ซีเมนต์ตามความหมายทางวิศวกรรมโยธาแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ บิทูมินัส (Bituminous) และ นันบิทูมินัส (Non Bituminous) บิทูมินัสซีเมนต์ ได้แก่ ยางมะตอย (Asphalts) และน้ำมันดิน (Tars) เราใช้บิทูมินัสซีเมนต์ผสมกับหิน ทราย ราดทำผิวถนน และเรียกส่วนผสมนี้ว่า แอสฟัลต์คอนกรีต (Asphalt Concrete)
นันบิทูมินัสซีเมนต์ ได้แก่ อะลูมินาซีเมนต์ (Alumina Cement) และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) มีลักษณะเป็นผงสีเทาอ่อนต้องผสมน้ำในปริมาณมากพอสมควร แล้วทิ้งไว้ให้แห้งจึงจะแข็งตัว เรามักจะนิยมเรียกซีเมนต์ชนิดนี้ว่า ไฮดรอลิกซีเมนต์ (Hydraulic Cement) ทั้งนี้ เพราะต้องใช้น้ำผสม และแข็งตัวในน้ำได้ดังนั้น ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์จึงเป็นที่นิยมใช้ในการก่อสร้างมากที่สุด ในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดและคุณสมบัติของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์
ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ แบ่งเป็น ๕ ประเภท ดังนี้
ประเภทที่หนึ่ง
เหมาะสำหรับงานก่อสร้างทั่วไป ส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับงานคอนกรีตเสริมเหล็ก เช่น ทำผิวถนน สะพาน ท่อระบายน้ำ เป็นต้น ปูนซีเมนต์ประเภทนี้มีข้อเสียคือ ไม่ทนต่อสารที่เป็นด่าง จึงไม่เหมาะสมกับงานที่ต้องสัมผัสกับด่างจากดินหรือน้ำ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมเคมี
ประเภทที่สอง
ปูนซีเมนต์ประเภทนี้เมื่อผสมกับน้ำจะคายความร้อนออกมาน้อยกว่าประเภทธรรมดา และมีความต้านทานต่อสารที่เป็นด่างได้บ้าง เหมาะสำหรับงานโครงสร้างขนาดใหญ่ อาทิเช่น ตอม่อขนาดใหญ่ สะพานเทียบเรือ เขื่อนหรือกำแพงกันดินในบริเวณที่ถูกน้ำเค็มเป็นครั้งคราว
ประเภทที่สาม
ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทนี้มีความละเอียดมากกว่า เป็นผลทำให้แข็งตัวและรับแรงได้เร็วกว่าปูนซีเมนต์ประเภทที่หนึ่ง จึงนิยมนำไปใช้กับงานเร่งด่วนที่ต้องแข่งกับเวลา หรือในกรณีที่ต้องการถอดหรือรื้อแบบเร็วกว่าปกติ
ประเภทที่สี่
เหมาะกับงานที่ต้องการควบคุมทั้งปริมาณและอัตราความร้อนที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด การเกิดกำลังของคอนกรีตที่มีส่วนผสมของปูนซีเมนต์ ประเภทนี้จะเป็นไปอย่างช้าๆ จึงนิยมใช้กับงานขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนกั้นน้ำ ซึ่งถ้ามีความร้อนอย่างร้ายแรงต่อตัวเขื่อน เนื่องจากจะทำให้เกิดการแตกหรือร้าวได้
ประเภทที่ห้า
มีคุณสมบัติในการต้านทานต่อสารที่เป็นด่างได้สูง จึงเหมาะที่จะใช้กับงานก่อสร้างในบริเวณที่ต้องสัมผัสกับด่าง เช่น ในบริเวณที่ดินมีความเป็นด่างสูง หรือน้ำทะเล ระยะเวลาในการแข็งตัวของปูนซีเมนต์ประเภทนี้จะช้ากว่าประเภทอื่นๆ
นอกจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์แล้ว ยังมีปูนซีเมนต์ชนิดอื่นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
๑. ปูนซีเมนต์ผสม (Mixed Cement) ได้จากการบดปูนเม็ดกับยิปซัม และวัสดุเฉื่อยซึ่งไม่ทำปฏิกิริยาทางเคมีกับปูนซีเมนต์ เช่น หินปูนหรือทราย เป็นต้น ปูนซีเมนต์ผสมเหมาะกับงานก่อ โบก ฉาบ หรืองานก่อสร้างทั่วไปที่ไม่ต้องการรับน้ำหนักมาก
๒. ปูนซีเมนต์ขาว (White Portland Cement) วัตถุดิบหลักคือ หินปูน และวัตถุดิบอื่นที่มีปริมาณของแร่เหล็กน้อยกว่า ๑% ลักษณะของปูนซีเมนต์ที่ได้เป็นสีขาว ปูนซีเมนต์ขาวเป็นที่นิยมใช้ในงานตกแต่งอาคารเพื่อความสวยงามหรือนำไปผสมเม็ดสี (Pigment) เพื่อผลิตเป็นปูนซีเมนต์สี (Colour Cement)
การเก็บบรรจุและการขนส่งปูนซีเมนต์
เนื่องจากปูนซีเมนต์มีลักษณะเป็นผงละเอียดจึงมักจะดูดความชื้นจากอากาศ และวัตถุอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้ดี ทำให้จับตัวเป็นก้อนแข็งและใช้งานไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญต่อการเก็บปูนซีเมนต์เป็นอย่างมาก การเก็บปูนซีเมนต์ไว้ในยุ้งหรือถังเก็บ จะต้องมีการตรวจยุ้งหรือถังเก็บเพื่อไม่ให้น้ำหรือความชื้นเข้าไปได้
การขนส่งปูนซีเมนต์ไปยังผู้บริโภคสามารถทำในรูปของปูนซีเมนต์บรรจุถุง และปูนซีเมนต์ผงซึ่งบรรจุในภาชนะขนาดใหญ่ที่ออกแบบพิเศษพาหนะที่ใช้ในการขนส่งปูนซีเมนต์คือ รถบรรทุกรถไฟ หรือเรือ ขึ้นอยู่กับค่าขนส่ง และสถานที่ตั้งของโรงงานเป็นปัจจัยสำคัญ
ปูนซีเมนต์ที่บรรจุถุงควรเก็บไว้ในโรงเรือนหรืออาคารที่ปิดมิดชิด เพื่อหลีกเลี่ยงการเปียกน้ำถุงปูนซีเมนต์ก็ควรจะวางให้ชิดกันมากที่สุด เพื่อมิให้อากาศผ่านได้ สำหรับพื้นก็ควรทำเป็นพื้นคอนกรีต หรือพื้นไม้ยกระดับ โดยให้สูงจากพื้นดินเล็กน้อย เพื่อป้องกันมิให้ปูนซีเมนต์ดูดความชื้นจากพื้นดิน หรือป้องกันมิให้น้ำไหลผ่าน
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=2865