากาศภายในอาคารจะสูงขึ้น ดังนั้น จึงมีการปรับสภาพอากาศร้อนให้เย็นลง โดยการถ่ายเทอากาศร้อนออกไปทิ้งภายนอก และปล่อยให้อากาศเย็นไหลกลับเข้ามาในอาคาร
จ. ระบบเสริมความปลอดภัยอื่นๆ คือ ชุดเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เสริมการทำงานให้แก่ระบบความปลอดภัยต่างๆ เพื่อให้การทำงานของระบบต่างๆมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญได้แก่
๑) ระบบตรวจวัดรังสี คือ ชุดเครื่องมือวัดระดับรังสีที่ติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงไฟฟ้า เมื่อเกิดเหตุผิดปกติขึ้นจนระดับรังสีสูงผิดปกติ ณ จุดใด เครื่องวัดรังสีจะส่งสัญญาณเตือนให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อเข้าไปตรวจสอบแก้ไขจุดบกพร่อง ก่อนที่เหตุการณ์จะขยายตัวขึ้น
๒) ระบบจ่ายไฟฟ้าสำรอง คือ ชุดเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ได้จัดเตรียมสำรองไว้สำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ระบบต่างๆของเครื่องปฏิกรณ์เมื่อระบบจ่ายไฟฟ้าปกติ ขัดข้อง ชุดเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าว ได้แก่ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากเครื่องยนต์ดีเซล หรือแบตเตอรี่ซึ่งจะต้องจัดเตรียมไว้อย่างน้อย ๒ ชุด เพื่อทดแทนในกรณีที่ชุดใดชุดหนึ่งขัดข้องหรือไม่ทำงาน
ฉ. มาตรการหลังเกิดเหตุฉุกเฉิน ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ การแจ้งข่าวสารโดยเร็ว การจัดหาสถานที่ที่ปลอดภัย และเตรียมการอพยพ การจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันรังสี การตรวจวัดระดับรังสี การควบคุมเส้นทางเข้าออกโรงไฟฟ้า การชำระล้างสิ่งเปรอะเปื้อนกัมมันตรังสี การจัดเตรียมบริการทางการแพทย์ การจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม การควบคุมผลิตผลทางการเกษตร และการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณชน
จากมาตรฐานและมาตรการต่างๆ ที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกส่วนมากมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงมาก โดยเฉพาะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๔๐ ปี ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงมากขึ้น ยกเว้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่งของบางประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากในอดีตไม่ได้มีการควบคุมและตรวจสอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ แต่โรงไฟฟ้าดังกล่าวซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งในโลก กำลังจะหมดไปในไม่ช้า
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=2347