การผลิต กระบวนการผลิต ปูน ซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์


1,010 ผู้ชม


ประวัติความเป็นมา 

         คำว่า ซีเมนต์ (Cement) มาจากภาษาละติน ซึ่งแปลว่า "ตัด" โดยใช้เรียกหินปูนที่ตัดเป็นชิ้นๆ  เพื่อจะนำมาเผาเป็นปูนขาว (Lime)
         ในปัจจุบัน ซีเมนต์ หมายถึง ตัวประสานวัสดุสองชนิดหรือหลายๆ ชนิดให้ติดแน่นในสมัยโบราณชาวอียิปต์ใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัสดุเชื่อมประสานในการสร้างพีระมิด โดยได้มาจากการเผาดินและยิปซัม ส่วนชาวกรีกและชาวโรมันใช้เถ้าภูเขาไฟบดรวมกับปูนขาว ทราย และน้ำ เรียกว่า ปอซโซลานิกซีเมนต์ (Pozzolanic Cement) ซึ่งทำปฏิกิริยาทางเคมีและแข็งตัวได้ในน้ำ ตัวอย่าง สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่สร้างโดยชาวโรมัน อาทิเช่น  มหาวิหารทรงกลมในกรุงโรม (Roman Pantheon) และโรงละครครึ่งวงกลม (Colosseum) เป็นต้น
          คอนกรีต คือ วัสดุก่อสร้างชนิดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยส่วนผสม ๒ ส่วนคือ วัสดุประสาน ซึ่งได้แก่ ปูนซีเมนต์กับน้ำ ผสมกับ วัสดุผสม ซึ่งได้แก่ ทราย หินหรือกรวด เมื่อนำมาผสมกันจะคงสภาพเหลวอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งนานพอที่จะนำไปเทลงในแบบหล่อที่มีรูปร่างตามต้องการเมื่อคอนกรีตแข็งตัวเต็มที่แล้ว จะมีคววามแข็งแรงและสามารถรับน้ำหนักได้มาก ทั้งนี้จะแปรไปตามอายุของคอนกรีตที่เพิ่มขึ้น
          ซีเมนต์และคอนกรีตเป็นวัสดุก่อสร้างที่ใช้กันมาเป็นเวลายาวนาน จากหลักฐานพบว่า ในยุคต้นๆ  ตั้งแต่ ๗,๖๐๐ ปีที่ผ่านมา มีการใช้ซีเมนต์ในรูปของคอนกรีต เพื่อทำพื้นกระท่อมของชาวประมงที่อยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำดานูบ และกระท่อมของพวกนักล่าสัตว์สมัยยุคหิน หลังจากนั้น ได้มีการพัฒนาซีเมนต์และคอนกรีตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

วัตถุดิบในการผลิตปูนซีเมนต์ 

          วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ แบ่งออกเป็น ๓ ชนิดใหญ่ๆ ดังนี้
          ๑. วัตถุดิบที่มีส่วนประกอบของปูนขาว   (Lime Component) เป็นวัตถุดิบที่มีส่วนประกอบทางเคมีเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate. CaCo3) ซึ่งมีความบริสุทธิ์ประมาณ ๘๕ - ๙๕ % ตัวอย่างวัตถุเหล่านี้ตามธรรมชาติได้แก่ หินปูน (Limestone) ชอล์ก (Chalk) และดินขาว (Marl)
          ๒. วัตถุดิบที่มีส่วนประกอบของดินดำ (Clay)  เป็นวัตถุดิบที่มีส่วนประกอบทางเคมีของซิลิคอนไดออกไซด์ (Silicon Dioxide, SiO2) อะลูมินัมออกไซด์ (Aluminum Oxide, Al2O3) และเฟอร์ริกออกไซด์ (Ferric Oxide, Fe2O3) ตัวอย่างวัตถุเหล่านี้ตามธรรมชาติ ได้แก่ ดินดำ (Clay) และ ดินดาน (Shale)
          ๓. วัตถุดิบปรับแต่งคุณสมบัติ (Corrective Materials) เป็นวัตถุดิบที่ใช้สำหรับเพิ่มเติมสารประกอบบางตัว ซึ่งมีไม่เพียงพอในดินดำหรือดินดาน วัตถุดิบเหล่านี้ได้แก่ ทราย (ในกรณีที่ต้องการซิลิคอนไดออกไซด์) แร่เหล็กหรือดินลูกรัง (ในกรณีที่ต้องการเฟอร์ริกออกไซด์)  และดินอะลูมินา (ในกรณีที่ต้องการอะลูมินัมออกไซด์) เป็นต้น
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=2859

อัพเดทล่าสุด