อุตสาหกรรม การผลิต โรงงาน การนิคมอุตสาหกรรม


876 ผู้ชม


   พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 จัดตั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขึ้นเป็น รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมมีชื่อย่อว่า “กนอ.” มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหลายประการ โดยเริ่มจากการจัดหาที่ดินที่เหมาะสมเพื่อจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรมหรือเพื่อดำเนินธุรกิจอื่นที่จะเป็นประโยชน์ดำเนินการปรับปรุงที่ดินเพื่อให้บริการตลอดจนจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานรวมทั้งสาธารณูปโภคต่างๆให้แก่ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น2 ลักษณะ คือ 
พื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไป อันเป็นเขตพื้นที่ที่กำหนดไว้สำหรับการประกอบอุตสาหกรรมและกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรม
พื้นที่เขตอุตสาหกรรมส่งออก อันเป็นเขตพื้นที่ที่กำหนดไว้สำหรับการประกอบอุตสาหกรรม การค้าหรือบริการ เพื่อส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศและกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมการค้าหรือบริการเพื่อส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ

          ในปัจจุบันเขตอุตสาหกรรมส่งออก ที่มีสำนักงานศุลกากรตั้งอยู่มี 10 แห่ง ได้แก่

1.นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง (กรุงเทพฯ) 
2. นิคมอุตสาหกรรมบางปู (สมุทรปราการ) 
3. นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) 
4. นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง (ชลบุรี) 
5. นิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน (ชลบุรี) 
6. นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (อยุธยา) 
7. นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน (อยุธยา) 
8. นิคมอุตสาหกรรมแปลงยาว (เกตเวย์ซิติ ฉะเชิงเทรา) 
9.นิคมอุตสาหกรรมส่งออกภาคใต้ (สงขลา)

10. นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร (พิจิตร) 
 

          โดยที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากรแก่ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกในนิคมอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมศุลกากรซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลและรับผิดชอบในเรื่องภาษีอากรของรัฐและเพื่อการส่งเสริมการส่งออกแก่ผู้ประกอบการทั้งในเขตอุตสาหกรรมทั่วไปและเขตอุตสาหกรรมส่งออก จึงต้องกำหนดระเบียบปฏิบัติสำหรับการปฏิบัติในเขตนิคมอุตสาหกรรมไว้


          พิธีการศุลกากรที่ควรทราบสำหรับผู้ประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรม
(1) พิธีการศุลกากรในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
1.1 ผู้ประกอบการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อนำของเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกโดยต้องมีหนังสือรับรองจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ว่าเป็นผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกแนบมาด้วยส่วนกรณีเป็นการนำเข้าตามมาตรา48 แห่งพ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพ.ศ.2522ต้องมีหนังสือยกเว้นอากรจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพิ่มเติมด้วย
1.2 ผู้นำของเข้าซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ดำเนินการขนย้ายสินค้าจะต้องทำหนังสือสัญญาประกันไว้กับกรมศุลกากรตามแบบที่กำหนดและการขนส่งต้องไปตามเส้นทางที่กรมศุลกากรกำหนดด้วย
 

(2) พิธีการศุลกากรในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป

          ถ้าผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมทั่วไปประสงค์จะปฏิบัติพิธีการ ณ สำนักงานศุลกากรประจำนิคมอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับพิธีการศุลกากรในเขตอุตสาหกรรมส่งออก โดยมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้ประกอบการเขตอุตสาหกรรมทั่วไปของการนิคมอุตสาหกรรมมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย
 

(3) ความรับผิดชอบในการขนสิ่งออกจากท่าหรือที่นำเข้ามายังนิคมอุตสาหกรรม

 ผู้นำของเข้าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากเกิดความเสียหายต่อค่าภาษีอากร ค่าภาระติดพันหรือความเสียหายอื่นใดตามที่ได้ทำสัญญาประกันไว้ต่อกรมศุลกากร


          (4) การนำของออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อใช้หรือจำหน่ายในประเทศ
          4.1 ผู้ประกอบการสามารถนำของออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อใช้หรือจำหน่ายในประเทศได้ โดยผู้มีภาระหน้าที่ในการชำระค่าภาษีอากรต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและหนังสืออนุญาตการนำของออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อใช้หรือจำหน่ายในประเทศของ กนอ. ต่อสำนักงานศุลกากรประจำนิคมฯ 
          4.2 สำหรับบัญชีราคาสินค้า ให้สำแดงราคาซื้อขายเป็นเงินบาท โดยกรมศุลกากรจะดำเนินการกับใบขนสินค้าขาเข้าเสมือนหนึ่งการนำของเข้าจากต่างประเทศ และของนั้นจะต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฏหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่มตามสภาพ ราคา และอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันที่นำของออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก โดยถือเสมือนว่าได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรในวันที่นำออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก 
          4.3 ราคาพึงประเมินหรือราคาที่ใช้เป็นเกณฑ์คำนวณค่าภาษีอากร สำหรับของที่นำออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก เพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรนั้น ให้ใช้ราคาศุลกากร ตามมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469
 

          (5) การส่งของออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกไปแสดงต่างประเทศโดยส่วนราชการ
          5.1 ผู้ประกอบการสามารถนำของออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อส่งออกไปแสดงต่างประเทศโดยส่วนราชการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจาก กนอ. ให้ส่งของไปแสดง ณ ต่างประเทศในนามของส่วนราชการ และยื่นคำขอตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด พร้อมสำเนา 1 ฉบับ ต่อหน่วยงานพิธีการประจำนิคมอุตสาหกรรมตรวจสอบ พร้อมทั้ง ทำสัญญาประกันต่อกรมศุลกากรตามแบบที่กำหนด ทั้งนี้ เงินประกันตามสัญญาประกันจะต้องให้คุ้มค่าภาษีอากรของของตามรายการในหนังสือที่ยื่นต่อกรมศุลกากรโดยบวกเพิ่มอีกร้อยละ 20 และให้ผู้ประกอบการค้ำประกันตนเองได้
          5.2 เมื่อสำนักงานศุลกากรประจำนิคมอุตสาหกรรม พิจารณาอนุญาตแล้วจะคืนต้นฉบับหนังสือให้คืนแก่ผู้ประกอบการเพื่อใช้กำกับของที่นำออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกนำส่งมอบต่อส่วนราชการเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร 
          5.3 เมื่อส่วนราชการนั้นๆ ได้ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว ผู้ประกอบการต้องยื่นหนังสือรับรองของส่วนราชการนั้นว่าได้ส่งของออกไปจริงต่อสำนักงานศุลกากรประจำนิคมอุตสาหกรรม ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ส่วนราชการนั้นๆ ได้ส่งของออก มิฉะนั้น ให้ถือว่าผิดสัญญาประกันและกรมศุลกากรจะดำเนินการบังคับสัญญาประกันทันที
         

          (6) การนำของออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อการอื่นเป็นการชั่วคราว
          6.1 ผู้ประกอบการสามารถนำของในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกเป็นการชั่วคราว เพื่อซ่อมแซม ดัดแปลง ปรับปรุง หรือเพื่อการอื่นตามความจำเป็น ได้โดยยื่นคำร้องต่อสำนักงานศุลกากรประจำนิคมอุตสาหกรรม และทำสัญญาประกันต่อกรมศุลกากร ตามแบบที่กำหนด ทั้งนี้ เงินประกันตามสัญญาประกันจะต้องให้คุ้มค่าภาษีอากรของตามรายการในคำร้อง โดยบวกเพิ่มอีก ร้อยละ 20
          6.2 กรณีผู้ประกอบการไม่สามารถนำของที่นำออกไปจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกกลับเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามคำรับรองที่ให้ไว้ผู้ประกอบการนั้นสามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลานำของกลับเข้ามาในเขตอุตสาหกรรมส่งออกได้เพียงครั้งเดียว และมีระยะเวลาไม่เกินกว่าที่ขอนำของออกไปในครั้งก่อนเว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันสมควรก็ให้ขยายระยะเวลาเกินกว่า 1 ครั้ง 
          6.3 ถ้าผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามคำรับรองที่ให้ไว้ ผู้ประกอบการรายนั้นต้องชำระค่าภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน นับจากวันที่นำของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนด
 

          (7) การนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกผู้ประกอบการสามารถการนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกได้โดยยื่นคำร้องขอนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก(กศก.122) ต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำนิคมอุตสาหกรรม 
 

          (8) ของที่นำเข้าเขตอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อซ่อมและนำกลับออกไปโดยยกเว้นอากรตาม พ.ร.บ. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภท 2 จะต้องเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยชำระภาษีอากรครบถ้วนแล้ว และจะต้องได้รับอนุญาตจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ด้วย
 

          (9) ของที่นำเข้าเขตอุตสาหกรรมส่งออกและนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักร โดยได้รับยกเว้นอากร ของในราชอาณาจักรหรือของจากต่างประเทศที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและได้ชำระอากรแล้ว หากนำเข้าในเขตอุตสาหกรรมส่งออก และภายหลังนำออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกกลับเข้ามาใช้ในราชอาณาจักร โดยไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะหรือรูปร่างแต่อย่างใด จะได้รับการยกเว้นอากร ทั้งนี้ จะต้องมีหนังสืออนุญาตจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมาแสดงด้วย

สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรสำหรับผู้ประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรม 
          (1) ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของสิ่งของดังกล่าวที่จำเป็นในการผลิตและของที่ใช้ในการสร้างโรงงาน หรืออาคาร
          (2) ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งอากรขาเข้าภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า
          (3) ได้รับยกเว้นอากรขาออกภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตสำหรับของซึ่งได้นำเข้ามาตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 รวมทั้งผลิตภัณฑ์สิ่งพลอยได้และสิ่งอื่นที่ได้จากการผลิตแล้วส่งออก
          (4) ได้รับยกเว้นหรือคืนค่าภาษีอากรสำหรับของที่มีบทบัญญัติแห่งกฏหมายให้ได้รับยกเว้น หรือคืนค่าภาษีอากร เมื่อได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือ หากผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นอากรสำหรับวัตถุดิบตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 หรือผู้ประกอบการที่เป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าตามมาตรา 8 ทวิ (2) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 หรือผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ส่งของเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก จะได้รับยกเว้นค่าภาษีอากรหรือคืนค่าภาษีอากรเช่นเดียวกับการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
          (5) การขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ไม่ว่าจะอยู่ในเขตอุตสาหกรรมเดียวกันหรือไม่ก็ตาม ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์
          (6) การขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนกับผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์
          (7) การนำของในประเทศเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์ โดยถือว่าเป็นการส่งออก

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หากผู้ประกอบการต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม โปรดติดต่อโดยตรงที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรสำหรับของนำเข้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากรในเขตนิคมอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โปรดติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  

- ส่วนเขตปลอดอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร โทร.0-2249-4855

-   ฝ่ายเขตอุตสาหกรรมส่งออกนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ส่วนเขตปลอดอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร  โทร. 0-2326-0225

- ฝ่ายเขตอุตสาหกรรมส่งออก นิคมอุตสาหกรรมบางปู ส่วนเขตปลอดอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร โทร 0-2324-0362

-   ฝ่ายเขตอุตสาหกรรมส่งออก นิคมอุตสาหกรรมบางประอิน  ส่วนเขตปลอดอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร โทร 0-3525-8414

-   ฝ่ายเขตอุตสาหกรรมส่งออก นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า  ส่วนเขตปลอดอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร โทร 0-3572-9046

-   ฝ่ายเขตอุตสาหกรรมส่งออก นิคมอุตสาหกรรมแปลงยาว  ส่วนเขตปลอดอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร โทร 0-3857-5113

-   ฝ่ายบริการศุลกากรลำพูน ด่านศุลกากรท่าอากาศยานเชียงใหม่ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) โทร. 053-581062

-   สำนักงานศุลกากรแหลมฉบัง โทร 0-3840-0191

-   สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 โทร 0-7431-1014

-  สำนักงาน/ด่านศุลกากรที่นำเข้าทุกแห่งในวันและเวลาราชการ
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=3767

อัพเดทล่าสุด