แผนพัฒนา เศรษฐกิจ แผนพัฒนาประเทศ


1,336 ผู้ชม


ความเป็นมาของการวางแผนพัฒนาในประเทศไทย 
 

          แนวคิดในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕  สืบเนื่องจากคณะราษฏรซึ่งเป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ประกาศหลัก ๖ ประการ ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับการรักษาเอกภาพทางเศรษฐกิจ และการสร้างความสุขสมบูรณ์ของราษฏรในทางเศรษฐกิจ โดยจะจัดให้มีการวางเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ต่อมาหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ได้ดำเนินการยกร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นโดยได้มีการระบุถึงการกำหนดให้มีการวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ พร้อมทั้งได้ยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ ซึ่งเสนอให้มีสภา (หน่วยงาน) เพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำแผนเศรษฐกิจแห่งชาติด้วย อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าสถานการณ์ในขณะนั้นยังไม่เอื้ออำนวย ทำให้ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
          หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ ๒ ใน ๓ ของประชากรโลก ประสบปัญหาความยากจนและความล้าหลังทางเศรษฐกิจ ประกอบกับเกิดปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองระหว่างค่ายเสรีนิยมกับค่ายสังคมนิยม ประเทศต่างๆ เกิดความตื่นตัวที่จะพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ประเทศไทยเองก็ตระหนักถึงความจำเป็นในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อ ปรับปรุงการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การศึกษา ฯลฯ มากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓   ได้ตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ และเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทางการเงินการคลัง และทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป พร้อมทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการทำผังเศรษฐกิจของประเทศซึ่งเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทย
          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ธนาคารโลกซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะช่วยทำการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ได้จัดส่งคณะสำรวจเศรษฐกิจ เข้ามาช่วยศึกษาข้อมูลและศึกษาวิจัยเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยคำเชิญของรัฐบาลไทยในขณะนั้น คณะผู้เชี่ยวชาญร่วมกับทางคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้จัดทำรายงาน  A Public Development Program for Thailand  ต่อมามีการแปลเป็นฉบับภาษาไทยซื่อว่าโครงการพัฒนาของรัฐบาลสำหรับประเทศไทยโดยได้มีการเสนอข้อมูลวิเคราะห์ถึงสภาพ ปัญหาและแนวทางในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเห็นว่าควรเน้นการแข่งขันเสรี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ รัฐบาลได้ดำเนินการ ออกพระราชบัญญัติพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและตั้งสำนักงานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ หลังจากนั้นจึงได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๖ -  ๒๕๐๙) เป็นฉบับแรก และได้ดำเนินการวางแผนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘  (พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๔) โดยในแต่ละแผนมีลักษณะและสาระสำคัญแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ สถานการณ์ในขณะนั้น ปรากฏว่า การพัฒนาของประเทศไทยในระยะที่ผ่านมา มีทั้งส่วนที่ประสบผลสำเร็จและส่วนที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป
 

  สภาพของประเทศไทยก่อนมีการใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ 


 

          ในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ (ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๓) ปรากฏว่าประเทศ ไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งด้านป่าไม้ แหล่งน้ำ แร่ธาติ ฯลฯ หรืออยู่ในสภาพที่เรียกว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ปัญหาสังคมยังมีไม่มากนัก เพราะผู้คนยังมีความผูกพันเอื้ออาทรต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาความยากจน โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวไม่ถึง ๒,๐๐๐ บาทต่อปี เพราะเศรษฐกิจขยายตัวประมาณร้อยละ ๔ ต่อปี ในขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือ ประมาณร้อยละ ๓.๗ ต่อปี เศรษฐกิจส่วนใหญ่คือ ประมาณร้อยละ ๘๕ ขึ้นกับภาคเกษตร รายได้หลักจากการส่งออกมาจากข้าว ไม้สัก ยางพาราและดีบุก ส่วนการลงทุนภาคอุตสาหกรรมยังมีไม่มากนัก ทำให้มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพียงร้อยละ ๘.๕ ของแรงงานทั้งหมดเท่านั้น

          นอกจากนี้ บริการพื้นฐานต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมยังมีไม่เพียงพอ เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ มีถนนทั่วประเทศเพียง ๘,๐๐๐ กิโลเมตร มีโทรศัพท์ทั่วประเทศเพียง ๓๒,๐๖๗ เครื่อง ส่วนน้ำประปาและไฟฟ้าจะมีเฉพาะในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่เท่านั้น ในขณะที่โรงพยาบาลประจำอำเภอมีเพียง ๘ แห่งสถานีอนามัยยังมีไม่เพียงพอและด้อยคุณภาพ มีแพทย์ทั่วในกรุงเทพฯ ทำให้ในชนบทมีแพทย์เฉลี่ย ๑ คนต่อประชากรประมาณ ๗๒,๐๐๐ คน ส่วนโรงเรียนและสถานศึกษาก็มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ห่างไกล ฯลฯ ปัญหาดังกล่าวทำให้ความเจริญยังคงรวมอยู่ในส่วนกลางไม่กระจายออกไปในต่างจังหวัด คนไทยในขณะนั้นจึงมีปัญหาด้านความยากจน ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้ โอกาสที่จะได้รับการศึกษาเล่าเรียนมีน้อย และมีปัญหาด้านสุขภาพอนามัย คือ ยังมีการเจ็บป่วยล้มตายด้วยโดยระบาดต่างๆ  เช่น อหิวาตกโรค ท้องร่วง ไข้มาลาเรียไข้เลือดออก รวมทั้งการขาดสารอาหาร ฯลฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งทำการพัฒนาเศรษฐกิจรัฐบาลในขณะนั้นจึงได้กำหนดนโยบายเพื่อเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจและขยายบริการพื้นฐาน ซึ่งปรากฏออกมาในรูปของคำขวัญต่างๆ มากมาย เช่น คำขวัญที่ว่า น้ำไหล-ไฟสว่าง-ทางดี -มีงานทำซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สภาพเศรษฐกิจในยุคก่อนมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ ๑  เป็นอย่างดี
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=3764
 

อัพเดทล่าสุด