ธุรกิจ การตลาด ส่งออก วิธีการทำธุรกิจ การค้าส่งออก MUSLIMTHAIPOST

 

ธุรกิจ การตลาด ส่งออก วิธีการทำธุรกิจ การค้าส่งออก


700 ผู้ชม


การทำธุรกิจส่งออก เป็นอีกหนึ่งหนทางที่ผู้ประกอบการ SMEs จะนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะซบเซา การจะทำธุรกิจส่งออกให้ประสบความสำเร็จนั้นผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมโดยศึกษาขั้นตอนต่างๆ ให้ดีก่อน ดังนี้
1. การจดทะเบียนธุรกิจ เพื่อแสดงวัตถุประสงค์ว่าจะทำการค้าสินค้าอะไรและเป็นการสร้างความมั่นใจให้คู่ค้าในกรุงเทพฯติดต่อได้ที่สำนักบริการจดทะเบียนธุรกิจต่างจังหวัดติดต่อได้ที่สำนักงานทะเบียนการค้าจังหวัด
2. การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร กิจการที่มีรายรับเกิน 600,000 บาท/ปี ต้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผู้ประกอบการส่งออกที่มีมูลค่าของฐานภาษีตั้งแต่ 600,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,200,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรุงเทพฯติดต่อได้ที่สำนักงานสรรพากรเขต หรือสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ต่างจังหวัดติดต่อได้ที่สำนักงานสรรพากรอำเภอ (สาขา/กิ่งอำเภอ) ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
3. การเสนอขายและรับการสั่งซื้อ อาจทำการเสนอขายโดยลงโฆษณาในสื่อต่างๆ ในประเทศผู้ซื้อหรือเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ฯลฯ หากผู้ซื้อสนใจ ผู้ขายสินค้าควรให้รายละเอียดตามที่ลูกค้าต้องการเพื่อให้เกิดการตัดสินใจสั่งซื้อโดยผู้ซื้อจะสั่งซื้อด้วยการออกคำสั่งซื้อ (PurchaseOrder) มาให้ผู้ขายออกเอกสาร Pro-forma Invoice ซึ่งผู้ซื้อจะใช้เป็นหลักฐานในการเปิด Letter of Credit (L/C) กับธนาคารของผู้ซื้อ เมื่อธนาคารได้รับก็จะ จัดส่ง L/C มายังธนาคารในประเทศผู้ขาย เมื่อกระบวนการเปิด L/C จากผู้ซื้อมายังผู้ขายเรียบร้อยแล้วผู้ขายต้องเตรียมจัดส่งสินค้าตามข้อตกลงใน L/C
4. การเตรียมสินค้าหากผู้ขายจ้างผู้อื่นผลิตสินค้าต้องทำสัญญาให้ผู้ผลิตส่งมอบสินค้าพร้อมทดสอบคุณภาพให้เป็นไปตามข้อตกลงก่อนจัดส่งให้ผู้ซื้อ
5. ติดต่อขนส่ง โดยตรวจสอบตารางการเดินเรือหรือเที่ยวบินในช่วงที่ต้องการส่งสินค้าว่ามีหรือไม่ และควรจองระวางบรรทุกสินค้าไว้ล่วงหน้า
6. จัดเตรียมเอกสารเพื่อการส่งออก เช่น ใบกำกับภาษีหรือบัญชีราคาสินค้าใบรายการบรรจุหีบห่อ การขออนุญาตสินค้าควบคุมสินค้ามาตรฐานและการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรและเอกสารประกอบอื่นๆ ตามความต้องการของผู้ซื้อบางกรณีอาจต้องขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าตามข้อกำหนดของประเทศผู้ซื้อด้วย
7. ติดต่อผ่านพิธีการศุลกากร เพื่อทำการตรวจสอบสินค้าว่าตรงกับเอกสารที่ทำไว้หรือไม่
8. การส่งมอบสินค้า นำสินค้าที่จะส่งออกส่งมอบแก่ผู้ทำการขนส่ง และรับใบตราส่งเมื่อส่งมอบสินค้าเรียบร้อยแล้ว
9. การเรียกเก็บเงินค่าสินค้า เอกสารที่จำเป็นคือตั๋วแลกเงิน เป็นตราสารที่ผู้ขายสินค้าเป็นผู้ออกตั๋วเงินเพื่อสั่งให้ผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินภายในเวลาที่กำหนดในสัญญา
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=2503

อัพเดทล่าสุด