น้ำมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ และพืช มนุษย์เราใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประมง การเกษตร การคมนาคม และการผลิตพลังงานไฟฟ้า แหล่งน้ำโดยทั่วไปได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ๓ แหล่งใหญ่ คือ น้ำฝน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน การเกิดของแหล่งน้ำเหล่านี้ศึกษาได้จากวัฎจักรของอุทกวิทยา
วัฎจักรของอุทกวิทยา (hydrological cycle) คือ กระบวนการต่างๆ อันได้แก่ การเกิดน้ำจากฟ้า (precipitation) การซึมของน้ำลงดิน (infiltration) การระเหยและการคายน้ำของพืช (evapotranspiration) และการเกิดน้ำท่า (run off) กระบวนการเหล่านี้ประกอบกันเป็น "วัฎจักรของอุทกวิทยา" น้ำจะหมุนเวียนอยู่ในวัฎจักร โดยปรากฏอยู่ในรูปแบบและสถานะต่างๆ กัน วัฎจักรของอุทกวิทยาไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย เราอาจกำหนดให้วัฎจักรของอุทกวิทยาเริ่มต้นที่การระเหยของน้ำจากทะเลและแหล่งอื่นๆ บนพื้นโลก ไอน้ำเหล่านี้เมื่อลอยสู่เบื้องบนจะเย็นตัวลง และภายใต้สภาวะที่เหมาะสมก็จะกลั่นตัวเป็นละอองน้ำที่เห็นเป็นเมฆ ละอองน้ำนี้จะรวมตัวจนมีขนาดใหญ่ขึ้น แล้วตกลงมาเป็นน้ำจากฟ้า ซึ่งอาจมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามสภาพทางอุตุนิยมวิทยา เมื่อฝนตกลงสู่พื้นดินน้ำบางส่วนจะค้างอยู่ตามใบและลำต้นของพืชบางส่วนจะขังอยู่ตามแอ่งน้ำหรือที่ลุ่ม น้ำเหล่านี้อาจกลับคืนสู่บรรยากาศโดยการระเหยจากแหล่งน้ำหรือการคายน้ำของพืช นอกจากนี้ น้ำบางส่วนอาจซึมลึกลงไปในดิน ไปรวมกันเป็นแหล่งน้ำใต้ดิน ส่วนที่เหลือจะไหลอยู่บนผิวดินในรูปของน้ำท่า (surface run off) กลายเป็นแหล่งน้ำผิวดิน เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ในที่สุดทั้งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินก็จะไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร แล้วระเหยกลับขึ้นไปสู่บรรยากาศอีกครบวงจรตามวัฎจักร
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=3765