อุตสาหกรรม วัฒนธรรม ยุคสมัย วัฒนธรรมไทย กับบรรดาประเทศอุตสาหกรรม


1,070 ผู้ชม


ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ จวบจนปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างที่แจ่มแจ้งที่สุด คือ การสร้างเครื่องบิน ซึ่งสามารถบินขึ้นครั้งแรกได้ในระยะทาง ๑๒๐ ฟุต โดยอยู่บนอากาศได้ไม่ถึงหนึ่งนาที ด้วยการทำงานร่วมกันของพี่น้องตระกูลไรท์ชาวสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นเพียง ๖๖ ปี มนุษย์ก็สามารถสร้างยานอวกาศนำมนุษย์ขึ้นไปยังดวงจันทร์ ซึ่งไกลจากโลกถึง ๓๕๔,๓๓๖ กิโลเมตร ได้

          
สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ซึ่งเป็นปีที่สนธิสัญญาบาวริงสิ้นสุดลง จัดว่าเป็นอิสระทางด้านเศรษฐกิจในแง่ของกฎหมายมากขึ้นแต่ก็ยังไม่จริงจังนัก เนื่องจากมีระบบเศรษฐกิจที่ เรียกว่า "เศรษฐกิจแบบจักรวรรดินิยม" คือ  บรรดาประเทศใหญ่ๆ ยังคงได้เปรียบในเรื่องเงินทุน เทคโนโลยี และความรู้ในการดำเนินการอยู่อย่างมาก ที่แน่นอนที่สุดคือ ประเทศไทยมุ่งหน้าเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมตั้งแต่นั้นมา โดยในช่วงแรกเป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ต่อมาก็เป็นการผลิตเพื่อส่งออก มูลค่าของการผลิตทางอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีมูลค่าสูงกว่าผลิตผลทางการเกษตร เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งจัดได้ว่าประเทศไทยได้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แล้ว

          
จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงหมายถึง วัฒนธรรมอันเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยซึ่งได้รับอิทธิพลจากวิถีการดำเนินชีวิตของประเทศทางตะวันตก ส่วนใหญ่คือประเทศอุตสาหกรรมซึ่งเป็นต้นแบบอันมีสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรปญี่ปุ่น ส่วนประเทศอื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้มีอิทธิพลและความสัมพันธ์กับประเทศไทยน้อยมากซึ่งรูปแบบของวัฒนธรรมที่รับมาอย่างมากนั้น ก็คือรูปแบบมาตรฐานของสังคมอุตสาหกรรมนั่นเองหากพิจารณาดูอย่างละเอียดแล้ว ก็จะเห็นว่าแต่ละแห่งมีลักษณะไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก

          
วัฒนธรรมของสังคมอุตสาหกรรมมีแกนหลักอยู่ ๖ ประการคือ
          ๑) การกำหนดมาตรฐาน
          ๒) ความชำนาญเฉพาะด้าน
          ๓) การสร้างความพร้อมเพรียงกัน
          ๔) การรวมหน่วย
          ๕) การสร้างคุณค่าสูงสุด
          ๖) การรวมเข้าศูนย์กลาง
ซึ่งขยายความได้ดังนี้ 
การกำหนดมาตรฐาน 

          วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย ภายหลัง พ.ศ. ๒๔๘๐ จนถึงปัจจุบัน เริ่มมีความเกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอุตสาหกรรม ในประเทศเหล่านี้มาตรฐานที่แน่นอนเป็นสิ่งสำคัญมาก จนในที่สุดแม้แต่ข้าวเปลือกซึ่งเป็นธัญพืชพื้นฐานที่สุดของประเทศ ซึ่งมีปลูกอยู่แทบทุกหนทุกแห่ง ยังต้องกำหนดค่าความชื้นในเมล็ดข้าว เพื่อให้ได้มาตรฐานเหมือนกันทั้งหมดในลักษณะเดียวกัน  เรื่องของการคัดขนาดไข่ไก่และผักผลไม้อื่นๆ ถึงแม้ผลิตผลทางการเกษตรเหล่านี้จะมาจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นการยากที่จะควบคุมขนาด น้ำหนัก ปริมาณความชื้น หรือรสชาติได้ แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ยังสามารถช่วยในการคัดแยกผลิตผลทางการเกษตรเหล่านี้ให้เป็นหมวดหมู่ทั้งขนาด น้ำหนัก หรือปริมาณความชื้น จนสามารถกำหนดมาตรฐานที่แน่นอนให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรแทบทุกชนิดในปัจจุบัน  ความสำคัญของมาตรฐานนั้นเกิดจากการเปลี่ยนมาตรฐานเดิมมาใช้มาตรฐานชั่งตวงวัดเหมือนกันทั่วโลก ทำให้มนุษย์สามารถมีเกณฑ์การวัดคุณภาพของสิ่งต่างๆ อย่างเป็นสากล สินค้าที่ได้รับการกำหนดมาตรฐานจึงสะดวกในการกำหนดราคาและเป็นที่ยอมรับ

          
ในความเป็นจริงการกำหนดมาตรฐานมิได้จำกัดอยู่เพียง ขนาด น้ำหนัก ความหนาบางความเข้มข้น หรือความชื้นเท่านั้น หากยังขยายขอบเขตครอบคลุมไปถึงฤดูกาลอีกด้วย เช่นหากจะโทรศัพท์ทางไกลจากประเทศไทย ไปยังสหรัฐอเมริกา เราต้องทราบว่า ปลายทางที่เราต้องการติดต่อนั้นเป็นเวลาเท่าใด จะเป็นการรบกวนผู้รับสายปลายทางหรือไม่ โดยการใช้เวลามาตรฐานโลกในการคิดคำนวณ บางประเทศมีอาณาเขตกว้างขวาง เช่น แคนาดา หรือสหรัฐอเมริกา แม้จะโทรศัพท์ติดต่อในประเทศหากเป็นรัฐที่ห่างไกลกันมากๆ ก็ต้องคำนวณเวลาด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้จะเป็นประเทศเดียวกัน ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ก็ทำให้เวลาต่างกันด้วย

          
นอกจากนี้ หากกล่าวถึงเวลาให้แคบลงมาก็ได้แก่เรื่องของฤดูกาล อาหารชนิดใดเป็นที่ต้องการในฤดูกาลใด เสื้อผ้าแบบไหนได้รับการออกแบบมาเพื่อฤดูกาลไหน ก็ต้องผลิตออกมาให้ทันเวลาของฤดูกาลนั้นๆ เสื้อผ้าสีสดใสเนื้อผ้าบางเบาจะหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย หากการผลิตและขนส่งล่าช้าจนล่วงเข้าฤดูใบไม้ร่วงที่อากาศเริ่มหนาวเย็นลงเรื่อยๆ ไม่ว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นจะสวยเก๋และมีคุณภาพเพียงใดก็ตาม ในเมื่อไม่ตรงกับเวลาที่สมควรจะใช้เสียแล้ว ก็ไม่มีใครซื้อ และต้องขาดทุนในที่สุด ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เวลาการเริ่มทำงานและเลิกงานส่วนใหญ่ก็มีมาตรฐานอาจเป็น ๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. หรือ ๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. แล้วแต่หน่วยงานนั้นๆ จะกำหนด พนักงานทุกคนจะต้องตรงเวลา เข้าทำงานพร้อมกัน พักเที่ยงเวลาเดียวกัน และเลิกงานเวลาเดียวกันตามที่กำหนด มีเครื่องจักรตรวจสอบเวลาเข้าทำงานและเวลาเลิกงาน ซึ่งจะกล่าวต่อไปในหัวข้อของการสร้างความพร้อมเพรียงกัน ท้ายที่สุดจะขอกล่าวถึงตัวแปรสำคัญ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายใยแมงมุมหรือตาข่าย ชักพาโลกทั้งโลกให้เข้ามาอยู่ภายใต้กรอบมาตรฐานเดียวกันใยแมงมุมนั้นก็คือ "สื่อสารมวลชน" นั่นเองการสื่อสารมวลชนนี้มีสาขาแยกย่อยออกไปอย่างกว้างขวาง ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่างๆ ทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ ประชาชนในภาคเหนือและภาคใต้หรือภาคตะวันตก อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันเห็นโฆษณาชิ้นเดียวกัน และอ่านนวนิยายเรื่องเดียวกันจากหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นชาวใต้พูดภาษาถิ่นใต้ เป็นชาวเหนือพูดภาษาคำเมือง หรือชาวอีสานพูดภาษาอีสานก็ตาม แต่เมื่อมาอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้แล้ว เขาก็ต้องใช้ความรู้ภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งถือเป็นภาษามาตรฐานทางราชการ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับโทรทัศน์และวิทยุ ทั้งโฆษณาหลากหลาย หรือรายการบันเทิงต่างๆ ล้วนใช้ภาษาเดียวกันเป็น,าตรฐาน ไม่มีการนำไปพากย์เสียงใหม่เป็นภาษาถิ่นแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นผลให้ภาษาถิ่นดั้งเดิมค่อยสูญหายไปบ้าง เนื่องจากมีความสำคัญลดน้อยลงเรื่อยๆ เหลือใช้กันเพียง ในวงแคบๆ ของผู้รู้จักคุ้นเคยเท่านั้น เมื่อออกไปจากบ้านแล้วก็ใช้แต่ภาษามาตรฐาน แม้ที่โรงเรียนก็ตาม

          
ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า การกำหนดมาตรฐาน คือการรวมเอาทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่กรอบเดียวกัน นับตั้งแต่วิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และการประพฤติปฏิบัติตัว ทั้งการแต่งกาย การทำงาน และการพักผ่อน กิจกรรมนันทนาการต่างๆ ล้วนได้รับการกำหนดมาตรฐานมาแล้วทั้งสิ้น วัฒนธรรมหรือวิถีการดำเนินชีวิตนี้ เป็นผลโดยตรงจากความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ที่ประเทศไทยได้ติดต่อกับประเทศอุตสาหกรรมดังกล่าวนั่นเอง 

ความชำนาญเฉพาะด้าน 

          เมื่อสังคมได้กำหนดมาตรฐานทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นแล้ว ก็มีความจำเป็นที่จะต้องผลิตสิ่งนั้นๆ ให้ได้มาตรฐานดังที่กำหนดไว้ในขั้นแรกการผลิตให้ได้มาตรฐานก็ต้องอาศัยแรงงานที่มีคุณภาพและมีความชำนาญพอ ด้วยเหตุนี้เองการผลิตแรงงานผู้ชำนาญเฉพาะด้านจึงเกิดขึ้น นอกจากนี้สังคมอุตสาหกรรมยังเชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญจึงจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          
อดัม สมิธ (Adam Smith) กล่าวว่า การแจกแจงงานสามารถสร้างประสิทธิภาพสูงสุด ตัวอย่างเช่น ในงานอุตสาหกรรมรถยนต์ระยะแรกๆ ที่ยังใช้แรงงานคนกับระบบสายพานนั้น ขั้นตอนการทำงานระบบสายพานก็คือชิ้นส่วนของรถยนต์จะเลื่อนมาเรื่อยๆ ตามสายพาน ซึ่งมีคนงานยืนคอยอยู่ในตำแหน่งประจำของตนเมื่อชิ้นส่วนเลื่อนมาถึงตัว คนงานคนนั้นมีหน้าที่ขันนอตที่ล้อทั้งสองข้าง เมื่อขันแล้วก็รอล้อรถคันต่อไปที่จะเลื่อนเข้ามาถึงตัว คนงานคนนั้นขันนอตที่ล้อรถทุกวันเป็นเดือนๆ ปีๆ จนชำนาญเข้ามากๆ ถึงแม้หลับตาก็ยังขันได้ และยังขันนอตได้แน่นพอเหมาะพอดีอีกด้วย ถือว่าคนงานผู้นั้นเป็นผู้ชำนาญเฉพาะด้านทางการขันนอตที่ล้อรถยนต์แล้ว จากตัวอย่างนี้เองจะสังเกตเห็นว่าคนงานผู้นี้ชำนาญเกี่ยวกับการขันนอตจริงๆ แต่ถ้าให้ไปทำงานอย่างอื่น แม้จะเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ เขาผู้นี้อาจทำได้ไม่ดีหรืออาจทำไม่ได้เลย

          
ปัจจุบันการฝึกผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมิได้จำกัดอยู่เพียงในหมู่ผู้ใช้แรงงานในโรงงานเท่านั้น หากยังมุ่งฝึกผู้มีความชำนาญในทุกขั้นตอนการผลิต และรวมถึงผู้บริหารก็ยังได้รับการศึกษาอบรมเพื่อการบริหารโดยเฉพาะเช่นเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญซึ่งแยกแขนงวิชาของตนเองออกไปเป็นพิเศษ ได้รับความรู้ที่ใช้ในการประกอบอาชีพส่วนใหญ่จากสถาบันการศึกษาของตน เราอาจเรียกผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ว่า มืออาชีพ (Professional) อันได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพแพทย์ อาจารย์ หรือ บรรณารักษ์ เป็นต้น

          
นอกจากนี้ ผู้ที่ประกอบอาชีพ ซึ่งมาจากสถาบันการศึกษาเฉพาะด้านดังที่ยกตัวอย่างแล้วยังสามารถแยกแขนงความชำนาญเฉพาะด้านของตนย่อยออกไปได้อีก เช่น แพทย์ สามารถศึกษาเพื่อจะเป็นแพทย์ผู้ชำนาญด้านโรคภูมิแพ้ จักษุแพทย์ ทันตแพทย์ ศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ หรือ จิตแพทย์ เช่นเดียวกับ บรรณารักษ์ เช่น บรรณารักษ์ผู้ชำนาญด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร บรรณารักษ์ผู้ชำนาญด้านวรรณคดีตะวันตก หรือด้านการเมืองการปกครอง เป็นต้น

          
สำหรับประเทศไทยนั้น หากกล่าวถึงแรงงานการผลิตภาคอุตสาหกรรม ก็อาจกล่าวได้ว่าเรามีแรงงานจำนวนมหาศาลเพื่อรองรับการขยายตัวทางอุตสาหกรรม จะเป็นแรงงานที่มีความชำนาญหรือไม่นั้น แล้วแต่ประสบการณ์และระยะเวลาในการทำงานของคนงานแต่ละคน เช่น ในการก่อสร้างอาคารต่างๆ ต้องใช้ช่างปูนเป็นจำนวนมาก หากช่างปูนที่รับสมัครมานั้น เป็นแรงงานที่มีความชำนาญอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรงานจะดำเนินไปได้โดยราบรื่นรวดเร็วไม่ติดขัดและอัตราค่าแรงก็เป็นไปตามปกติสำหรับช่างปูนผู้ชำนาญเช่นกัน ตรงกันข้ามหากรับสมัครแรงงานที่ไม่มีความชำนาญเข้ามาบ้าง ก็จำต้องมีการฝึกฝนงานก่อน โดยอาจเป็นผู้ช่วยในขั้นแรก จนมีความสามารถพอที่จะปฏิบัติงานช่างปูน และรับค่าแรงเท่าช่างปูนผู้ชำนาญในที่สุด การเร่งฝึกแรงงานให้มีความชำนาญนั้น จึงมีความสำคัญเป็นอันมากต่อการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมของไทย กล่าวคือ ขณะนี้จากการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของประเทศ หรือโครงการ "อีสเทิร์นซีบอร์ด" (Eastern Seaboard) อันได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และท่าเรือน้ำลึก แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ใช้ทุนมหาศาล ต้องการแรงงานในการก่อสร้างมากมาย ถือว่าเป็นการระดมกำลังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งทีเดียว ทั้งแรงงานในการวางแผนควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด อันได้แก่ คณะสถาปนิก วิศวกร และผู้เกี่ยวข้องและแรงงานผู้ปฏิบัติการก่อสร้างจริง หากทุกฝ่ายเป็นแรงงานที่มีความชำนาญและมีคุณภาพแล้วการดำเนินงานก็สามารถก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็วทันการณ์ อุปสรรคในการทำงานที่เนื่องมาจากการขาดแคลนแรงงานที่ชำนาญ ก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

          
แต่ในปัจจุบันความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมและการจัดการมีขึ้นอย่างมากมาย จนไม่สามารถผลิตบุคลากรออกมารองรับการขยายตัวของแรงงานในภาคดังกล่าวได้ทัน เนื่องจากความสัมพันธ์ของไทยกับนานาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมได้มีอัตราเร่งเพิ่มขึ้นมาก จนเกิดการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านดังกล่าว นี่ก็เป็นแง่หนึ่งของผลของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของไทยกับต่างประเทศนั่นเอง

การสร้างความพร้อมเพรียงกัน 

          ความพร้อมเพรียงกันของสังคมอุตสาหกรรมหมายถึง การประสานจังหวะ เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวและประสิทธิภาพสูงสุด "เวลา" เป็นตัวแปรสำคัญของการประสานจังหวะ ดังนั้นการตรงต่อเวลา จึงมีความสำคัญมากในโลกอุตสาหกรรม

          
ในอดีต ประเทศไทยมีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรม เวลาเคลื่อนไปพร้อมกับธรรมชาติงานทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ฤดูกาลเพาะปลูกเริ่มขึ้นเมื่อฝนตกลงมาทำความชุ่มชื้นให้ผืนดิน และเมื่อการเพาะปลูกเสร็จสิ้นลง สิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือ เฝ้าดูแลบำรุงพืชต้นอ่อนเหล่านั้น และรอคอยเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวผลิตผลแน่นอนที่สุดมนุษย์ไม่สามารถกำหนดความเป็น ไปของธรรมชาติได้ หากโชคร้าย ฝนเกิดการทิ้งช่วง หรือเกิดอุทกภัยร้ายแรง ผลิตผลเสียหายก็ไม่สามารถแก้ไขสิ่งใดได้ ทำได้แต่เพียงพยายามบรรเทาภาวะความไม่แน่นอนของธรรมชาติให้ทุเลาลงไปบ้างเท่านั้น พยายามเลี่ยงไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ทนต่อความแห้งแล้ง หรือพืชที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลาพอสมควรในภาวะน้ำท่วมขัง หรือการยกคันดินให้สูงขึ้นในการเพาะปลูกครั้งต่อไปเพื่อการระบายน้ำที่ดีขึ้น เป็นต้น

          
อย่างไรก็ตาม เมื่อลัทธิอุตสาหกรรมตะวันตกเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยหลังจากปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นมา วิถีชีวิตของคนไทยก็เริ่มเปลี่ยนแปลง สังคมเกษตรกรรมลดลง สังคมเริ่มมีลักษณะเป็นสังคมอุตสาหกรรมมากขึ้นธรรมชาติมิได้กำหนดครอบงำการผลิตทุกอย่างเสมอไป หากแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่คุ้นเคยนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไทยอย่างยิ่ง จากที่เคยอยู่กินตามสบาย รอคอยปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ที่จะเวียนมาตามฤดูกาลอย่างไม่เร่งร้อน ก็เปลี่ยนไปเป็นการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีเวลาในการทำงานและเลิกงานที่แน่นอน และงานนั้นก็ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อย่างมีระบบระเบียบตามที่ถูกกำหนดไว้ทั้งหมด

          
อย่างไรก็ดี ลักษณะดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น หากรวมไปถึงบุคคลในสาขาอาชีพหลากหลายในสังคม ทั้งที่เป็นผู้ชำนาญเฉพาะด้านต่างๆ และกลุ่มบุคคลประเภทมืออาชีพ ซึ่งใช้ความรู้ ประสบการณ์และความคิดในการประกอบอาชีพ มากกว่าแรงงานทางกายอีกด้วย แต่บุคคลทั้งสองประเภทนี้ต่างก็มีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับเวลาด้วยกันทั้งนั้น วิถีชีวิตหากดูจากการใช้เวลาอย่างคร่าวๆ แล้ว ก็พอจะเห็นได้ว่าคล้ายคลึงกันมากทีเดียว กล่าวคือตื่นนอนตอนเช้าในเวลาไล่เลี่ยกัน เพื่อจะประกอบกิจส่วนตัวต่างๆ ให้เสร็จสิ้นทันเวลาการทำงาน ซึ่งเริ่มราว ๘.๐๐-๙.๐๐ น. พักเที่ยงพร้อมๆ กันราวเวลา ๑๒.๐๐-๑๒.๓๐ น.และเลิกงานเวลา ๑๖.๓๐-๑๗.๐๐ น. ในที่สุดการใช้เวลาของมนุษย์ไม่ว่าจะมุมไหนของโลกหากที่นั่นเป็นสังคมอุตสาหกรรมแล้วก็คล้ายกันทั้งสิ้น

          
การใช้เวลาในการกำหนดความเป็นไปทุกอย่างนี้ แม้จะมีผลดีในด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเกิดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมากมายก็ตาม แต่ผลในด้านลบก็มีอยู่กล่าวคือ การที่คนจำนวนมากมายมหาศาลปฏิบัติกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งในเวลาเดียวกันทั้งหมด หากไม่มีปัจจัยอันเป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติกิจกรรมนั้นอย่างเพียงพอที่จะรองรับปริมาณคนจำนวนมหาศาล ก็ย่อมจะเกิดปัญหาการขาดแคลน และมีผู้ทุกข์ยากจำนวนหนึ่งมากบ้างน้อยบ้างตามแต่สถานการณ์ เป็นต้นว่า การเกิดเหตุการณ์จราจรติดขัดอย่างรุนแรงในตอนเช้าก่อนเวลาเข้าทำงาน และในตอนเย็นหลังเลิกงานแล้ว หรือการที่ร้านอาหารทุกร้านแน่นขนัดจนต้องรอต่อแถวคอยกันนานๆ ในช่วงพักรับประทานอาหารเที่ยง เป็นต้น

          
สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพ-มหานคร ปัญหาที่ดูจะรุนแรงที่สุดเนื่องจากการใช้หลักความพร้อมเพรียงกันก็คือ ปัญหาการจราจรซึ่งยังคงแก้ไม่ตกอยู่จนปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณของผู้ใช้ถนนหนทางและรถยนต์นั้นไม่สมดุลกับปริมาณถนนที่มีอยู่ นับวันแรงงานจากภาคเกษตรก็ยิ่งหลั่งไหลเข้ามาสู่ความแน่นอนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ไม่กี่แห่งมากขึ้นๆ ทุกทีจนยากที่จะแก้ไขได้ วิธีหนึ่งที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจะพยายามแก้ไขปัญหาก็ได้แก่ นโยบายการกระจายอุตสาหกรรมสู่ชนบท อันจะช่วยยับยั้งการหลั่งไหลเข้ามาสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมของประเทศ อันได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้บ้าง การระบายถ่ายเทแรงงานอีก ส่วนหนึ่งออกสู่แหล่งอุตสาหกรรมอื่นๆ เหล่านั้น หากโครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้แล้วจะทำให้ปัญหาต่างๆ ทุเลาเบาบางลงบ้าง ปัญหาเหล่านี้ก็มาจากการรับวัฒนธรรมของการทำงานจากประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายนั่นเอง 
การรวมหน่วย 
          สังคมอุตสาหกรรมดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างโดยอาศัยการรวมหน่วย กล่าวคือการรวมพลังงานย่อยๆ เข้าด้วยกันเป็นหน่วยใหญ่เพื่อเกิดพลังงานมหาศาล ลักษณะการรวมหน่วยปรากฏอย่างมากในด้านประชากรและกระแสเงินทุน

          
ในแง่ของประชากรนั้นเห็นได้อย่างชัดเจนจากการรวมเอาผู้ใช้แรงงานจำนวนมากๆ มาอยู่รวมกันในโรงงานแห่งเดียว เพื่อทำงานในหน้าที่ต่างกัน  ตามจังหวะความพร้อมเพรียงอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ผลิตผลที่สูงสุดทั้งปริมาณและคุณภาพ ตามมาตรฐานที่วางไว้

          
นอกจากผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว การรวมหน่วยยังหมายถึง การนำผู้ชำนาญเฉพาะด้านต่างๆ มารวมกัน ช่วยระดมกำลังความคิดและประสบการณ์เพื่อการผลิตผลงานคุณภาพก็ได้ อาจเป็นไปในรูปแบบของบริษัทหรือสำนักงาน ตามที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น กลุ่มสถาปนิกรวมตัวกันจัดตั้งบริษัทรับออกแบบและตกแต่งบ้าน หรือกลุ่มแพทย์รวมตัวกันตั้งโรงพยาบาลขึ้น เพื่อเป็นการรวมผู้ป่วยจำนวนมากๆ มาอยู่รวมกันในโรงพยาบาลนั้นอีกทอดหนึ่ง เป็นต้น

          
ลักษณะเช่นนี้ปรากฏในประเทศไทยมานานแล้วในรูปของการมีระบบไพร่ คือการเกณฑ์ไพร่(ชายที่มีอายุตั้งแต่ ๒๐-๖๐ ปี) มาทำงานรับ ใช้ทางราชการ เช่น การสร้างถนน ขุดคลอง หรือก่อสร้างอาคารต่างๆ รวมทั้งเป็นทหารด้วยโดยมีการเข้าผลัดเวรปีละ ๖ เดือน โดยสลับเข้าเวร ๑ เดือน ออกเวรไปอยู่บ้านประกอบอาชีพของตน ๑ เดือน ในเวลาต่อมาได้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จนเหลือเข้าเวร ๑ เดือนออก ๓ เดือน ในปัจจุบันแม้จะยกเลิกระบบไพร่ไปแล้ว การรวมหน่วยเพื่อประกอบอาชีพก็มีเรื่อยมาตั้งแต่สังคมอุตสาหกรรมเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้สังคมเกษตรกรรมแบบยังชีพ ไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงงานมากมายเท่าในโรงงานอุตสาหกรรม ทำกันเฉพาะในครอบครัวให้พอกินพออยู่เท่านั้น ของเหลือใช้ จึงจะนำไปขาย มิได้มุ่งการเพาะปลูกเพื่อการค้าหรือป้อนโรงงานอุตสาหกรรมดังปัจจุบัน

          
กลับมากล่าวเรื่องการรวมหน่วยอีกแง่หนึ่งคือในแง่กระแสเงินทุน การประกอบอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น จำเป็นต้องใช้เงินในการลงทุนอย่างมากมายมหาศาล มีผู้ลงทุนน้อยรายที่สามารถจัดตั้งโรงงานหรือบริษัทได้เองโดยไม่ต้องอาศัยการระดมทุนจากหุ้นส่วน จากเหตุผลนี้ การรวมหน่วยในแง่ของการลงทุนจึงเกิดขึ้น นอกจากการรวมหน่วยเช่นนี้แล้ว ยังมีสถาบันทางการเงินเพื่อระดมทุนโดยเฉพาะ โดยมีจุดประสงค์ทั้งเพื่อการกู้ยืมไปลงทุนและการนำไปลงทุนโดยตรง สถาบันทางการเงินเหล่านี้ ได้แก่ธนาคาร และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ นั่นเอง

          
สำหรับประเทศไทย การรวมหน่วยในแง่กระแสเงินทุนก็ยังคงเป็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยับขยายศักยภาพทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน และสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นก็มีทั้งที่เป็นของคนไทยและต่างประเทศ ซึ่งผู้ลงทุนก็นิยมใช้บริการอย่างแพร่หลาย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติและจำเป็นในสังคมอุตสาหกรรม

          
ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ก่อตั้งตลาดหุ้นขึ้น เพื่อการรวมหน่วยของเงินทุนเพื่อการลงทุนต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นการรับวัฒนธรรมเรื่องนี้จากต่างประเทศช้ามากทีเดียว เพราะประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายได้มีตลาดหุ้นมาหลายร้อยปีแล้ว โดยเฉพาะอังกฤษที่ใช้เงินของ ตลาดหุ้นในการส่งผู้คนไปตั้งถิ่นในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย หมายความว่าอังกฤษมีตลาดหุ้นก่อนที่จะสถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศออสเตรเลียเสียอีก
การสร้างคุณค่าสูงสุด 
          ดูจะเป็นค่านิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของมนุษย์ในสังคมอุตสาหกรรมเสียแล้ว ที่หลงใหลได้ปลื้มกับความเป็นที่สุดในด้านต่างๆ (เฉพาะในด้านที่ดีเท่านั้น) ตึกที่สูงที่สุด สนามกีฬาที่จุคนได้มากที่สุด หรือสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดเป็นต้น ความเป็นที่สุดมิได้หยุดอยู่เพียงสิ่งก่อสร้างหรือทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงความยิ่งใหญ่ทางธุรกิจอีกด้วย เช่นปริมาณการจ้างพนักงาน ขอบข่ายสาขา เป็นต้น

          
สิ่งเหล่านี้สร้างความภาคภูมิใจแก่เจ้าของสถิตินั้นเป็นอย่างยิ่ง ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นวิธีวัดความเป็นที่สุดทางเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้น ซึ่งอาศัยข้อมูลมาทำเป็นสถิติโดยคิดจาก "ผลิตผลรวบยอดของประชาชาติ" หรือ Gross National Product (GNP) โดยพิจารณาค่าของสินค้าและบริการที่ถูกผลิตขึ้นมาทั้งหมด แต่เป็นวิธีที่มีข้อผิดพลาดอยู่มากทีเดียว เนื่องจากมองข้ามการผลิตนอกกลไกอุตสาหกรรม เช่น งานบ้านหรืองานเลี้ยงเด็ก เป็นต้น

          
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยซึ่งได้หันมาพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นมาก็ได้รับวัฒนธรรมนิยมความเป็นที่สุดมาจากประเทศอุตสาหกรรมต้นแบบอย่างเต็มที่ และวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากทุกฝ่าย ทั้งจากคณะผู้บริหารประเทศ และจากภาคธุรกิจต่างๆ

          
ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ โครงสร้างสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก หรือสวนอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะได้รับความสนใจและสนับสนุนจากทุกฝ่ายด้วยดี

          
นอกจากโครงการที่เป็นวัตถุรูปธรรมแล้วสถิติผลิตผลรวบยอดของประชาชาติก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือวัดสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ ว่ามีความเจริญเติบโตในระดับที่น่าพอใจหรือไม่ รัฐบาลพยาบาลทุกวิถีทางที่จะผลักดันให้ค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และหากประสบผลสำเร็จ ก็ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาล ที่จะได้รับคำยกย่องชมเชย และมีคะแนนนิยมสม่ำเสมอ

          
ลักษณะเช่นนี้แพร่ไปทั่วทุกมุมโลก ทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศที่กำลังมุ่งสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยที่มนุษย์ผู้สร้างวัฒนธรรม มิได้คำนึงถึงผลเสียที่เป็นปัญหาเรื้อรังและร้ายแรงมากขึ้นทุกทีๆ ซึ่งก็คือปัญหาเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยา และความเสื่อมโทรมของสภาพจิตใจมนุษย์ในปัจจุบัน

          
ทุกวันนี้ทรัพยากรหลักของโลกทั้งสามอย่างอันได้แก่ ป่าไม้ น้ำ และอากาศ ต่างก็ถูกคุกคามทำลายจนมีสภาพเลวร้ายลงเรื่อยๆ ยากที่จะกอบกู้ให้กลับมามีสภาพดีดังเดิม ตราบใดที่วัฒนธรรมนิยมความเป็นที่สุดยังฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของมนุษย์ยุคอุตสาหกรรม ตราบนั้นความต้องการไม่สิ้นสุดก็ยังคงดำเนินต่อไป และปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่มีทางจะหมดสิ้นไปได้เช่นเดียวกัน

          
เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยได้รับวัฒนธรรมนี้มา เช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วโลก ที่ประสบปัญหาทั้งทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์

          
ระบบนิเวศวิทยาถูกทำลายเสียหายมากมายทั้งโดยอุตสาหกรรมโรงงาน และอุตสาหกรรมบริการต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้หลักมาสู่ประเทศไทย คุณภาพชีวิตของคนดูจะลดลงมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานครและเมืองอุตสาหกรรมรอบนอก มลพิษโดยเฉพาะทางอากาศและทางเสียงเป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งแก้ไขยากขึ้นทุกวันๆ ในปัจจุบัน

          
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของโลก ก็เริ่มได้รับความสนใจบ้างแล้ว โดยเฉพาะในประเทศทางตะวันตกซึ่งพยายามหันมาแก้ไขและป้องกันอย่างจริงจัง ทั้งโดยวิธีรณรงค์สร้างสำนึกรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด เป็นต้น มาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ช่วยให้สมดุลของระบบนิเวศวิทยาคงอยู่ต่อไป

          
ประเทศไทยซึ่งรับเอาวัฒนธรรมทางอุตสาหกรรมเข้ามานั้น ได้รับทั้งประโยชน์และโทษจากวัฒนธรรมเหล่านี้ ในส่วนของผลประโยชน์ที่เป็นการดี คือยกระดับความก้าวหน้า ในการดำรงชีวิตอีกขั้นหนึ่ง แต่ในส่วนของโทษ หากไม่ป้องกันและแก้ไขก็สามารถนำความหายนะอันใหญ่หลวงมาได้ เปรียบดังดาบสองคมนั่นเอง

          
ปัจจุบัน โทษของอุสาหกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมก็หนักและเฉียบพลันมากขึ้นทุกที หากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดกวดขันเอาจริงเอาจังต่อการรักษาระบบนิเวศแล้ว วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะขยายตัว และทำร้ายคนไทยทั้งชาติอย่างแน่แท้ 
การรวมเข้าที่ศูนย์กลาง 
          คือลักษณะของการรวบอำนาจทั้งหลายเข้าศูนย์กลางแห่งเดียว เพื่อควบคุมความเป็นไปทั้งปวงอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

          
การรวมเข้าที่ศูนย์กลาง อันเป็นวัฒนธรรมจากประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับมาเช่นกันมีลักษณะ ๒ ประการคือ

          
๑) การรวมอำนาจเข้าที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
          เนื่องจากนับวันการลงทุนทางอุตสาหกรรมยิ่งมีมากขึ้น การขยายเครือข่ายสาขาของหน่วยงานต่างๆ ก็กว้างขวางขึ้นทุกที ลักษณะการรวมอำนาจเข้าที่ศูนย์กลางจึงมีความจำเป็น เช่นธนาคารขนาดใหญ่ มีเครือข่ายสาขาอยู่ทั่วโลกทั้งยังมีบริษัทย่อยอื่นๆ ที่เกิดจากการลงทุนของธนาคารอีกด้วย พนักงานของธนาคารแห่งนี้จึงมีจำนวนมากมาย และยังแบ่งเป็นหลายเชื้อชาติระดับการศึกษา และระดับอาวุโส ดังนั้น วิธีการบริหารธนาคารแห่งนี้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ การรวมสารสนเทศและคำสั่งเอาไว้ที่จุดศูนย์กลาง ซึ่งหมายถึงสำนักงานใหญ่ของธนาคารแห่งนั้นนั่นเอง

          
พนักงานถูกจัดแบ่งออกเป็นระดับ ตั้งแต่ประธานกรรมการของธนาคาร คณะกรรมการหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ผู้จัดการสาขาย่อย ลงไปเรื่อยๆ จนถึงพนักงานรับฝากเงิน - ถอนเงินที่เป็นผู้บริการลูกค้าโดยตรงเลยทีเดียว  พนักงานเหล่านี้ทั้งรับคำสั่ง  รายงานผลการทำงานและความเป็นไปต่างๆ จากกันเป็นทอดๆ เป็นผลให้ผู้บริหารสามารถทราบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้ในรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ อันเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายและวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และส่งคำสั่งกลับลงมาตามลำดับชั้นในสายเดิม

          
ลัทธิอุตสาหกรรมถือว่าการบริหารงานทางเศรษฐกิจด้วยวิธีรวมอำนาจนี้ มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถดำเนินการต่างๆ โดยรวดเร็วและผิดพลาดน้อย

          
สำหรับประเทศไทยนั้นระบบบริหารงานประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเช่นเดียวกัน และใช้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ บริษัทและหน่วยงานของภาคเศรษฐกิจได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง มีเงินทุนหมุนเวียนและปริมาณการจ้างงานเพิ่มขึ้นตามลำดับ การบริหารงานแบบรวมเข้าที่ศูนย์กลางจึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง

          
๒) การรวมอำนาจเข้าที่ศูนย์กลางทางการเมือง 
          
มีความคล้ายคลึงกับระบบการรวมอำนาจเข้าที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ แต่ต่างกันในแง่ที่เป็นการรวมสารนิเทศและคำสั่งเอาไว้ที่จุดศูนย์กลางการปกครองแทน  การปกครองวิธีนี้เป็นวิธีที่ไทยใช้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการดึงอำนาจจากเจ้าเมืองของหัวเมืองประเทศราช ซึ่งมีอำนาจการปกครองดูแลเมืองของตนอย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องรอรับฟังคำสั่งจากทางเมืองหลวง และอาจเกิดการตัดสินใจผิดพลาดใหญ่หลวงเกี่ยวกับนโยบาย สำคัญบางประการ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่พระองค์จะต้องทรงดึงอำนาจกลับมาไว้ที่ศูนย์กลางคือ กรุงเทพมหานคร เพื่อข้อมูล ข่าวสารและปัญหาทั้งปวงของประเทศจะได้นำมาร่วมกันพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ

          
ประเทศไทยก็ได้ใช้ระบบการปกครองเช่นนี้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แม้ว่าจะมีระบบเกี่ยวกับการตัดสินใจที่ป้องกันความผิดพลาดต่างๆ แต่ระบบการรวมอำนาจเข้าที่ศูนย์กลางนี้ก็ยังมีจุดบกพร่องเกี่ยวกับความไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ทันต่อเหตุการเสมอ   เนื่องจากลำดับการรายงานสถานการณ์ และลำดับการสั่งคำสั่งนั้นมีมากการปฏิบัติการต่างๆ จึงเป็นไปอย่างล่าช้า และบางครั้งช้าไป อาทิ เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ หรือการขออนุมัติงบประมาณ ทำให้เกิดการเสียหายแก่ประชาชน มากบ้างน้อยบ้าง  ดังนั้น รัฐบาล ปัจจุบันจึงมีนโยบายที่จะพยายามกระจายอำนาจบางส่วน ออกสู่หน่วยงานในต่างจังหวัดมากขึ้นเพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานลง เพื่อความรวบรัดทันเหตุการณ์และเร่งความเจริญของท้องถิ่นนั้นๆ ยิ่งขึ้น เพราะหน่วยงานในท้องถิ่นมีอำนาจที่จะตัดสินใจการกระทำต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยไม่ต้องมีการขออนุญาตเสนอเรื่องต่างๆ ผ่านลำดับยืดยาวสู่เมืองหลวงอย่างเคย นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี เนื่องจากความรวดเร็วทันเหตุการณ์เป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติงานอย่างได้ผล

          
อย่างไรก็ตาม การดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางนั้น จะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพก็เพราะเครื่องมือการติดต่อสื่อสารมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ทำงานอยู่ในระบบนั้นตระหนักและเข้าใจในวัตถุ-ประสงค์หลักของหน่วยงาน องค์การที่ตนทำงานอยู่ ในวัฒนธรรมของสังคมอุตสาหกรรม องค์ประกอบทั้งสองประการนี้ ต้องมีอยู่อย่างสมบูรณ์เพื่อความเจริญก้าวหน้าขององค์การหรือหน่วยงานนั้นๆ นั่นเอง

          
ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของไทยกับต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นความสัมพันธ์ทางเดียว คือไทยเรารับอิทธิพลแนวความคิด วิถีการดำรงชีวิต จากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย ซึ่งต่อไปประเทศไทยของเราคงมีส่วนที่จะรังสรรค์วัฒนธรรมเป็นแบบอย่างต่อสังคมอื่นๆบ้างในอนาคต
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=3027

อัพเดทล่าสุด